ทีวีไกด์"ไทยโชว์" คมสันต์ เชิญชม ตอน ประวัติศาสตร์แห่งปี “พิพิธภัณฑ์ดนตรีส่วนพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”

ข่าวบันเทิง Monday March 29, 2010 17:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--พีอาร์ 360 องศา ครั้งแรกของคนไทย ที่จะได้ชมพิพิธภัณฑ์ดนตรีส่วนพระองค์ฯ ณ พระตำหนักสวนปทุม จ.ปทุมธานี พร้อมกันทั้งประเทศ ซาบซึ้งในพระอัจฉริยภาพทางดนตรีและแนวพระราชดำริ “อนุรักษ์ สะสม ส่งเสริม”ศิลปวัฒนธรรมไทย ..ในรายการไทยโชว์ ตอนพิพิธภัณฑ์ดนตรีส่วนพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วันอาทิตย์ที่ ๔ และ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๘.๐๐ น. คมสันต์ สุทนต์ ผู้ดำเนินรายการไทยโชว์ เริ่มต้นเล่าความประทับใจครั้งสำคัญให้ฟังว่า ผมและทีมงานไทยโชว์ทุกคนรวมถึงผู้ดำเนินรายการรับเชิญพิเศษคุณปานเกศ ศาตะมาน ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และซาบซึ้งในพระเมตตา ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานพระราชานุญาต ให้ทีมงานรายการไทยโชว์ สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ได้ถ่ายทำ ณ พิพิธภัณฑ์ดนตรีส่วนพระองค์ อาคารศรีโกสุม พระตำหนักสวนประทุม จ.ปทุมธานี เพื่อนำเสนอพร ะอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีและร่วมเทิดพระเกียรติฯ เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมทั้งให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมและเกิดแรงบันดาลใจในการค้นคว้าเพื่อศึกษาสืบสานศิลปวัฒนธรรมของไทยต่อไปครับ สิ่งที่ผมสัมผัสได้เลยเมื่อได้ก้าวเข้ามา ณ พิพิธภัณฑ์ดนตรีส่วนพระองค์ อาคารศรีโกสุม คือความสงบร่มรื่นของหมู่แมกไม้และอาคารโทนสีขาวเรียบง่าย ทุกห้องใช้แอร์ธรรมชาติ โถงด้านล่างกว้างขวาง ซึ่งวางวงปี่พาทย์ไว้ได้ถึง 3 วง ผมและทีมงานไทยโชว์ได้รับความกรุณาจากคุณสิธนา วสุธาร และคุณสาทร วสุธาร ผู้ดู แลพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ พระตำหนักสวนปทุม และ ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ พาเยี่ยมชมและอธิบายอย่างละเอียด โดยเริ่มจาก.. “ห้องครู” ห้องนี้เป็นห้องแรกที่ผู้มาเยือนจะต้องเข้ามากราบไหว้พระ ศรีษะเทพ ครูบาอาจารย์ก่อน จากนั้นก็เป็น “ห้องงา” ห้องนี้งาสมชื่อครับ เพราะเครื่องดนตรีจำนวนมากเกือบทุกชิ้น ทำจากงาจริงๆ แต่ที่ถือว่าเป็นชิ้นเอกเลยคือ ซอพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ ซอที่พระสุจริตสุดา พระสนมเอก ในรัชกาลที่ ๖ นำมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ซึ่งพระองค์ท่านเคยทรงใช้ออกงานมาโดยตลอด นอกจากนั้นยังมีรางระนาดเอก ระนาดทุ้มประดับงารูปแบบโบราณของบ้านพาทยโกศล ซอสามสายงาของเก่าสภาพสมบูรณ์หลายคัน ผมคิดในใจว่า น่าจะมีซักคันก็ได้ ที่เป็นซอสายฟ้าฟาด ซอคู่พระหัตถ์ในรัชกาลที่ 2 ที่รายการไทยโชว์เคยนำเสนอ (ตอนตามหาซอสายฟ้าฟาด)แต่ก็ยังไม่พบ? ...เดินต่อไปที่ห้องที่ 3 “ห้องนานาชาติ” ห้องนี้ต้องบอกว่าอลังการจริงๆ ครับ เพราะมีเครื่องดนตรีหลากหลายชนชาติไม่ว่าจะเป็นพื้นเมือง ดนตรีตะวันออก ดนตรีตะวันตก หรือแม้กระทั่งดนตรีชนเผ่าที่พระสหายทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และที่พระองค์ท่านซื้อสะสมเอง แต่เครื่องดนตรีที่ตั้งตระหง่าน สะกดสายตาเลย คือซอกระป๋อง ซอคันเดียวกับที่คุณผู้ชมเคยเห็นในพระฉายาลักษณ์ ที่พระองค์ท่านทรงซอกระป๋อง ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ..ตู้ไม้ใกล้กันเป็นที่เก็บ ทรัมเป็ต เป็นเครื่องดนตรีที่พระองค์ท่านทรงร่วมวงสหายพัฒนา สังเกตตรงปากลำโพงด้านนอกจะมีสติกเกอร์รูปช้างน่ารักติดอยู่ด้วย และตู้มุมห้องฝั่งตรงข้าม เป็นที่เก็บ ไวโอลินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมัยพระองค์ท่านยังทรงพระเยาว์... ต่อไปห้องที่ 4 ครับ “ห้องพม่า-มอญ” ห้องนี้ตรงตาชื่อเลยครับ เป็นห้องที่เก็บเครื่องดนตรีพม่า และมอญชุดใหญ่มาก ที่มีผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ดร.สิริชัยชาญ ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า จริงแล้วพระองค์ท่านมีพระราชประสงค์ใช้ห้องนี้เป็นห้องบันทึกเสียง แต่ด้วยเครื่องดนตรีที่มีจำนวนมากจึงล้นมาถึงห้องนี้ด้วย....ห้องสุดท้ายที่พลาดไม่ได้เลยครับ “ห้องคลังหมุนเวียน” ห้องนี้อยู่ชั้นใต้ดินมีระบบถ่ายเทอากาศกันความชื้น มีเครื่องดนตรีหลากหลายจำนวนมากมาย จัดเก็บเป็นหมวดหมู่ เพื่อใช้สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปวางในห้องต่างๆ ตามความเหมาะสม คุณสิธนา วสุธาร และคุณสาทร วสุธาร ได้อธิบายเพิ่มเติมพระองค์ท่านทรงให้แนวพระราชดำริให้เก็บของทุกชิ้นให้เป็นระเบียบอย่างมีระบบ “ไม่ใช่เป็นพิพิธภัณฑ์โชว์อย่างเดียว แต่สามารถหยิบใช้ได้สะดวก มิฉะนั้นจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่มีชีวิต ตัวอาคารสถานที่ หรือแม้กระทั่งชั้นวางต่าง ๆจะใช้วัสดุที่เรียบง่าย ราคาประหยัด เน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ เครื่องดนตรีที่มีผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย จะเก็บข้อมูลอย่างละเอียด พร้อมเก็บรักษาไว้ที่นี่เป็นอย่างดี “ของทุกชิ้นจะม ีคุณค่ามากขึ้นหากเรารู้เรื่องราว ที่มาของของแต่ชิ้น..” และส่วนหนึ่งพระองค์ท่านก็จะพระราชทานต่อให้กับหน่วยงานสถาบันการศึกษาฯที่มีต้องการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาหรือสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย.... คมสันต์ สุทนต์ เล่าเพิ่มเติมให้ฟังอีกว่า นอกจากคุณผู้ชมรายการไทยโชว์จะได้ชม พิพิธภัณฑ์ดนตรีส่วนพระองค์ แล้วยังมีโอกาสได้พูดคุยอย่างเป็นกันเองกับ ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ พระอาจารย์ผู้ถวายงานสอนดนตรีไทย ในเรื่องพระอัจฉริยะภาพทางดนตรี และความประทับใจในพระอารมณ์ขัน ที่เชื่อว่ายังไม่เคยได้ยินมาก่อน ตัวอย่างเช่น “พระองค์ท่านทรงตื่นมาไล่ระนาดแต่เช้า ผมได้ยินเสียงระนาดจึงต้องรีบตื่นและรีบไปถวายงาน พระองค์ทรงขำพระอาจารย์ตื่นมาทำไมแต่เช้า..”เป็นต้น สลับกับการรับชมรับฟังบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านที่ได้รับความนิยมอาทิ เพลงไทยดำเนินดอย, เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง, เพลงชื่นชุมนุมกลุ่มดนตรี, เพลงชุดลมพัดชายเขา กล่อมนารี สร้อยเพลง, เพลงเต่าเห่ และเพลงส้มตำโดยได้มือซออู้ขั้นครูผศ.สุรพล สุวรรณ ที่เคยร่วมบันทึกเสียงกับ คุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ และคุณสุนารี ราชสีมา มาร่วมคลอเคล้าเสียงสวยใส ของคุณอัยย วีรานุกูล โปรดิวเซอร์ไทยโชว์ ร่วมบรรเลงรับร้องดนตรีโดย วงกอไผ่ ตลอดรายการ ชมพิพิธภัณฑ์ดนตรีส่วนพระองค์ฯ ณ พระตำหนักสวนปทุม จ.ปทุมธานี พร้อมกันทั้งประเทศ ซาบซึ้งในพระอัจฉริยภาพทางดนตรีและแนวพระราชดำริ “อนุรักษ์ สะสม ส่งเสริม”ศิลปวัฒนธรรมไทย ..ในรายการไทยโชว์ ตอนพิพิธภัณฑ์ดนตรีส่วนพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วันอาทิตย์ที่ ๔ และ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๘.๐๐ น. ชมรายการย้อนหลังได้ทาง www.thaipbs.or.th/Thaishow

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ