มว. เผยผลสำรวจความต้องการมาตรฐานด้านการวัดทางเคมีในประเทศไทย

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday February 21, 2007 10:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--มว.
เมื่อเร็วๆ นี้ ฝ่ายมาตรวิทยาเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ได้ทำการสำรวจ “ความต้องการมาตรฐานด้านการวัดทางเคมีในประเทศไทย” จากห้องปฏิบัติการเคมีทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อรวบรวมข้อมูลความต้องการและจัดทำระบบอ้างอิงของชาติด้านการวัดทางเคมีให้ครอบคลุมทุกสาขาการวัด พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาให้มีความเที่ยงตรง เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ การสำรวจครั้งนี้ใช้วิธีการส่งแบบสอบถามไปยังห้องปฏิบัติการเคมี จำนวน 500 แห่ง ได้รับแบบสอบถามตอบกลับมาจำนวน 125 ชุด คิดเป็นร้อยละ 25
ผลการสำรวจพบว่า ลักษณะงานหลักของห้องปฏิบัติการเคมี 3 อันดับแรกจะเกี่ยวกับด้านทดสอบทางเคมี ด้านอาหาร และด้านสิ่งแวดล้อม โดยกิจกรรมการทดสอบทางเคมีจะเป็นเคมีไฟฟ้ามากที่สุด เช่น pH Meter และ Conductivity เป็นต้น รองลงมาคือ อินทรีย์เคมี และอนินทรีย์เคมี ตามลำดับ ซึ่งห้องปฏิบัติการเคมีภาครัฐมีการทดสอบทางด้านอนินทรีย์เคมีและเคมีไฟฟ้ามากที่สุด ในขณะที่ภาคเอกชนมีการทดสอบทางด้านเคมีไฟฟ้ามากที่สุด รองลงมาคือ อินทรีย์เคมี
สำหรับการใช้บริการด้านการวัด ในภาพรวมห้องปฏิบัติการเคมีใช้บริการดังกล่าวในด้านอนินทรีย์เคมีมากที่สุด รองลงมาคือ อินทรีย์เคมี และเคมีไฟฟ้า โดยห้องปฏิบัติการเคมีภาครัฐใช้บริการการวัดด้านอนินทรีย์เคมีมากที่สุด ส่วนภาคเอกชนใช้บริการการวัดด้านอินทรีย์เคมีและอนินทรีย์เคมีมากที่สุด ซึ่งกิจกรรมการวัดและทดสอบทางเคมีที่ห้องปฏิบัติการเคมีส่วนใหญ่ให้ความสำคัญคือ คุณภาพน้ำ ความปลอดภัยด้านอาหาร และขบวนการควบคุมในโรงงาน โดยห้องปฏิบัติการเคมีภาครัฐจะให้ความสำคัญมากที่สุดกับความปลอดภัยด้านอาหาร คุณภาพอาหารนำเข้า และคุณภาพน้ำ ในขณะที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญกับคุณภาพน้ำ ขบวนการควบคุมในโรงงาน และความปลอดภัยด้านอาหาร ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม กิจกรรม
การวัดและทดสอบทางเคมีที่ห้องปฏิบัติการของภาครัฐบาลให้ความสำคัญน้อยที่สุด คือ การรักษาสุขภาพ ในขณะที่การทดสอบยาที่ใช้ในการกีฬา เป็นกิจกรรมที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญน้อยที่สุด ซึ่งการสำรวจครั้งนี้ ยังได้ศึกษาถึงความเชื่อมั่นในกิจกรรมการวัดและทดสอบทางเคมีของห้องปฏิบัติการด้วย พบว่า ห้องปฏิบัติการเคมีภาครัฐและภาคเอกชนต่างมีความเชื่อมั่นในการวัดและทดสอบทางเคมีเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร คุณภาพน้ำ และขบวนการควบคุมในโรงงาน มากที่สุด แต่มีความเชื่อมั่นน้อยที่สุดในการทดสอบยาที่ใช้ในกีฬา
การสำรวจดังกล่าว ยังพบอีกว่า กิจกรรมการวัดทางเคมีที่จำเป็นต่อผู้พิพากษาหรือเจ้าหน้าที่ของทางราชการ สำหรับใช้เป็นหลักฐานประกอบการบังคับใช้กฎหมายหรือตัดสินความ ได้แก่ การวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมนุษย์ ปัสสาวะ และลมหายใจ รองลงมาคือ การวัดยาเสพติด เช่น ยาบ้า การบำบัดรักษาด้วยยาเสพติด เป็นต้น และการวัดคุณภาพน้ำ เช่น การวัดโลหะหนักในน้ำทิ้งจากโรงงาน เป็นต้น ส่วนกิจกรรมการวัดทางเคมีที่จำเป็นต่อการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ความปลอดภัยด้านอาหาร คุณภาพอาหารส่งออกและนำเข้ามากที่สุด รองลงมาคือ การวัดกระบวนการควบคุมภายใน และการวัดส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ในโรงงาน โดยชนิดของสารเคมีและตัวกลางสำหรับกิจกรรมการวัดและทดสอบทางเคมีที่ห้องปฏิบัติการเคมีเห็นว่าสำคัญสำหรับด้านอาหาร ได้แก่ โลหะหนัก ประเภท Hg, Pb, Cd, Ag, Cr, Mn, As สารตกค้าง สารกันบูด รวมทั้งเชื้อโรคต่างๆ ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ BTEX, Pb, H2S, Trichloroethylene, โลหะหนัก เป็นต้น และด้านสุขภาพ ได้แก่ คอเลสเตอรอล ระดับน้ำตาล ฮอร์โมน สารก่อภูมิแพ้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ