ไคโรเมดชูแผนกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง มุ่งสร้างความเข้าใจศาสตร์ไคโรแพรคติกมากขึ้น

ข่าวทั่วไป Friday May 7, 2010 17:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--พีอาร์ เน็ทเวิร์ค ดร. มนต์ทณัฐ (รุจน์) โรจนาศรีรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไคโรฟิต แบงคอค จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมของธุรกิจไคโรแพรคติก ว่า ปัจจุบันธุรกิจไคโรแพรกติกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันมีคลีนิกที่เปิดให้บริการทางด้านไคโรแพรกติกประมาณ 15 — 20 แห่ง มีมูลค่าธุรกิจโดยรวมประมาณ 300 — 400 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ศาสตร์ทางด้านไคโรแพรคติกยังถือว่าเป็นศาสตร์ใหม่สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยนั้น ยังไม่มีการเปิดการเรียนการสอนแพทย์ในสาขาไคโรแพรคติกมาก่อน จึงทำให้ประชาชนทั่วไปยังไม่เข้าใจภาพที่ชัดเจนของไคโรแพรคติก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ได้มีการจัดตั้งแพทย์สภาทางด้านไคโรแพรคติกโดยเฉพาะ ซึ่งเทียบเท่ากับแพทย์สภาในสาขาอื่น ๆ เลยทีเดียว “ในขณะที่ประเทศไทย ได้มีการรวมตัวกันและจัดตั้งเป็นสมาคมการแพทย์ไคโรแพรคติกแห่งประเทศไทย (Thailand Chiropractic Association : TCA) เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากบุคลากรที่มีจำนวนค่อนข้างน้อย คือ ประมาณ 15 — 20 คน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทางสมาคมฯ ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงได้วางแนวทางในการก่อตั้งโรงเรียนการแพทย์ไคโรแพรคติกขึ้น โดยขณะนี้ได้เจรจากับโรงเรียนแพทย์ 2 — 3 แห่ง เพื่อเปิดหลักสูตรอย่างเป็นทางการ โดยวางกรอบโดยคร่าวว่าหลักสูตรการเรียนการสอนว่า หากนักเรียนจบการศึกษาระดับมัธยมการศึกษาปีที่ 6 จะต้องเรียนหลักสูตรนี้ 6 ปี แต่หากจบปริญญาตรีแล้ว สามารถเรียนหลักสูตรนี้ต่อเนื่องอีก 4 ปี คือ 4 + 4 ปี ซึ่งมาตรฐานของหลักสูตรดังกล่าว ได้รับการยอมรับจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไคโรแพรคติกจากทั่วโลก ซึ่งภายหลังจากที่มีการเปิดสอนอย่างเป็นทางการแล้ว สมาคมฯ คาดว่าศาสตร์ไคโรแพรคติกจะได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น และสร้างความเข้าใจให้แก่สังคมมากขึ้นด้วย” ดร.มนต์ทณัฐกล่าว ดร.มนต์ทณัฐ กล่าวต่อว่า สำหรับปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญด้านไคโรแพรคติกในประเทศไทยนั้น ได้มีการสอบและขอใบประกอบโรคศิลปะชั่วคราว เนื่องจากศาสตร์นี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับสังคมไทย โดยเปิดให้มีการต่ออายุทุก 2 ปี ประเด็นดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างกังวลเช่นเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ที่เปิดคลีนิกไคโรแพรคติกโดยที่ไม่ได้รับใบประกอบโรคศิลปะ ที่สำคัญคือมีคลีนิกจำนวนมากที่รับรักษาในเรื่องของการจัดกระดูก แต่ไม่ใช่ศาสตร์ไคโรแพรคติก บางคนอาจจะจบมาทางด้านของกายภาพบำบัด ซึ่งนักกายภาพบำบัดที่ศึกษาจบปริญญาโทจะสามารถจัดกระดูกได้ แต่ไม่ใช่ศาสตร์ไคโรแพรคติก สิ่งที่สำคัญคือ ต้องสร้างความเข้าใจทางด้านนี้ให้แก่สังคมมากขึ้น เพราะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์โดยรวมของธุรกิจด้วย สำหรับประเด็นทางด้านการตลาดของไคโรเมดนั้น ดร.มนต์ทณัฐ เปิดเผยว่า ในปีนี้ธุรกิจคาดว่าจะเติบโตน้อยลงคือ ร้อยละ 5 — 10 จากเดิมที่ตั้งเป้าการเติบโตปีละร้อยละ 15 — 20 เนื่องเพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน โดยในปีนี้โดยเฉลี่ยมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 80 — 100 รายต่อเดือน จุดแข็งของธุรกิจไคโรแพรคติก คือ การรักษาโรคปวดคอ ปวดหลังโดยไม่ต้องผ่าตัด แต่ในปัจจุบันกระแสการแข่งขันทางการแพทย์มีความรุนแรงมากขึ้น จะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลต่าง ๆ ทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในเรื่องของการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดเช่นเดียวกัน แต่วิธีการรักษาแตกต่างกัน โดยการรักษาในโรงพยาบาลต่าง ๆ คือ การฉีดสเตียรอยด์ การใช้นักกายภาพบำบัด การผ่าตัดส่องกล้องเล็ก ในขณะที่การรักษาตามศาสตร์ไคโรแพรคติกนั้น เป็นการรักษาที่ต้นเหตุของโรค หรือตามสภาวะความเป็นโรคที่เกิดขึ้นของคนไข้ หากเปรียบเทียบทางด้านการรักษาของศาสตร์ไคโรแพรคติก กับโรงพยาบาลต่าง ๆ นั้น ค่าใช้จ่ายค่อนข้างแตกต่างพอสมควร อาทิ หากรักษาด้วยการผ่าตัดของโรงพยาบาลรัฐ จะอยู่ที่ประมาณ 60,000 — 100,000 บาท แต่หากเป็นโรงพยาบาลเอกชนค่ารักษาจะอยู่ที่ 250,000 — 800,000 บาท แต่สำหรับการฉีดสเตียรอยด์นั้น โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง คิดอยู่ที่ 120,000 บาท ในขณะที่การรักษาโดยศาสตร์ไคโรแพรคติกราคาอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท มีระยะเวลาในการรักษา 4 — 8 สัปดาห์ เพื่อเป็นการฟื้นฟูโครงสร้างของร่างกาย จุดแข็งของ ไคโรเมด คือ การผสมผสานรูปแบบการรักษาในหลายรูปแบบ (Co-Treatment) เพื่อเป็นการรักษาให้ผู้ป่วยกลับสู่สภาวะสมดุลทางร่างกายมากที่สุด โดยใน ไคโรเมด สหคลีนิก นั้น มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์ต่าง ๆ หลายสาขาที่ให้คำแนะนำทางด้านการรักษาของผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดจากการรักษา กลยุทธ์การตลาดในอนาคต จะมีการขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดกลุ่มใหม่มากขึ้น อาทิ กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ กลุ่มเฉพาะ อาทิ นักกีฬา คือการรักษาอาหารบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา (Sport Injury) การเพิ่มสมรรถนะของร่างกาย ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยเป็นการรักษาแบบ Co-Treatment ผสมผสานกับการออกกำลังกาย ซึ่งปัจจุบันมีผลการวิจัยแล้วว่า การออกกำลังกายสามารถช่วยให้สภาวะความเป็นโรคของผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวดีขึ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 02 682 9880

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ