แพทย์แนะคาถาสร้างสุขก่อนถึงวัยเกษียณ หลีกเลี่ยงความรุนแรงการเกิดโรคซึมเศร้าในผู้สูงวัย

ข่าวทั่วไป Thursday March 15, 2007 12:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--กู๊ด เน็ตเวิร์ค
แพทย์แนะหนทางสู้ความเสื่อมของวัย สร้างสุขก่อนถึงวัยเกษียณ พร้อมรับรู้เข้าใจถึงปัญหา หลีกเลี่ยงผลกระทบเกิดขึ้นทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย กันเกิดโรคในวัยเกษียณ ถ้ารุนแรงอาจถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า
นายแพทย์ เทอดศักดิ์ เดชคง นายแพทย์ 8 กลุ่มที่ปรึกษา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวแนะนำในโอกาสได้รับเกียรติกล่าวเสวนาเรื่อง “การสร้างสุข...ในวัยเกษียณ” จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม 2550 เวลา 13.00-16.30 น. ณ. ห้องรัชดาบอลรูม ชั้น 6 โรงแรม เอส ซี ปาร์ค ถนนประดิษฐ์- มนูธรรม (เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา) สนับสนุนการจัดงานโดย บริษัท สมาพันธ์อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด ว่า ต้องรู้ตัวว่า เราอยู่ในช่วงไหนของวัยเกษียณ ถ้าเป็นช่วงก่อนวัยเกษียณ อายุ 50-60 ปี ถือว่าเป็นเพียงแค่เริ่มต้น มักจะยังไม่พบปัญหาการเสื่อมของวัยนัก จึงเป็นเรื่องของการเตรียมตัวและการปรับตัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อเตรียมเข้าสู่วัยเกษียณจริง ซึ่งผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณจริงนี้จะต้องเผชิญกับปัญหาด้านจิตใจหลายอย่างตามมา และเมื่อเข้าถึงช่วงสุดท้ายของวัยเกษียณ สิ่งที่ต้องดูแลใสใจอย่างมาก คือ ปัญหาทางร่างกาย ทั้งหมดนี้จึงเป็นการกล่าวเตือนล่วงหน้าเพื่อให้ตัวเราได้อยู่ในแต่ละช่วงวัยของวัยเกษียณอย่างมีความสุข
การสร้างสุขในวัยเกษียณ สามารถทำได้ โดยให้เข้าใจถึงปัญหาที่มากระทบต่อจิตใจ ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นของบุคคลผู้สูงวัยเอง และจากสิ่งแวดล้อม เช่น คู่ชีวิต ครอบครัว บุตร หลาน เป็นต้น เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยทำเป็นปกติ แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว เรื่องราวที่เกิดขึ้นใหม่ในแต่ละวัน เล็กๆน้อยๆ จะสะสม เกิดกระทบกระทั่งกัน และย่อมมีมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่เข้าใจและขจัดซึ่งปัญหาแล้ว ก็จะส่งผลกระทบต่อจิตใจได้ ตั้งแต่น้อยไปถึงมาก บางคนรู้สึกเบื่อ เซ็ง และอาจถึงขั้นรุนแรงเป็นโรคซึมเศร้า ต้องมาให้แพทย์ช่วยดูแลและเข้ารับการรักษา
“บางคนต้องเผชิญกับปัญหาหนักๆ จนทำให้ขาดความสุขไปเลย บางคนตัดสินใจในการดำเนินชีวิตที่ผิดพลาด บางคนไปลงทุนในสิ่งที่ไม่ชำนาญ หาทางออกไม่ได้ มุ่งไปสู่ทางเสื่อม ไปหาบ้านเล็กบ้านน้อยก็มี เหล่านี้เป็นต้น ฉะนั้นทั้งบุคคลที่อยู่ในวัยเกษียณ และผู้ที่อยู่ใกล้ชิด จะต้องทำความเข้าใจและให้เวลาในการแก้ไขเพื่อก่อให้เกิดความสุขในการอยู่ร่วมกัน” น.พ. เทอดศักดิ์ กล่าวเสริม
น.พ. เทอดศักด์ กล่าวอีกว่า ผู้อยู่ในวัยเกษียณยังต้องเข้าใจถึงปัญหาทางด้านร่างกายที่จะตามมา ทั้งโรคประจำตัวที่เคยเป็นแต่เดิม และโรคที่เกิดเพิ่มขึ้นจากความเสื่อมของร่างกาย ที่พบมาก ได้แก่ โรคปวดเอว ปวดหลัง ปวดเข่า ข้อเข่าเสื่อม โรคเหล่านี้เมื่อมีผลต่อทางร่างกายมากขึ้นตามวัยที่เพิ่มขึ้น และก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้อยู่ในวัยดังกล่าวเพิ่มตามไปด้วย ดังนั้น การเตรียมพร้อมและทำอย่างไรที่ช่วยให้ร่างกายได้ชะลอความเสื่อมที่เกิดขึ้นจะเป็นผลดีต่อผู้อยู่ในวัยเกษียณได้ดีมากที่สุด
วิถีการดำเนินชีวิตก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาของผู้อยู่ในวันเกษียณที่มักพบเห็นได้เสมอ เพราะใช้ชีวิตอย่างไม่ถูกต้อง ปล่อยตัวเองให้ว่างเปล่า หันมามุ่งเน้นเรื่องพยายามเสพสุขที่ไม่สมควร ใช้จ่ายเงินสุรุยสุร่าย ดังนั้นผู้ที่จะเริ่มเข้าใกล้วัยเกษียณหรืออยู่ในวัยเกษียณแล้วก็ตาม ต้องรู้จักวิถีการใช้ชีวิตที่ถูกที่ควรและพอเพียงตามสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ เช่น มีกิจวัตรประจำวันที่เหมาะสมกับวัย ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองว่าง ต้องมีงานอดิเรกยามว่างทำ รู้จักใช้จ่ายเงินอย่างเหมาะสม มีที่พึ่งทางใจและสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเอง อย่างเช่น ทำงานการกุศลต่างๆ
การแก้ไขปัญหาให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขยืนยาวต่อไปได้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือช่วยกันของทั้ง ผู้ใกล้วัยเกษียณ ผู้สูงอายุเอง และผู้ใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นคู่ชีวิต ลูกหลาน และญาติพี่น้องด้วยกันเอง เริ่มต้นจากผู้สูงอายุเองจะต้องเตรียมตัว เตรียมกาย เตรียมใจ ให้พร้อม
ส่วนทางด้านผู้ใกล้ชิดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยงการสื่อสารกับผู้สูงวัย หมอขอแนะนำให้ใช้คาถาการอยู่ร่วมกับผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัยก็คือ “ครับ” หรือ “คะ” และหลีกเลี่ยงคำว่า “ไม่ได้หรอกครับ/คะ” และยังมีคาถาแก้คนขี้บ่น ด้วยว่า 1. ฟังอย่าหนีไปไหน และ 2. ให้เห็นด้วยกับท่านบ้าง เพื่อใช้รับมือกับผู้ใหญ่ในสถานการณ์ต่างๆ เท่านี้ ชีวิตในวัยเกษียณก็เป็นสุขได้แล้ว สุขทั้งกายและใจ
สำหรับงานเสวนา “การสร้างสุข...ในวัยเกษียณ” วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม 2550 จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมฟังเสวนาได้ฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ภายในงานยังเปิดให้บริการฟรีกับ ผู้ที่ต้องการตรวจเช็คความดันโลหิต ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด (ควรงดอาหารและน้ำก่อนตรวจ 6 ชั่วโมง) ร่วมสนุกทดลองขับรถเข็นอัลลอยด์ระบบไฟฟ้าคาร์ม่า พร้อมรับของที่ระลึกภายในงาน พิเศษเฉพาะลูกค้าผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ “ไมโครไลฟ์” สามารถนำเครื่องวัดความดันโลหิตของท่านมาเข้ารับบริการตรวจเช็กค่า ความแม่นยำของเครื่อง พร้อมให้คำปรึกษาโดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญฟรี สำรองที่นั่งได้ที่ Call Center โทร 0-2948-4888 (จันทร์-ศุกร์ 7.00-20.00 น. เสาร์-อาทิตย์ 7.00-17.00 น.)
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ในนาม บริษัท สมาพันธ์เทรดดิ้งอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณภาวินี ชนะพลชัย ประชาสัมพันธ์
บริษัท กู๊ด เน็ตเวิร์ค จำกัด ตัวแทนที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ โทร 0-2946-8470-2
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ