แพทย์แนะ เร่งพัฒนาคุณภาพแพทย์ไทย ก่อนสายเกินแก้!!

ข่าวทั่วไป Tuesday March 23, 2010 16:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--พีอาร์ เน็ทเวิร์ค ขณะที่ภาคเอกชนกำลังเร่งขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ Medical Hub ตามนโยบายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้เข้าประเทศ รวมทั้งให้ทันกับการเปิดเสรีภาคบริการของอาเซียน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีศักยภาพทางด้านการแพทย์ และสุขภาพสูงสุด ด้วยบุคลากรแพทย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน โดยคาดกันว่าภายในปี 2015 ประเทศไทยจะมีบทบาทเป็นผู้นำด้านสุขภาพของโลก แต่อีกด้านหนึ่ง กลับมองว่าการการขยายตัวให้บริการทางการแพทย์สำหรับกลุ่มชาวต่างชาติเพื่อเป็น Medical Hub ในปัจจุบันกำลังส่งผลกระทบต่อการบริการทางการแพทย์ของคนไทยโดยตรงทั้งด้านคุณภาพของบุคลากรแพทย์ เนื่องจากแพทย์ฝีมือดีและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะไปกระจุกตัวอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนซึ่งได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่า ส่งผลให้คนไทยต้องเสียค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น รวมไปถึงแนวโน้มการขาดแคลนบุคลากรแพทย์ไทยในอนาคต ดังนั้นแนวทางการพัฒนาประเทศไทยเพื่อให้ก้าวสู่ Medical Hub โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคนในประเทศ ต้องทำอย่างไร? นายแพทย์ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าประเทศไทยมีศักยภาพและความแข็งแกร่งที่จะก้าวเป็น Medical Hub กว่าประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะสิงคโปร์ เกาหลี หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่น เพียงแต่ขาดการส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจังเท่านั้น “ ฝีมือแพทย์ไทยเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกมานานแล้ว ที่ผ่านมามีชาวต่างชาติเดินทางเข้ารับบริการทางการแพทย์ทั้งด้านการรักษาโรค ทันตกรรม และศัลยกรรมความงาม ฯลฯ อย่างต่อเนื่องแต่ละปีมีรายได้เข้าประเทศเป็นพันๆ ล้านบาท แต่ภาครัฐไม่เคยมีการโปรโมตอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำให้เราไม่สามารถเป็น Medical Hub ได้สักที จนกระทั่งเกาหลีบุกเข้าลุยถึงประเทศไทย เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่ทำการตลาดเรื่องนี้ไปไกลกว่าประเทศไทย ทั้งที่การแพทย์ยังล้าหลัง และขาดแคลนบุคลากรแพทย์อีกมาก” แต่อย่างไรก็ตามการจะก้าวสู่ Medical Hub ของประเทศไทยเพื่อให้ทันกับการเปิดเสรีภาคบริการของอาเซียนในเร็วๆ นี้ ควรต้องเตรียมความพร้อมอย่างจริงจัง โดยนายแพทย์ชลธิศ ชี้ว่าควรมองอย่างครบด้าน และพิจารณาทุกๆ ส่วนที่เกี่ยวข้าง เพื่อวางกรอบการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ วงการแพทย์ ประกอบด้วย 5ส่วนหลักๆ ดังนี้ 1. ระบบสาธารณสุข ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขกระจายทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง แต่ด้านคุณภาพยังไม่เท่าเทียม ส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองใหญ่ๆ ระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้านต้องยอมรับว่า แพทย์ที่มีอยู่ค่อนข้างขาดคุณภาพและประสบการณ์ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขควรบริหารจัดงานระบบสาธารณสุขภายในประเทศให้มีความเท่าเทียมกันในด้านคุณภาพด้วย 2. สถาบันการศึกษา ผู้ผลิตแพทย์ ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนเปิดการเรียนการสอนคณะแพทย์ศาสตร์มากขึ้น เพราะจนถึงวันนี้แม้ประเทศไทยจะมีบุคลากรแพทย์ที่มีคุณภาพ และฝีมือเป็นที่ยอมรับระดับชั้นนำของโลก แต่ด้านจำนวนแม้ไม่ขาดแคลนแต่ด้วยสัดส่วนแพทย์ 40 คนต่อประชากรแสนคน ก็ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกาที่มีแพทย์กว่า 300 คน ต่อประชากรแสนคน ดังนั้นนอกจากหน้าที่การผลิตบุคลากรแพทย์ให้เพียงพอต่อความต้องการแล้ว คุณภาพการผลิตบุคลากรของแต่ละสถาบันก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องต้องควบคุมดูแลให้ได้มาตรฐาน 3. ภาคเอกชน การสร้างประเทศไทยให้เป็น Medical Hub จำเป็นต้องแยกส่วนการให้บริการ โดยจัดเป็น Private Sector ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนกำลังเดินหน้า หากภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมจะทำให้สามารถก้าวสู่ Medical Hub ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากการสร้างรายได้เข้าประเทศแล้ว ยังเป็นการพัฒนาวงการแพทย์ไทยให้เจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องอีกด้วย 4. ศักยภาพบุคลากรแพทย์ การเร่งสร้างบุคลากรแพทย์เพื่อให้เพียงพอต่อการบริการสาธารณสุขในประเทศ ด้วยการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนจาก 7 ปีให้เหลือเพียง 6 ปี ปัจจุบันนอกจากไม่สามารถสร้างจำนวนบุคลากรแพทย์ให้มากตามที่ตั้งเป้าไว้ ผลที่ตามมาและกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องรีบเร่งแก้ไขเป็นการด่วน คือ เรื่องของคุณภาพ เพราะปัจจุบันแพทย์รุ่นใหม่กำลังมีปัญหาการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เนื่องจากดีกรีแพทยศาสตร์บัณทิตหลักสูตร 6 ปีไม่ได้มาตรฐานสากล ทำให้ถูกปฎิเสธโดยอ้างว่า แพทย์ไทยด้อยคุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะขณะที่การเปิดเสรีภาคบริการกำลังเริ่มขึ้น นี่คือโอกาสสำคัญของการโยกย้ายบุคลากรที่มีทักษะเข้าไปในประเทศต่างๆ ซึ่งหากสามารถสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพป้อนตลาดได้ นอกจากเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตแล้วยังเป็นนำรายได้เข้าประเทศอีกดทางหนึ่งด้วย และ 5. ด้านสังคม ปัจจุบันมีกรณีฟ้องร้องแพทย์เกิดขึ้นเป็นรายวัน ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ และเด็กที่เรียนเก่งไม่เลือกเรียนแพทย์มากขึ้นๆ หากปล่อยต่อไปในอนาคตนอกจากไม่มีคนเก่งเรียนแพทย์ทำให้แพทย์คุณภาพด้อยลงไปเรื่อยๆ แล้ว ยังทำให้แนวโน้มการขาดแคลนจำนวนแพทย์ของไทยอาจเข้าขั้นวิกฤติได้ ดังนั้นถ้าไม่อยากให้ประเทศไทยสายเกินแก้ ทั้งเรื่อง Medical Hub และการอยู่รอดของระบบสาธารณสุขประเทศไทย สิ่งสำคัญประการคือการเร่งพัฒนาคุณภาพบุคลากรแพทย์ให้มีมาตรฐานเดียวกับมาตรฐานโลก จากนั้นจะมาแก้ปัญหาทางสังคม และปั้นบุคลากรแพทย์ให้เพียงพอกับระบบสาธารณสุขในประเทศ และป้อนสู่ตลาดแรงงานก็น่าจะยังพอทันการณ์อยู่หรอกนะ... สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร 02 682 9880
แท็ก อาเซียน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ