KTAM ตอกย้ำความเป็นผู้นำกองทุนรวมอุตสาหกรรม เสนอขายกองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ เมทัล แอนด์ ไมน์นิ่ง ฟันด์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 20, 2010 15:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--บลจ.กองทุน กรุงไทย จากความสำเร็จเมื่อปีที่แล้วของกองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ เอ็นเนอร์จี ฟันด์ และกองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิส ฟันด์ นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทจะเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ เมทัล แอนด์ ไมน์นิ่ง ฟันด์ (KTAM World Metals and Mining Fund: KT-MINING) ซึ่งเป็นกองทุนรวมอุตสาหกรรมอีกกองทุนหนึ่ง โดยจะเปิดเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 26 เมษายน — 12 พฤษภาคม 2553 โดยมีทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท โดยลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในกองทุนรวมหลัก ซึ่งได้แก่ Allianz RCM Rohstoffonds บริหารโดย RCM หนึ่งในกลุ่มบริษัทจัดการลงทุน Allianz Global Investors และ Allianz Group หนึ่งในผู้ให้บริการด้านการเงินระดับโลก โดยกองทุนจะไม่ใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ กองทุนรวมหลักมีนโยบายลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนชั้นนำทั่วโลกซึ่งดำเนินธุรกิจด้านเหมืองแร่ และการผลิต ได้แก่ โลหะที่ไม่มีส่วนประกอบของเหล็ก เช่น นิกเกิล ทองแดง อลูมิเนียม รวมถึงเหล็ก และแร่อื่น ๆ เหล็กกล้า ถ่านหิน โลหะมีค่า เช่น ทอง แพลทินัม เพชร เกลือ และแร่อุตสาหกรรม เช่น กำมะถัน เป็นต้น กองทุนนี้มุ่งที่จะให้โอกาสในการรับผลตอบแทนจากกำไรส่วนเกินของหุ้นในระยะยาว โดยขนาดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมหลัก ณ วันที่ 3 มีนาคม 2553 อยู่ที่ 1,134.94 ล้านยูโร หรือประมาณ 49,680 ล้านบาท และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ AA- โดย สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส นับตั้งแต่ปี 2007 ปัจจุบันกองทุนรวมหลักให้อัตราผลตอบแทนย้อนหลังเฉลี่ย 17.80% ต่อปี ในช่วง 5 ปี และ 15.21% ต่อปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นายสมชัย กล่าวต่อไปว่า การลงทุนในกองทุน KT-MINING เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนได้ลงทุนในหุ้นกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่ไม่จำกัดเฉพาะประเทศจีนเท่านั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความต้องการวัตถุดิบเพื่อการผลิตยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้นแนวโน้มการขาดแคลนวัตถุดิบมีโอกาสกดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นด้วย กองทุนนี้ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือในการกระจายความเสี่ยงที่ดีสำหรับนักลงทุนไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะลงทุนในตราสารหนี้ แต่ยังเป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อด้วย เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มักเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับสินค้าจำเป็นในการอุปโภคบริโภค อีกเหตุผลหนึ่งที่ควรลงทุนในกองทุน KT-MINING คือ กองทุนรวมหลักบริหารโดยทีมงานที่แข็งแกร่ง และมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมสินแร่และโลหะมากว่า 20 ปี ถือเป็นหนึ่งในผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์มากที่สุดคนหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ นอกจากทีมจัดการลงทุนที่มีความสามารถแล้ว RCMยังมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการประมาณ 141.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552) และบริษัทยังได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย รวมถึง Lipper Award 4 รางวัลในประเภท Asia Asset Management Awards และ 2 รางวัลในประเภท Asian Investors Investment Performance Awards 2009 ด้านนายปวิณ รอดลอยทุกข์ ผู้อำนวยการสายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ในฐานะตัวแทนสนับสนุน การขายกล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในปี 2553 และปี 2554 นักเศรษฐศาสตร์ซิตี้ คาดว่ากลุ่มประเทศเกิดใหม่ยังคงจะเป็นผู้นำในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยจะเติบโต 6.3% ในปี 2553 และ 6.0% ในปี 2554 เทียบกับ 2.3% และ 2.2% ของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ในแง่ของเงินเฟ้อ คาดว่ายังคงไม่มีแรงกดดันด้านราคา โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ G3 โดยสหรัฐฯ ที่น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในไตรมาส 4 ของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อน่าจะเป็นที่กังวลมากกว่าในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะในเอเชียที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า ส่วนผสมของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นปัจจัยที่สนับสนุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ หนึ่งในกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดก็คือการลงทุนในกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งทั่วโลกมีงบการลงทุนโดยรวมเฉลี่ยถึงปีละ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทุกๆปีจนถึงปี 2558 และมากกว่าครึ่งของ งบการลงทุนจะอยู่ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ จากนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การลงทุนในกลุ่มวัสดุพื้นฐานก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการมีส่วนร่วมกับการเติบโตในระยะยาว เพิ่มไปจากการลงทุนในตลาดหุ้นโดยรวม อย่างไรก็ดีนักลงทุนจะต้องมีวินัยในการสร้างพอร์ตที่มีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนและปรับให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายและสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป นายปวิณสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ