นักจิตวิทยาแนะสร้างความอบอุ่นในบ้าน โดยใช้ปรอทวัดอุณหภูมิครอบครัว

ข่าวทั่วไป Thursday April 8, 2010 15:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--mybrand agency ในยุคปัจจุบันที่ครอบครัวไม่ค่อยจะมีเวลาให้กันมากนัก มักจะเหินห่าง ออกจากบ้านเช้าตรู่ กลับก็ค่ำ ยิ่งถ้ามีลูกๆ ปล่อยให้ทีวี คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ต่างๆ มาเป็นพี่เลี้ยงแทนเด็ก โดยครอบครัวไม่ค่อยได้ปฏิสัมพันธ์กัน ไม่มีเวลาสื่อสารกัน เวลาลูกอยากคุยกับพ่อแม่ พ่อแม่ก็ไม่มีเวลา เวลาพ่อแม่อยากคุยกับลูก ลูกก็เล่นเกมส์ จนกลายเป็นความหมางเมิน นำไปสู่ความไม่เข้าใจและเกิดปัญหาครอบครัวในที่สุด ดร.เพ็ญนี หล่อวัฒนพงษา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาทักษะการเรียนรู้ โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่าการสร้างความอบอุ่นในครอบครัวเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเครื่องมือหนึ่งที่ครอบครัวควรจะได้นำมาใช้ให้เป็นกิจวัตรคือ การใช้ปรอทวัดอุณหภูมิครอบครัว ที่พัฒนาโดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เวอร์จิเนีย สเทียร์ ซึ่งมีทั้งหมด ห้า ขั้น โดยจะต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นแรก และห้ามลัดขั้นตอนคือ 1. มีการชมเชย และขอบคุณกันหรือเปล่า วันนี้ได้กล่าวชมเชย หรือขอบคุณใครหรือยัง ในขั้นตอนนี้จะขาดไม่ได้ และควรทำบ่อยๆ เนื่องจากจะเป็นประตูสู่การสื่อสารสองทาง และจะต้องมีการชมเชยกันอย่างจริงใจ และเป็นรูปธรรมมากกว่านามธรรม “การขอบคุณ ชมเชยเป็นการสร้างมิตรภาพ บรรยากาศ ถ้าตราบใดที่สมาชิกยังมีเรื่องที่จะชมเชย ให้เวลามากที่สุด ถ้าเวลาจำกัด ไปเว้นตัวอื่นได้ แต่ตัวนี้ไม่เว้น เพราะว่าการที่เรารู้สึกดีกับตัวเราเอง ใจเราจะเปิดรับคนอื่น ทำให้การสื่อสารเป็นไปได้ 2 ทาง แต่ย้ำอีกครั้งว่าต้องพูดเรื่องจริง จริงใจ” 2. มีคำถามอะไรไหม หลังจากมีการชมเชยและขอบคุณแล้ว ก็จะเป็นโอกาสในการพูดคุย โดยในครอบครัว ควรจะมีการเปิดโอกาสให้มีการถามคำถามกัน เช่น บางทีลูกอาจจะมีคำถาม ทำไมหมู่นี้พ่อกลับดึกจัง ในขณะเดียวกันพ่อก็ควรจะได้ถามลูกว่าตอนนี้ที่โรงเรียนเป็นยังไง มีเพื่อนไหม 3. การเสนอแนะ ในทุกครอบครัว ควรเปิดสร้างบรรยากาศให้มีการเสนอแนะได้ เช่นให้ลูกมีการเสนอแนะบ้างว่า อยากจะไปดูหนังหรือเปล่า อยากทำอะไร อยากเห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงในครอบครัวไหม มีข้อเสนอแนะอะไรไหมในการที่จะปรับปรุงบ้านให้สะอาดขึ้น 4. ขอบ่น ทุกคนนั้นควรมีสิทธิบ่นได้ แม้กระทั่งแม่ก็บ่นได้ เช่น คุณแม่อาจจะบ่นว่าเหนื่อยจังเลย และหนูก็ยังไม่ได้เก็บของให้เรียบร้อย ในขณะที่ลูกก็มีสิทธิบ่นได้ว่าเบื่ออาหารนี้แล้ว พ่อบ้านก็มีสิทธิบ่น 5. ความคาดหวัง ในครอบครัวที่อบอุ่น ทุกคนสามารถบอกความคาดหวังหรือบอกความความปรารถนาได้ อย่างเช่น ลูกคาดหวังว่าเสาร์-อาทิตย์นี้คุณพ่อจะอยู่บ้าน หรือจะพาหนูไปเที่ยว “ทั้ง 5 ขั้นนี้ อย่างน้อยที่สุดทำอาทิตย์ละครั้ง ให้มีช่วงเวลา ก่อนทานข้าว หลังทานข้าว หรือตอนเย็น ก่อนดูโทรทัศน์ ดูโทรทัศน์ด้วยกัน แล้วชีวิตครอบครัวก็จะอบอุ่นและมีความเข้าใจกันได้ ความคาดหวัง อย่างน้อยสุดให้เขาพูดออกมา เราทำได้หรือไม่ได้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องคุยกันว่า ก็เข้าใจว่าหนูหวังอย่างนั้น อย่างเช่น ลูกอยากเลี้ยงสุนัข คุณแม่ก็ต้องบอกว่ายังไม่เหมาะนะ เพราะตอนนี้บ้านเราเป็นคอนโดฯ ไม่มีที่ให้สุนัขวิ่งเล่น ต้องคุยกับเขา แล้วก็ถามเขาว่า รออีกหน่อยได้ไหม หรือว่าจะเอาอย่างอื่นแทนได้ไหม คุณแม่อาจจะคาดหวังว่าคุณพ่อจะทานข้าวพร้อมหน้ากัน อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง เมื่อบอกออกไปพ่อก็จะได้ทราบ เป็นต้น แต่ถ้าไม่มีเวลาทำทั้ง 5 ข้อนี้ ข้อที่ขาดไม่ได้ คือ ข้อ 1. ต้องรู้จักชมเชย และขอบคุณ ซึ่งควรจะทำเป็นกิจวัตร ไม่จำเป็นต้องทุกวัน อาทิตย์ละหน หรือเดือนละหนก็ได้” “ในสังคมไทยผู้ใหญ่จะไม่ค่อยขอโทษเด็ก แต่อยากจะบอกว่า ผู้ใหญ่ก็ทำผิดเป็น หลายๆครั้ง พ่อแม่เค้ารู้สึกแย่ เพราะเค้าทำร้ายจิตใจลูก ดิฉันจะบอกพ่อแม่ว่า คุณทำดีที่สุดตอนนั้น แต่ถ้าการขอโทษมันไม่ใช่แต่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกดีขึ้น ใจของผู้พูดเองก็จะรู้สึกดีขึ้น อันนี้เป็นเป้าหมายแรก ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น” ดร. เพ็ญนี กล่าวเพิ่มเติม ดร.เพ็ญนี ย้ำว่า การใช้ปรอทวัดอุณหภูมิครอบครัว ยังนำไปใช้ในเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กๆ แนวใหม่ๆด้วย โดยในเดือนเมษายน ที่ทางโรงพยาบาลจะได้จัดกิจกรรมอบรม Manarom Summer Camp เพื่อ ฝึกทักษะในการแก้ปัญหาร่วมกับการสร้างค่านิยมและการนับถือตนเอง ฝึกทักษะทางการสื่อสาร ฝึกทักษะทางสังคม และฝึกทักษะการเป็นผู้นำ เด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการก็จะได้รับการพัฒนาศักยภาพโดยใช้เครื่องมือนี้ด้วย ผู้สนใจขอรายละเอียดได้ที่เบอร์ 02-725-9595 หรือ จากเว็บไซต์ www.manarom.com สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 028643900 mybrand agency

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ