คณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต

ข่าวทั่วไป Wednesday February 24, 2010 16:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยปี 2553 ใหม่หลังปัญหาวิกฤติหนี้ภาครัฐยุโรปอาจลุกลาม ขณะที่สหรัฐอเมริกาและเอเชียฟื้นแข็งแกร่ง ส่วนปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในและปัญหามาบตาพุดยังคงยืดเยื้อ เศรษฐกิจไทยครึ่งไตรมาสแรกขยายตัวดีมากและเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดสำหรับปีนี้ ไตรมาสสองเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง เศรษฐกิจครึ่งปีหลังเผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น รวมทั้งปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต มองเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่องแม้นสหรัฐอเมริกาและเอเชียฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งแต่ปัญหาวิกฤติหนี้ภาครัฐยุโรปอาจลุกลาม ตลาดการเงินมีความผันผวนสูงจากสภาพคล่องส่วนเกินโดยสภาพคล่องส่วนเกินจะถูกดูดซับออกด้วยการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของบางประเทศที่ฟื้นตัวชัดเจนแล้ว (Exit Strategy) มาตรการการเงินจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ปรับเพิ่มค่าเงิน มาตรการการคลังจะมีการลดรายจ่ายภาครัฐและขึ้นภาษี ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ชี้เศรษฐกิจไทยปีนี้ช่วงครึ่งปีแรกกระเตื้องขึ้นจากภาคส่งออกและ การลงทุนภาครัฐปรับประมาณการจีดีพีปี 53 สูงขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะ ขยายตัวประมาณ 2-3% เป็น 2.5-3.5% เศรษฐกิจช่วงครึ่งแรกปี 53 ขยายตัวเป็นบวกอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะจีดีพีไตรมาสแรกคาดการณ์ว่าจะขยายตัวสูงถึง 4.5-6% และน่าจะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดหลังจากนั้นเศรษฐกิจจะชะลอลง โดยที่ครึ่งปีหลังจะชะลอตัวจากแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสูง ข้อจำกัดของมาตรการการคลังและปัญหาทางการเมืองภายในรวมทั้งประเทศคู่ค้าชะลอตัวจาก Exit Strategy โดยที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังอาจลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.5-2.5% ทิศทางอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสปรับสูงขึ้นได้ถึง 0.5-1.00% ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นพร้อมกับการปรับเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ไทยอาจประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานบางประเภทในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนได้ 24 ก.พ. พ.ศ. 2553 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต อาคารสาทรธานี ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แถลงถึงการคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยปี 2553 ใหม่ ว่า เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่องแต่ยังคงมีความอ่อนไหวที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำในบางภูมิภาค แม้นสหรัฐอเมริกาและเอเชียฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งแต่ปัญหาวิกฤติหนี้ภาครัฐยุโรปอาจลุกลาม เป็นผลให้ตลาดการเงินของยุโรปไม่น่าสนใจ ราคาหุ้นและราคาพันธบัตรตราสารหนี้สกุลยูโรจะมีราคาตกต่ำและมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ จะเกิดการอ่อนค่าลงของเงินสกุลยูโรมากที่สุดในรอบหลายปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ โอกาสที่ปัญหาวิกฤติหนี้ภาครัฐในสเปน โปรตุเกส อิตาลีและฝรั่งเศสจะปะทุเช่นเดียวกับประเทศกรีซมีความเป็นไปได้สูง ขณะนี้ กรีซมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 125% โปรตุเกสมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 85% ไอร์แลนด์อยู่ที่ 83% สเปนอยู่ที่ 66% กลุ่มอียูมีการขาดดุลงบประมาณที่ระดับ 7.5% ของจีดีพี โดยที่ไอร์แลนด์ กรีซ สเปน มีการขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพีในระดับสูงมากถึง 14% 12% และ 10% ตามลำดับ หากแก้ไขปัญหาไม่ได้ ความกังวลเรื่องการผิดนัดชำระหนี้จะเกิดขึ้นต่อไปพร้อมกับโอกาสในการถูกปรับลดอัตราความน่าเชื่อถือของประเทศ อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจโลกมีอัตราการขยายตัวลดลงเล็กน้อยจากประมาณการเดิม (เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม 52) ที่ 3.1 % เป็น 2.5-2.6 % (เผยแพร่ ก.พ. 53) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อโดยรวมก็เพิ่มขึ้นด้วยมาอยู่ที่ระดับ 1.2% สำหรับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ อัตราเงินเฟ้อสำหรับประเทศกำลังพัฒนาปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5-5.5% อัตราการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องแต่ระบบการเงินโลกยังมีความผันผวนสูงมากอันเป็นผลจากสภาพคล่องส่วนเกินบวกกับปัญหาภาคการเงินที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จ การปฏิรูประบบการเงินโลกยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนสูงจากสภาพคล่องส่วนเกินโดยสภาพคล่องส่วนเกินจะทยอยถูกดูดซับออกด้วยการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของบางประเทศที่ฟื้นตัวชัดเจนแล้ว (Exit Strategy) มาตรการการเงินจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ประเทศที่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย บราซิลและรัสเซีย ขณะที่มีโอกาสเป็นไปสูงที่จีนอาจจะพิจารณา ปรับเพิ่มค่าเงินหยวน นอกจากนี้ประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นชัดเจนจะเริ่มลดรายจ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับขึ้นอัตราภาษี สิ่งเหล่านี้จะยังไม่เกิดขึ้นในยุโรป รวมทั้งเอเชียบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไทย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ชี้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้จะกระเตื้องขึ้นจากภาคส่งออกและ การลงทุนภาครัฐ โดย คณะเศรษฐศาสตร์ และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ได้ปรับประมาณการจีดีพีปี 53 สูงขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 2-3% (คาดการณ์เมื่อ ตุลาคม 52) เป็น 2.5-3.5% (ประเมินใหม่ ก.พ. 53) เศรษฐกิจช่วงครึ่งแรกปี 53 จะขยายตัวเป็นบวกอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะจีดีพีไตรมาสแรกคาดการณ์ว่าจะขยายตัวสูงถึง 4.5-6% และน่าจะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดสำหรับปีนี้ หลังจากนั้นเศรษฐกิจจะชะลอลงด้วยปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองทำให้การใช้จ่ายภาครัฐไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากนี้ระบบเศรษฐกิจจะได้รับแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสูงขึ้น และข้อจำกัดของมาตรการการคลังและปัญหาทางการเมืองภายในมากขึ้นอีกรวมทั้งประเทศคู่ค้าชะลอตัวจาก Exit Strategy ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังอาจลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.5-2.5% ทิศทางอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสปรับสูงขึ้นได้ถึง 0.5-1.0% ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นพร้อมกับการปรับเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ไทยอาจประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานบางประเภทโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนได้ ควรปรับนโยบายพลังงานให้สะท้อนกลไกตลาดมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2553 นั้น ประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยส่วนใหญ่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นบวก ยกเว้นตลาดหลักของไทยอย่างเขตเศรษฐกิจยูโรโซนและญี่ปุ่นมีอัตราการฟื้นตัวต่ำที่สุด กลุ่มยุโรปปีที่แล้ว (52) เติบโตติดลบ -4.3% ปีนี้ยังคงขยายตัวติดลบต่อไปที่ระดับ -0.3 - -0.5% กลุ่มสหภาพยุโรปถือเป็นตลาดการส่งออกใหญ่ที่สำคัญอันดับสามของไทย มูลค่าการค้า 36,000 ล้านดอลลาร์หรือ 1.188 ล้านล้านจะหดตัวลงจากปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป สินค้าชิ้นส่วนรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยที่ผลิตภายใต้ Brand Name ญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบจากการข้อตกลงทางการค้าเสรีหรือ FTA ระหว่างเกาหลีใต้กับยุโรป ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวในรูป V Shape โดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากระดับติดลบ -2.7% ในปี 2552 มาอยู่ที่ระดับ 1.5-1.7% ในปี 2553 ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯจะอยู่ในช่วงขาขึ้น ทิศทางดอลลาร์จะค่อยๆปรับตัวแข็งค่าขึ้น ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ เปิดเผยอีกว่า ในปี 2553 การฟื้นตัวอย่างชัดเจนยังปรากฏอย่างชัดเจนในกลุ่มอาเซียน และ กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออก ข้อตกลงภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีผลให้ยกเว้นกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าหลายพันรายการ ทำให้ปริมาณการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนสมาชิกเดิมและกลุ่มอาเซียนอินโดจีน ขณะที่จีนและอินเดียมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมในปี 2553 เมื่อเทียบกับปี 2552 และมีแนวโน้มจะมีมาตรการการเงินและการคลังเข้มงวดเพิ่มขึ้น เพื่อบรรเทาภาวะฟองสบู่ โดยที่กลุ่มอาเซียน (ห้าประเทศสมาชิกเดิม) จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในปี 2553 อยู่ที่ 3.7-4% จากปี 2552 ที่ขยายตัวเฉลี่ยไม่ถึง 1% คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป เปิดเผยอีกว่า อัตราการเติบโตทางด้านการลงทุนภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2553 โดยสามารถขยายตัวได้ที่ระดับ 2.7-3.0% เทียบกับปี 2552 ที่ติดลบ ส่วนการบริโภคนั้นจะค่อยๆกระเตื้องขึ้นจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มกลับคืนสู่ภาวะปรกติแม้นจะมีความหวั่นไหวต่อสถานการณ์ทางการเมือง ส่วนระดับการเป็นหนี้ของภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับรายได้ โดยคาดว่า อัตราการขยายตัวของการบริโภคจะอยู่ที่ระดับ 2.8% ภาคการค้าและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากปีที่แล้ว โดยอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกจะอยู่ที่ 10-15% (ส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ) อัตราการเติบโตของมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 20-24% (การนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ) ดุลการค้ายังคงเกินดุลต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยว่ามีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างน้อย 0.5-1.0% ในปี 2553 สภาพคล่องในระบบจะถูกดูดซับด้วยการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกระแสเงินทุนไหลออก แรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงทำให้สภาพคล่องในระบบลดลงและดันอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นด้วย ส่วนทิศทางราคาน้ำมันมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นและมีโอกาสแตะระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงไตรมาสสองปี 2553 โดยเป็นผลมาจากการการชะงักงันทางด้านอุปทาน (Supply Shocks) การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการเก็งกำไร ค่าเฉลี่ยของราคาน้ำมันจึงอยู่ที่ 75-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนค่าเงินบาทในช่วงไตรมาสสองมีโอกาสอ่อนค่าลงจากเงินทุนไหลออกและการเกินดุลการค้าที่ลดลง อย่างไรก็ตาม เงินบาทจะมีความผันผวนสูงทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยปัจจัยภายนอกที่ต้องจับตามอง คือ การลอยตัวของค่าเงินด่องเวียดนาม และ การเพิ่มค่าเงินหยวนของจีน สำหรับ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีความผันผวนสูงขึ้นและมีความอ่อนไหวจากปัจจัยการเมืองภายในประเทศ (โปรดดูการวิเคราะห์ผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเมืองต่อเศรษฐกิจและการลงทุนประกอบ) โดย Sector ที่น่าลงทุน ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอาหารส่งออก กลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ กลุ่มพลังงาน (ได้รับผลดีจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นและกำไรจากสต๊อคน้ำมัน) กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง (ได้รับประโยชน์จาก Mega Projects ของรัฐบาล) กลุ่มสถาบันการเงิน (ได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของสินเชื่อโดยเฉพาะการปล่อยกู้ให้โครงการภาครัฐ) นักลงทุน ต้องประเมินผลกระทบการดำเนินตามกรอบประชาคมอาเซียน 2015 ว่าการลดภาษีนำเข้าจะส่งผลบวกผลลบต่อธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆในตลาดหลักทรัพย์อย่างไร คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ได้มีข้อเสนอแนะนโยบายต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ว่า ควรจะเป็นมาตรการที่เน้นแก้ไขพื้นฐานทางเศรษฐกิจทั้งระยะกลางและระยะยาวมากกว่าระยะสั้น เนื่องจาก ผลกระทบระยะสั้นจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มคลี่คลายไปบ้างแล้ว ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนายการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่จะมีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจมากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจ คือ ความไม่มีเสถียรภาพของระบบการเมือง ส่วนการแก้ปัญหากรณีมาบตาพุดมีความล่าช้าจึงส่งผลกระทบให้เกิดการชะลอตัวของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมหนัก กรณีแรก หากการชุมนุมทางการเมืองในปลายเดือนกุมภาพันธ์และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในระยะสองสามเดือนข้างหน้า มีความรุนแรงและความไม่สงบเกิดขึ้นและรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้จนนำมาสู่การรัฐประหารหรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนอกวิถีทางประชาธิปไตยจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียความน่าเชื่อถือต่อประชาคมโลกและความเชื่อมั่นทางการลงทุน และการรัฐประหารที่เกิดขึ้นครั้งนี้อาจจะไม่สงบเรียบร้อยเช่นเดียวกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กรณีนี้จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่า 1% การท่องเที่ยวน่าจะสูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่าสองแสนล้านบาท การลงทุนภาคเอกชนทรุดตัวลงไม่ต่ำกว่า 1.5-2% เกิดการไหลออกของเงินลงทุนในตลาดการเงินอย่างรุนแรงอาจทำให้ดัชนีลงไปต่ำกว่า 550 จุด ได้ และเม็ดเงินลงทุนระยะยาวจะไม่ไหลเข้าและทยอยถอนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง กรณีนี้จะทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปอีกหลายปี นอกจากนี้ สภาพคล่องลดลงจากกระแสเงินไหลออกกดดันให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น เกิดภาวะเงินตึงตัว มีการกักตุนสินค้ากดดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าปรกติ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐตามงบประมาณอาจจะพลาดเป้าหมายกว่า 30% กรณีที่สอง หากการชุมนุมทางการเมืองและความขัดแย้งทางการเมืองไม่มีความรุนแรงหรือไม่มีความไม่สงบเกิดขึ้น แต่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นกรณีพลิกขั้วหรือยุบสภาภายในครึ่งปีแรก จะก่อให้เกิดความชะงักงันในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความล่าช้าของการใช้จ่ายเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการลงทุนระยะยาว กรณีนี้จะมีผลลบเพียงเล็กน้อยต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้แต่ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้ง เกิดปัญหาการขาดความต่อเนื่องของการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ กรณีที่สาม หากการชุมนุมทางการเมืองและความขัดแย้งทางการเมืองไม่มีความรุนแรงและมีความสงบเรียบร้อย รัฐบาลผ่านช่วงเวลาปลายเดือนเดือนกุมภาพันธ์จนถึงช่วงเวลาสองสามเดือนข้างหน้าไปได้และรัฐบาลสามารถอยู่ได้จบครบวาระหรือเกือบครบวาระ เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวตามคาดการณ์ได้ที่ระดับ 3.5% ดัชนีตลาดหลักทรัพย์สามารถทดสอบระดับ 800-820 ในระหว่างปีได้ และมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยน่าจะมีอัตราการเติบโตได้ตามศักยภาพในปี 54 ที่ระดับ 5-6% ได้ กรณีที่สี่ หากการชุมนุมทางการเมืองและความขัดแย้งทางการเมืองนำไปสู่ความรุนแรงนองเลือด แต่รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้โดยการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงหรือประกาศใช้กฎอัยการศึกโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแต่ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงดำรงอยู่ต่อไป คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่า 3% การท่องเที่ยวชะลอตัวในช่วงไตรมาสสองและไตรสามสาม สูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า 50,000-70,000 ล้านบาท อัตราการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงไม่ต่ำว่า 0.50-1% ไม่มีผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐ จะมีการไหลออกของเม็ดเงินลงทุนในตลาดการเงิน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อาจลงไปต่ำกว่า 650 จุด ไม่มีผลกระทบต่อเงินลงทุนระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ กรณีที่ห้า หากการชุมนุมทางการเมืองและความขัดแย้งทางการเมืองนำไปสู่ความรุนแรงนองเลือด แต่รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้โดยการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงหรือประกาศใช้กฎอัยการศึกโดยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในช่วงไตรมาสสองหรือไตรมาสสาม ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองยังคงดำรงอยู่ต่อไป รัฐบาลหลังการเลือกตั้งก็จะยังเป็นรัฐบาลผสมที่ไม่มีเสถียรภาพมากนัก คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่า 2.5% การท่องเที่ยวชะลอตัวในช่วงไตรมาสสองและไตรสามสาม สูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า 70,000-100,000 ล้านบาท อัตราการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงไม่ต่ำว่า 0.70-1.2% มีผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐโดยการใช้จ่ายอาจจะต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 10-20% จะมีการไหลออกของเม็ดเงินลงทุนในตลาดการเงิน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อาจจะลงไปต่ำกว่า 620 จุด ไม่มีผลกระทบต่อเงินลงทุนระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวว่า ความรุนแรงทางการเมืองไม่ว่ากรณีใดๆเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันหลีกเลี่ยงเพราะส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยวในระดับสูงและจะมีผลยืดเยื้อต่อเนื่องต่อไปอีกหลายปี ความขัดแย้งของกลุ่มชนชั้นนำในชาตินำมาสู่ความเดือดร้อนต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรง สิ่งนี้สามารถแก้ไขได้โดยผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดขึ้นทั้งประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและการเมือง ต้องมีการปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่างๆที่จะนำมาสู่ความขัดแย้งและสภาพอนาธิปไตยอีกรอบหนึ่ง การปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้านจะเป็นทางรอดของประเทศ อาจารย์วรรณกิตติ์ วรรณศิลป์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ได้วิเคราะห์ถึง รายละเอียดของเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ