ฟิทช์ประเทศไทยจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) ที่ ‘A-(tha)’

ข่าวทั่วไป Thursday July 26, 2007 15:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวและระยะสั้นของบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) (ASP) ที่ระดับ ‘A-(tha)’ และ ‘F2(tha)’ ตามลำดับ โดยแนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของ ASP ต่อนักลงทุนรายย่อยที่กว้างขวาง ความแข็งแกร่งของธุรกิจวาณิชธนกิจ และความแข็งแกร่งของเงินกองทุนและสภาพคล่อง อันดับเครดิตของ ASP ยังได้พิจารณารวมถึงผลประกอบการที่อ่อนแอลงในช่วงที่ผ่านมาจากภาวะของตลาดที่ซบเซาลง แม้ว่า ASP ได้รับประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรกับเอบีเอ็น แอมโร (ABN AMRO) แต่บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นของต่างชาติโดยตรงกลับสามารถดึงการลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างประเทศไปได้มากกว่าในช่วงที่ผ่านมา ฟิทช์เห็นว่ารายได้ของ ASP ส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจ ซึ่งมีความผันผวนสูงจากภาวะตลาด อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความเสี่ยงทางด้านเครดิต ด้านการตลาด และด้านการปฏิบัติการของธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ธุรกิจบริการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ธุรกิจการลงทุนและการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบริษัทเอง (proprietary trading) ถึงแม้ว่าความเสี่ยงดังกล่าวยังคงมีระดับที่ค่อนข้างต่ำอยู่
แนวโน้มของอันดับเครดิตมีเสถียรภาพเนื่องจากความแข็งแกร่งของเงินกองทุนและสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม ASP ยังคงเผชิญความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ขยายตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตลาดทุนไทย นอกจากนี้การขยายการลงทุนของบริษัทไปยังธุรกิจที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจซื้อขายตราสารอนุพันธ์และการลงทุนและการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบริษัทเองอาจเพิ่มความเสี่ยงให้แก่บริษัทได้ในระยะยาว
ในปี 2549 รายได้จากการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อยู่ที่ระดับ 78% ของรายได้ทั้งหมดและ 53% ของกำไรจากการดำเนินงาน ขณะที่รายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจอยู่ที่ระดับ 7% ของรายได้ทั้งหมดและ 13% ของกำไรจากการดำเนินงาน รายได้จากการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลดลงจากปีก่อน 17% มาอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาทในปี 2549 เนื่องจากการลดลงของยอดการซื้อขายหลักทรัพย์และส่วนแบ่งการตลาดของ ASP รายได้จากส่วนของธุรกิจวาณิชธนกิจลดลง 21.2% มาอยู่ที่ 108 ล้านบาทในปี 2549 เนื่องจากความตกต่ำของตลาดทุนจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง ผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 คาดว่าจะลดลงต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 อันเป็นผลจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น
การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์มีผลกระทบต่อรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การเปลี่ยนงานของจำนวนพนักงาน และส่วนแบ่งการตลาด ซึ่งลดลงจาก 8.1% ในปี 2547 มาอยู่ที่ 5.7% ในช่วงครึ่งแรกปี 2550 การเปิดเสรีค่านายหน้าธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในปี 2553 มีความเป็นไปได้ที่ส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ในส่วนนี้ ASP มีแผนจะขยายแหล่งของรายได้ออกไปในส่วนของธุรกิจการบริหารกองทุน และธุรกิจบริหารเงินส่วนบุคคลให้มากขึ้นในระยะปานกลาง
สินทรัพย์ส่วนใหญ่ของ ASP ประกอบด้วยลูกหนี้จากธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ เงินลงทุนในหลักทรัพย์ และเงินสด ลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทลดลงเหลือ 84 ล้านบาท (4.8% ของลูกหนี้รวม) ณ สิ้นปี 2549 ซึ่งถือว่าต่ำและได้ทำการกันสำรองหนี้สูญเต็มจำนวนแล้ว ฐานของเงินทุนส่วนใหญ่ของ ASP มาจากส่วนของผู้ถือหุ้น ขณะที่หนี้สินส่วนใหญ่คิดเป็น 22.5% ของฐานเงินทุนทั้งหมด มาจากเจ้าหนี้ธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งปรับขึ้นลงตามมูลค่าการซื้อขาย ณ สิ้นปี 2550 สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทอยู่ที่ 29.0% และถ้าไม่รวมเจ้าหนี้จากธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ ระดับ D/E จะลดลงมาที่ 9.5%
อัตราส่วนสภาพคล่องสุทธิและอัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ของ ASP อยู่ที่ 282% และ 77.5% ณ สิ้นปี 2549 ซึ่งจัดว่าแข็งแกร่งในการที่จะสามารถรองรับต่อการจัดสรรเงินกองทุนในการเริ่มดำเนินธุรกิจสินค้าอนุพันธ์และโอกาสในธุรกิจใหม่ในอนาคต
ASP จัดตั้งขึ้นในปี 2517 โดยตระกูลโสภณพนิช ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นในสัดส่วน 15% ในขณะที่ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ถือหุ้นอีกในสัดส่วน 8.8% และในส่วนของผู้บริหารของบริษัทถือหุ้นอีก 4% บริษัทมีสำนักงานใหญ่ และ 12 สาขาในกรุงเทพฯ และ 13 สาขาในต่างจังหวัด
ติดต่อ
Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ