กลุ่มมิตรผลรับรางวัล Project of The Year Thailand ICT Excellence Awards 2009 เป็นปีที่ 2

ข่าวทั่วไป Friday March 19, 2010 16:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด ในกลุ่มมิตรผล คว้ารางวัล โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดีเด่นแห่งปี (Project of The Year) สาขาโครงการที่ส่งเสริมการบริหารความเปลี่ยนแปลง (Change Management) จากผลงาน การรายงานผลคุณภาพอ้อยตามสภาพเวลาจริง (Real-Time Commercial Cane Sugar Report) ในงาน Thailand ICT Excellence Awards 2009 ซึ่งจัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ตอกย้ำความเป็นผู้นำนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลต่อเนื่อง นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “นับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้ว ที่กลุ่มมิตรผลได้รับรางวัลในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดีเด่นแห่งปี (Project of The Year) ซึ่งมอบให้กับโครงการที่มีความเป็นเลิศด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดประโยชน์ จากงาน Thailand ICT Excellence Awards 2009 จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย “อุตสาหกรรมน้ำตาลมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในระดับสูง หากเราสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีการค้าระดับโลกให้แก่อุตสาหกรรมได้ ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก การเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันระดับโลก ซึ่งมิตรผลตระหนักและมองเห็นโอกาสดังกล่าว จึงได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้และพัฒนาเป็นระบบ Real-Time CCS ขึ้น เพื่อสนับสนุนการรายงานข้อมูลอ้อยให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากบุคลากร เพิ่มประสิทธิภาพ ในระบบการทำงาน พัฒนาระบบการรับอ้อยโดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ การจัดการในไร่อ้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อวัตถุดิบมีคุณภาพดีขึ้น ย่อมทำให้มีผลผลิต (Yield) สูงขึ้นและต้นทุนเฉลี่ยในการผลิตลดลง นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับการแข่งขันบนเวทีการค้าระดับโลก” นายกฤษฎา กล่าว ด้านนายเทวกุล ปัทมะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า Real-Time CCS เป็นการนำระบบเทคโนโลยี 4 ประเภทมาบูรณาการเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและถูกต้อง ในการบริหารจัดการข้อมูลการนำอ้อยเข้าสู่โรงงาน ประกอบด้วย เทคโนโลยี Radio Frequency Identification (RFID) ช่วยในการจัดการตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้น คือ แจ้งลงทะเบียน แจ้งรถบรรทุกอ้อยมาถึงโรงงาน เชื่อมต่อข้อมูลลำดับการส่งอ้อยและข้อมูลอ้อยที่ส่งให้โรงงานทั้งหมด Programmable Logic Controller (PLC) ใช้ในการประมวลผลและติดตามข้อมูลที่จุดลำเลียง และใช้ในการจับคู่รหัสจากบัตร RFID กับข้อมูลที่วิเคราะห์ได้จากเจ้าหน้าที่สำนักคณะกรรมการอ้อยและ น้ำตาลทราย Web Application เป็นระบบรวบรวม ประมวล และรายงานผลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ผู้ใช้ข้อมูลเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว Short Message Service (SMS) ใช้ในการแจ้งผลที่โรงงานได้รับให้กับชาวไร่อ้อยภายใน 30 นาที การผสานเทคโนโลยีทั้ง 4 ประเภทนี้ จะทำให้การทำงานมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น จากเดิมที่ใช้เวลาในการวิเคราะห์และส่งผลข้อมูลทั้งหมด 1,440 นาที (1 วัน) จะเหลือเพียง 30 นาที และให้ผลข้อมูลที่มีความถูกต้อง 100% ทั้งยังเพิ่มความสะดวกให้กับชาวไร่อ้อยในการรับข้อมูลผ่านช่องทางการสื่อสารด้วย SMS จากการสำรวจความพึงพอใจพบว่า ชาวไร่อ้อยมีความพึงพอใจสูงถึงร้อยละ 90 เนื่องจากสามารถบริหารการตัดและเก็บเกี่ยวอ้อยที่มีคุณภาพได้ทันเวลา “มิตรภูเขียวนับเป็นโรงงานน้ำตาลแห่งแรกในกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล ที่มีการรายงานค่าคุณภาพความหวานของอ้อย หรือ CCS ให้ชาวไร่ทราบภายในระยะเวลาเพียง 30 นาที ตั้งแต่มีการนำอ้อยเข้าหีบ ซึ่งเร็วที่สุดในบรรดาโรงงานน้ำตาลทั้ง 46 โรงงานทั่วประเทศ นับเป็นประโยชน์ต่อการจัดลำดับการตัดอ้อยที่มีคุณภาพ และเหมาะสมเข้าสู่โรงงานได้อย่างถูกต้อง ทำให้การใช้ทรัพยากรของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยวัดจากผลผลิตน้ำตาลที่มีค่าสูงขึ้นตามวัตถุดิบที่เข้ามา นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของกลุ่มมิตรผลในการนำเทคโนโลยีมาสรรสร้างเป็นนวัตกรรมต่อยอดธุรกิจที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นายเทวกุล กล่าวทิ้งท้าย จากภาพ - นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล (ซ้าย) เป็นตัวแทนรับรางวัลโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดีเด่นแห่งปี (Project of The Year) สาขาโครงการที่ส่งเสริมการบริหารความเปลี่ยนแปลง (Change Management) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับโครงการที่มีความเป็นเลิศด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดประโยชน์ จากผลงาน “การรายงานผลคุณภาพอ้อยตามสภาพจริง” (Real-Time Commercial Cane Sugar Report) โดยมี ศจ.ดร.สันทัด โรจนสุนทร (ขวา) ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกียรติเป็นผู้มอบรางวัล เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ: อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ โทร. 0-2252-9871

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ