เภสัชกรชี้ “แพ้ยา-ผลข้างเคียงจากยา” อันตรายกว่าที่คิด สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล ระดมสมองเร่งหามาตรการแก้ไข

ข่าวทั่วไป Thursday April 29, 2010 09:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์ สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เตือนอาการแพ้ยาและผลข้างเคียงจากการใช้ยาอันตรายกว่าที่คิด ประชุมระดมสมองเภสัชกรจากโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 200 คน เร่งหามาตรการแก้ไข พร้อมจัดระบบเชื่อมโยงข้อมูลประวัติแพ้ยาผู้ป่วยทั่วประเทศ แนะหากมีอาการผิดปกติให้รีบกลับมาพบแพทย์หรือเภสัชกรขณะที่ยังมีอาการอยู่ อย่าหยุดยาเองหรือปล่อยให้อาการรุนแรงก่อนสายเกินไป อาจเหนี่ยวนำให้เกิดโรคใหม่หรือส่งผลให้อวัยวะมีความผิดปกติและเสียชีวิตได้ เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) โดยกลุ่มชุมชนเภสัชกรนักปฏิบัติงาน ADR (AdCoPT) ได้จัดประชุมวิชาการเรื่อง “อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ (Advances in Adverse Drug Reactions: Common Drug-Induced Organ Disorders)” ขึ้น เพื่อเพิ่มพูนความรู้แก่เภสัชกรโรงพยาบาล ให้สามารถประเมินการแพ้ยาและอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่อาจเหนี่ยวนำให้เกิดโรคใหม่ หรือส่งผลให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถป้องกันความเสี่ยงจากการแพ้ยาซ้ำได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยมีเภสัชกรโรงพยาบาลจากทั่วประเทศกว่า 200 คนเข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมโฟร์วิงส์ กรุงเทพฯ ภญ.จันทิมา โยธาพิทักษ์ ประธานกลุ่มชุมชนเภสัชกรนักปฏิบัติงาน ADR สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาแพ้ยารุนแรงในคนไทยยังมีข่าวออกมาให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า อาการแพ้ยาเป็นอะไรที่คาดเดาไม่ได้ เพราะการแพ้ยาขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยแต่ละราย ในทางการแพทย์จึงไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ว่า ผู้ป่วยคนไหนจะแพ้ยาตัวไหน บางรายไม่เคยมีประวัติแพ้ยามาก่อนก็สามารถเกิดอาการแพ้ยาได้ สิ่งที่สำคัญจึงอยู่ที่ทำอย่างไรจะให้ผู้ป่วยมีความรู้ว่า เมื่อเกิดอาการผิดปกติและสงสัยแพ้ยา ควรรีบมาพบแพทย์และเภสัชกรก่อนที่อาการจะรุนแรง และทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดการแพ้ยาซ้ำ อาการแพ้ยาที่พบบ่อย คือ อาการผิดปกติทางผิวหนัง เช่น เป็นผื่นแดงเหมือนเป็นลมพิษ อาการบางอย่างพบได้ไม่บ่อยแต่รุนแรง เช่น โรคสตีเว่นจอห์นสันซินโดรม ผู้ป่วยจะมีอาการผื่นแพ้ที่รุนแรงทั่วร่างกาย ตาอักเสบ มีแผลพุพองในปาก และอวัยวะเพศ เมื่อเป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตหรือพิการสูง เช่น ตามองไม่เห็น สำหรับอาการแพ้ยาที่บ่งบอกว่าอาจจะอันตรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ความดันโลหิตลดต่ำลง หรือเกิดภาวะช็อค เป็นต้น “อย่างไรก็ตาม อาการแพ้ยาบางอย่างที่อาจจะดูเหมือนไม่รุนแรง แต่ก็อาจเป็นอันตรายได้ เช่น อาการเหมือนเป็นลมพิษ หน้าบวม ตาบวม เพราะปฏิกิริยาแบบนี้อาจจะไปบวมในบริเวณอวัยวะที่สำคัญ เช่น หลอดลม คนไข้จะหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก บางรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งยากลุ่มนี้ที่พบว่าเป็นสาเหตุของอาการแพ้ได้บ่อยจะเป็นยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดอักเสบกล้ามเนื้อ ดังนั้นผู้ที่แพ้ยาแล้วมีอาการผื่นลมพิษ หน้าบวม ตาบวม อย่านิ่งนอนใจ ต้องรีบกลับมาพบแพทย์หรือเภสัชกรทันทีที่มีอาการ” ภญ.จันทิมา กล่าว ภญ.จันทิมา แนะนำแนวทางป้องกันการแพ้ยาสำหรับผู้ป่วยว่า 1.) กลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยา ทุกครั้งที่พบแพทย์ ต้องแจ้งแพทย์ หรือเภสัชกรเสมอ หากเคยได้รับบัตรแพ้ยาจากโรงพยาบาล ต้องพกติดตัวไว้เหมือนบัตรประชาชน และยื่นบัตรแพ้ยาทุกครั้งที่มาพบแพทย์ เพราะยากลุ่มหนึ่งอาจมีหลายตัว หากผู้ป่วยไม่ให้บัตรแพ้ยา แพทย์อาจไม่ทราบว่าแพ้ยาตัวใด 2.) กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่เคยมีประวัติแพ้ยา ทุกครั้งที่รับประทานยาที่ไม่เคยรับประทานมาก่อนเป็นครั้งแรก ควรสังเกตอาการผิดปกติอย่างใกล้ชิด โดยทั่วไปอาการแพ้ยามักจะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังจากได้รับยา หากมีอาการผิดปกติ เช่น ผื่นคันแปลกๆ ทั่วร่างกาย หน้าบวม ตาบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง เวียนศีรษะ ให้รีบกลับมาพบแพทย์และปรึกษาเภสัชกรทันที เพื่อให้สามารถวินิจฉัยแพ้ยาได้เร็ว ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงอาการแพ้ยาลงได้ “ที่ผ่านมาสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลฯ ให้ความสำคัญมากเรื่องของการดูแลผู้ป่วยและการป้องกันการแพ้ยาในผู้ป่วยมาโดยตลอด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยใช้ยาด้วยความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น มีการจัดประชุมวิชาการและฝึกอบรมให้เภสัชกรอย่างต่อเนื่องมากกว่า 3,000 รายแล้ว ให้สามารถประเมินการแพ้ยาในผู้ป่วยได้ และเก็บรวบรวมข้อมูลประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วยตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลที่ดีระหว่างโรงพยาบาล เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกลับมาแพ้ซ้ำอีก” ภญ.จันทิมา กล่าวสรุป ภญ.จันทิมา โยธาพิทักษ์ ประธานกลุ่มชุมชนเภสัชกรนักปฏิบัติงาน ADR สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) สื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ คุณบุษบา สุขบัติ (บุษ) ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์ จำกัด โทร. 0-2718-3800 ต่อ 133

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ