iTAP ร่วม GTZ ทำ“ระบบนวัตกรรมเฉพาะพื้นที่” เจาะจงศักยภาพท้องถิ่น สู่องค์รวมอุตสาหกรรมเกษตรไทย

ข่าวทั่วไป Friday April 30, 2010 15:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--สวทช. iTAP ร่วม GTZ จัดทำ “ระบบนวัตกรรมเฉพาะพื้นที่” มองจากศักยภาพของแต่ละท้องถิ่นเป็นหลัก พร้อม ผลักดันให้มีการจับคู่นวัตกรรมนำไปใช้ได้จริงเชิงพาณิชย์ ผลคือ สามารถสร้างทีมทำงานที่แข็งแกร่ง ปูทางในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ อย่าง ปาล์ม , ยาง , กุ้ง, มะม่วง , ผักและผลไม้ ต่อยอดสู่การทำงานจนเกิดเป็นบริษัทรองรับงานนวัตกรรม พร้อมเอื้อต่อการทำงานให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ด้านภาคีการทำงานร่วมอย่าง GTZ ลุ้นให้ภาครัฐไทยสนับสนุนการทำงานของ “ระบบนวัตกรรมเฉพาะพื้นที่” ต่อไปหวังขยายผลไปสู่ทุกภูมิภาค เพื่อศักยภาพอุตสาหกรรมเกษตรไทย ด้านเอกชนชี้ โมเดลดังกล่าวเด็ด แก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่ได้ และอยากเห็นการใช้จริง หวังลดต้นทุนการผลิต เพื่อบุกตลาดส่งออกในยุโรป โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สวทช.ร่วมกับ สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน ประจำประเทศไทย (GTZ) สนับสนุนโครงการ Mapping and Matching หรือโครงการแผนที่นวัตกรรมและการจับคู่นวัตกรรมอุตสาหกรรมเกษตร โดยนำข้อมูลพื้นฐานของผู้ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีและผู้ที่สร้างเทคโนโลยีมาจับคู่ทางเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมถึงการผลักดันให้เกิดการวิจัย เรียกว่า นำความต้องการของสองฝ่ายมาจับคู่กันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นางสาว สนธวรรณ สุภัทรประทีป ผู้อำนวยการ iTAP เปิดเผยว่า โครงการนี้ได้เริ่มต้นการทำงานโดยสำรวจความต้องการภาคเอกชนและเกษตรกรในทุกๆด้าน ไม่เพียงเทคโนโลยีเท่านั้น แต่รวมถึงการเงิน กฎระเบียบ การเจรจาการค้า การกีดกันทางการค้า ฯลฯ เพื่อรวบรวมจัดทำเป็นแผนที่ความต้องการของภาคเอกชน เกษตรกร ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีหรือบริการต่างๆ จากนั้นจะดำเนินการสำรวจข้อมูลทางด้านเทคโนโลยีและบริการที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัย สถาบันการศึกษา รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ผู้อำนวยการ iTAP กล่าวว่า เมื่อจับคู่ได้แล้วทางโครงการ iTAP จะเข้าไปสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายทำงาน เพื่อให้เกิดระบบวิจัยและพัฒนาขึ้น ส่วนทาง GTZ ในฐานะองค์กรจากรัฐบาลเยอรมันจะมีบทบาทสำคัญที่คอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำและสนับสนุนด้านต่างๆ โดยเฉพาะรูปแบบหรือวิธีการทำงานที่มีระบบที่ดีเข้ามาช่วยเสริมสร้างการพัฒนานวัตกรรมให้กับอุตสาหกรรมเกษตรไทย นอกจากนี้ยังมีสถาบันการศึกษาได้แก่ มหาวิทยาลัย 3 แห่งที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวประกอบด้วย มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเน้นการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมผักและผลไม้ในพื้นที่จังหวัดนครปฐมและใกล้เคียงได้ระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยของผักและผลไม้ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)เน้นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะม่วง โดยมุ่งเน้นด้านการเพิ่มกำลังการผลิต ความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างนวัตกรรม รวมทั้ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเน้นอุตสาหกรรมยางพารา ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมหลักในภาคใต้ และยังมีอีกหนึ่งทีมการทำงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลอย่าง กุ้ง ซึ่งถือเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจทั้งในท้องถิ่นและระดับประเทศ ล่าสุดจากการทำงานครบรอบ 2 ปีของโครงการดังกล่าวได้ทำให้เกิดผลสำเร็จขึ้น โดยสามารถสร้าง “ระบบนวัตกรรมเฉพาะพื้นที่” (Regional innovation system) คือ เน้นพื้นที่การทำงานเป็นหลัก ทำตามความต้องการของเอกชน เกษตรกร และศักยภาพของแต่ละพื้นที่ทำงาน “จากโครงการนี้ทำให้สามารถสร้างทีมทำงานที่แข็งแกร่งถึง 4 ทีม จากมหาวิทยาลัยต่างๆข้างต้นและทีมทำงานดังกล่าวยังมีการทำงานร่วมกับหลายภาคี อาทิ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ซึ่งแนวร่วมเหล่านี้ล้วนช่วยกันระดมความคิดจากโจทย์ปัญหาต่างๆของภาคอุตสาหกรรมมาใช้เป็นแนวทางในการทำงานเป็นหลัก” นอกจากนี้ทีมทำงานเรื่องปาล์มและยางจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังสามารถ ต่อยอดการทำงานจากกลไกจับคู่นวัตกรรมในครั้งนี้เกิดเป็น “บริษัทนวตพาณิชย์ จำกัด” เพื่อเป็นตัวแทนการนำนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์และผลของการทำงานนี้ยัง เอื้อต่อการทำงานของหน่วยงานต่างๆ เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคอีกทั้งยังทำให้เกิด แผนกลยุทธ์การพัฒนานวัตกรรม เพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ออกมาถึง 4 อุตสาหกรรมเกษตรหลักของประเทศ อันได้แก่ กลุ่มปาล์มน้ำมัน ยาง , กลุ่มมะม่วง , กลุ่มอาหารทะลอย่าง กุ้ง รวมทั้งกลุ่มผักและผลไม้ ผอ. iTAP กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดงานครั้งล่าสุดนี้ยังได้นำเสนอผลงานดังกล่าวให้กับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องโดยคาดหวังว่าจะมีการนำระบบดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผลักดันด้านโครงสร้างการทำงานและเชิงนโยบาย เพื่อสร้างระบบนวัตกรรมในระดับภูมิภาคให้เกิดขึ้น ปลดล็อกอาจารย์จากมหาวิทยาลัยให้เอื้อต่อการทำงานนวัตกรรมที่เกิดจากความต้องการจริงและศักยภาพของแต่ละอุตสาหกรรมในพื้นที่ นอกจากนี้ iTAP ยังมองถึงการทำงานดังกล่าวว่าจะเป็นตัวเสริมแนวทางการทำงานของเครือข่าย iTAP ในภูมิภาคต่างๆและคาดหวังอีกว่าจะขยายทีมการทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานในพื้นที่อื่นให้มีการนำนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้าน Mr. David Oberhuber Country Director, GTZ ,Thailand กล่าวถึงมุมมองในการทำงานร่วมกับ iTAP ว่า สำหรับ iTAP นั้นมีความพร้อมและเข้มแข็งอยู่แล้ว เพียงแต่กระบวนการทำงานแยกเป็นแต่ละโครงการไป ซึ่งการทำงานในครั้งนี้สิ่งที่จะได้ คือ การทำงานโดยรวมทั้งระบบอย่างที่เกิดขึ้นแล้วใน 4 ทีมเช่น ทีมทำงานของมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งขยายผลการทำงานไปใช้จริงในจังหวัดนครปฐม สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ยังได้เชิญภาคีความร่วมมือต่างๆเข้ามารับฟัง และคาดหวังว่าจะมีการนำระบบดังกล่าวไปใช้ในทางปฎิบัติและขยายผลต่อเนื่อง โดย GTZ ยังคาดหวังให้ภาครัฐของไทยสนับสนุนการทำงานของระบบนวัตกรรมเฉพาะพื้นที่ และขยายผลไปสู่ทุกภูมิภาค เพื่อให้ระบบนวัตกรรมเฉพาะพื้นที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลโดยรวมต่อภาคอุตสาหกรรมเกษตรไทยในที่สุด นางสาวปภาวี สุธาวิวัฒน์ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐมและกรรมการผู้จัดการ บริษัท สวิฟท์ จำกัด หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นโครงการที่ดีและต้องการเห็นการนำไปใช้จริง เพราะเป็นโครงการที่เน้นแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ ตอบโจทย์พื้นที่ได้จริง เนื่องจากแต่ละพื้นที่จะมีปัญหาที่ไม่เหมือนกัน เช่น ในพื้นที่ของจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรทั้งผักและผลไม้ส่งออกหลักของประเทศ อาทิ หน่อไม้ฝรั่ง ต้นหอม ผักชี ใบกระเพราะ โหระพา ฯลฯ อีกทั้งยังมีกลุ่มผู้ประกอบการส่งออกทั้งรายใหญ่และรายย่อยอีกจำนวนมาก ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการรวมกลุ่มในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ กลุ่มเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะการนำผู้ส่งออกรายใหญ่ และรายย่อยมาร่วมกลุ่มกันได้ ดังนั้น หากรูปแบบ “Model” นี้ทำได้สำเร็จ จะถือเป็นนวัตกรรมในพื้นที่ระดับภูมิภาคที่ไม่เคยมีมาก่อน และเชื่อว่าหากมีการนำไปใช้จะเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และยังสามารถนำระบบดังกล่าวไปขยายต่อยังส่วนอื่นๆ ของจังหวัดได้อีก “ ปัญหาหลักของพื้นที่นครปฐม คือ การเพาะปลูกที่ยังไม่ปลอดภัย มีการใช้สารเคมีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่มีปริมาณการสั่งซื้อน้อย จึงไม่สามารถควบคุมการผลิตของเกษตรกรได้ ส่งผลกระทบต่อผักและผลไม้ส่งออกทั้งในรูปของผักและผลไม้สด แช่แข็ง หรือ ผลิตภัณฑ์แปรรูปทุกชนิด ตลอดจนน้ำผลไม้ส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มตลาดยุโรปทำให้มีการออกมาตรการคุมเข้มสินค้านำเข้าจากไทย เพราะที่ผ่านมามักตรวจพบว่ามีสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ที่นำเข้าจากไทยเกินมาตรฐานกำหนดในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ทำให้ปัจจุบันมีสินค้าทางการเกษตรหลายอย่างของไทยที่ไม่สามารถส่งออกไปยังตลาดยุโรปได้ ดังนั้น หากมีการนำระบบนวัตกรรมเฉพาะพื้นที่ นี้มาใช้จริง จะทำให้มีผู้ดูแลควบคุมบริหารจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้าง และการควบคุมการเพาะปลูกตั้งแต่สายพันธุ์ไปจนถึงระบบขนส่งที่ได้มาตรฐาน โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ และสถาบันการศึกษาให้การรับรองผลการตรวจสอบความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างในผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการและเพิ่มโอกาสให้กับสินค้าเกษตรของไทยเข้าสู่ตลาดยุโรปได้มากขึ้น ”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ