เมื่อไรหนูจะได้กลับบ้าน คำถามสะท้อนความรู้สึกของเด็กกำพร้าที่สังคมไทยต้องตั้งใจตอบ

ข่าวทั่วไป Monday April 12, 2010 14:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--แปลน ฟอร์ คิดส์ ชีวิตน้อยๆ หลายชีวิตต้องพลัดพรากจากบ้านมาอยู่กับคนแปลกหน้าในสถานสงเคราะห์อย่างเดียวดาย โดยไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้กลับบ้าน กลับไปสู่อ้อมกอดอันแข็งแกร่งของพ่อ และเสียงขับกล่อมอันอบอุ่นของแม่ เด็กๆ ต่างรอคอย และหวังว่าจะมีใครสักคนมารับกลับไปในไม่ช้า “เมื่อไร...หนูจะได้กลับบ้าน” จากคำถามของเด็กๆ กลายมาเป็นหนังสือนิทานภาพที่สะท้อนให้ผู้อ่านเข้าใจความรู้สึกของเด็กที่ต้องอยู่สถานสงเคราะห์ และเปิดใจสัมผัสถึงความรู้สึกของเด็กที่ต้องพลัดพราก สูญเสียและบอบช้ำจากความยากจนและความแตกแยกของครอบครัว หนังสือเล่มนี้เปิดตัวไปพร้อมกับความร่วมมือของ 3 องค์กรหลัก คือ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก มูลนิธิไทยเด็กเล็ก และบริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด ในงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 8 และงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 38 ที่ผ่านมา โดยมีกิจกรรมพิเศษเสวนาเรื่อง เมื่อไรหนูจะได้กลับบ้าน คำถามที่ต้องการคำตอบ โดยมี คุณแอนเดรีย รอทเทนเบิร์ก คุณเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป คุณริสรวล อร่ามเจริญ คุณมณิศา ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา และ คุณมนฤดี ทองกลอย ร่วมเสวนา เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และผู้เขียนเรื่อง “เมื่อไร...หนูจะได้กลับบ้าน” ภาคภาษาไทย กล่าวว่า “จริงๆ แล้วคำตอบที่ว่าเด็กเหล่านั้นจะได้กลับบ้านเมื่อไร มันไม่ได้อยู่ที่ตัวเด็ก แต่มันอยู่ที่ผู้ใหญ่รอบตัวเด็ก อยู่ที่พ่อแม่ว่าพร้อมที่จะรับเด็กกลับบ้านได้แล้วหรือยัง รวมถึงอยู่ที่ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กเหล่านี้ด้วยว่าจะทำอย่างไรให้เด็กเหล่านี้ได้กลับบ้าน คือลำพังเด็กเองคงตอบคำถามนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาก็รอคำตอบจากพวกเราอยู่เหมือนกันว่าเมื่อไรเขาจะได้กลับบ้าน คำถามนี้อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการตอบ เพราะเด็กในบ้านเด็กกำพร้าเขาก็ถามแบบนี้เหมือนกันทุกคนว่า เมื่อไรตัวเขาจะได้กลับบ้าน ฉะนั้นถ้าเราไม่มอบโอกาสที่เรามีมากกว่า ให้กับเด็กเหล่านี้ คำถามข้อนี้มันก็จะยังคงดังอยู่ในสังคมไทยต่อไป สำหรับชื่อน้องต้นน้ำกับครูพัดที่เป็นตัวเอกในหนังสือ เราเลือกออกมาเพราะความเย็น เราอยากให้คนทำงานกับเด็กทุกคนเป็นครูพัดที่คอยพัดชีวิตน้อยๆ ให้เย็น ส่วนน้องต้นน้ำเราคิดกลับอยากให้เขาเป็นต้นทางของความเย็น เป็นต้นทางของความสุขบ้าง ไม่ได้เป็นปลายท่อของความทุกข์โดยตลอด” ในฐานะของผู้ริเริ่มอย่างคุณแอนเดรีย รอทเทนเบิร์ก ผู้ก่อตั้งองค์กรการกุศล “ไทยเด็กเล็ก” เพื่อการพัฒนาเด็กในสถานสงเคราะห์ในประเทศไทย และเป็นผู้เขียน “Am I going home?” ภาคภาษาอังกฤษ กล่าวถึงเป้าหมายของการโครงการจัดทำหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า “ตอนที่มาที่ประเทศไทยนั้น รู้สึกประทับใจ และนับถือน้ำใจของผู้คน รวมทั้งวัฒนธรรมของประเทศไทย จนทำให้รักประเทศไทย ยิ่งพอมาเห็นการรณรงค์เรื่องของการช่วยเหลือเด็ก ก็รู้สึกอยากมีส่วนร่วมอย่างมาก จึงได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา และจากการที่ได้สัมผัสกับเด็ก มักจะมีคำถามจากเด็กเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าทำไมเด็กถูกทอดทิ้ง และต้องจากบ้าน จากครอบครัว จากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เราต้องตอบด้วยเหตุผลต่างๆ ว่าเพราะอะไร ผู้ใหญ่มักจะคิดว่าเด็กเล็กๆ จะจำอะไรไม่ได้ แต่จากผลการวิจัยต่างๆ พบว่า สมองของเด็กสามารถจดจำเหตุการณ์ได้ก่อนที่เขาจะเริ่มพูดได้เสียอีก ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เวลาเด็กเหล่านี้ถูกนำมาทิ้งไว้ในสถานสงเคราะห์ ก็จะทำให้เขาเกิดความรู้สึกหลากหลาย ไม่ว่าจะความรู้สึกกลัว ทรมาน เจ็บช้ำ ปวดร้าว ซึ่งล้วนแล้วแต่จะนำมาแต่ผลร้ายที่จะตามมาในภายหลังอีกมากมาย อย่างเด็กที่ถูกนำมาไว้ที่บ้านเด็กกำพร้า เขาก็จะมีพฤติกรรมที่แสดงออกโดยการนั่งร้องไห้ เอาตัวเองออกห่างจากเพื่อนฝูง มานั่งอยู่คนเดียว บางคนก็ดูดนิ้ว ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความปวดร้าวในจิตใจของเด็กที่ถูกทอดทิ้ง ครั้งแรกที่คิดจะทำหนังสือเล่มนี้ก็ได้พูดคุยกับคุณตุ๊บปอง แต่ก็ยังไม่มั่นใจเพราะวัฒนธรรมของไทยมักจะไม่นิยมพูดถึงเรื่องเศร้า แล้วก็มองข้าม หรือหลีกเลี่ยงไปพูดในมุมมองอื่นที่สวยงาม แต่หารู้ไม่ว่าการหลีกเลี่ยงมันเสี่ยงอันตรายมากกว่า” จากเนื้อหา ภาษา และภาพวาดของผลงานเรื่อง เมื่อไร... หนูจะได้กลับบ้าน ยังแสดงให้เห็นถึงความจริงของสังคม เพราะตลอด 27 ปีของการทำงาน มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กจะต้องพบเจอแต่เด็กที่กรำทุกข์ และอยู่ปลายท่อของความทุกข์มาโดยตลอด จึงต้องเลือกชีวิตสักชีวิตขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของเด็กกลุ่มนี้ ให้เห็นว่าในมุมหนึ่งของสังคมไทย ยังมีกลุ่มเด็กที่อยู่ในมุมอับที่ได้แต่เฝ้ารอให้มีสายตาของใครสักคนมองเห็น และให้โอกาสเขาเสมอกับชีวิตทุกชีวิต ไม่ใช่เห็นเป็นชีวิตที่อ่อนด้อย อับเฉา หรือชีวิตพลเมืองชั้นสองอย่างที่เคยเป็นมา ซึ่งการร่วมบุญจัดทำหนังสือเล่มนี้เพื่อส่งมอบแก่หน่วยงาน มูลนิธิ องค์กร หรือสถานสงเคราะห์ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ เพื่อแบ่งปันน้ำใจและสร้างรอยยิ้มให้กับเด็กๆ ผู้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ คุณริสรวล อร่ามเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด และ ผู้จัดพิมพ์หนังสือนิทานภาพเรื่อง เมื่อไร...หนูจะได้กลับบ้าน กล่าวว่า “ต้องขอขอบคุณคุณตุ๊บปองที่มาชวนทำหนังสือเล่มนี้ ขอบคุณคุณแอนดี้ที่อนุญาตและเชื่อมั่นใน แปลน ฟอร์ คิดส์ ปกติเราเป็นสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือเด็กอยู่แล้ว เรามีความพร้อม เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับเด็ก ก่อนหน้านี้เราเคยทำชุดหนังสือสำหรับเด็กพิเศษออทิสติก หลังจากมีการพูดคุยกับบรรณาธิการบริหาร คือ น้านาฮูก ก็มีการเตรียมทีมงาน วางคอนเซปต์หนังสือ วางแนวเนื้อหา โดยมีฟาง มนฤดี ทองกลอย เป็นผู้ประสานงาน เราได้ต้นฉบับมาเราก็มาทำงานประมาณ 4-5 เดือน ระหว่างการทำงานเราจะมีการหารือกันตลอดเวลา เพื่อให้ผลงานออกมาแล้วเป็นที่ถูกใจของทุกฝ่าย ต้องขอบคุณทีมงานที่ได้ใช้ความสามารถในวิชาชีพของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้าใจให้กับสังคม ผู้ที่อ่านก็มีความเข้าใจในน้องๆ เหล่านั้น มีการคลี่คลายปมคำถาม ภาพที่ออกมาก็ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเด็กๆ เขาต้องการอะไรในชีวิต และกล้าพูดกล้าอธิบายได้อย่างเปิดเผย ลึกซึ้งและแยบยล” แต่ถึงแม้จะเป็นหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็ก แต่หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้จบสวยงามตามแบบฉบับเทพนิยายสุขสันต์หรรษา เพราะการผลิตหนังสือเรื่องนี้เป็นวิธีการหนึ่งที่ผู้ผลิตต้องการสะท้อนให้เห็น ทำให้สังคมเข้าใจว่าเด็กที่ต้องอยู่บ้านเด็กกำพร้า เขามีความรู้สึกอย่างไร และจะได้ค้นหาคำตอบร่วมกันว่า เมื่อไรพวกเขาจะได้กลับบ้าน ซึ่งคุณแอนเดรียกล่าวย้ำว่า “ในโลกนี้ยังมีเด็กอีก 143 ล้านคนทั่วโลกที่ประสบปัญหาการถูกทอดทิ้ง และการที่ไม่บอกความจริงกับเด็ก อาจจะทำให้เด็กเกิดความคิดว่า ที่เขาถูกนำมาทิ้งไว้ที่บ้านเด็กกำพร้าเพราะเขาทำความผิด เขาอาจจะขี้แยเกินไป ร้องไห้งอแง อาจไม่ช่วยเหลืองานบ้าน มันทำให้เขาคิดว่าตัวเองคือผู้ผิด และจะตำหนิตัวเองตลอดเวลา เมื่อเด็กเกิดความรู้สึกว่าเขาผิดแล้ว เขาจะมีชีวิตเขาอับเฉา รู้สึกแย่ไปตลอด เพราะฉะนั้นการที่เราให้คำตอบที่แท้จริงให้เขารู้ว่าความจริงคืออะไร จะทำให้เขาสามารถสร้างความเข้มแข็งในจิตใจ และสามารถยืนหยัดต่อสู้กับโลก และสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ ถึงแม้เด็กๆ ส่วนใหญ่ในสังคมไม่ใช่เด็กกำพร้า แต่ก็ควรจะมีโอกาสได้รับรู้ว่า ในโลกนี้ยังมีเด็กอีกหลายคนที่มีความทุกข์ เพราะถูกทอดทิ้ง เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่น่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้ให้เขาฟัง เพื่อเขาจะได้เรียนรู้ในการเป็นผู้ให้และเข้าอกเข้าใจผู้อื่นได้อย่างดี” นอกจากนี้ ภายในงาน คุณสุธาทิพ ธัชยพงษ์ รองประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ยังได้มอบหนังสือเรื่อง เมื่อไร ... หนูจะได้กลับบ้าน ให้กับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็กและครอบครัวในโครงการหนังสือเล่มแรก อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บ้านทานตะวัน มูลนิธิเด็ก สหทัยมูลนิธิ มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา มูลนิธิดวงประทีป มูลนิธิคุ้มครองเด็ก มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก สถาบันราชานุกูล กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี บ้านพักฉุกเฉิน ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ แผนกกิจกรรมสัมพันธ์ สำนักประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด และ สถานรับเลี้ยงเด็กปฐมวัย ทร.1504 ในโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า รวมถึงยังมีนโยบายในการกระจายหนังสือนิทานภาพเรื่อง เมื่อไร ... หนูจะได้กลับบ้าน ไปสู่ผู้อ่านทุกกลุ่มในสังคมไทยให้ร่วมเปิดใจและให้โอกาสเด็กๆ ในสถานสงเคราะห์เหล่านี้เติบโตขึ้นมาอย่างเป็นคนมีคุณภาพต่อไป ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตเด็กเหล่านี้ได้โดยสั่งจองหนังสือเพื่อบริจาคได้ที่มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก โทร 02-805-0202 หรือ บริษัทแปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด โทร 02-5752559 ต่อ 506 หรือติดตามรายละเอียดได้ที่ www.planforkids.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ