รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม 2550

ข่าวทั่วไป Friday April 27, 2007 14:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม 2550 ว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือนมีนาคม 2550 ได้รับผลกระทบจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการส่งออกซึ่งขยายตัวได้ในระดับสูงและการเร่งเบิกจ่ายของรัฐบาลเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ ส่วนด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนมีนาคมบ่งชี้ถึงการใช้จ่ายของรัฐบาลที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยรายจ่ายงบประมาณในเดือนนี้เบิกจ่ายได้ 139.9 พันล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 ต่อปี แบ่งเป็นรายจ่ายประจำจำนวน 106.9 พันล้านบาท รายจ่ายลงทุนจำนวน 21.0 พันล้านบาท และรายจ่ายเหลื่อมปีจำนวน 12.0 พันล้านบาท นอกจากนี้ รายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลในเดือนมีนาคม 2550 จัดเก็บได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ 103.3 พันล้านบาท แต่เป็นการหดตัวลงที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวลง
สำหรับเครื่องชี้การใช้จ่ายภายในประเทศยังคงชะลอลงต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนมีนาคมขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 เนื่องจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองและทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต รวมทั้งภาวะราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนเครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน ยังคงชะลอตัวลงเช่นกัน ดังจะเห็นได้จาก ภาษีที่จัดเก็บจากธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังคงหดตัวลงที่ร้อยละ -0.1 ต่อปีในเดือนมีนาคม ขณะที่ยอดขายปูนซีเมนต์ในเดือนกุมภาพันธ์หดตัวที่ร้อยละ -4.6 ต่อปี สะท้อนภาวะชะลอตัวของภาคธุรกิจก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม มูลค่าการออกสิทธิบัตรส่งเสริมการลงทุนสะสมผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในเดือนมีนาคม 2550ปรับตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 35.2 ต่อปี
มูลค่าการส่งออกในเดือนมีนาคม 2550 มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 13.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 18.4 ต่อปี ดังนั้นการส่งออกจึงยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สำหรับมูลค่าการนำเข้าในเดือนมีนาคม 2550 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 10.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอลง ส่วนดุลการค้าในเดือนมีนาคม 2550 เกินดุลจำนวน 2,267 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเกินดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์
สำหรับเครื่องชี้ในด้านอุปทานพบว่า ในเดือนมีนาคม 2550 ดัชนีผลผลิตการเกษตรขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อปี เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และสุกร หดตัวลง ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรยังคงหดตัวร้อยละ -4.6 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.3 ต่อปี ทำให้คาดว่ารายได้เกษตรที่ขยายตัวในระดับที่สูงในปีที่ผ่านมาอาจจะชะลอตัวลงได้ ส่วนเครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรมบ่งชี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคมขยายตัวชะลอลง ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า เนื่องมาจากการผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เครื่องแต่งกาย และกระเป๋าเดินทางหดตัวลง สอดคล้องกับการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลง ประกอบกับการผลิตคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน ในด้านเครื่องชี้ภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยว ข้อมูลล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 1.27 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 6.4 ต่อปี ส่วนหนึ่งเนื่องจากฐานที่ต่ำในปีก่อนที่เทศกาลตรุษจีนตรงกับเดือนมกราคม แต่ในปี 2550 นี้ เทศกาลตรุษจีนอยู่ในเดือนกุมภาพันธ์
เสถียรภาพทั้งภายในและภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก และปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคม 2550 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.0 ต่อปี ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 2.3 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 37.6 แต่ยังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ร้อยละ 50.0 ค่อนข้างมาก สำหรับเครื่องชี้เสถียรภาพภายนอกประเทศพบว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2550 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 70.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน่าจะมาจากปัจจัยการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและภาวะเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง
สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 เศรษฐกิจไทยโดยรวมได้รับปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภายนอกที่ยังขยายตัวในระดับสูง ในขณะที่บทบาทของการใช้จ่ายรัฐบาลเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่การใช้จ่ายชะลอตัวลงมากในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 จากปัจจัยการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550 ที่ล่าช้า ในส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 แสดงถึงพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งมาก โดยในด้านเสถียรภาพภายในอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 จากอัตราร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่เสถียรภาพภายนอกมั่นคงจากทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 70.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ