คนไทยเจ๋ง พัฒนา “ระบบบำบัดน้ำเสียประสิทธิภาพสูง” ใช้จุลินทรีย์สร้างก๊าซชีวภาพ กับโรงงานแป้งมันฯ

ข่าวทั่วไป Monday March 27, 2006 16:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--สวทช.
สวทช. จับมือ มจธ. สนับสนุนการพัฒนาระบบบำบัดแบบตรึงฟิล์มจุลินทรีย์ชนิดไร้อากาศ ( Anaerobic Fixed Film Reactor : AFFR ) แก้ปัญหาน้ำเสียและกลิ่นให้กับโรงงานแป้งมันสำปะหลัง ‘ชลเจริญ’ และยังได้ก๊าซชีวภาพมาใช้ทดแทนน้ำมันเตาได้ 100% ลดการนำเข้าได้ถึง 20 ล้านบาท/ปี ขณะที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เตรียมเดินหน้าไปยังโรงงานแป้งฯ อีก 48 แห่งทั่วประเทศ ที่สำคัญเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย
‘น้ำเสีย ’ เป็นปัญหาของอุตสาหกรรมการผลิตแป้งมันสำปะหลังมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยโรงงานที่มีกำลังการผลิตขนาด 200 ตันแป้งต่อวัน ผลิตปีละ 200 วัน ในแต่ละวันจะมีปริมาณน้ำทิ้งสูงถึง 4,000 ลบ.ม. และการบำบัดน้ำเสียส่วนใหญ่จะใช้บ่อเปิดจำนวนมาก ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากปัญหาน้ำเสียแล้ว โรงงานแป้งมันสำปะหลังยังใช้พลังงานมาก โดยการใช้น้ำมันเตาเพื่อการอบแห้ง 40 ลิตรต่อตันแป้ง และกระแสไฟฟ้า 165 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อตันแป้ง คิดเป็นค่าพลังงานประมาณ 1,000 บาทต่อการผลิตแห้ง 1 ตัน
แต่ปัญหาดังกล่าวได้รับการเล็งเห็นจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ล่าสุด ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในสังกัดของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ริเริ่มนำระบบบำบัดเสียเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพมาใช้ในโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง โดยได้มีการวิจัยและพัฒนาระบบมาเป็นเวลานาน เพื่อให้ได้ระบบที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด จนได้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศในบ่อปิดที่มีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ “ ระบบบำบัดแบบตรึงฟิล์มจุลินทรีย์ชนิดไร้อากาศ ( Anaerobic Fixed Film Reactor : AFFR ) ที่นอกจากมีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียสูง แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดีทั้งในเรื่องของคุณภาพน้ำและกลิ่น อีกทั้งยังใช้พื้นที่น้อยลงกว่าระบบบ่อเปิดแล้ ที่สำคัญคือ ยังได้ก๊าซชีวภาพเป็นผลพลอยได้นำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนน้ำมันเตา ทำให้มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน ลดภาระต้นทุนจากเชื้อเพลิงในภาวะวิกฤติน้ำมันแพงและแนวโน้มปัญหาพลังงานในอนาคต
ดร.อรรณพ นพรัพน์ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า การพัฒนาระบบบำบัดแบบตรึงฟิล์มจุลินทรีย์ชนิดไร้อากาศ (AFFR )นี้ เป็นความร่วมมือแบบบูรณาการระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และกระทรวงพลังงาน โดยระบบที่พัฒนาขึ้นนี้ มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการบำบัดน้ำเสียจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง โดยใช้หลักการตรึงเซลล์จุลินทรีย์ไว้บนผิววัสดุตัวกลางที่เป็นตาข่าย ทำให้กักเก็บจุลินทรีย์ให้อยู่ในระบบได้เป็นระยะเวลานาน มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดของเสียได้ร้อยละ 80 ใช้กับน้ำเสียที่มีสารแขวนลอยสูงได้ โดยไม่ต้องปรับสภาพน้ำเสียก่อนเข้าระบบ ทุ่นค่าสารเคมีและการดูแลไม่ซับซ้อน ที่สำคัญเป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นเองในประเทศ
“ระบบดังกล่าว เป็นประเภทที่มีวัสดุตัวกลางอยู่ในถังปฎิกรณ์ เพื่อให้จุลินทรีย์เกาะบนตัวกลางในลักษณะของฟิล์มชีวะ โดยชนิดของวัสดุตัวกลางที่ใช้จะเป็นตาข่ายไนลอนที่ขึงติดตั้งอย่างเป็นระเบียบภายในถังปฎิกรณ์ ซึ่งการที่จุลินทรีย์ยึดเกาะอยู่บนตัวกลางนั้น จะสามารถลดการสูญเสียจุลินทรีย์ไม่ให้หลุดออกไปจากระบบบำบัดพร้อมกับน้ำที่บำบัดแล้ว” ดร.อรรณพ กล่าว และว่า
สำหรับข้อดีที่สามารถรักษาจุลินทรีย์ให้อยู่ในระบบได้จำนวนมากนั้น จะทำให้ระบบมีประสิทธิภาพดี มีเสถียรภาพสูง สามรถกำจัดสารอินทรีย์ได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะทำงานปกติได้อย่างรวดเร็ว หากเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพของน้ำเสียที่ไหลเข้าระบบหรือเกิดภาระสารอินทรีย์สูงเกินไป ระบบตรึงฟิล์มจุลินทรีย์นี้สามารถรับสารอินทรีย์ได้ 6-8 กิโลกรัมซีโอดี ต่อลบ.ม.ของถังต่อวัน ที่ระยะเวลากักเก็บ(HRT) 3-4 วัน จะทำให้ได้ปริมาณก๊าซที่เกิดขึ้น 0.4-0.5 ลบ.ม.ต่อกิโลกรัมซีโอดีที่กำจัด และ ยังได้ก๊าซชีวภาพที่มีองค์ประกอบของก๊าซมีเทนประมาณ 60-70% ที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดสารอินทรีย์ได้ถึง 80%
ทั้งนี้ ได้มีการนำระบบดังกล่าวมาถ่ายทอดและพัฒนาใช้กับบริษัท ชลเจริญ จำกัด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังต้นแบบ ที่สามารถบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบลูกผสมได้อย่างแท้จริง โดยการนำเอาข้อดีของระบบบำบัดน้ำเสียต่างๆ ในปัจจุบันมารวมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบให้สูงขึ้น โดยปล่อยน้ำเสียและมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ลดการใช้ทรัพยากร เช่น น้ำและพลังงาน รวมทั้งลดการสูญเสียแป้งในกระบวนการผลิตง ขณะที่จะให้พลังงานก๊าซชีวภาพและสามารถนำน้ำที่บำบัดกลับมาใช้งานใหม่ในโรงงานได้
สำหรับการก่อสร้างระบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ AFFR ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อเป็นพลังงานทดแทนในโรงงานแป้งมันสำปะหลังที่ มจธ.ดำเนินการให้กับบริษัท ชล เจริญ จำกัด นี้ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 42 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนแหล่งเงินทุนทั้งจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในรูปของเงินอุดหนุนร้อยละ 20 ของเงินลงทุน และได้รับการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากโครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมภาคเอกชน หรือ CD (สวทช.) อีกในวงเงินจำนวน 22.7 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาในการพัฒนาระบบฯ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2547 — เมษายน 2549 ล่าสุด บริษัทฯ สามารถเดินระบบไปได้แล้วถึง 80% คาดว่า จะสามารถเดินระบบได้เต็มที่ 100% ภายในกลางเดือนเมษายนนี้ ก็จะได้ก๊าซชีวภาพมาใช้แทนน้ำมันเตาได้ทั้งหมด ทำให้บริษัทฯ ลดการใช้น้ำมันเตาลงได้กว่า 20 ล้านบาทต่อปี และจะคุ้มทุนได้ทั้งหมดภายในระยะเวลาเพียง 2 - 3 ปี
ด้านนายเม่งจั๊ว แซ่อึ๊ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชลเจริญ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2495 ผลิตแป้งมันสำปะหลังมานานกว่า 50 ปี โดยมีทุนจดทะเบียน 489 ล้านบาท มีบริษัทในเครือทั้งสิ้น 6 แห่ง กำลังการผลิตรวมกันทั้งสิ้น 5 แสนตันต่อปี โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ จัดจำหน่าย ภายใต้ แบรนด์ CCC ใช้วัตถุดิบหัวมันสำปะหลังสดที่รับซื้อจากเกษตรกรชาวไร่มาผลิตแปรรูปเป็นแป้งมันสำปะหลัง โดยไม่มีการตัดต่อพันธุกรรมแต่อย่างใด ส่วนใหญ่จะเป็นการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 75 ส่งออกต่างประเทศร้อยละ 25 อาทิ ไต้หวัน , ฮ่องกอง , มาเลเซีย , จีน , อินโดนีเซีย และบังคลาเทศ กลุ่มลูกค้าจะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ อาทิ อุตสาหกรรมแช่แข็ง , ยา , การแปรรูป ,สิ่งทอ , กล่อง และ กระดาษ หรือแม้กระทั่งผงชูรส
สำหรับโรงงานชลเจริญ จ.ชลบุรี มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 240 ตันต่อวัน เดิมต้องใช้น้ำมันเตาในกระบวนการผลิตเกือบ 1หมื่นลิตรต่อวัน และการบำบัดน้ำเสียของบริษัทฯ ต้องใช้พื้นที่ในการทำบ่อเปิดกว่า 20 — 30 ไร่ แต่ปัจจุบันสามารถลดพื้นที่ลงเหลือเพียง 2 ไร่ สำหรับการจัดสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียฯ จำนวน 2 บ่อ ขนาดบ่อละ 6,000 ลบ.ม. โดยได้รับการสนับสนุนจากไบโอเทค และ มจธ. ในการเข้ามาพัฒนาระบบดังกล่าวให้ พร้อมกับการช่วยเหลือด้านเงินทุนจาก สนพ. และ โครงการ CD ของ สวทช. รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 32 ล้านบาท
“ ขณะนี้ระบบฯ ดังกล่าวได้เริ่มเดินเครื่องไปแล้วกว่า 80% ทำให้บริษัท กลายเป็นโรงงานต้นแบบให้กับอุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลัง นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่สำคัญทำให้วันนี้ บริษัทฯ ไม่ต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศเพื่อนำเข้าน้ำมันเตาราคาแพง ซึ่งต้องขอชื่นชมคณะนักวิจัย และ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ทำให้วันนี้สำเร็จได้ และมั่นใจว่า ภายใน 2-3 ปีจะสามารถคืนทุนได้ทั้งหมด” นายเม่งจั๊ว กล่าว
ทั้งนี้ จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เตรียมเดินหน้าถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวไปยังโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังอื่นๆ อีก 48 แห่งทั่วประเทศ พร้อมกับเตรียมจัดหาแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น โดยจะผลักดันให้เป็นนโยบายของรัฐบาลต่อไป เนื่องจากการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียฯ จะต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง แต่ระบบดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะการแก้ปัญหาพลังงานของประเทศในอนาคต
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อยื่นขอร่วมโครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมภาคเอกชน หรือ CD หรือ ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ โทร. 0-2564-7000 ต่อ 1335 — 1339 ได้ทุกวันและเวลาราชการ หรือ ที่เว็ปไซต์ www.nstda.or.th/cd

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ