ดร.สนอง วรอุไร จากมุมมองของนักวิทย์ สู่แนวคิดแห่งธรรม

ข่าวทั่วไป Wednesday March 31, 2010 13:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 มี.ค.--สสวท. ว่ากันว่าในโลกของวิทยาศาสตร์ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีเหตุและผล เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริง แต่เมื่อเปลี่ยนมุมมองไปสู่โลกแห่งธรรมะที่วิทยาศาสตร์ยากจะเข้าถึง ทั้งธรรมะและวิทยาศาสตร์มีความเหมือน ความต่าง หรือจะสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้หรือไม่อย่างไร ? ดร.สนอง วรอุไร เจ้าของผลงานเขียนด้านธรรมะที่ขายดีและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องได้บรรยาย ในหัวข้อ “ธรรมะ VS วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ใน งานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 5 ซึ่ง สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดขึ้นเมื่อล่าสุดที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2553 ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร โดยมีน้องๆ ต้นกล้านักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่นั่นคือนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( พสวท.) เกาะติดเวทีผู้ฟังอย่างใกล้ชิด งานนี้จึงเข้มข้นด้วยข้อคิดที่ช่วยไขความกระจ่าง เรื่องของความต่างและการเชื่อมโยงระหว่างโลกของวิทยาศาสตร์และโลกแห่งธรรมะ อย่างน่าสนใจ ดร.สนอง วรอุไร เจ้าของผลงานเขียนแนวธรรมะกับวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่รู้จักกันดีในยุทธจักรนักอ่านกระแสธรรมะอินเทรนด์ยุคปัจจุบัน อาทิ ทำชีวิตให้ดีและมีสุข, ยิ่งกว่าสุขเมื่อจิตเป็นอิสระ, ตามรอยพ่อ ฯลฯ ยอมรับว่าตัวเองเคยเป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่ไม่เชื่อในเรื่องของการตายแล้วเกิดใหม่ หรือสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตามนุษย์ แต่วันหนึ่งชีวิตก็ต้องผันแปรไปเพราะความต้องการที่จะทดสอบสิ่งที่สงสัยมาตลอดนั้นด้วยตัวของตัวเอง ในที่สุดดร.สนองจึงอาจหาญพาตัวเองไปที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ เพื่อปฏิบัติอย่างจริงจังและหาทางพิสูจน์ หาคำตอบให้ข้อสงสัยที่ฝังอยู่ในใจมานาน ระยะเวลา 7 วันเต็มๆ กับการพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติธรรมและฝึกจิตอย่างเข้มข้น เขาได้เห็นในสิ่งต่าง ๆ ที่ตนเองไม่เคยเห็น ไม่เคยเชื่อมาก่อน ซึ่งมีความเป็นเหตุ เป็นผล เหนือวิทยาศาสตร์ที่เคยได้ร่ำเรียนมา ดร.สนอง สามารถเข้าถึงสมาธิสูงสุด ที่เรียกว่า “ฌาณ” ได้ และทำให้รู้ซึ้งถึงคุณค่าของการพัฒนาจิตที่นำสู่การพัฒนาปัญญา “ความรู้ทางโลกของมนุษย์ มีศักยภาพที่จะพัฒนาปัญญาได้ทั้งหมด 3 ระดับ นั่นคือ 1.สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง เพราะการฟังเป็นบ่อเกิดของการเรียนรู้ 2.จินตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการคิด ซึ่งเมื่อคนเรามี 2 ข้อนี้มากเท่าไหร่ ก็จะทำให้มีอีโก้สูงมากเท่านั้นและนำมาซึ่งความเห็นแก่ตัว แบบไม่รู้ตัว นี่คือจุดอ่อนของวิทยาศาสตร์ซึ่งส่วนใหญ่จะมี 2 ข้อนี้อยู่มาก ดังนั้นมนุษย์ จึงควรจะมีข้อที่ 3 คือ ภาวนามัยปัญญา อันเป็นปัญญาสูงสุดคือการพัฒนาจิตวิญญาณของตัวเองซึ่งวิทยาศาสตร์ยังเข้าไม่ถึง แต่ขณะเดียวกัน ในทางโลกนั้นก็ควรจะมีการพัฒนา สุตมยปัญญา และจินตมยปัญญา ให้สูงสุด เพื่อที่จะนำความรู้ทางโลกเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาประเทศได้ต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น เยาวชนทุกคนจึงต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เรียนรู้ให้สูงที่สุด เพื่อจะได้ไปทำงานให้กับสังคมและก่อให้เกิดการพัฒนาอยู่เสมอ” นอกจากย้ำถึงการพัฒนาทางปัญญาและความคิดเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าทางโลกแล้ว ดร.สนอง ยังได้แนะนำในการฝึกจิตให้เป็นสมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญา และมีความจำที่ดีมากยิ่งขึ้น วิธีนี้เป็นการเปลี่ยนคลื่นสมองโดยพัฒนาจิตให้นิ่ง ในทางวิทยาศาสตร์อาจทำได้ด้วยการท่องช่วงขณะที่สูดลมหายใจเข้าก็ท่องว่า” ออกซิเจนเข้า” และเมื่อหายใจออกก็ท่องว่า “ซีโอทูออก” แต่ถ้าในทางธรรม ก็จะทำได้โดยว่า “เข้าพุท ออกโธ” ปฏิบัติอย่างนี้ทุกวัน วันละ 15 นาที เป็นการฝึกจิต ซึ่งจะช่วยให้มีความจำดี และมีสมาธิมั่นคง เพราะ “จิตเป็นรากฐานของสรรพสิ่งทั้งหลาย จิตจึงประเสริฐกว่าสิ่งทั้งหลาย สิ่งทั้งหลายประเสริฐได้ด้วยจิต” ดร.สนองแนะนำในช่วงท้าย ส่วนประชาสัมพันธ์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ