เช็คความพร้อมอุตสาหกรรมไทย ทลายกำแพงกีดกันทางการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 30, 2010 10:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เมื่อข้อกำหนดกฏหมายและกฏระเบียบข้อบังคับ หรือมาตรการดำเนินการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศคู่ค้าหลักที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และออสเตรเลีย ได้ประกาศบังคับใช้ข้อกำหนดกฏหมายและกฏระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานแล้วจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะประกาศบังคับใช้เพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ หากผู้ประกอบการไทยยังนิ่งเฉย ไม่ปรับตัว มาตรการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และกลายเป็นกำแพงกั้นทางการค้าในอนาคตก็เป็นได้ สหภาพยุโรปประเทศคู่ค้าสำคัญ สหภาพยุโรป หรือ อียู (27 ประเทศ) เป็นกลุ่มประเทศที่มีความแข็งแกร่งในด้านเศรฐกิจเป็นอย่างยิ่ง ขนาดและมูลค่าของตลาดที่ใหญ่จึงมีผลต่อการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจโลก การส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดอียู อยู่ในสัดส่วนสูงถึง 11.88% ของการส่งออกทั่วโลก โดยทั้งปี 2552 มีมูลค่าการส่งออกรวมถึง 618,785.7 ล้านบาท ลดลง 19.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 493,197.8 ล้านบาท ลดลง 19.96% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้การส่งออกโดยรวมจะติดลบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง แต่กลุ่มอียูยังเป็นตลาดหลักที่สำคัญของไทย กฏระเบียบประเทศคู่ค้า เนื่องจากอียูเป็นกลุ่มประเทศที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง ดังนั้น สินค้าที่จะเข้าสู่ตลาดนี้ได้จึงต้องมีคุณภาพและได้มาตรฐานตรงตามเงื่อนไขที่กลุ่มอียูกำหนด ซึ่งข้อกำหนดต่างๆนับวันยิ่งมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มกลายเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้ส่งออก สหภาพยุโรปมีข้อกำหนด กฏหมายและกฏระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อการส่งออกสินค้าของผู้ประกอบการไทยมากถึง 40 ฉบับ อาทิ ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ด้านบรรจุภัณฑ์ ด้านการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ด้านการแปรรูปและการนำกลับมาใช้ใหม่ และด้านการเกษตร ตัวอย่างเช่น การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ การลดการทำลายป่าไม้ การเชื่อมโยงระหว่างข้อกำหนดกฏระเบียบการรักษาสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยของอาหาร สวัสดิภาพสัตว์ และสุขอนามัยพืชและสัตว์ เป็นต้น สำหรับข้อกำหนดกฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับของประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาจำนวน 22 ฉบับ ญี่ปุ่นจำนวน 29 ฉบับ จีนจำนวน 7 ฉบับ และออสเตรเลียจำนวน 10 ฉบับ ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย การบังคับใช้ข้อกำหนดกฏหมายและกฏระเบียบข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานของประเทศคู่ค้าต่างๆ ถูกนำมาเป็นข้อกีดกันทางการค้า อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า หรือบังคับให้ผู้ประกอบการไทยต้องสั่งซื้อวัตถุดิบบางรายการจากประเทศผู้นำเข้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างกว้างขวางตลอดห่วงโซ่อุปทาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัวและปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อกำหนดกฏหมายและกฏระเบียบข้อบังคับเหล่านั้น เพื่อลดอุปสรรคและปัญหาในการทำการค้ากับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศคู่ค้าอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และออสเตรเลีย เป็นต้น อก. ทลายกำแพงกีดกันทางการค้า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดทำมาตรการเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้กฏระเบียบของสหภาพยุโรป มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมในอาเซียนภายใน 10 ปี โดยระยะแรก กระทรวงอุตฯ ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 500 ล้านบาท ภายในกรอบปี 2551-2553 เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น อาทิ การจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ฐานข้อมูลด้านวัฎจักรชีวิตของวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศ คลังข้อมูลสารเคมี ฐานข้อมูลกากอุตสาหกรรม รวมทั้งการสร้างศูนย์ความเป็นเลิศด้านสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบรวม 5 แห่ง ซึ่งได้รับการพัฒนาศักยภาพจนสามารถตรวจสอบได้ตามกฎระเบียบ RoHS และ ELV และสามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาผู้ประกอบการ โดยการอบรมถ่ายทอดความรู้ เกี่ยวกับกฏระเบียบของประเทศคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง และการให้คำปรึกษาในกระบวนการผลิต เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าไปจำหน่ายยังสหภาพยุโรปให้สามารถปฏิบัติตามกฏระเบียบต่างๆ ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในการส่งออกและสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของสหภาพยุโรป และประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ ได้อีกช่องทางหนึ่ง การเรียนรู้เงื่อนไขตลอดจนมาตรการต่างๆที่คู่ค้ากำหนดเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการควรรู้และศึกษาให้แตกฉาน เพื่อเตรียมหาแนวทางปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเรียนรู้ที่ถูกต้อง รับทราบข้อมูลอย่างตรงประเด็นย่อมเป็นการทลายกำแพงประเทศคู่ค้าสำคัญ ที่จะทำให้การค้าระหว่างประเทศไม่สะดุด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0839297699 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ