อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สำหรับเครื่องพีซีทั่วโลกคงตัวที่ 35% มูลค่าความเสียหายเพิ่ม 15%

ข่าวเทคโนโลยี Thursday May 17, 2007 12:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต
อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในไทยยังคงที่ 80% ติดอันดับห้าในเอเชียแปซิฟิก
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือ บีเอสเอ ตัวแทนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ เผยผลการสำรวจการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) ทั่วโลก ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดทำโดยไอดีซี บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาตลาดชั้นแนวหน้าระดับโลกของวงการเทคโนโลยีสารสนเทศ สรุปซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีทั่วโลกในปี 2549 เป็นสินค้าผิดกฎหมาย 35% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์เกือบ 4 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ ตลาดที่กำลังเติบโตหลายแห่งมีความคืบหน้าในการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ จีนโชว์ผลงานโดดเด่นที่สุดด้วยอัตราการละเมิดที่ลดลง 10% ภายใน 3 ปี ตามมาด้วยรัสเซียที่ลดอัตราการละเมิดได้ 7% ภายในระยะเวลาเดียวกัน ส่วนประเทศไทยยังคงมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อยู่ที่ 80% ติดอันดับ 5 ของประเทศที่มีการละเมิดสูงสุดในเอเชียแปซิฟิก รองจากจีน (82%), อินโดนีเซีย (85%), ปากีสถาน (86%) และเวียดนาม (88%) ในขณะที่มูลค่าความสูญเสียที่เกิดจากการละเมิด ลิขสิทธ์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 421 ล้านดอลล่าร์
มร.โรเบิร์ต ฮอลลีย์แมน ประธานและซีอีโอของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟท์แวร์ กล่าวว่า “ข่าวดีก็คือการรณรงค์ต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์คืบหน้าไปมาก แต่เรายังมีภารกิจต้องทำอีกมากมาย เพื่อลดอัตราการละเมิดที่สูงอย่างรับไม่ได้ ความเสียหายมูลค่ามหาศาล ส่งผลกระทบต่อวงการไอที ทั้งเรื่องการจ้างงาน รายได้ และแหล่งทุนสำหรับการต่อยอดนวัตกรรมแห่งอนาคต และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ”
มร. ฮอลลีย์แมน กล่าวต่อไปว่า จากสถิติทั่วโลกปรากฏว่า ทุกๆ สองดอลล่าร์ที่จ่ายไปเพื่อซื้อซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย อีกหนึ่งดอลล่าร์จะถูกจ่ายไปกับซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย ในปี 2549 มูลค่าความเสียหายทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 พันล้านดอลล่าร์ หรือเพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนหน้า และในบรรดา 102 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มสำรวจในปีนี้ 62 ประเทศ มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงพอสมควร แต่กลับเพิ่มขึ้นใน 13 ประเทศ
จากรายงานของไอดีซี อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในจีนหดตัวลง 4% เป็นปีที่สองติดต่อกัน และลดลง 10% ในช่วงสามปีที่ผ่านมา คือจาก 92% ในปี 2546 ลดเหลือ 82% ในปี 2549 ซึ่งช่วยป้องกันความเสียหายได้มากถึง 864 ล้านดอลล่าร์ อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ลดลง และการป้องกันการสูญเสียเป็นผลมาจากความพยายามของภาครัฐในการรณรงค์ส่งเสริมให้หน่วยงานราชการใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย อีกทั้งการทำข้อตกลงกับผู้ขายพีซีให้ใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย การให้ข้อมูลความรู้แก่วงการไอทีและหน่วยงานของรัฐ และการดำเนินคดีทางกฎหมาย ทั้งนี้ ตลาดซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายในจีนขยายตัวคิดเป็นมูลค่าเกือบ 1,200 ล้านดอลล่าร์ในปี 2549 หรือโตขึ้น 88% จากปี 2548 และตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ตลาดซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายในจีนขยายตัวเกินกว่า 358%
มร. ฮอลลี่ย์แมน กล่าวอีกว่า “หากพิจารณาการเติบโตอย่างกว้างขวางที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดไอทีของจีน อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นนิมิตหมายที่ดียิ่ง ความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของรัฐบาลจีนในการสนับสนุนซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายทำให้บีเอสเอมีกำลังใจทำงานยิ่งขึ้น เราอยากจะเห็นสหรัฐอเมริกาและจีนเดินหน้าพูดคุยเจรจากันอย่างต่อเนื่องในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ”
ด้าน มร.เจฟฟรีย์ ฮาร์ดีย์ รองประธานและผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของบีเอสเอ แสดงความเห็น ในงานแถลงข่าวเผยแพร่ผลการสำรวจในเอเชียว่า “ในบรรดาตลาด 15 แห่งที่อยู่ในกลุ่มสำรวจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 11 ประเทศมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ลดลง และที่เหลืออีก 4 ประเทศมีอัตราการละเมิดเท่าเดิม อย่างไรก็ตาม อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์โดยเฉลี่ยทั่วภูมิภาคเพิ่มขึ้น 1 จุด รวมเป็น 55% ซึ่งอาจจะดูขัดกับความน่าจะเป็น แต่ในความเป็นจริง ส่วนแบ่งตลาดพีซีของจีนและอินเดียในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นจาก 42% ในปี 2548 เป็น 46% ในปี 2549 ซึ่งส่งผลให้อัตราเฉลี่ยของการละเมิดลิขสิทธิ์ในภูมิภาคนี้ขยับเพิ่มสูงขึ้นเทียบเคียงกับค่าเฉลี่ย ของจีนและอินเดีย ถึงแม้ว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ของทั้งสองประเทศในปี 2549 จะลดลงก็ตาม”
เขากล่าวเสริมว่า “รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกตระหนักถึงประโยชน์และศักยภาพมหาศาลของภาคธุรกิจไอทีในฐานะตัวขับเคลื่อนธุรกิจ และความจำเป็นที่ตามมาในเรื่องของการต่อต้านซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ยิ่งในปัจจุบันรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต่างร่วมมือกับวงการไอทีในการเพิ่มความแข็งแกร่งของนโยบายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การให้ข้อมูลความรู้แก่ผู้บริโภคและภาคธุรกิจเกี่ยวกับประโยชน์ของการใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย การแนะนำวิธีบริหารทรัพย์สินซอฟต์แวร์ให้แก่องค์กรต่างๆ และการดำเนินการทางกฎหมายกับการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีลิขสิทธิ์ เมื่อเอเชียแปซิฟิกเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้นและอย่างต่อเนื่อง และตลาดไอทีในภูมิภาคนี้เติบโตเต็มที่ บริษัทและอุตสาหกรรมท้องถิ่นจะขยายตัวและขยับฐานะสูงขึ้นตามไปด้วย เห็นได้จากสัดส่วนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของภาคเอกชนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีแห่งยุคอนาคต ตลอดจนผลิตภัณฑ์และบริการไอทีที่มีมูลค่าสูงขึ้น แนวโน้มเช่นนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวดจริงจังสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ”
มร. ฮาร์ดีย์ ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ถึงแม้ว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในปี 2549 จะลดลงในประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ แต่ความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดกลับเพิ่มขึ้น 44% คิดเป็นมูลค่า 11,600 ล้านดอลล่าร์
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ค่อนข้างต่ำอาจก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลในตลาดขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกามีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ 21% ซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศที่ถูกสำรวจทั้งหมด แต่มูลค่าความเสียหายรวมกลับสูงที่สุด คิดเป็นเงิน 7,300 ล้านดอลล่าร์ ตามมาด้วยจีนที่มีมูลค่าความเสียหายสูงสุดเป็นอันดับสองที่ 5,400 ล้านดอลล่าร์ และอัตราการละเมิด 82% ส่วนอันดับสามได้แก่ ฝรั่งเศส ซึ่งมีอัตราการละเมิด 45% คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 2,700 ล้านดอลล่าร์
ประเด็นสำคัญอื่นๆ จากผลการสำรวจ
เกินกว่าครึ่งหนึ่งของ 102 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มสำรวจครั้งนี้ มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์สูงกว่า 60% และประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศเหล่านี้ มีการละเมิดลิขสิทธิ์เกินกว่า 75%
ตลาดในประเทศที่กำลังเติบโตในเอเชียแปซิฟิก ละตินอเมริกา ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา มีการจัดส่งเครื่องพีซีรวมกันคิดเป็น 1 ใน 3 ของเครื่องพีซีที่มีการจัดส่งทั้งหมด แต่มีการซื้อหาซอฟต์แวร์เพื่อติดตั้งในเครื่องพีซีเพียง 10%
สหภาพยุโรปและแคนาดายังคงมีมูลค่าความเสียหายสูงถึงแม้ว่าอัตราการละเมิดจะต่ำ สหภาพยุโรปมีอัตราการละเมิด 36% และมูลค่าความเสียหายสูงถึง 11,000 ล้านดอลล่าร์ ในขณะที่แคนาดามีอัตราการละเมิด 34% และมูลค่าความเสียหาย 784 ล้านดอลล่าร์
ในช่วง 4 ปีข้างหน้า ธุรกิจและผู้บริโภคทั่วโลกจะใช้จ่ายเงิน 350,000 ล้านดอลล่าร์ ไปกับซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซี ซึ่งหากแนวโน้มยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป งานวิจัยชิ้นนี้คาดการณ์ว่าซอฟต์แวร์สำหรับเครื่องพีซีมูลค่ามากกว่า 180,000 ล้านดอลล่าร์จะถูกละเมิดลิขสิทธิ์ในช่วงเวลาดังกล่าว
อัตราเฉลี่ยของการละเมิดลิขสิทธิ์แบ่งตามภูมิภาคในปี 2549 แสดงไว้ในกราฟต่อไปนี้
ภาพที่ 1
อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์แบ่งตามภูมิภาคทั่วโลก
จอห์น แกนท์ซ หัวหน้านักวิจัยแห่งไอดีซี กล่าวว่า “ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์ในภูมิภาคต่างๆ แตกต่างกันไป ได้แก่ ความแข็งแกร่งในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ความง่ายในการซื้อหาซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ และความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม การลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลกต้องลงทุนลงแรงมากกว่านี้ แต่ผลที่จะได้ก็คือ อุตสาหกรรมไอทีท้องถิ่นที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในวงกว้างขวางยิ่งขึ้น”
มร. ฮอลลี่ย์แมน กล่าวว่า “องค์ประกอบสำคัญในการต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วโลก คือ การศึกษา นโยบายที่แข็งแกร่งของภาครัฐ และการดำเนินการทางกฎหมาย การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นในตลาดที่กำลังเติบโต ทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องสะดวกง่ายดายกว่าเดิม การรณรงค์ต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์จึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไป”
ผลการสำรวจการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลกของบีเอสเอและไอดีซี ครอบคลุมการละเมิดลิขสิทธิ์ชุดซอฟต์แวร์สำเร็จรูปทั้งหมดที่ทำงานบนเครื่องพีซี ซึ่งรวมถึงเครื่องเดสก์ทอป แลปท็อป และเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็ก และไม่รวมซอฟต์แวร์ประเภทอื่นๆ เช่น ซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งบนเครื่องแม่ข่ายเซิฟเวอร์ หรือเครื่องเมนเฟรม ทั้งนี้ ไอดีซีใช้สถิติข้อมูลการจัดส่งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ และนักวิเคราะห์ของไอดีซีใน 50 ประเทศ เป็นเครื่องมือยืนยันแนวโน้มการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม หรือดูผลการสำรวจได้ที่ www.bsa.org/globalstudy
เกี่ยวกับบีเอสเอ
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือ บีเอสเอ เป็นผู้นำแถวหน้าที่ทุ่มเทให้กับการส่งเสริมโลกดิจิตอลที่ ปลอดภัยและถูกกฎหมาย บีเอสเอเป็นกระบอกเสียงของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์และคู่ค้าฮารด์แวร์ทั่วโลก ต่อหน้ารัฐบาลของประเทศต่างๆ และในตลาดการค้าระหว่างประเทศ สมาชิกบีเอสเอประกอบด้วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก โครงการต่างๆ ของบีเอสเอสนับสนุนนวัตกรรมเทคโนโลยีโดยผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงการศึกษาและนโยบายที่ส่งเสริมการปกป้องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ การรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์, การค้า และอีคอมเมิร์ส สมาชิกทั่วโลกของบีเอสเอ รวมถึง อโดบี, อัลเทรียม, แอปเปิ้ล, ออโต้เดสค์, อาวิด, บีอีเอ ซิสเต็มส์, เบนลี่ ซิสเต็มส์, บอร์แลนด์, โบรลท์ รีเสิร์ช ออกาไนเซชั่น, ซีเอ, เคเดน ดีไซน์ ซิสเต็มส์, ซิสโก้ ซิสเต็มส์, ซีเอ็นซี ซอฟต์แวร์/มาสเตอร์แคม, เดล, อีเอ็มซี, เอ็นทรัส, ฟรอนไลน์ พีซีบี โซลูชั่น ในเครือ ออโบเทค วาเรอร์ คัมปานี, เอชพี, ไอบีเอ็ม, อินเทล, ไอนัส เทคโนโลยี, แมคอาฟี, ไมโครซอฟท์ , มินิแทบ, โมโนไทพ์ อิเมจิ้ง, พีทีซี, เอสเอพี, โซลิดเวิร์กส์, ไซเบส, ไซแมนเทค, ซินอพซิส, เทคล่า, ไทยซอฟท์แวร์ เอ็นเตอร์ไพรส์, เดอะ แมธเวิร์กส์, เทรนด์ ไมโคร และยูจีเอส
เกี่ยวกับไอดีซี
ไอดีซี เป็นผู้ให้บริการข้อมูลตลาดระดับคุณภาพชั้นนำของโลก รวมทั้งบริการที่ปรึกษา และการจัดงานต่างๆ สำหรับภาคธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม และตลาดเทคโนโลยีผู้บริโภค ไอดีซีช่วยให้มืออาชีพด้านไอที ผู้บริหารธุรกิจ และแวดวงการลงทุนมีข้อเท็จจริงประกอบการตัดสินใจซื้อเทคโนโลยี และกลยุทธ์ทางธุรกิจ นักวิเคราะห์ของไอดีซีกว่า 850 คน ใน 50 ประเทศ ให้บริการความเชี่ยวชาญในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ทางด้านเทคโนโลยี โอกาสและแนวโน้มทางธุรกิจ ไอดีซีมีประสบการณ์กว่า 42 ปีในการให้ข้อมูลเชิงกลยุทธ์แบบเจาะลึก เพื่อช่วยให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายหลักทางธุรกิจ ไอดีซีเป็นบริษัทในเครือไอดีจี ซึ่งผู้นำระดับโลกทางด้านสื่อเทคโนโลยี การวิจัย และการจัดงานพิเศษ ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.idc.com
ต้องการข้อมูลเพิ่เติมกรุณาติดต่อ
บ.นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด
สุนทรี ชินประหัษฐ์ / นิสิตา ใจเย็น
โทร (02) 631-2290-5 ต่อ 222, 310
แฟ็กซ์ (02) 234-6192-3
E-Mail: suntaree@neotarget.com , nisittha@neotarget.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ