iTAP เครือข่ายม.อุบลฯจับมือพันธมิตร สสว. ร่วมผนึกกำลังทุน มุ่งพัฒนาอุตฯอีสานใต้

ข่าวเทคโนโลยี Friday June 29, 2007 15:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--iTAP
iTAP ขยายเครือข่ายสู่ม.อุบลฯ สนับสนุนอุตสาหกรรมอีสานใต้ ช่วยเงิน 50% ด้านค่าใช้จ่ายคำปรึกษาทางเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิต เล็ง iTAP ขยายเครือข่ายอีสานครั้งนี้จะช่วยหนุนผู้ประกอบการให้ได้รับความสะดวก พร้อมทุนจากสสว.กว่า 100 ล้านบาท ร่วมผนึกกำลังส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยครอบคลุมทุกสาขา
งานสัมมนา “รัฐจ่าย 50:ท่านจ่าย 50 สนับสนุน SMEs สู่สากล” ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานีที่ผ่านมา โดยโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทยหรือ iTAP ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.ร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นเจ้าภาพ
โดยงานนี้ได้เปิดตัวเครือข่ายโครงการ iTAP มหาวิทยาลัยอุบลราชธีซึ่งเป็นเครือข่ายโครงการ iTAP ลำดับที่ 9 รับผิดชอบพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง อันจะเป็นการทำงานบริการเสริมกับเครือข่ายที่ครอบคลุมพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อให้บริการพัฒนา SMEs พื้นที่อีสานทั้งหมดให้มีศักยภาพทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึง
นายปราโมทย์ สัจจรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ประธานในการเปิดงานสัมมนาครั้งนี้ กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีส่วนใหญ่อุตสาหกรรมหลักจะเป็นด้านอาหารและการเกษตร ดังนั้นหาก iTAP เกิดโครงการที่ช่วยให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมท้องถิ่นเหล่านี้ได้รับการปรับปรุงวิธีการผลิตหรือเข้าไปให้ความรู้ซึ่งอาจทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ก็จะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะแนวทางการเชื่อมโยงความรู้ภายใต้เครือข่ายของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่กว่า 800-900 รายได้รับการช่วยเหลือและทำให้อุปสรรคของระยะทางลดความสำคัญลงไปมาก สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางสนับสนุนภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ 50% จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถตัดสินใจเข้าร่วมโครงการได้ง่ายขึ้นและทำให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง ขณะเดียวกันเห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการรับรู้ข่าวสารเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมตนเองต่อไป
อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศ.ดร.ประกอบ วิโรจนกูฎ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือระหว่างโครงการ iTAP สำหรับให้บริการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการเชิงลึกแบบครบวงจรแก่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น จะสามารถพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งเครือข่ายวิสาหกิจ โดยการสนับสนุนการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี โดยเริ่มต้นจากโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการมาสู่การทำวิจัยพัฒนาและมุ่งให้มีการนำผลงานวิจัยสู่การใช้จริงในภาคผลิต โดยการสัมมนาในครั้งนี้ยังจะช่วยให้ผู้ประกอบในพื้นที่ได้เข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอีสานตอนล่างให้ก้าวหน้าและแข่งขันทั้งระดับภูมิภาคและสากล
ด้าน ผศ.ดร.พิสิษฐ์ เตชะรุ่งไพศาล ผู้จัดการเครือข่าย iTAP มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ให้บริการของ เครือข่ายม.อุบลฯ เน้นให้บริการพื้นที่ในภาคอีสานตอนล่าง 8 จังหวัดได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครพนม และมุกดาหาร สามารถพัฒนาเทคโนโลยียกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันแก่อุตสาหกรรม SMEs ด้านบทบาทหน้าที่ของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีนั้น จะให้บริการคำปรึกษาทางเทคโนโลยีแก่ SMEs และวิสาหกิจชุมชน ตามขอบเขตของโครงการ iTAP อาทิ ให้การสนับสนุนมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีการผลิตหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท หรือเป็นนิติบุคคลไทยที่มีผู้ถือหุ้นไทยไม่ต่ำกว่า 51% โดยมีแนวทางการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเบื้องต้น เช่น สนับสนุนค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในโครงการ แต่นอกเหนือกฎเกณฑ์ดังกล่าวหากผู้ประกอบการรายใดสนใจก็สามารถติดต่อเข้ามาพูดคุยกันได้
ผู้จัดการเครือข่ายอุบลราชธานี กล่าวอีกว่า เครือข่ายจังหวัดอุบลราชธานีนั้นยังเน้นการให้บริการในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและเศรษฐกิจชุมชนของภูมิภาคนี้ ซึ่งพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและใกล้เคียงจะมีผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรเป็นจำนวนมาก ทำให้การมีเครือข่าย iTAP สามารถช่วยผู้ประกอบการเหล่านี้ให้มีเทคโนโลยีหรือผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเหลือและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ โดยการพัฒนาเทคโนโลยีจะขึ้นอยู่กับความพร้อมและความต้องการของผู้ประกอบเป็นหลัก โดย iTAP เครือข่ายอุบลฯจะช่วยอำนวยความสะดวกครอบคลุมในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ และอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นๆ
ขณะนี้มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆสนใจเข้าร่วมโครงการ เช่น โรงงานที่ต้องการหาพลังงานทดแทนและโรงงานที่ต้องการประหยัดไฟฟ้าโดยใช้วัสดุขี้เลื่อย หรือในธุรกิจด้านสุขภาพที่ต้องการให้ออกแบบหาระบบปรับอากาศที่เหมาะสม นอกจากนี้ก็ยังมีผู้ประกอบการที่สนใจเรื่องการทำพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งโครงการเหล่านี้จะมีผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยี สำหรับแนวทางความช่วยเหลือนั้นจะมีผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคเข้าไปสำรวจและวิเคราะห์ความต้องการเบื้องต้น รวมทั้งเข้าไปจัดทำโครงการปรึกษาเชิงลึก เพื่อแก้ไขปัญหาทางเทคนิคและปรับปรุงการผลิต โดยมีกระบวนการทำงานที่ยืดหยุ่นสูงและมีบุคคลากรที่เป็นหัวใจหลักในการดำเนินงาน
นอกจากนี้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)ยังได้เล็งเห็นความสำคัญของกระบวนการพัฒนาดังกล่าว จึงร่วมสนับสนุนงบประมาณ 100 ล้านบาทเพื่อให้สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมไทยครอบคลุมทุกสาขาทั่วประเทศ รวมทั้งเครือข่าย iTAP อุบลราชธานี ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ได้รับความสนใจจากคณาจารย์และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก คาดว่า โครงการ iTAP จะเป็นประโยชน์ช่วยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคอีสานตอนล่างเห็นความสำคัญในการพัฒนาตนเองและเข้าร่วมโครงการต่อไป
สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใดที่สนใจเข้าร่วมโครงการ iTAP เครือข่ายอุบลราชธานี สามารถติดต่อได้ที่ : ชั้น 3 ห้องสำนักงานโครงการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อาคารสำนักงานอธิการบดี 85 ถนนสถลมาร์ค ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี 34190 โทรศัพท์ 045-433-456 เบอร์ภายใน 1353 มือถือ 08-7580-2974 ,08-5832-7352 โทรสาร 045-433-456,045-288-508 หรือเว็บไซด์ www.ubu.ac.th/itap อีเมล์ itap_ubu@yahoo.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ