เมื่อสัตว์เลี้ยงของคุณเป็นโรคเบาหวาน เรื่องโดย..ทีมสัตวแพทย์ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ

ข่าวทั่วไป Thursday June 28, 2007 11:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--ดาวิน ชอยส์
โรคเบาหวาน...สัตว์ก็เป็นได้
โรคเบาหวานไม่ใช่โรคที่จะพบได้เฉพาะในคนเท่านั้น แต่สัตว์เลี้ยงของท่านก็สามารถเป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน โดยปกติแล้วตับอ่อนเป็นอวัยวะที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) หากการผลิตฮอร์โมนมีความผิดปกติ อาทิเช่น มีการสร้างน้อยหรือหรือไม่มีการสร้างเลยหรืออาจมีการสร้างแต่ประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ลดลงจากเดิม จึงเป็นสาเหตุทำให้ขบวนการเผาผลาญ และการสะสมน้ำตาลเพื่อมาใช้เป็นพลังงานลดลง และเมื่ออินซูลินในร่างกายไม่เพียงพอ จึงทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และเป็นโรคเบาหวานในที่สุด
สัตว์เลี้ยงที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรค
โรคเบาหวาน มักเกิดในสัตว์เลี้ยงที่มีอายุมากๆ ในสุนัขพบได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 4-12 ปี และพบว่าพบในเพศเมียมากกว่าถึง 2 เท่า สายพันธุ์ที่พบบ่อยได้แก่ พุดเดิล ดัชชุน มิเนเจอร์พินเชอร์ มิเนเจอร์ ชเนาเซอร์ บีเกิล ปั๊ก โกลเดนรีทรีพเวอร์ ส่วนในแมวพบว่าแมวเพศผู้ที่ทำหมันแล้วสามารถพบได้มากกว่าเพศเมียถึง 1.5 เท่า หรือแม้กระทั่งในแมวชรา หรือแมวที่มีน้ำหนักตัวเฉลี่ยมากกว่า 6.8 กิโลกรัมก็สามารถพบได้สูงอีกด้วย
ชนิดของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานที่มี 2 ชนิดด้วยกัน คือโรคเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน (Insulin-dependent diabetes mellitus/ IDDM) Type I Diabetes และ เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (Non-insulin-dependent diabetes mellitus/NIDDM) Type II Diabetes
โรคเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน มักพบในสุนัขเป็นส่วนใหญ่ โรคเบาหวานชนิดนี้เกิดจากการที่ตับอ่อนของสัตว์สร้างอินซูลินไม่ได้เลย หรือสร้างได้แต่ได้น้อยมาก ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายมีการสร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านทำลายตับอ่อนของตัวเอง ทำให้ไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ จึงเรียกว่า "โรค ภูมิแพ้ต่อตัวเอง (autoimmune)" ทั้งนี้เป็นผลมาจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ร่วมกับการติดเชื้อ หรือการได้รับสารพิษจากภายนอก สัตว์ป่วยจำเป็นต้องพึ่งพาการฉีดอินซูลินเข้าไปทดแทนในร่างกายทุกวัน จึงจะสามารถเผาผลาญน้ำตาลได้เป็นปกติ
โรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน พบมากในแมว 80-95% โรคเบาหวานชนิดนี้เกิดจากการที่ ตับอ่อนของสัตว์ป่วยสร้างอินซูลินได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายหรือสร้างอินซูลินได้แต่ไม่ออกฤทธิ์ ทำให้มีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงขึ้น จนกลายเป็นเบาหวานได้ในที่สุด เบาหวานชนิดนี้เกิดได้จาก ความอ้วน, กรรมพันธุ์, จากการใช้ยา เช่น สเตอรอยด์, ยาขับ ปัสสาวะ, ยาคุมกำเนิด หรือพบร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง, มะเร็งของตับอ่อน, ตับแข็งระยะสุดท้าย, โรคคุชชิง เป็นต้น
การควบคุมอาหารหรือการใช้ยาเบาหวานชนิดรับประทาน มักจะได้ผลในการควบคุม ระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติได้ หรือบางครั้งถ้าระดับน้ำตาลสูงมากๆ ก็อาจต้องใช้วิธีการฉีดอินซูลินเป็นครั้งคราว
รู้ได้อย่างไรเมื่อสัตว์เลี้ยงป่วยเป็นโรคเบาหวาน
อาการเริ่มแรกที่สังเกตเห็นได้ง่าย คือ ปัสสาวะบ่อยและมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน อาจจะมากกว่า 3 — 4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค เนื่องจากน้ำตาลที่ออกมาทางไต จะดึงเอาน้ำออกมาด้วย จึงทำให้มีปัสสาวะมากกว่าปกติ เมื่อปัสสาวะมากจึงทำให้ร่างกายขาดน้ำ ทำให้รู้สึกกระหายน้ำ และกินน้ำเยอะขึ้นบ่อยขึ้น เนื่องจากสัตว์ป่วยไม่สามารถนำน้ำตาลมาเผาผลาญเป็นพลังงานไปใช้ได้ จึงหันมาเผาผลาญกล้ามเนื้อ และไขมันแทน ทำให้ร่างกายขาดพลังงาน ผอม ไม่มีไขมัน กล้ามเนื้อฝ่อลีบ อ่อนเพลีย หิวบ่อย กินเก่ง แต่น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
หากอาการรุนแรง อาจพบว่ามีอาการทางประสาท ตาเป็นต้อกระจก หรืออาจเกิดการตาบอดเฉียบพลันได้ ในรายที่มีข้อแทรกซ้อนอาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากภาวะคีโตนในเลือดสูงหรือที่เรียกว่า Diabetic Keto Acidosis(DKA) จะมีอาการ อาเจียน ท้องเสีย ซึม ขาดน้ำอย่างรุนแรงถือเป็นภาวะฉุกเฉินหากไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
เช็คน้ำตาลในเลือดก่อนหาหนทางการรักษา
เพื่อการติดตามและตรวจโรคเบาหวาน สัตวแพทย์มักจะนัดให้อดอาหารและน้ำอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง (ยกเว้นบางตัวที่หิวน้ำมาก อาจจะอนุโลมให้ดื่มน้ำเปล่าได้) เพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือด และอาจต้องตรวจปัสสาวะ หากพบว่าในปัสสาวะมีน้ำตาลสามารถสันนิษฐานได้ว่าสัตว์เลี้ยงอาจเป็นเบาหวานได้ ดังนั้นสัตว์เลี้ยงควรได้รับการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด หากค่าน้ำตาลในกระแสเลือดมากกว่า 180 ในสุนัข และ มากกว่า250 ในแมว ให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นเบาหวานได้เช่นกัน
เมื่อเริ่มทำการรักษา สัตวแพทย์มักจะแนะนำให้ฝากไว้ในโรงพยาบาล 5-7 วัน เพื่อทำการปรับระดับอินซูลินที่ใช้ฉีดจนกว่าจะได้ขนาดที่พอเหมาะและปลอดภัยต่อสัตว์ป่วย แล้วจึงให้เจ้าของสัตว์เป็นผู้ฉีดยานี้ต่อที่บ้านเอง การให้อินซูลินเพื่อควบคุมโรคเบาหวานจำเป็นต้องมีการนัดมาสุ่มตรวจหาน้ำตาลในเลือดเป็นระยะๆ (ปีละ 2-3 ครั้ง) เพื่อปรับระดับยาฉีดนี้ให้เหมาะสม
โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่สามารถควบคุมได้ โดยการฉีดอินซูลินเหมือนในคน และจัดให้มีการออกกำลังกาย และควบคุมสารอาหารบางอย่าง อาทิเช่น อาหารควรมีระดับกากอาหารในระดับปานกลางถึงสูง เพื่อควบคุมการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน และกากอาหารจะทำให้การดูดซึมกลูโคสของลำไส้เป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้ช่วยลดปริมาณของกลูโคสให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะในเลือดได้
ข้อควรรู้เมื่อต้องดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่เป็นเบาหวาน
การฉีดอินซูลิน ในรายที่มีความจำเป็นต้องใช้อินซูลิน สัตว์ป่วยมีความจำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลเพื่อได้รับการฉีดอินซูลิน และตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วง1-3 วันแรก หากไม่พบข้อแทรกซ้อนหรืออาการผิดปกติใดๆ สามารถรับกลับบ้านและฉีดอินซูลินโดยเจ้าของได้ จากนั้น 1 สัปดาห์จึงนัดมาตรวจเลือดเพื่อประเมินค่าน้ำตาลในเลือดแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้แน่ใจว่าขนาดอินซูลินที่ใช้เหมาะสมกับสัตว์ป่วยแต่ละตัว
การดูแลเรื่องอาหาร ควรจัดอาหารที่มีสัดส่วนและคุณค่าอาหารคงที่ เวลาในการให้ควรเป็นช่วงเวลาเดียวกันตลอด ปัจจุบันมีอาหารสำเร็จรูปที่ทำมาสำหรับสัตว์ป่วยเบาหวานโดยเฉพาะ หรือหากอยากเลือกอาหารปรุงเองก็ได้ค่ะ
การออกกำลังกาย ควรมีกิจกรรมให้สุนัขออกกำลังกายในสัตว์ป่วยแต่ละตัวอย่างสม่ำเสมอ และเหมาะสม
จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียวในการรับมือกับโรคนี้แต่อย่างน้อยก็ยังมีแนวทางการหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงของสัตว์เลี้ยงที่จะเกิดโรคเบาหวาน ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมน้ำหนัก อาหาร หรือการหมั่นตรวจสุขภาพก็จะช่วยให้เรารู้เร็วเท่าทันโรคได้ ผู้ที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเบาหวานในสัตว์เลี้ยง สามารถติดต่อขอคำปรึกษาจากสัตวแพทย์ ได้ที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ซอยทองหล่อ โทร. 0-2712-6301-4 สาขาลาดพร้าว โทร. 0-2934-1407-9 สาขาสิรินทร-ปิ่นเกล้า โทร.0-2433-7550-1 หรือติดตามข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้ที่ www.thonglorpet.com
********************************
ต้องการข้อมูลข่าวเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณอรณัฐา สื่อมวลชนสัมพันธ์ บริษัท ดาวิน ชอยส์ จำกัด (ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์)
โทรศัพท์. 02 960 0852-4, 081 351 5296, 083 053 1756 โทรสาร 02 9600853
e-mail: medias@darwinchoice.co.th , darwinchoice@yahoo.com
website: http://www.darwinchoice.co.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ