“ภัยปิดเทอม สถานการณ์น่ากลัวสำหรับเด็ก”

ข่าวทั่วไป Friday April 16, 2010 10:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--พม. เนื่องจากระหว่างช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นช่วงปิดเทอมสำหรับเด็ก ๆ นักเรียน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นห่วงเด็กนักเรียนที่อยู่บ้านตามลำพัง เนื่องจากบิดามารดาไปทำงานหรือเด็กนักเรียนที่ไปทัศนศึกษา ทำกิจกรรม รวมทั้งการท่องเที่ยว ซึ่งอาจเกิดอันตรายหากไม่ระมัดระวัง ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ทำการประมวลสถิติภัยที่เกิดกับเด็กในช่วงปิดเทอม พบว่า ภัยที่สำคัญอันดับ ๑ ได้แก่ภัยจากการจมน้ำ ที่ทำให้เด็กไทยบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต และเป็นภัยเงียบที่ผู้ปกครองต้องเอาใจใส่ให้มากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ๓ เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม — เดือนพฤษภาคมซึ่งมีสภาพอากาศร้อนอบอ้าว - สถิติข้อมูล ปี ๒๕๕๑ มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ ๔,๐๖๕ ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี รวม ๑,๒๒๙ ราย เป็นชายมากกว่าหญิง ๒ เท่าตัว เฉลี่ยวันละ ๔ ราย และมีข้อมูลว่าเด็กที่จมน้ำเสียชีวิตร้อยละ ๕๐ - ๘๐ ว่ายน้ำไม่เป็น - สถิติข้อมูล ปี ๒๕๕๒ โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมตั้งแต่เดือนมีนาคม — เดือนพฤษภาคม (๓ เดือนอันตราย) มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยเกือบ ๕๐๐ ราย เฉลี่ยวันละ ๖ ราย (เฉพาะเดือนมีนาคม ๒๕๕๒ มีเด็กเสียชีวิต ๑๑๒ ราย/ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ระหว่าง ๑๒.๐๐ น. — ๑๘.๐๐ น.) เมื่อเปรียบเทียบกับการเสียชีวิตในทุกสาเหตุพบว่า อุบัติเหตุจากการจมน้ำสูงกว่าอุบัติเหตุจราจรถึง ๒ เท่าตัว โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบอัตราการเสียชีวิตของเด็กมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ ภัยอันดับ ๒ เป็นภัยจากอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอุบัติเหตุจากการจราจร ในแต่ละปี จะมีการเสียชีวิตของเด็กไทยเฉลี่ยราว ๖๕๖ รายต่อปีซึ่งร้อยละ ๒๒ ของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ มีตั้งแต่ การนั่งซ้อนท้ายจักรยานยนต์ การใช้จักรยานยนต์และการถูกรถชนในละแวกบ้าน ที่สำคัญยังพบว่า เด็กอายุ ๑๒ ปี ขึ้นไปเสียชีวิตจากการขับขี่รถจักรยานยนต์มากขึ้นเรื่อย ๆ ภัยอีกประการหนึ่งที่เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น คือ ภัยจากการเล่นเครื่องเล่นที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่มีการดูแลด้านความปลอดภัย และซ่อมบำรุงอย่างเหมาะสม ซึ่งเครื่องเล่นต่าง ๆ มีทั้งในสวนสาธารณะ สวนสนุก และสนามเด็กเล่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงใคร่ขอความร่วมมือพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ ผู้ประกอบการสวนสนุก และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกันเฝ้าระวัง ป้องกันภัย ที่เกิดขึ้นกับเด็กในช่วงปิดเทอม โดยพ่อแม่ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ ต้องสอนให้เด็กรู้และเข้าใจวิธีการเล่น อย่างปลอดภัย พร้อมทั้งสอนให้เด็กว่ายน้ำอย่างน้อยเพื่อให้เขาเอาตัวรอดได้ สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้กวดขันดูแลเด็กที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยขอให้เคร่งครัดเรื่องการสวมหมวกกันน๊อค และการขับขี่ยวดยานอย่างถูกกฎจราจร เพื่อระมัดระวังความปลอดภัยให้แก่เด็ก ในส่วนของผู้ประกอบการและผู้ดูแลเครื่องเล่นต่าง ๆ ที่เด็กไปใช้บริการกันมากในช่วงปิดเทอม ขอให้ตรวจสอบซ่อมบำรุงให้อยู่ในมาตรฐานความปลอดภัยตลอดเวลา ในขณะนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำลังดำเนินการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานและความปลอดภัยในการเล่นกีฬาและนันทนาการสำหรับเด็ก ซึ่งจะมีกำหนด ที่ครอบคลุม ทั้งเรื่องการดูแลความปลอดภัยเกี่ยวกับผู้เล่น สถานที่ และอุปกรณ์เครื่องเล่นต่าง ๆ ซึ่งเชื่อว่า หากกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้แล้ว จะสามารถป้องกันเด็กจากภัยอันตรายเกี่ยวกับการเล่นเครื่องเล่นต่าง ๆได้อย่างดี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ห่วงใยสวัสดิภาพ ของประชาชนทุกคน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ