ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ครั้งที่ 13 (The 13th ASEAN+3 Finance Ministers’ Meeting: AFMM+3)

ข่าวทั่วไป Tuesday May 4, 2010 15:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ครั้งที่ 13 (The 13th ASEAN+3 Finance Ministers’ Meeting: AFMM+3) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2553 ณ กรุงทาชเคนท์ ประเทศอุซเบกิสถาน ซึ่งมี นาย Van Ninh Vu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สาธารณรัฐสังคมนิยม เวียดนาม และ นาย Xuren Xie สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานร่วมการประชุม โดยมีผลการประชุมสรุปได้ดังนี้ 1. ที่ประชุมรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาค และเศรษฐกิจรายประเทศ ตลอดจนความเสี่ยงและประเด็นท้าทายต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อภูมิภาค ที่นำเสนอโดยนาย Haruhiko Kuroda ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) โดย ADBรายงานต่อที่ประชุมว่าเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียน+3ได้ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างรวดเร็วในปี 2553 (better than “V-shape” recovery) โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการขยายตัวของการส่งออกของประเทศในกลุ่มอาเซียน+3 โดย ADB คาดการณ์ว่า ในปี 2553 เศรษฐกิจอาเซียน+3 จะขยายตัวร้อยละ 5 จากที่มีการขยายตัวเพียงร้อยละ 0.9 ในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังมีคงมีความท้าทายทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ เช่น การฟื้นตัวไม่เต็มที่ของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว การชะลอการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน และความผันผวนของการไหลเข้าของเงินทุนสู่ภูมิภาค โดย ADB เห็นว่าความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคในการสอดส่องและกำกับดูแลเศรษฐกิจและการเงินร่วมกันจะเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจของภูมิภาคและรายประเทศ โดยเห็นว่าประเทศสมาชิกควรมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการกำหนดนโยบายและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาค 2. สำหรับความคืบหน้าของมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเซีย (Asia Bond Markets Initiative: ABMI) ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบโดยเห็นชอบการจัดตั้งกลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Facility: CGIF) วงเงิน 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเงินทุนจะมาจากประเทศสมาชิกอาเซียน+3 และ ADB ซึ่งกลไก CGIF จะให้บริการโดยทำหน้าที่เป็นผู้ค้ำประกันพันธบัตรให้แก่ภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการเพิ่มอุปทานของพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาค นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้ง ASEAN+3 Bond Market Forum (ABMF) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติของการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนให้มีมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงให้ความเห็นชอบการจัดตั้ง Technical Working Group on Regional Settlement Intermediary (RSI) เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบการชำระราคาและการส่งมอบหลักทรัพย์ และศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง RSI 3. ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) และได้มีการประกาศความสำเร็จการจัดตั้ง CMIM โดยความตกลงได้มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2553 ทั้งนี้ CMIM จะเป็นกลไกสำคัญของภูมิภาคในการรองรับความผันผวนทางการเงินของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ในกรณีที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินหรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้น นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบในประเด็นหลักของการจัดตั้งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 หรือ AMRO (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office) ซึ่งจะทำหน้าที่วิเคราะห์และตรวจสอบสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 และสนับสนุนกลไกของ CMIM โดยหน่วยงานนี้จะจัดตั้งที่ประเทศสิงคโปร์ และคาดว่าจะเริ่มการดำเนินงานได้ภายในต้นปี 2554 4. ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันในการขยายขอบข่ายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาค โดยเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมกันกำหนดประเด็นความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ในอนาคต พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญของประเด็นต่างๆ เนื่องจากในปัจจุบันความร่วมมือภายใต้มาตรการริเริ่มต่างๆ มีความคืบหน้าและมีผลสำเร็จลุล่วงในหลายมาตรการ ทั้งนี้ การประชุม AFMM+3 ครั้งต่อไปมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2554 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีอินโดนีเซียและญี่ปุ่นเป็นประธานร่วม อนึ่ง ในช่วงเย็นของวันที่ 2 พฤษภาคม 2553 ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเชียตะวันออก อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังครั้งแรกภายใต้กรอบ East Asia Summit (EAS) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน+6 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) โดยที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือภายใต้กรอบ G20 ความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ และความร่วมมือทางการเงินของ EAS สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร 02-2739020 ต่อ 3314

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ