“Prince of Persia: The Sands of Time” 27 พฤษภาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์

ข่าวบันเทิง Monday May 10, 2010 16:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--วอลท์ ดิสนีย์ พิคเจอร์ส วอลท์ ดิสนีย์ พิคเจอร์ส และเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ ฟิล์มส์ ภูมิใจเสนอ “Prince of Persia: The Sands of Time” อีพิคแอ็กชันผจญภัยที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นในดินแดนเปอร์เซียอันลี้ลับ เจ้าชายหนุ่มนามแดสตัน (เจค จิลเลนฮาล) จำใจต้องร่วมมือกับเจ้าหญิงลึกลับ ทามินา (เจ็มมา อาร์เทอร์ทัน) ในการต่อกรกับเหล่าร้ายเพื่อปกปักษ์รักษากริชโบราณที่สามารถปลดปล่อยทรายแห่งเวลา ของขวัญจากปวงเทพที่สามารถย้อนเวลาและทำให้ผู้ครอบครองกลายเป็นผู้ปกครองโลก ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดยไมค์ นีเวลล์ล์ (“Harry Potter and the Goblet of Fire”) ร่วมแสดงโดยเซอร์ เบน คิงส์ลีย์และอัลเฟร็ด โมลินา และบทภาพยนตร์โดยโบแอซ ยากินและดั๊ก มิโรและคาร์โล เบอร์นาร์ด จากเรื่องราวภาพยนตร์โดยจอร์แดน เมชเนอร์ “Prince of Persia: The Sands of Time” จะลงโรงในวันเมโมเรียล ปี 2010 ผู้ทำหน้าที่ควบคุมงานสร้างได้แก่ไมค์ สเตนสัน, แชด โอมาน, จอห์น ออกัสต์, จอร์แดน เมชเนอร์, แพทริค แม็คคอร์มิคและอีริค แม็คลีออด ผู้ช่วยอำนวยการสร้างคือแพท แซนด์สตัน ทีมงานฝีมือเยี่ยมเบื้องหลังกล้องได้แก่ผู้กำกับภาพเจ้าของรางวัลอคาเดมี อวอร์ด (และได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสี่ครั้ง) จอห์น ซีล (“The English Patient,” “Harry Potter and the Sorcerer’s Stone,” “The Perfect Storm”), ผู้ออกแบบงานสร้างวูล์ฟ โครเกอร์ (“The Last of the Mohicans,” “Enemy at the Gates”), ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย เพ็นนี โรส (ไตรภาค “Pirates of the Caribbean”) และมือลำดับภาพ ไมเคิล คาห์น (เจ้าของสามรางวัลออสการ์จาก “Raiders of the Lost Ark,” “Schindler’s List” และ “Saving Private Ryan”), มาร์ติน วอลช์ (เจ้าของรางวัลอคาเดมี อวอร์ดจาก “Chicago”) และมิค ออดส์ลีย์ (ภาพยนตร์โดยนีเวลล์เรื่อง “Mona Lisa Smile” และ “Harry Potter and the Goblet of Fire”) ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์คือทอม วู้ด(“Sunshine”) ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายสเปเชียล เอฟเฟ็กต์คือเทรเวอร์ วู้ด (เจ้าของรางวัลออสการ์จาก “The Golden Compass”) และผู้ประสานงานคิวบู๊คือจอร์จ อากีลาร์ (“American Gangster,” “Die Another Day,” ผลงานของนีเวลล์เรื่อง “Donnie Brasco”) ผู้กำกับภาพและผู้กำกับยูนิทที่สองคืออเล็กซานเดอร์ วิทท์ (“Robin Hood,” “The Taking of Pelham 1 2 3”) และคอมโพสเซอร์ของเรื่องคือแฮร์รี่ เกร็กสัน-วิลเลียมส์ (ไตรภาค “The Chronicles of Narnia,” “Kingdom of Heaven”) เรื่องราว ทีมผู้สร้างยกระดับให้กับโลกมหัศจรรย์ของจอร์แดน เมชเนอร์ “เราชื่นชอบการนำพาผู้ชมสู่โลกใหม่ที่พวกเขาไม่เคยสำรวจมาก่อนครับ” ผู้อำนวยการสร้างเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์กล่าว “และดินแดนเปอร์เซียโบราณก็เป็นหนึ่งในดินแดนที่มหัศจรรย์ที่สุด มันอุดมไปด้วยจินตนาการและเรื่องราวน่าอัศจรรย์ และเราก็พยายามจะใส่เรื่องพวกนั้นลงไปใน ‘Prince of Persia: The Sands of Time’ เราเคยสร้างอีพิคมาแล้วหลายเรื่อง ทั้ง ‘Armageddon’ และ ‘Pirates of the Caribbean’ และ ‘Prince of Persia: The Sands of Time’ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับหนังพวกนั้น มันเต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ มีสโคปใหญ่ยักษ์และมีแอ็กชันที่น่าตื่นตะลึงครับ” จอร์แดน เมชเนอร์ได้สร้างวิดีโอเกม “Prince of Persia” ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงของเขาขึ้นเมื่อปี 1989 “ผมมองหาโลกที่ยังไม่เคยถูกสร้างขึ้นในวิดีโอเกมมาก่อน” เมชเนอร์กล่าว “ยุคเริ่มแรกของวิดีโอเกมก็เหมือนกับยุคเริ่มแรกของวงการหนังนั่นแหละครับ เรามองไปที่แนวที่เคยมีการทำมาก่อนแล้ว เช่นดาบกับเวทมนตร์และไซไฟ เพื่อมองหาสิ่งที่จะเวิร์คในสื่อชนิดใหม่นี้” ผู้กำกับไมค์ นีเวลล์กล่าวเสริมว่า “ผมชอบไอเดียของการที่มันเป็นตำนานมีชีวิตที่คุณดูได้ นี่เป็นเรื่องราวที่สมจริงและพิเศษสุด มันเป็นโลกที่ไม่ยึดติดกับหลักเหตุผลและหลักฟิสิกส์อย่างที่เราในตอนนี้เข้าใจ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ครับ” การเป็นเจ้าชายไม่ใช่ชาติกำเนิดของแดสตัน หากแต่เป็นชะตากรรมของเขา ในตอนที่เขาเป็นเด็กชายตัวเล็กๆ ในเปอร์เซีย ศตวรรษที่ 6 ซึ่งเป็นหนึ่งในอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จัก หนูน้อยแดสตันเป็นเด็กข้างถนน ที่ไม่มีทั้งพ่อแม่และเงินติดกระเป๋า หลังจากถูกขู่ว่าจะโดนทำโทษอย่างหนักจากหัวหน้าหน่วยทหารเปอร์เซียเนื่องจากการที่เขาไปปกป้องเด็กคนหนึ่งที่ถูกจับเพราะขโมยแอปเปิ้ล แดสตันก็ได้รับการละเว้นโทษก่อนที่เขาจะได้รับการอุปการะจากกษัตริย์ชาราแมน ผู้สูงศักดิ์ ผู้สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ในตัวแดสตัน แม้ว่าแดสตันจะเติบโตขึ้นมาด้วยกันกับทุส (ริชาร์ด คอยล์) และการ์ซีฟ (โทบี้ เค็บเบลล์) โอรสของชาราแมน และได้รับการสั่งสอนในเรื่องสรรพวิทยาและการวางตัวจากบิดาบุญธรรมและลุงอันเป็นที่รัก นีแซม (คิงส์ลีย์) แดสตันก็ยังคงความดิบเถื่อนของตัวเองเอาไว้ในระหว่างที่เขาเติบโตขึ้นเป็นนักรบหนุ่มผู้แข็งแกร่ง “สิ่งที่ทำให้ผมสนใจในเรื่องราวนี้คือความคิดที่ว่าทุกคนล้วนแล้วแต่มีศักยภาพครับ” คิงส์ลีย์บอก “และนี่คือสิ่งที่ทำให้ผมคิดว่าทำให้มันเป็นหนังที่สร้างความเชื่อมั่นได้มากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนหนุ่มสาว เมื่อพวกเขาได้ตระหนักได้ว่า แม้ว่าคุณจะเป็นเด็กข้างถนน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีศักยภาพน้อยกว่าเด็กที่อยู่ในปราสาท หนังของเราเป็นการสำรวจถึงศักยภาพของเด็กคนหนึ่งที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่และทางเลือกที่เขาได้รับครับ” แดสตัน ที่ต้องการจะพิสูจน์คุณค่าของตัวเอง ได้เป็นผู้นำในการโจมตี อลามุท นครศักดิ์สิทธิ์อันเงียบสงบ ซึ่งมีสายลับรายงานว่าเป็นที่เก็บซ่อนอาวุธที่ถูกส่งไปให้กับศัตรูของเปอร์เซีย แต่จริงๆ แล้ว อลามุทมีทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่ายิ่งกว่านั้น มันคือทรายแห่งกาลเวลา ซึ่งจะทำให้มนุษย์สามารถย้อนเวลาได้ แดสตันได้ครอบครองกริชด้ามแก้วโบราณ ซึ่งเป็นกุญแจที่นำไปสู่ทรายแห่งกาลเวลา แต่แล้วกษัตริย์ชาราแมนก็ถูกลอบสังหาร และแดสตันก็ถูกใส่ร้ายว่าเป็นผู้กระทำการร้ายนี้ บัดนี้ เมื่อเขาต้องหนีเอาชีวิตรอดและหาทางลบล้างมลทินให้กับตัวเอง แดสตันก็พบว่าตัวเองจำต้องร่วมมือกับทามินา เจ้าหญิงแห่งอลามุท ผู้ซึ่งตระกูลของเธอเป็นผู้ปกปักษ์รักษาทรายแห่งกาลเวลามานานหลายศตวรรษ และยินยอมที่จะทำทุกอย่างเพื่อรักษามันไว้ แดสตัน และทามินา ผู้มีความสัมพันธ์แบบขมิ้นกับปูนมาตั้งแต่ต้น ต้องเผชิญกับความท้าทายที่จะเอาชีวิตให้รอดจากทะเลทรายที่โหดร้ายและศัตรูที่โหดร้ายยิ่งกว่ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นชีคอามาร์ (โมลินา) จอมเจ้าเล่ห์และนักขว้างมีดมือฉมังชาวแอฟริกัน เซโซ (สตีฟ ทูซอน) ไปจนถึงพวกแฮสซานซินที่ร้ายกาจ ที่แต่ละคนถูกฝึกฝนศาสตร์แห่งการสังหารด้วยวิธีการแตกต่างกันไป แดสตันต้องใช้ความกล้าหาญและทักษะการต่อสู้ทั้งหมดเท่าที่มี รวมถึงความเฉลียวฉลาดของทามินา เพื่อเปิดโปงผู้ร้ายที่แท้จริงที่อยู่เบื้องหลังการสิ้นพระชนม์ขององค์กษัตริย์ และเพื่อให้เขาได้ค้นพบถึงความดีงามที่ซ่อนอยู่ในใจของเขา จิลเลนฮาลเล่าว่า ทีมผู้สร้างมีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับฉากหลังที่มหัศจรรย์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ “มันเป็นไอเดียเริ่มแรกที่วิเศษสุดของไมค์ นีเวลล์และเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ที่ว่าหนังเรื่องนี้ควรจะอ้างอิงจากความเป็นจริงครับ ไมค์บอกว่า ‘ผมอยากให้หนังเรื่องนี้อ้างอิงกับเปอร์เซียสมัยศตวรรษที่หก ที่พวกเขาเชื่อว่าเรื่องมหัศจรรย์สามารถกลายเป็นจริงได้ ที่ว่าคุณจะสามารถพบกริชที่สามารถย้อนเวลา และไม่สงสัยในความเป็นไปได้ของเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพราะนั่นคือสิ่งที่พวกเขาจะเชื่อในสมัยนั้น’ น่ะครับ” ในช่วงเวลาที่อารยธรรมยุโรปยังเป็นเพียงแค่แสงสลัวในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ อาณาจักรเปอร์เซียที่ยิ่งยงกำลังสร้างเมืองและอาคารที่ยิ่งใหญ่ไปทั่วทั้งอาณาจักรที่กว้างใหญ่ไพศาลของมัน ซึ่งรวมถึงเมืองเพอร์โพลิส, แบกแดด, ซูซา, พาซาร์กาเด, อาร์เอแบมและอิสฟาฮาน ในช่วงที่รุ่งโรจน์ที่สุด อาณาจักรเปอร์เซียมีอาณาเขตกว้างไกลตั้งแต่แม่น้ำยูเฟรติสทางตะวันตกไปจนถึงแม่น้ำอินดัสทางตะวันออก จากเทือกเขาคอเคซัส ทะเลแคสเปียนและเอรัลทางตอนเหนือไปจนถึงอ่าวเปอร์เซียและอ่าวโอมานในทางใต้ นอกเหนือจากอิหร่านแล้ว อาณาจักรแห่งนี้ยังครอบคลุมไปถึงพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นประเทศอาเซอร์ไบจัน, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, เติร์กเมนิสถาน, ทาจิกิสถาน, อุซเบกิสถานและพื้นที่ทางตะวันออกของตุรกีและอิรัก รวมถึงดินแดนรอบด้านด้วย วรรณกรรมเปอร์เซียสองเรื่องเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อเมชเนอร์ นั่นคือ Shahnameh วรรณกรรมเรื่องยาวที่แต่งโดยกวีผู้ยิ่งใหญ่ เฟอร์โดว์ซี ในช่วงประมาณค.ศ. 1000 ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมแห่งชาติอิหร่านและ One Thousand and One Nights (พันหนึ่งทิวา) รวมนิทานที่เก่าแก่สมัยศตวรรษที่เก้าที่รวบรวมนิทานพื้นบ้านและตำนานของเปอร์เซียโบราณ ตะวันออกกลางและอินเดียเข้าไว้ด้วยกัน เมชเนอร์ตระหนักว่าเขาสามารถสร้างโลกทั้งใบขึ้นมาจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของเปอร์เซียโบราณ และสร้างตำนานใหม่ขึ้นมาเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดเรื่องราวมหัศจรรย์ของตัวเองมาแล้วนับพันๆ ปีได้ เมชเนอร์ได้สร้างตัวเอกที่ท้าทายแรงโน้มถ่วงของโลกด้วยฝีมือในการเคลื่อนไหวอย่างพลิ้วไหวของเขา แต่ก็ยังคงอยู่ภายใต้กฎฟิสิกส์และความสามารถของมนุษย์ “สำหรับ ‘Prince of Persia’ ผมต้องการจะสร้างตัวละครที่เหมือนมีเลือดเนื้อจริงๆ ขึ้นมา เช่นถ้าเขากระโดดพลาด มันก็จะเจ็บสุดๆ น่ะครับ” เขาบอก เมชเนอร์ไม่เพียงแต่สร้างตัวละครใหม่ที่สามารถกระโดดจากตำแหน่งหนึ่งไปสู่อีกตำแหน่งหนึ่งเท่านั้น แต่อัจฉริยะแห่งวงการวิดีโอเกมผู้นี้ยังได้กระโดดก้าวใหญ่ด้วยการหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำมาทำให้ “Prince of Persia” ได้โลดแล่นมีชีวิตอย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ “โลกของเกม ‘Prince of Persia’ น่าทึ่งมากครับ” ผู้ควบคุมงานสร้างไมค์ สเตนสันกล่าว “มันมีแง่มุมที่มหัศจรรย์ และองค์ประกอบเกี่ยวกับทรายแห่งกาลเวลาที่อยู่ในเกมปี 2003 ก็เหมาะสมกับจอเงินอย่างยิ่ง เรารู้สึกว่าเราควรจะมีองค์ประกอบจากเกมก็จริง แต่เราก็จะพัฒนาเรื่องราวของเราเอง และต่อยอดจากสิ่งที่พวกเราได้รับมา เหมือนกับที่เราทำกับ ‘Pirates of the Caribbean’ แต่เราคิดว่าเรายังคงรักษาวิสัยทัศน์ของจอร์แดน เมชเนอร์ที่มีต่อเกมนี้เอาไว้ได้นะครับ” แน่นอนว่า นีเวลล์ เป็นผู้ที่ได้รับการทาบทามให้มากำกับ “Prince of Persia: The Sands of Time” เวอร์ชันจอเงิน บรั๊คไฮเมอร์กล่าวว่า “ไมค์สามารถสร้างหนังได้ทุกแนว ไม่ว่าจะเป็น ‘Four Weddings and a Funeral’ ที่เป็นดรามา/คอเมดี และ ‘Donnie Brasco’ ที่เป็นหนังดิบเถื่อนเหี้ยม ก่อนที่เขาจะไปกำกับ ‘Harry Potter and the Goblet of Fire’ ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างการผจญภัยและเรื่องมหัศจรรย์ในแบบที่เรากำลังมองหา ไมค์มีประสบการณ์ที่วิเศษสุด และนั่นคือสิ่งที่สำคัญสำหรับเรา เราอยากได้หนังที่สร้างความบันเทิง ที่จะดึงดูดผู้ชมในวงกว้าง แต่ก็เป็นสิ่งพิเศษสุด ที่จะให้น้ำหนักไปที่ตัวละครและเรื่องราวครับ” “ยิ่งหนังแปลก มืดหม่น ทนทุกข์ และตีแผ่ธรรมชาติที่บกพร่องของมนุษย์มากแค่ไหน นั่นแหละคือหนังอังกฤษที่ดีครับ” นีเวลล์กล่าว “แต่ระยะหลังมานี้ ผมสนใจในหนังสร้างความบันเทิงฟอร์มยักษ์ และ ‘Prince of Persia: The Sands of Time’ ก็เป็นแบบนั้นครับ มันเป็นหนังสร้างความบันเทิงฟอร์มยักษ์ และผมก็ยินดีอย่างยิ่งที่ได้ทำงานในหนังเรื่องนี้” การสร้างแอ็กชัน ฮีโร เจค จิลเลนฮาล นำทีมนักแสดงชั้นเยี่ยม อะไรคือคุณสมบัติของฮีโร? ผู้ที่รับบทแดสตันจะต้องเป็นนักแสดงที่มีมิติหลายชั้น ทั้งความสง่างามในโหมดหนังคลาสสิก มีไหวพริบ ตลกขบขัน แบกรับน้ำหนักของความยากจนที่ซ่อนเร้นอยู่ และถูกผลักดันให้ต้องพัฒนาตัวเองเป็นคนที่ดีขึ้น เจค จิลเลนฮาลเคยแสดงให้เห็นถึงฝีมือการแสดงที่จริงจังของเขามาแล้วในภาพยนตร์โดยเดวิด ฟินเชอร์เรื่อง “Zodiac,” ภาพยนตร์โดยแซม เมนเดสเรื่อง “Jarhead” และภาพยนตร์โดยอัง ลีเรื่อง “Brokeback Mountain” ที่ทำให้จิลเลนฮาลได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดและรางวัลบาฟตา อวอร์ด “เจค จิลเลนฮาลเป็นนักแสดงที่ผมเฝ้าดูและอยากจะร่วมงานด้วยมานานแล้วครับ” ผู้อำนวยการสร้างเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์กล่าว “เขาเป็นนักแสดงที่วิเศษสุด หน้าตาดีและเป็นสุภาพบุรุษ นอกจากนี้ เจคยังเป็นคนที่ทุ่มเทอย่างเหลือเชื่อ เขาฝึกฝนตัวเองสำหรับ ‘Prince of Persia’ ได้อย่างน่าทึ่ง ด้วยการสร้างกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ ฝึกฝนการต่อสู้ ฝึกฟันดาบ ฝึกปาร์กูร์ และขี่ม้า และเขาก็ยังคงออกกำลังกายและฝึกฝนร่างกายตัวเองในทุกวันของการถ่ายทำกว่า 100 วันน่ะครับ” ผู้กำกับไมค์ นีเวลล์กล่าวเสริมว่า “เจคมีคุณสมบัติที่ดึงดูดใจผู้คน เขาช่างสงสัย เปิดเผย อ่อนโยน เข้มแข็งและมีทักษะในการแสดงตลกชั้นยอด และใน ‘Prince of Persia’ เขาก็ใช้คุณสมบัติทั้งหมดนั้น ผมได้เห็นทุกอย่างที่เขาทำและคิดว่าเขาเป็นนักแสดงที่น่าอัศจรรย์และมีเสน่ห์อย่างล้นเหลือ แต่สิ่งที่ผมไม่รู้เกี่ยวกับตัวเจคคือเขาสามารถเป็นแอ็กชันฮีโรที่พระเจ้าส่งมาได้ เขาสามารถต่อสู้ วาดลวดลายดาบ วิ่ง ปีน กระโดดและขี่ม้าได้ราวกับเขาและม้าเป็นหนึ่งเดียวกัน ผมคาดไม่ถึงเลยจริงๆ นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยนะครับ” นอกจากนี้ จิลเลนฮาลยังได้รับคำชื่นชมจากจอร์แดน เมชเนอร์ ชายผู้สร้างตัวละครตัวนี้ขึ้นมาอีกด้วย “เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณนำตัวละครที่ผู้ชมรู้สึกผูกพันด้วยไปใส่ในสื่ออีกชนิดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นนิยายหรือวิดีโอเกม ผู้คนก็จะมีความรู้สึกรุนแรงเกี่ยวกับมันครับ” เมชเนอร์กล่าว “แต่ผมคิดว่าถ้าคุณมีนักแสดงที่ดีหรือหนังที่ดีแล้วล่ะก็ หลังจากนาทีแรกผ่านพ้นไป มันก็ไม่สำคัญแล้วล่ะครับ ผมคิดว่าเจคเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับบทนี้ พอคุณได้เห็นเขาในชุดคอสตูมและในขณะกำลังเข้าฉาก คุณจะเชื่อสนิทใจเลยว่าเขาเป็นเจ้าชายเปอร์เซียศตวรรษที่หกจริงๆ เขาเข้มแข็ง มีอารมณ์ขัน อ่อนไหวและเปราะบาง และคุณก็จะเชื่อมั่นว่าเขาจะทำในสิ่งที่ถูกต้องครับ” เมื่อบรั๊คไฮเมอร์และนีเวลล์เสนอบทนี้ให้กับเขา จิลเลนฮาลก็รู้สึกอึ้งไปกับสโคปยิ่งใหญ่ของโปรเจ็กต์นี้ “‘Prince of Persia: The Sands of Time’ แตกต่างจากหนังทุกเรื่องที่ผมเคยผ่านมาครับ” จิลเลนฮาลเล่า “ผมคิดว่าการสร้างตัวละครที่เป็นไอคอนอย่างแดสตันจะทั้งสนุกและท้าทาย ผมมักจะชื่นชอบหนังที่พระเอกสามารถทำได้แทบทุกอย่าง แต่ก็ยังคงเป็นมนุษย์ธรรมดา ไม่ใช่ซูเปอร์แมนน่ะครับ” “ในตอนแรก พัฒนาการสำหรับตัวละครตัวนี้เป็นเรื่องกายภาพล้วนๆ ครับ” จิลเลนฮาลเล่าต่อ “ทั้งการฟิตร่างกาย การเรียนรู้ปาร์กูร์ การฟันดาบและการเข้าใจถึงจิตใจของนักรบ ผมรู้ว่าถ้าผมผ่านพ้นเรื่องพวกนั้นไปได้ ผมก็จะทำสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง ตอนนั้นเองที่มีการตัดสินใจให้แดสตันพูดด้วยสำเนียงอังกฤษมาตรฐานเพื่อสอดคล้องกับนักแสดงคนอื่นๆ ผมเองก็ฝึกหนักในเรื่องนั้นกับโค้ชสำเนียงที่ชื่อบาร์บารา เบิร์ครีครับ” หลังจากที่มีการค้นหาไปทั่วโลก เจ็มมา อาร์เทอร์ทันก็ถูกเรียกตัวให้มารับบททามินาใน “Prince of Persia: The Sands of Time” “เจ็มมาเป็นนักแสดงสาวที่วิเศษสุด ที่เราพบในลอนดอนครับ เธอเพิ่งเรียนจบจากรอยัล อคาเดมี ออฟ ดรามาติก อาร์ตส์” บรั๊คไฮเมอร์เล่า “เธอมีบทเล็กๆ ในหนังเรื่อง ‘Quantum of Solace’ และเราก็เลือกเธอก่อนที่หนังเรื่องนั้นจะลงโรงเสียอีก เราก็เลยรู้สึกโชคดีมากๆ ที่เราได้ตัวเธอมาก่อนหน้านั้น เพราะนับตั้งแต่หนังบอนด์ลงโรงไป เธอก็เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น เจ็มมาจะต้องกลายเป็นดาราใหญ่แน่นอนครับ” นีเวลล์กล่าวเสริมว่า “สิ่งที่ผมชื่นชอบเกี่ยวกับตัวเธอ ซึ่งผมก็หวังให้เธอรักษาคุณสมบัตินี้ไปให้ได้ตลอดนะครับ คือเจ็มมาไม่ได้มีความเสแสร้ง เกราะป้องกัน หรือความหยิ่งยะโส ที่มักเกิดในตัวนักแสดงหนุ่มสาวที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วเลยครับ” “สเกลของหนังเรื่องนี้ การสร้างโลกใบใหม่ขึ้นบนหน้าจอ มันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และแอ็กชันพวกนั้นอีก มันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับฉันจริงๆ ค่ะ” อาร์เทอร์ทันกล่าว “ฉันอยากจะแสดงหนังแอ็กชันมาโดยตลอดและก็คิดวาดภาพตัวเองว่าเป็นสาวสตันท์ แต่ตอนที่ฉันได้ยินเรื่องหนังเรื่องนี้ครั้งแรก ฉันไม่เคยคิดฝันเลยว่าจะได้เล่นหนังเรื่องนี้ ตอนนั้นฉันยังไม่ได้เล่นหนังเรื่อง ‘Quantum of Solace’ การที่ฉันจะถูกเลือกให้มาเล่นในหนังที่ฟอร์มใหญ่กว่านั้นก็เลยเป็นเรื่องที่เพ้อฝันสุดๆ เลยล่ะค่ะ” “เธอเป็นตัวละครที่ยอดเยี่ยมค่ะ” อาร์เทอร์ทันกล่าว “เพราะทามินาเป็นมากกว่าสาวนักบู๊ทั่วๆ ไป เธอเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ เฉลียวฉลาด ช่างคิด และอ่อนไหว สิ่งที่งดงามที่สุดเกี่ยวกับตัวทามินาคือเธอเป็นตัวละครที่มีศรัทธามั่นคงและเชื่อในสิ่งที่เธอพยายามจะทำอย่างแท้จริง แต่เธอก็ยังบู๊ได้กระจายและเก่งไม่แพ้พวกผู้ชายเลยนะคะ” ทีมผู้สร้างได้เลือกเบน คิงส์ลีย์ให้มารับบทนีแซม ลุงของแดสตัน พี่ชายของกษัตริย์ชาราแมน บิดาผู้อุปการะแดสตัน “คุณอยากให้หนังของคุณเต็มไปด้วยนักแสดงฝีมือเยี่ยมอยู่แล้วล่ะครับ” บรั๊คไฮเมอร์กล่าว “และเมื่อคุณได้นักแสดงอย่างเซอร์เบน คิงส์ลีย์มาร่วมแสดง คุณก็โชคดีมากๆ ที่ทำให้เขาสนใจที่จะร่วมโปรเจ็กต์นั้นๆ ได้ เขาเป็นตัวเลือกที่เพอร์เฟ็กต์สำหรับบทนีแซมในทุกๆ แง่มุมเลยล่ะครับ” อัลเฟร็ด โมลินา นักแสดงผู้คร่ำหวอดในวงการ ได้รับเลือกให้รับบทชีคอามาร์ “เขาเป็นพวกนักฉวยโอกาสจอมวายร้ายครับ” โมลินาพูดถึงตัวละครของเขา “เขาไม่แคร์เลยว่าเขาจะทำผิดกฎหมายรึเปล่า บางครั้งเขาก็เป็นคนที่ค่อนข้างอันตราย ชีคอามาร์พูดถึงตัวเองว่าเป็นนักธุรกิจ วิธีการของเขาจะไม่เหมือนใคร แหวกแนว และโดยพื้นฐานแล้วเขาก็เป็นขโมยดีๆ นี่แหละครับ แต่แม้ว่าเขาจะเริ่มต้นด้วยการเป็นคนเลว แต่ชีคอามาร์ก็กลายเป็นผู้ร่วมมือกับแดสตันโดยไม่เต็มใจ และท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาก็ได้ร่วมมือกันและร่วมเดินทางไปด้วยกัน แม้ว่าจะมีเหตุผลที่แตกต่างกันก็ตามที” ทีมนักแสดงส่วนที่เหลือประกอบไปด้วยนักแสดงอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงริชาร์ด คอยล์และโทบี้ เค็บเบลล์ในบทน้องชายของแดสตัน ทุส เจ้าปัญหาและการ์ซีฟ ที่เอาดีทางด้านทหาร, สตีฟ ทูซอนในบท เซโซ นักรบชาวแอฟริกันผู้ห้าวหาญ, โรนัลด์ พิคอัพในบทกษัตริย์ชาราแมน บิดาบุญธรรมของแดสตัน, รีซ ริทชีในบทบิส ไซด์คิกและคนรับใช้ของเขาและวิล ฟอสเตอร์ในบทแดสตัน วัยเด็ก ซึ่งเป็นบทบาทแรกสำหรับเด็กชายชาวอังกฤษผู้เรียนรู้ปาร์กูร์ การแสดงผาดโผนและปาร์กูร์ ทีมผู้สร้างตรงไปสู่จุดกำเนิด ทั้งการแสดงปาร์กูร์ในการเคลื่อนไหวและการกระโดดที่ท้าทายทั้งแรงโน้มถ่วงและความตาย การแข่งวิ่งนกกระจอกเทศที่ยิ่งใหญ่ไปจนถึงสงครามโบราณที่ดุเดือดในดินแดนตะวันออก “Prince of Persia: The Sands of Time” นำเสนอขอบเขตการทำงานที่กว้างขวางให้กับเหล่าผู้ประสานงานคิวบู๊ ทีมงานชุดนี้ประกอบไปด้วยจอร์จ อากีลาร์ ผู้ประสานงานคิวบู๊ยูนิทที่หนึ่ง, เกร็ก พาวเวล ผู้ประสานงานคิวบู๊ยูนิทที่สอง, สตีเฟน โป๊ป ผู้ร่วมประสานงานคิวบู๊ในโมร็อกโก, ผู้ร่วมประสานงานการต่อสู้ โธมัส ดูปองท์และเบน คุ้กและผู้ออกแบบปาร์กูร์ เดวิด เบล สำหรับนักแสดงแล้ว การเตรียมตัวเริ่มต้นขึ้นหลายสัปดาห์ก่อนหน้าที่จะเปิดกล้อง ด้วยโปรแกรมการฝึกฝนเข้มงวดที่ออกแบบมาเพื่อเคี่ยวกรำพวกเขาให้ฟิตสมบูรณ์และขึ้นหลังม้าได้ เจค จิลเลนฮาลมีรูปร่างที่สมบูรณ์อยู่แล้วจากการเป็นนักวิ่ง นักปั่นจักรยานและนักกีฬาประเภทอื่นๆ “มันไม่มีเหตุผลที่จะแสดงหนังแบบนี้ถ้าคุณแสดงฉากผาดโผนไม่ได้น่ะครับ” จิลเลนฮาลกล่าว “มันเป็นเรื่องของความฟิต การที่ผมสามารถทำทุกอย่างตามที่พวกเขาบอกได้ ผมก็เลยทำร่างกายให้ฟิตที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการวิ่ง ฝึกฝนปาร์กูร์ ยกเวทและขี่ม้าน่ะครับ” จิลเลนฮาลร่วมกับนักแสดงคนอื่นๆ ฝีกการขี่ม้าภายใต้การสอนของริคาร์โด ครูซ มอรัล หนึ่งในนักขี่ม้าระดับแนวหน้าของสเปน ที่ไร่ของเขานอกกรุงมาดริด สำหรับเจ็มมา อาร์เทอร์ทัน มันเป็นเรื่องแปลกใหม่อย่างแท้จริง “ฉันไม่เคยขี่ม้าเลยค่ะ ฉันก็เลยถูกส่งไปค่ายฝึกขี่ม้าพร้อมกับคนอื่นๆ ก่อนที่เราจะเริ่มถ่ายทำ มันเยี่ยมมากค่ะ และตอนนี้ การขี่ม้าก็กลายเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่งของฉันไปแล้ว หนึ่งในฉากผาดโผนที่ฉันแสดงด้วยตัวเองก็คือตอนที่ฉันถูกดึงตัวขึ้นไปบนม้าตอนที่มันวิ่งเข้าหาฉัน และฉันก็ภูมิใจกับฉากนั้นจริงๆ ค่ะ” โธมัส ดูปองท์ ผู้ซึ่งผลงานของเขารวมถึง “Pirates of the Caribbean” ทั้งสามภาค รับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานการต่อสู้ใน “Prince of Persia: The Sands of Time” ร่วมกับเบน คุ้ก นอกจากนั้น เขายังรับบทเป็นแฮสซัด แฮสซานซิน ผู้ต่อสู้ด้วยแส้ปลายดาบสองอัน ดูปองท์ได้รับมอบหมายให้ถ่ายทำฉากแอ็กชันฉากใหญ่ที่อยู่สูงเหนือพื้นดิน 8,200 ฟุต “ในเรื่องของความสูงแล้ว ส่วนที่ยากที่สุดคือการต่อสู้นานๆ ครับ เราต้องทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมๆ กันในเวลาหนึ่งนาที จริงอยู่ว่ามันอาจฟังดูไม่นานอะไร แต่ถ้าคุณต้องแสดงอย่างเต็มที่ ทั้งการฟาดดาบ วิ่งและกระโดด มันก็จะทำให้คุณหมดแรง และถ้าคุณอยู่ในที่สูงประมาณ 8,000 ฟุต ที่มีอ็อกซิเจนน้อยด้วยล่ะก็ มันก็จะส่งผลอย่างมากครับ” ทีมผู้สร้างยังได้ใส่เอาหนึ่งในสิ่งที่จอร์แดน เมชเนอร์สร้างขึ้นเข้าไป ซึ่งมันจะเป็นสิ่งที่ทำให้ “Prince of Persia: The Sands of Time” โดดเด่นขึ้นมาจากภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ “ในวิดีโอเกม เจ้าชายสามารถวิ่งไต่ไปบนกำแพง และมีความสามารถอื่นๆ ที่มาจากปาร์กูร์” ผู้กำกับไมค์ นีเวลล์บอก “ปาร์กูร์เริ่มต้นขึ้นในย่านชานเมืองของปารีส ที่ซึ่งพวกเด็กๆ เบื่อกันจนพวกเขาเริ่มใช้ทุกสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเป็นสิ่งทดสอบ ผมได้ดูสารคดีเกี่ยวกับพวกเขาและได้เห็นว่าพวกเขาเดินขึ้นไปบนกำแพงและกระโดดจากหลังคาบ้านหลังหนึ่งไปสู่อีกหลังหนึ่งได้จริงๆ พวกเขาเป็นนักกีฬาที่ยอดเยี่ยม และเราก็เลยนำตัวผู้เชี่ยวชาญปาร์กูร์มาสอนเราว่าจะต้องทำยังไง และทำยังไงถึงจะดูดีน่ะครับ” “เราตัดสินใจที่จะเข้าถึงต้นตอเลย” บรั๊คไฮเมอร์บอก “เราอยากได้คนที่เก่งที่สุดของที่สุด และคนๆ นั้นก็คือเดวิด เบล” เบลเป็นตำนานที่อายุยังน้อย ผู้คิดค้นปาร์กูร์ขึ้นมา “นี่เป็นหนังแบบที่ทำให้ผมอยากจะอยู่ในวงการหนังน่ะครับ” เบลบอก “พอคุณได้ดูหนังประเภทนี้ มันก็วิเศษสุดจนคุณอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของซีนนั้นๆ และจู่ๆ ผมก็พบว่ามันกลายเป็นจริง มันเหมือนความฝันสมัยเด็กๆ ที่กลายเป็นจริงเลยครับ” ในภาษาฝรั่งเศส ปาร์กูร์ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า “l’art d’placement” หรือศิลปะแห่งการเคลื่อนไหว และสำหรับผู้ฝึกปฏิบัติและผู้ที่ได้สังเกตฝีมือที่น่าทึ่งของเหล่าผู้ฝึกปาร์กูร์แล้ว มันก็เป็นศิลปะที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก และแอ็กชันของ “Prince of Persia: The Sands of Time” ก็ได้ผสมผสานทั้งปาร์กูร์และฟรีรันนิงเข้าด้วยกัน บรั๊คไฮเมอร์กล่าวว่า “มันเป็นศิลปะแขนงหนึ่งจริงๆ ครับ มันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากๆ ที่ได้เห็นคนกระโดดจากกำแพง โดยไม่ใช้สลิง พวกเขาทำได้ด้วยพลกำลังของตัวเองล้วนๆ เลยครับ” คำที่เบลใช้อธิบายถึงปาร์กูร์นั้นทั้งเข้าใจง่ายและกระชับ อย่างที่เราจะคาดหวังได้จากคนที่เป็นผู้คิดค้นมันขึ้นมา “พูดง่ายๆ ก็คือปาร์กูร์เป็นวิธีการฝึกฝน ที่ทำให้คนพัฒนาร่างกายของตัวเองจนสามารถฝ่าฟันอุปสรรคได้ ยิ่งคุณฝึกฝนมากเท่าไหร่ คุณก็จะเคลื่อนไหวเร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ระหว่างฝึก คุณจะสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างกว้างขวาง การเคลื่อนไหวพวกนี้จะช่วยให้คุณผ่านเส้นทางที่ยากลำบาก ผ่านระหว่างตึกและข้ามช่องว่างระหว่างหลังคาได้ มันเป็นวิธีการเรียนรู้การเคลื่อนไหวร่างกายของคุณที่แตกต่างออกไปครับ” เบลรู้สึกประทับใจกับความสามารถปาร์กูร์ของจิลเลนฮาลและความกระตือรือร้นที่นักแสดงหนุ่มมีต่อการแสดง “เจคทำให้ผมเชื่อจริงๆ ครับ” เขาบอก “ผมได้เห็นงานของเขา และการเคลื่อนไหวของเขาในหลายๆ ซีน และผมก็ไม่สงสัยในตัวเขาเลย” ผู้ที่ตื่นเต้นเป็นพิเศษที่จะได้ร่วมงานกับเดวิด เบลคือวิล ฟอสเตอร์ นักเรียนปาร์กูร์รุ่นเยาว์ที่รับบทแดสตันในวัยเด็ก “ผมค่อนข้างประหม่าเมื่อรู้ว่าผมจะได้ฝึกกับเขา” ฟอสเตอร์ยอมรับ “แต่เขาทำให้ผมรู้สึกผ่อนคลาย เขาเป็นคนที่พูดด้วยได้ง่ายเพราะผมพูดภาษาฝรั่งเศสได้แค่นิดหน่อย เดวิดแสดงท่ากระโดดและการหมุนตัวแบบพื้นฐานให้ผมดู ถ้าเขาเห็นว่าผมทำอะไรได้ดี เขาก็จะบอกออกมา แต่เขาก็จะบอกผมว่าผมจะพัฒนาตรงนั้นยังไง ซึ่งมันช่วยผมได้มากจริงๆ มันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเดวิดที่เด็กๆ จะรู้ว่าปาร์กูร์ไม่ใช่เรื่องของการคว้ากล้องมาบันทึกภาพตัวเองขณะกระโดดลงมาจากที่ที่สูงที่สุดเท่าที่คุณจะหาได้ แต่คุณต้องเรียนรู้เป็นเวลานานและฝึกฝนให้ร่างกายแข็งแกร่งขึ้นครับ” การเอาชีวิตรอดจากฤดูร้อนในโมร็อกโก ในโลเกชันท่ามกลางอุณหภูมิสามหลัก “ทุกคนบอกกับเราว่า ‘โมร็อกโกเป็นประเทศที่ดี’ น่ะครับ” ผู้กำกับไมค์ นีเวลล์บอก “’แต่อย่าไปที่นั่นตอนเดือนกรกฎาคมกับสิงหาคมแล้วกัน’ แน่นอนครับ ว่าเราถ่ายทำที่นั่นตลอดทั้งเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมเลย” “ผมไม่เข้าใจเลยว่าทำไมตอนที่ผมไปโมร็อกโก โรงแรมผมถึงไม่มีคนเลย” อัลเฟร็ด โมลินาเล่า “ผมได้แต่คิดว่า คนยุโรปไม่ได้หยุดกันเดือนสิงหาคมหรอกหรือ แล้วพวกคนท้องถิ่นก็มองผมเหมือนจะบอกว่า คุณมาทำอะไรที่นี่น่ะ แล้วผมก็ได้รู้อย่างรวดเร็วว่า คุณไม่ไปโมร็อกโก เพราะมันร้อนตับแตก! ไม่มีใครทำงานในโมร็อกโกในเดือนสิงหาคมกันหรอก แต่อย่างนี้แหละครับคนอังกฤษเรา” “มันเมคเซนส์ครับที่จะถ่ายทำหนังเกี่ยวกับยุคโบราณในโมร็อกโก” ผู้อำนวยการสร้างเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์กล่าว “เพราะความโบราณกับความทันสมัยอยู่ร่วมกันได้ แม้ว่าจะมีร้านอาหารเก๋ๆ คลับหรูหรือบูติค โฮเตลทั่วทั้งมาร์ราเคช ช่างฝีมือในเมดินาก็ยังคงผลิตงานด้วยมืออย่างที่เคยทำกันมาเป็นพันๆ ปี และนอกเมืองใหญ่ ชีวิตก็ดำเนินไปในแบบดั้งเดิมท่ามกลางภูเขาและหุบเขา ที่ราบและทะเลทรายของโมร็อกโก ด้วยความที่มีหนังหลายเรื่องเคยถ่ายทำที่นี่มาแล้ว มันก็เลยมีอาคารสวยๆ พร้อมทั้งช่างเทคนิคและคนงานมากความสามารถ และรัฐบาลโมร็อกโกก็ให้การต้อนรับเราเป็นอย่างดี ชาวโมร็อกโกเป็นช่างฝีมือชั้นเยี่ยมและเราก็ใช้งานช่างฝีมือจำนวนมาก พวกเขาทำงานได้อย่างน่าทึ่งครับ” ทีมงานและนักแสดงต้องทนต่ออากาศร้อนที่อุณหภูมิสูงถึง 120 องศาฟาเรนไฮต์ อากาศเบาบางในที่สูง เบอร์เกอร์แกะนับไม่ถ้วน และสิ่งมีชีวิตอันตรายในดินแดนทะเลทรายที่โหดเหี้ยม หลังจากการเตรียมงานนานหกเดือน “Prince of Persia: The Sands of Time” ก็เริ่มเปิดกล้องในวันที่ 23 กรกฎาคม ปี 2008 ในรูปแบบที่ยิ่งใหญ่เหมาะกับอีพิค โดยการถ่ายทำสองสัปดาห์แรกเกิดขึ้นที่โอไคม์เดน ที่อยู่สูงเหนือระดับพื้นดิน 8,200 ฟุต และอยู่เหนือเมืองมาร์ราเคชที่ร้อนระอุ 75 กิโลเมตร การที่จะเข้าถึงสถานที่ที่ห่างไกลท่ามกลางเทือกเขาไฮแอตลาสแห่งนี้จะต้องผ่านหุบเขาโอริกาที่เขียวขจีและเข้าสู่ถนนที่คดเคี้ยวเลี้ยวลดบนภูเขา ที่เต็มไปด้วยทางลาดชัดและหินที่ร่วงลงมา แต่มันก็เป็นสถานที่ที่เพอร์เฟ็กต์สำหรับฉากหุบเขาลับแลของเรื่อง คนงานชาวโมร็อกโก 20 ชีวิตใช้เวลาสามสัปดาห์ครึ่งในการสร้างถนนไปสู่สถานที่ที่ห่างไกลผู้คนนี้ ในระหว่างนั้น มีการสร้างแคมป์ใหญ่ขึ้นมา ซึ่งรวมถึงเต็นท์อาหารขนาดใหญ่ และสถานที่ปรุงอาหาร รวมไปถึงยานพาหนะในการถ่ายทำ ไม่ว่าจะเป็นรถเทรลเลอร์ของนักแสดงไปจนถึงรถบรรทุกใช้งาน กองทัพรถโฟร์วีลแลนด์ โรเวอร์ถูกเจอร์รี กอร์ ผู้ประสานงานด้านยานพาหนะนำเข้ามาในโมร็อกโกเพื่อใช้ในการขนส่งทีมงานจากแคมป์ใหญ่ที่อยู่ตีนเขาไปยังสถานที่ถ่ายทำฉากหุบเขาลับแล มันเป็นการเดินทางที่ขรุขระมากพอๆ กับเครื่องเล่นอินเดียนา โจนส์ที่ดิสนีย์แลนด์เลยล่ะ อุณหภูมิในช่วงกลางฤดูร้อนในแอฟริกาเหนือไม่ค่อยจะลดต่ำลงกว่าระดับ 100 องศาฟาห์เรนไฮต์ และระหว่างการถ่ายทำ อุณหภูมิเฉลี่ยก็จะขึ้นๆ ลงๆ ระหว่าง 110-115 องศา หลายๆ วันระหว่างการถ่ายทำ โลเกชันที่โมร็อกโกกลายเป็นสถานที่ที่ร้อนที่สุดในโลก หรือใกล้เคียงนั้น ประมาณ 18 ไมล์ทางตอนเหนือของอิเซอร์เกนเป็นทะเลทรายราบเรียบไร้ลม ที่มีชื่อว่าอกาเฟย์ ที่ซึ่งนักแสดงแบ็คกราวน์เกือบ 500 คนรับบทเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพเปอร์เซียที่เดินทัพมุ่งหน้ามายังอลามุท แฮร์รี ฮัมฟรีย์ส ที่ปรึกษาด้านเทคนิคและการรักษาความปลอดภัยของเรื่องและลอฟตี้ ซาลาวี ผู้ช่วยชาวโมร็อกโกของเขา (เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานร่วมกับทีมรักษาความปลอดภัยของเรื่อง) ได้ฝึกฝนตัวประกอบท้องถิ่นหลายร้อยคน ฮัมฟรีย์ส อดีตหน่วยซีล ผู้เคยร่วมงานกับบรั๊คไฮเมอร์มาแล้วหลายครั้ง เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาด้านเทคนิค การทหารและการรักษาความปลอดภัยที่มากประสบการณ์ที่สุดในแวดวงภาพยตนร์ “เราต้องเปลี่ยนคน 400 คนให้กลายเป็นกองทัพทหารภายในระยะเวลาสั้นๆ” ฮัมฟรีย์สเล่า “โชคดีที่สารวัตรลอฟตี้เป็นครูฝึกชั้นยอด ดังนั้น แม้ว่าพวกตัวประกอบจะไม่เคยมีใครเคยเห็นการเดินทัพมาก่อน เขาก็สามารถเปลี่ยนพวกเขาให้กลายเป็นกองทหารที่เยี่ยมยอดได้ภายในเวลาแค่สามวันครับ” ทาเมสลอห์ท ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมาร์ราเคช ห่างออกไปยี่สิบกิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยฝุ่น มีเพียงร้านค้าไม่กี่ร้าน บ้านแบบเรียบง่าย สถานีตำรวจ ชาวบ้านที่เป็นมิตร และผนังวิหารโบราณที่ร่ำลือกันว่ามีอายุกว่า 700 ปี มันถูกเลือกให้เป็นสถานที่ถ่ายทำเมืองอลามุทในเรื่อง ตามการออกแบบของ วูล์ฟ โครเกอร์ ผู้ออกแบบงานสร้างของ “Prince of Persia: The Sands of Time” เมืองสมมติแห่งนี้จะมีจัตุรัสยิ่งใหญ่ ที่จะมีปราสาทที่เหมือนกับทัชมาฮาลตั้งตระหง่านสูงประมาณ 50 ฟุต มันจะเป็นโครงสร้างสีขาว/แดง ที่รายล้อมไปด้วยระเบียง และน้ำพุพ่นน้ำตรงกลาง ทั้งหมดนี้ประดับประดาด้วยรูปปั้นช้าง ถนนพาดตัวไปพร้อมด้วยรายละเอียดเชิง สถาปัตยกรรมและการตกแต่ง ร้านขายแผ่นหนังจารึกในตรอกแคบๆ ประดับประดาไปด้วยระฆังเล็กๆ เสียงใส โบสถ์สีเหลืองอ่อนงดงามไปด้วยดอกไม้สีสันสดใส ประตูโค้งที่สลักลวดลายดอกไม้ มีแผงขายรองเท้า สมุนไพรอบแห้งและดอกไม้ มีผนังโบราณที่สร้างจากโคลน ที่สลักลวดลายมนุษย์และสัตว์ “มันมีไม่กี่ฉากหรอกครับ” มือเขียนบทคาร์โล เบอร์นาร์ดบอก “ที่ใหญ่จนคุณสามารถเดินหลงทางในนั้นได้!” “วูล์ฟ โครเกอร์เป็นศิลปินตัวจริง” บรั๊คไฮเมอร์กล่าว “เขามีวิสัยทัศน์ที่ยอดเยี่ยม ใส่ใจในรายละเอียดอย่างน่าทึ่ง และไม่กลัวที่จะคิดการใหญ่และสร้างงานใหญ่ครับ” นีเวลล์กล่าวเห็นพ้องด้วย “วูล์ฟมีควมสามารถวิเศษสุดในการปรับเปลี่ยนตัวเอง เขาถนัดในสองเรื่อง นั่นคือคอนเซ็ปต์ยิ่งใหญ่โดยรวม และอีกอย่าหนึ่งคือการนำเสนอคอนเซ็ปต์นั้นผ่านรายละเอียดเล็กๆ เขามีดวงตาแบบศิลปิน และเขาก็เหมือนผมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะตะวันออก แต่วูล์ฟยังได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเปอร์เซียโบราณและตะวันออกใกล้อย่างมหาศาลอีกด้วยครับ เราใช้เวลาหลายวันไปกับการดูภาพถ่ายของอิหร่าน” ผลงานที่โครเกอร์ได้สร้างให้กับ “Prince of Persia: The Sands of Time” ไม่ได้มีเพียงแค่ฉากเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งแวดล้อมสมบูรณ์ที่ห้อมล้อมนักแสดงเอาไว้และก่อให้เกิดโลกใหม่ที่ผสมผสานประวัติศาสตร์และเรื่องมหัศจรรย์เข้ากับจินตนาการอันบรรเจิดอย่างแท้จริง ผู้ที่ทำงานร่วมกับโครเกอร์คือซูเปอร์ไวซิง อาร์ต ไดเร็กเตอร์ โจนาธาน แม็คคินส์ทรี (สำหรับโมร็อกโก), ซูเปอร์ไวซิง อาร์ต ไดเร็กเตอร์ แกรี ฟรีแมน (อังกฤษ), ผู้ตกแต่งฉาก เอลลี กริฟ, ผู้จัดหาอุปกรณ์ประกอบฉาก เดวิด บัลโฟร์, ผู้จัดหาอาวุธ ริชาร์ด ฮูเปอร์, ผู้จัดการฝ่ายก่อสร้าง จอห์น เมเฮอร์ (โมร็อกโก) และไบรอัน เนเบอร์ (อังกฤษ) รวมไปถึงทีมศิลปินและช่างเทคนิคมากมาย เปอร์เซียศตวรรษที่หก ก่อนหน้าการเข้ามาของอิสลามเวอร์ชันนี้ที่ถูกสร้างขึ้นโดยโครเกอร์และทีมงานของเขาเกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะร้อยโยงสถาปัตยกรรมจริงๆ และองค์ประกอบด้านการออกแบบที่เกิดจากการค้นคว้าอย่างละเอียดละออเข้ากับเรื่องมหัศจรรย์ ดังจะเห็นได้จากฉากเหนือธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์ใจในเรื่อง อลามุทเป็นเมืองสมมติ ที่เป็นเหมือนเมืองสวรรค์แชงกรีลา ที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียอย่างเห็นได้ชัด “จากมุมมองด้านการออกแบบแล้ว” โจนาธาน แม็คคินส์ทรีบอก “ทั้งฉาก ของตกแต่งฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากต่างก็เป็นสิ่งที่ดูสมจริงทางประวัติศาสตร์ทั้งนั้น แต่ด้วยความที่เราไม่ได้สร้างหนังที่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ เราก็เลยไม่ได้จำกัดตัวเองให้อยู่กับสไตล์ใดสไตล์หนึ่งเป็นพิเศษ และด้วยความที่ว่าเราอาศัยโลเกชันโมร็อกโกหลายแห่ง มันก็เลยมีกลิ่นไอของแอฟริกาเหนือเข้ามาด้วยเหมือนกันครับ” แผนกออกแบบทุกแผนกจะต้องพึ่งพาทักษะพิเศษของช่างฝีมือ คนงานและช่างก่อสร้างชาวโมร็อกโก งานทุกชิ้นที่ทีมตกแต่งฉากของกริฟ, แผนกอุปกรณ์ประกอบฉากของบัลโฟร์และทีมงานอาวุธของฮูเปอร์ต้องการจะถูกสร้างขึ้นในเวิร์คช็อปขนาดใหญ่ในเขตอุตสาหกรรมของมาร์ราเคช วัตถุอย่างเช่นรถม้าที่สลักเสลารูปม้าของกษัตริย์ชาราแมนและเสลี่ยงแบบมูกัลจะถูกสร้างขึ้นโดยสจวร์ต โรส “การเยี่ยมชมโกดังอุปกรณ์ตกแต่งฉากและประดับฉากเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่น่าทึ่งที่สุดเท่าที่ผมเคยมีมาในการไปเยี่ยมชมโลเกชันต่างๆ ในหนังของเราเลยล่ะครับ” ผู้ควบคุมงานสร้างแชด โอมานกล่าว “มันเป็นโกดังขนาดยักษ์ที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ประกอบฉากและข้าวของเกี่ยวกับงานออกแบบงานสร้างตั้งแต่พื้นจรดเพดาน ทั้งตะเกียง ดาบ อานม้า ไปจนถึงอาวุธประณีตทั้งหลาย ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นที่นี่ ด้วยมือ โดยช่างฝีมือท้องถิ่น จริงๆ นะครับ ผมคิดไม่ออกเลยว่าจะมีที่ไหนอีกในโลกที่คุณจะได้พบกับงานฝีมือแบบนี้” ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากรถบรรทุกพิเศษของเขาท่ามกลางแดดร้อนเปรี้ยงของโมร็อกโกหรือจากเวิร์คช็อปเหล็กที่หนาวเหน็บในไพน์วู้ด สตูดิโอส์ ฮูเปอร์ก็เป็นคนที่ทุกคนต้องเรียกหาในเรื่องของอาวุธ “สำหรับหนังเรื่องนี้” ฮูเปอร์กล่าว “ทุกอย่างถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ถูกออกแบบหรือได้รับการเห็นชอบจากแผนกศิลป์ ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับหรือนักแสดงก่อนแล้วถึงถูกสร้างขึ้นมาครับ” “อิทธิพลสำคัญในการออกแบบอาวุธเปอร์เซียคือการค้นคว้าแบบดีไซน์ในศตวรรษที่หก และผมยังได้รับอิทธิพลจากเกม ‘Prince of Persia’ ด้วยครับ” ฮูเปอร์กล่าวต่อ “ผมพยายามจะหาสมดุลระหว่างความสมจริงทางประวัติศาสตร์และความมหัศจรรย์ เพราะเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ และไมค์ นีเวลล์ต้องการให้เราเดินอยู่บนเส้นแบ่งบางๆ นั้นครับ เราได้ทำการค้นคว้าจากคอลเล็กชันในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในอิหร่าน ตุรกี อิรัก อียิปต์ พิพิธภัณฑ์บริติช มิวเซียมในกรุงลอนดอนและสมิธโซเนียน และเราก็เจอหนังสือหลายเล่มที่มีภาพของอาวุธและชุดเกราะของเปอร์เซียในสมัยนั้น เราเลือกสไตล์และองค์ประกอบที่หลากหลาย แล้วค่อยสร้างดาบ กริชและโล่ในแบบของเราเองขึ้นมาครับ” ฮูเปอร์และแผนกของเขาได้สร้างอุปกรณ์ขึ้นมาเกือบ 3,500 ชิ้น ซึ่งรวมถึงดาบ โล่ หอก ขวาน ลูกธนู ธนู กระบอกลูกธนู ฝักดาบ กล่องใส่ธนู กริชและอาวุธของแฮสซานซิน อาวุธเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นจากเหล็ก ไม้และยาง หรือวัตถุดิบอื่นๆ แล้วแต่ความจำเป็นในแต่ละซีน เช่นเดียวกับหัวหน้าแผนกอื่นๆ ในเรื่อง ฮูเปอร์ก็ต้องอาศัยงานฝีมือชั้นเยี่ยมที่พบได้ในโมร็อกโกเหมือนกัน “เราได้ใช้ทักษะยอดเยี่ยมของช่างฝีมือในประเทศนี้ครับ” ฮูเปอร์กล่าว “ทั้งช่างหนัง ช่างแกะสลักโลหะและช่างเย็บผ้า มันมีทักษะมากมายที่ถูกหลงลืมไปในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษหรืออเมริกาน่ะครับ” ในบรรดาอุปกรณ์นับพันภายใต้การดูแลของบัลโฟร์ ไม่มีชิ้นไหนที่จะสำคัญยิ่งไปกว่าวัตถุที่เป็นสัญลักษณ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ กริชแห่งกาลเวลา อีกแล้ว เช่นเดียวกับเกือบจะทุกอย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้ การสร้างกริชแห่งกาลเวลาแบบสมบูรณ์จะต้องอาศัยการค้นคว้า การพัฒนาและการทดลอง “ในตอนแรก เราใช้กริชอินเดียสมัยเก่าเป็นแบบ” บัลโฟร์กล่าว “แต่เจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์อยากให้กริชเหมือนกับในเกม ปัญหาก็คือเมื่อเราเปลี่ยนด้ามกริชจากในเกมให้เป็นสามมิติ มันกลับไม่สามารถทำในสิ่งที่มันต้องทำในหนังได้ เราก็เลยต้องออกแบบด้ามกริชเสียใหม่ ด้วยด้ามที่ทำจากแก้ว ลวดลายประดับจากโลหะ และอัญมณีด้านบนที่จะปลดปล่อยทรายจากคมกริชน่ะครับ” “ผมคิดว่าผลสุดท้ายที่ออกมาก็ประสบความสำเร็จนะครับ” บัลโฟร์กล่าวต่อ “ด้ามกริชยังคงดูงดงาม เหมือนกับในเกม และเราก็เพิ่มลวดลายสลักเข้าไปตรงคมกริช” บัลโฟร์ได้สร้างกริชแห่งกาลเวลาขึ้นมาอีก 20 แบบ ซึ่งมีลักษณะเหมือนกัน แต่ทำหน้าที่แตกต่างกัน “เวอร์ชันหลักจะมีคมมีดเป็นโลหะครับ” บัลโฟร์อธิบาย “มันถูกสร้างจากทองเหลืองและชุบด้วยทอง มันมีน้ำหนักและเหมาะสำหรับการถ่ายทำ” กริชเวอร์ชันนี้จะต้องผ่านการบำรุงรักษาอยู่ตลอดเวลา เนื่องด้วยซีเควนซ์แอ็กชันมากมายของเรื่อง “มันถูกขว้าง ถูกเตะออกจากมือแดสตัน ถูกโยนเข้าไปในโคลน” บัลโฟร์เล่า “กริชเล่มนี้เจออะไรตั้งมากมาย ดังนั้นมันก็เลยต้องผ่านการซ่อมแซมเหมือนกัน แต่เราก็ได้ทำกริชสำรองเอาไว้ทั้งด้วยยางแข็งและยางอ่อนเพื่อใช้ในฉากผาดโผน และกริชที่จุดไฟติดได้จริงๆ ด้วยครับ” ผลงานจากความอุตสาหะของเขาสร้างความประทับใจให้กับทีมนักแสดง “ตอนที่เราไปโมร็อกโกในสัปดาห์แรก เราได้ไปเยี่ยมชมฉากบางฉากที่ถูกสร้างขึ้นมา” เจ็มมา อาร์เทอร์ทันเล่า “ตอนนั้นเองที่ฉันรู้สึกว่า ‘ว้าว นี่มันเรื่องใหญ่เชียวนะ’ มันเหมือนกับเมืองเลยล่ะค่ะ ฉันไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน คุณไม่จำเป็นต้องจินตนาการอะไรเลย มันอยู่ตรงนั้น และมันก็เป็นความอลังการอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในยุคของกรีนสกรีนแบบบนี้ มันเป็นโลกที่ทำให้ฉันสนใจจะเล่นหนังเรื่องนี้ และเมื่อคุณได้เดินในฉากที่เหมือนกับฉากของพวกเรา มันก็เหมือนกับโลกใบนั้นได้ถูกสร้างขึ้นแล้วน่ะค่ะ” “ไม่ว่าเราจะมองไปที่ไหน เราก็เห็นผนัง ผ้าม่านและป้อมปราการที่มีลวดลายวิจิตร” เบน คิงส์ลีย์กล่าว “และในโมร็อกโก มันก็มีธรรมชาติของมันเอง ทั้งอูฐ คนขี่ม้านับพันและฝุ่นตลบอบอวล ฉากของเราเต็มไปด้วยรายละเอียดจนแม้กระทั่งคุณจะหยุดนิ่งระหว่างการพูดบท เพียงแค่หายใจเข้าไป พลังงานและข้อมูลที่คุณหายใจเข้าไปก็เป็นสิ่งที่พิเศษสุดแล้ว เราใช้เวลานานมากกว่าจะสร้างสิ่งแวดล้อมแบบนี้ขึ้นได้ มันเป็นอะไรที่ช่วยยกระดับจิตใจและช่วยส่งเสริมการแสดงของเราให้ดียิ่งขึ้นไปอีกจริงๆ ครับ” บัวเอซอน ซึ่งมีภูมิประเทศเหมือนดวงจันทร์ และอยู่ห่างจากมาร์ราเคชไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 45 กิโลเมตร เป็นสถานที่ที่เหมาะสมกับการถ่ายทำฉากอาณาจักรทะเลทรายของชีคอามาร์อย่างยิ่ง ซีนนี้ยังรวมถึงฉากการแข่งนกกระจอกเทศที่ต้องอาศัยการถ่ายทำกับนกเจ้าอารมณ์ชนิดนี้สี่วันด้วย นกกระจอกเทศขึ้นชื่ออยู่แล้วว่าเป็นสัตว์ขี้หงุดหงิด กลิ่นเหม็น น่ากลัว และอันตราย ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้นกชนิดนี้ไม่ค่อยจะปรากฏบนจอเงินบ่อยนักก็ได้ “ผมไม่เคยคิดเลยว่านกกระจอกเทศจะมาอยู่ในหนังของผม” บรั๊คไฮเมอร์บอก “แต่มันเป็นซีเควนซ์ที่ตลกและน่าตื่นเต้นจริงๆ ครับ” ผู้ที่เข้ามาดูแลนกพิเศษเหล่านี้คือบิล ริเวอร์สและเจนนิเฟอร์ เฮนเดอร์สัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกกระจอกเทศ ภายใต้ความช่วยเหลือของริเวอร์ส จอร์จ อากีลาร์ ผู้ประสานงานคิวบู๊ และทีมงานของเขาได้นำตัวจ็อกกี้อาชีพชาวโมร็อกโกมาขี่นกกระจอกเทศในซีเควนซ์แข่งความเร็ว ที่จะต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องนานถึงสองสัปดาห์ “ไม่มีจ็อกกี้คนไหนเคยขี่นกกระจอกเทศมาก่อนเลยครับ” ริเวอร์สเล่า “มันแตกต่างจากการขี่ม้าเยอะเพราะนกกระจอกเทศไม่ได้มั่นคงเท่า มันต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างหนัก แล้วคุณก็ต้องก้าวลงให้ถูกหลัก เพื่อที่คุณจะได้ไม่โดนเหยียบ ย่ำหรือโดนเตะน่ะครับ” อัลเฟร็ด โมลินา รับบทชีคอามาร์ ผู้รักนกกระจอกเทศ และเขาก็ทำอย่างดีที่สุดที่จะเข้าถึงตัวละครตัวนี้ โมลินาเล่าว่า “ผมได้โชว์ อานิตา นกกระจอกเทศของผมให้แดสตันดู และเล่าถึงนกชนิดนี้ให้เขาฟังอย่างออกรส นกประเภทนี้มีการเคลื่อนไหวและการตัดสินใจที่คาดเดาไม่ได้และแปลกประหลาดครับ ผมสังเกตว่าเจนนิเฟอร์ เฮนเดอร์สันจะลูบคอมันเพื่อปลอบมันให้สงบ ผมก็เลยคิดว่า ผมจะลองดูบ้าง มันอาจจะช่วยทำให้ฉากนี้ดีขึ้นก็ได้” “ผมภาวนาให้อานิตาอยู่นิ่งๆ ผมก็เลยลูบคอมัน ซึ่งจริงๆ แล้วนุ่มและยืดหยุ่นมากๆ แล้วผมก็พูดบทของตัวเอง ซึ่งมันไปได้สวยสองสามเทค แต่แล้วในเทคหนึ่ง ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอะไรดลใจผม แต่ระหว่างที่ผมกำลังกล่าวยกย่องอานิตาอยู่นั้น ผมก็โน้มตัวไปข้างหน้าแล้วจูบคอของเธอ ด้วยความคิดที่ว่าถ้าผมไม่โดนจิกตาบอด ผมก็จะรอด และมันก็เยี่ยมจริงๆ ครับ! แต่ท้ายที่สุดแล้ว เจนนิเฟอร์ก็บอกผมว่า อานิตา ที่ผมคิดว่าเป็นตัวเมีย จริงๆ แล้วคืออลัน เพศผู้ ผมหวังว่าพวกเขาจะตั้งเอ็มทีวี อวอร์ดสำหรับสาขานั้นขึ้นมานะครับเนี่ย” หลังจากนั้น ทีมงานก็เดินทางระยะทาง 200 กิโลเมตรเป็นเวลาสองชั่วโมงขึ้น ผ่านเส้นทางทิซี เอ็น ทิคกา ที่อยู่สูงเหนือพื้นดิน 7,415 ฟุตในเทือกเขาไฮแอตลาส ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งสู่ควอร์ซาเซท ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น “ฮอลลีวูดแห่งแอฟริกาเหนือ” คำแนะนำการถ่ายทำในวันแรกที่ถ่ายทำที่โอเอซิสลิตเติล ฟินท์ ซึ่งอยู่นอกเมืองควอร์ซาเซทห่างออกไป 40 นาที มีคำเตือนสองข้อ ซึ่งข้อหนึ่งน่าสะพรึงกลัวกว่าอีกข้อหนึ่ง นั่นคือ “วันนี้ อย่าแตะต้องนกกระจอกเทศในฉาก” หรือซ้ำร้ายกว่านั้น “ระวัง อาจพบงูและแมงป่องได้ในสถานที่นี้ ทั้งใต้และรอบๆ หิน โปรดระวังตัว” แต่ไม่มีอะไรต้องกลัวเพราะ “หมองู” (ตามที่สกรีนบนเสื้อของเขา) คอยทำหน้าที่อยู่ ชายชาวโมร็อกโกที่มีรอยยิ้มอยู่เสมอชำนาญในเรื่องงูพิษและสัตว์มีพิษอื่นๆ เขาเป็นผู้รับผิดชอบในการกำจัดสัตว์มีพิษออกจากบริเวณถ่ายทำก่อนที่ทีมงานและนักแสดงจะมาถึงและระหว่างการถ่ายทำ ภายในระยะเวลาไม่นาน โถแก้วของหมองูก็เต็มไปด้วยสัตว์มีพิษ ซึ่งทุกตัวจะถูกปล่อยให้เป็นอิสระในตอนเลิกถ่ายทำ หลังจากมาอยู่ที่โลเกชันนี้ได้สองวัน ลมก็เริ่มพัดแรงจนกลายเป็นพายุทราย ตามมาด้วยฝนเทกระหน่ำ “ในตอนที่เราหาสถานที่ถ่ายทำในโมร็อกโกครั้งแรก” ไมค์ นีเวลล์เล่า “มันมีลมพัดแรง 50 ไมล์ต่อชั่วโมง แต่ชาวบ้านไม่ได้เรียกมันว่าพายุทราย พวกเขาบอกว่า ‘นี่ไม่ใช่พายุทราย แค่ลมอ่อนๆ เท่านั้นเอง’ พายุทรายเป็นอะไรที่น่าสะพรึงกลัวสุดๆ เพราะทุกอย่างกลายเป็นสีดำ คุณจะมองไม่เห็นอะไรเลย แต่มันก็จะทำให้คุณหายใจไม่ออก และหนึ่งในซีนที่ดีที่สุดในหนังเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นท่ามกลางพายุทรายครับ” จอห์น ซีล ผู้กำกับชาวออสเตรเลียน และทีมงานของเขาต้องเจอกับปัญหาในการบำรุงรักษาอุปกรณ์ภายใต้สภาพอากาศที่เลวร้ายแบบนั้น ตลอดระยะเวลาการถ่ายทำในโมร็อกโก แต่เขาเคยเจอกับสภาพการถ่ายทำที่คล้ายคลึงกันมาแล้วในตูนิเซียจากเรื่อง “The English Patient” ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ด “เราสามารถคุ้นชินกับความร้อนนี้ได้ และกล้องก็พร้อมสำหรับมันครับ” ซีลบอก “แต่ถึงกระนั้น เราก็มักเจอกับภาพเนกาตีฟที่ขุ่นมัว ซึ่งเราหาสาเหตุไม่ได้อยู่หลายสัปดาห์ แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราก็ต้องเห็นพ้องต้องกันว่าความร้อนนี่เองที่ทำให้ภาพมัว เราไม่สามารถกำจัดมันได้ เราต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม พายุฝุ่นและผงทรายทำให้ทรายเข้าไปในกล้อง ซึ่งก่อให้เกิดริ้วรอย และทำให้เราต้องถ่ายทำใหม่ ทีมงานก็เลยต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ” โลเกชันถัดไปสำหรับ “Prince of Persia: The Sands of Time” เป็นสถานที่ที่พิเศษสุดจริงๆ เมืองป้อมปราการเก่าแก่ เอท เบน แฮดเดา ที่ได้รับการขึ้นชื่อให้เป็นมรดกโลกของยูเนสโกในปี 1987 ถูกสร้างขึ้นด้วยโครงสร้างดินและยางสีน้ำตาล ที่ถูกออกแบบด้วยรูปแบบของชาวเบอร์เบอร์ พื้นที่ที่ติดอยู่กับเมืองแห่งนี้คือสถานที่ที่เหมาะสมในการที่วูล์ฟ โครเกอร์จะสร้างตลาดนาซาฟ ขึ้นมา โดยใช้องค์ประกอบของเอท เบน แฮดเดาเป็นแบ็คกราวน์ ระหว่างที่ถ่ายทำในควอร์ซาเซท ทั้งยูนิทที่หนึ่งและยูนิทที่สองต่างก็ถ่ายทำภายในผนังดินของคัสบาห์ ทอริท ชุมชนเก่าแก่ที่อยู่ตรงใจกลางเมือง ในความเป็นจริงแล้ว แต่ก่อนพื้นที่ของควอร์ซาเซทมีแต่ตรงคัสบาห์เท่านั้น ก่อนหน้าที่ผู้ปกครองชาวฝรั่งเศสจะสร้างเมืองป้อมปราการขึ้นมารอบด้าน และมันก็ยังคงมีบรรยากาศพื้นถิ่นที่งดงาม ที่มีกลิ่นไอของความแข็งแกร่งและความแปลกพิเศษไม่เปลี่ยนแปลง มันยังคงเป็นหัวใจสำคัญของควอร์ซาเซท ตรอกแคบๆ ของมันคลาคล่ำไปด้วยชาวบ้านที่เดินไปมา เล่นไพ่หรือโดมิโน ซื้อขายของและต่อรองราคากันในร้านเล็กๆ หลังจากการถ่ายทำในทิวิเน กอร์จ ทีมงานก็เก็บข้าวของและขับไปทางตะวันออกอีก 322 กิโลเมตร ตามเส้นทางรู้ท ออฟ อะ เธาซันด์ คัสบาห์ไปยังเออร์ฟาวด์ ในที่ที่ติดกับพรมแดนอัลจีเรีย ทีมงานได้เลือกผืนทะเลทรายเป็นโลเกชันสำหรับทางเข้าหุบเขาทาส ซึ่งเป็นที่มั่นของชีคอามาร์และกลุ่มกองโจรของเขา การถ่ายทำสองวันสุดท้ายในโมร็อกโกเกิดขึ้นท่ามกลางเนินทรายเมอร์ซูกา ที่โด่งดัง ซึ่งมีเนินทรายขึ้นลงราวกับภาพลวงตาสีทอง ที่สูงจากพื้นที่ราบสีดำที่เต็มไปด้วยโขดหิน 450 ฟุต “ผมคิดว่ามันเหมาะอย่างยิ่งที่หนังที่มีชื่อว่า ‘Prince of Persia: The Sands of Time’ จะยุติการถ่ายทำในโมร็อกโกในเนินทราย” ผู้ควบคุมงานสร้างอีริค แม็คลีออดบอก มันเป็นเนินทรายสุดคลาสสิกตามตำนานอาหรับราตรี ที่ถูกขัดเกลา เปลี่ยนรูปร่างด้วยลมร้อน และสีสันจะเปลี่ยนแปลงไปตามวิถีของดวงอาทิตย์ ในวันสุดท้ายของการถ่ายทำที่โมร็อกโก อุณหภูมิพุ่งทะลุถึง 125 องศาฟาห์เรนไฮต์ ทีมงานจากซีกโลกตะวันตกได้ห่อหุ้มตัวเองด้วยผ้าคลุมหัวสีม่วงและเดินเท้าเปล่าเพื่อที่จะเดินบนเนินทรายได้สะดวกยิ่งขึ้น “ตอนนี้ DNA ของผมก็มีทะเลทรายโมร็อกโกอยู่ในนั้นแล้วเพราะผมหายใจเอาทรายเข้าไปเยอะเลยล่ะครับ” เจค จิลเลนฮาลบอก “ผมโตขึ้นในเซาเธิร์น แคลิฟอร์เนีย และอากาศและภูมิประเทศของโมร็อกโกจริงๆ แล้วก็คล้ายๆ กับที่นั่น มันก็เลยไม่โหดเท่าไหร่สำหรับผม ผมเคยถ่ายทำที่นั่นมาก่อน แต่ผมไม่เคยเข้าไปในทะเลทรายและเห็นโมร็อกโกมากเท่ากับการทำงานในเรื่องนี้เลย มันเป็นประเทศที่งดงามจริงๆ มันมีหลายครั้งในวันหยุด ที่ผมขับรถไปเรื่อยๆ ด้วยความรู้สึกทึ่งกับภูมิประเทศและวัฒนธรรมของประเทศนี้ ชาวโมร็อกโกเป็นคนที่อ่อนหวาน ใจดีและทำงานหนักที่สุดครับ” การถ่ายทำในสหราชอาณาจักรที่เย็นกว่า และเงียบสงบกว่า ทีมผู้สร้างได้สร้างโลกมหัศจรรย์ขึ้นมาในซาวน์สเตจที่ไพน์วู้ด สตูดิโอส์ การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจากโมร็อกโกที่ร้อนระอุและสับสนวุ่นวายไปสู่พื้นที่ควบคุมที่เย็นยะเยียบในไพน์วู้ด สตูดิโอส์เป็นเหมือนคัลเจอร์ ช็อคสำหรับทีมงาน ฉากที่ถูกสร้างขึ้นมา แต่ก็มหัศจรรย์ไม่แพ้กัน ที่ถูกออกแบบโดยวูล์ฟ โครเกอร์ ถูกสร้างขึ้นมาบนซาวน์สเตจเก้าแห่งในสตูดิโอประวัติศาสตร์ ในย่านโบราณอิเวอร์ ฮีธในบัคกิ้งแฮมเชียร์ “ไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมจริงๆ การได้อยู่ในสถานที่ที่คุณรู้สึกเหมือนว่าคุณได้ย้อนเวลากลับไปหลายร้อยปีอีกแล้วล่ะครับ” เจค จิลเลนฮาลกล่าว “ตอนที่เราถ่ายทำในโมร็อกโก เราอยู่กลางทะเลทราย ทั้งสกปรกและฝุ่นตลบ ผมจำไม่ได้หรอกครับว่ามีกี่ครั้งกี่หนระหว่างเทคที่เราต้องไปเอาทรายออกจากตา ปากและหู เพื่อที่คุณจะได้ดูไม่เหมือนตุ๊กตาทรายน่ะครับ ความสมจริงของมันเป็นอะไรที่ชัดเจน แต่ในสเตจในลอนดอน เราสามารถผสมผสานความจริงเข้ากับแฟนตาซีได้ ซึ่งเป็นอะไรที่น่าดูชมกว่าครับ” ที่ไพน์วู้ด ทีมงานได้ดำเนินกิจวัตรที่แตกต่างจากสิ่งที่พวกเขาเคยสัมผัสมาในโมร็อกโก มันคาดเดาได้มากกว่า ควบคุมได้มากกว่าและเย็นกว่าเยอะ “มันเหมือนกับว่าคุณกำลังวิ่งแข่งระยะยาว และโมร็อกโกเป็นส่วนที่ต้องขึ้นเขาน่ะครับ” ผู้ควบคุมงานสร้างแพทริค แม็คคอร์มิคกล่าว “เราสามารถเดินจากโลเกชันหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งด้วยการเดินจากซาวน์สเตจแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งเท่านั้นเอง และเราก็ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องอากาศด้วย และแทนที่เราจะต้องจัดหาอาหารให้คน 700 คนในแต่ละวัน เราก็ลดจำนวนลงเหลือเพียงแค่ 250 หรือ 300 คน ในโมร็อกโก แค่คนขับรถก็ปาเข้าไปตั้ง 300 คนแล้วครับ!” ระหว่างที่ทีมงานถ่ายทำในโมร็อกโก ทีมงานแผนกศิลป์ของแกรี ฟรีแมน ซูเปอร์ไวซิง อาร์ต ไดเร็กเตอร์ฝ่ายอังกฤษ และแผนกก่อสร้างก็ได้เตรียมงานฉากที่ซับซ้อน 35 ฉากขึ้นบนซาวน์สเตจเก้าแห่ง ฉากประตูตะวันออกของอลามุทที่ชวนตื่นตะลึงใช้ความกว้าง ความยาวและความสูงแทบทั้งหมดของสเตจ 007 ในไพน์วู้ด ด้วยกำแพงสูงเกือบ 50 ฟุต และต้นปาล์มที่นำเข้ามาจากทางตอนใต้ของสเปน และได้รับการบำรุงรักษาโดยจอน มาร์สัน ผู้ดูแลฝ่ายพืชพันธุ์และทีมงานของเขา ฉากนี้ใหญ่พอสำหรับการถ่ายทำฉากสงครามครั้งใหญ่ ที่มีตัวประกอบหลายร้อยคนและม้า 25 ตัวพุ่งผ่านประตูและกำแพงเพลิง “เหตุผลหลักในการสร้างฉากนี้ขึ้นมาคือเพื่อใช้สำหรับงานถ่ายทำกลางคืนที่มีปาร์กูร์และฉากผาดโผนอื่นๆ ที่จะถ่ายทำในโมร็อกโกได้ยากครับ” ฟรีแมนกล่าว ไบรอัน เนเบอร์ ผู้จัดการแผนกก่อสร้างในอังกฤษ ได้สร้างคอมเพล็กซ์ประตูตะวันออกของอลามุทขึ้นมาภายในเวลาเพียง 14 สัปดาห์ด้วยการใช้แผ่นขนาด 8x4 3,000 แผ่นและท่อนไม้ 3x1 70,000 ฟุตรวมไปถึงปลาสเตอร์หล่อแบบ 40 ตัน ท้องพระโรงของอลามุทบนสเตจ S เป็นศูนย์รวมที่งดงามของสไตล์อินเดีย ในโทนสีครีมที่แซมด้วยสีทอง “ฉันไม่อยากจะใช้แสงเทียนในฉากนี้ค่ะ” เอลลี กริฟ ผู้ตกแต่งฉากกล่าว “ฉันตั้งใจจะใช้แต่แสงจากตะเกียงน้ำมัน ซึ่งกลายเป็นงานช้าง แต่จอห์น ซีล ผู้กำกับภาพของเรา รู้สึกว่าเขาได้แสงที่น่าสนใจจากมัน ฉันใช้สีสันอัญมณี ของตกแต่งด้านล่างและผ้าคลุม และสิ่งต่างๆ พวกนั้นที่สามารถสะท้อนกับแสงไฟได้น่ะค่ะ” ภายในปราสาทอลามุทถูกใช้แทนสถานที่หลายแห่ง รวมถึงท้องพระโรงของทามินา, ห้องส่วนตัวของทุสและห้องจัดเลี้ยงที่กษัตริย์ชาราแมนถูกลอบสังหาร “ฉันอยากสร้างให้ฐานบัลลังก์ของทามินาเป็นดอกบัวคริสตัล ซึ่งจะเชื่อมโยงกับนาฬิกาทรายคริสตัลแห่งปวงเทพค่ะ” กริฟบอก “เธอมีผ้าม่านสีทองผืนใหญ่แขวนอยู่ด้านบนบัลลังก์ มันจะมีรูเพื่อที่แสงจะได้สาดส่องลงมาราวกับเธอมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับเทพเจ้าและสวรรค์เบื้องบน ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับทามินาและวัฒนธรรมของเธอเป็นสิ่งที่น่าเชื่อ อ่อนโยนและมีอารมณ์ขันค่ะ” ห้องส่วนตัวของทามินา ซึ่งเต็มไปด้วยสีสันหลากหลาย ด้วยเตียงนกยูง และผนังสลักเสลาที่คล้ายคลึงกับแผ่นจารึกโบราณ ประดับประดาด้วยอัญมณีล้ำค่า เป็นห้องนอนที่เหมาะสมกับเจ้าหญิงอย่างแท้จริง “ไมค์ นีเวลล์ และวูล์ฟ โครเกอร์ได้คุยกันว่าพวกเขาตัดสินใจว่าห้องส่วนตัวของทามินาจะต้องสวยและมีความเป็นผู้หญิงสูงครับ” ฟรีแมนบอก “คุณต้องทำในสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความเชื่อ ที่มันเซอร์เรียลและหรูหราค่ะ” กริฟกล่าวเสริม “ห้องนอนของทามินาเต็มไปด้วยอัญมณีเพื่อที่แสงไฟจากด้านล่างจะส่องเป็นประกายวิบวับค่ะ” สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นบนซาวน์สเตจแห่งเดียวกับภายในปราสาทอลามุทและห้องส่วนตัวของทามินาคือห้องนภา พื้นที่สูงเหนือเมืองอลามุท ซึ่งเป็นที่ที่กริชแห่งกาลเวลาถูกเก็บรักษาไว้ในกล่องที่ถูกออกแบบอย่างงดงาม ด้วยรูปปั้นที่แกะสลักจากไม้และเสาหิน โดยรูปปั้นทั้งหมดถูกแกะสลักขึ้นด้วยมือ ก่อนที่จะถูกหล่อแบบออกมา ทำให้มันให้ความรู้สึกแบบวิหาร ซึ่งถูกขับเน้นยิ่งขึ้นระหว่างการถ่ายทำด้วยการใช้แสงส่องให้วัตถุมีประกายสว่างไสวของผู้กำกับภาพซีล สวนในวิหารของอลามุทถูกสร้างให้เป็นสรวงสวรรค์อย่างแท้จริงด้วยนกโนรี นกแก้วมาคอว์ นกแก้วและนกทูแคนในกรงสลักเสลา ต้นไม้ที่ถูกดัดเป็นรูปช้าง น้ำพุที่ประดับประดาไปด้วยรูปปั้นยูนิคอร์น แกะและนกยูงหลากสีสัน ซุ้มประตูที่มีภาพสลักฝังด้วยอัญมณี ต้นไม้ที่มีใบโปร่งแสง (แต่ละใบถูกเย็บติดด้วยมือ) ตะเกียงสีทองและระฆังเล็กๆ เสียงกรุ๊งกริ๊ง “วูล์ฟต้องการหลีกหนีจากภาพสวนในยุคนั้นที่สมจริงครับ” ฟรีแมนบอก “ด้วยความที่มันเป็นหนึ่งในฉากที่สำคัญที่สุดของเรื่อง เขาก็เลยอยากทำให้มันเป็นเหมือนกับสวนเวทมนตร์ ด้วยการดึงแรงบันดาลใจจากศิลปินเอ็กซ์เพรสชันนิสต์ชาวรัสเซียหลายคนครับ” ฉากใหญ่อื่นๆ ที่ถูกสร้างขึ้นที่ไพน์วู้ดยังรวมถึงวิหารกริช ถ้ำที่มีน้ำตกไหลลงสู่สระน้ำ และแท่นบูชาที่เต็มไปด้วยสมบัติและของบูชา มันเป็นซีเควนซ์แอ็กชันสำคัญที่มีเจค จิลเลนฮาล, เจ็มมา อาร์เทอร์ทันและโธมัส ดูปองท์ในบทแฮสซัด แฮสซานซิน ที่มีแส้เป็นอาวุธ เข้าฉาก ภายในของวิหารจะต้องเข้าคู่กันกับภายนอกที่ถ่ายทำที่โอไคม์เดนในโมร็อกโก นอกจากนี้ ยังมีการสร้างฉากอย่างวิจิตรบรรจงเพื่อจำลองบาซาร์แอฟรัต รวมถึงท้องถนนและหลังคาบ้านเรือนในเมือง ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อฉากแอ็กชันปาร์กูร์ที่น่าตื่นเต้น “เรารู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะมีซีเควนซ์แอ็กชันสำคัญในฉากนี้ที่ต้องนำเสนอปาร์กูร์” ฟรีแมนบอก “วูล์ฟต้องการจะสร้างโครงสร้างแนวนอนและแนวตั้งหลายชิ้น ที่จะรองรับการแสดงผาดโผนได้ เรานำทีมช่างปูนไปยังโมร็อกโก เพื่อให้พวกเขาสร้างพื้นผิวได้สมจริงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และพวกเขาก็ได้หล่อแบบสำหรับพื้นผิวของส่วนผนัง สิ่งที่ยากจริงๆ คือการเสริมความแข็งแกร่งให้กับผนังสำหรับนักแสดงสตันท์ มันก็เลยต้องมีการใช้โครงสร้างเหล็กซ่อนเข้าไปใต้สิ่งก่อสร้างที่สร้างจากดินพวกนี้ครับ” การแต่งตัวแบบเปอร์เซีย ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย เพ็นนี โรส ตัดเย็บผ้าขี้ริ้ว…จริงๆ ถนนไร้ชื่อในย่านมาร์ราเคช ที่เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นเขตอุตสาหกรรม มีอาคารหลังหนึ่งที่อาจจะเป็นโกดังหรือโรงงานก็ได้ แต่ในช่วงเวลาหลายเดือนก่อนหน้าการถ่ายทำ “Prince of Persia: The Sands of Time” และระหว่างการถ่ายทำที่โมร็อกโก อาคารแห่งนี้กลายเป็นโรงงานในฝัน ที่เป็นสถานที่รวมช่างตัด ช่างเย็บ ช่างซ่อม ช่างตะเข็บ ช่างทำหมวก ช่างย้อม ช่างทำอาวุธและช่างฝีมือ ซึ่งคนทั้งหมดนี้ทำงานภายใต้การควบคุมของผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย เพ็นนี โรส “ไม่มีใครในแวดวงนี้ที่เหมือนเพ็นนีอีกแล้ว” ผู้อำนวยการสร้างเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ ผู้เลือกเธอมาทำงานในไตรภาค “Pirates of the Caribbean” บอก “เธอใส่ใจในรายละเอียดมากเกินคำบรรยายเลยล่ะครับ และความสามารถของเธอในการหาเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมกับตัวละครแต่ละตัวก็วิเศษสุด เพ็นนีสามารถจัดระเบียบให้กับอะไรก็ได้ ที่ไหนก็ตามในโลกใบนี้ เธอเป็นแม่งานที่เข้มงวด แต่เราก็รักงานของเธอครับ” “ภาพวาดตะวันออกเป็นอิทธิพลอย่างหนึ่งค่ะ” โรสกล่าว “ภาพวาดส่วนใหญ่ถูกวาดขึ้นในยุควิคตอเรียน พวกมันก็เลยเป็นภาพวาดศตวรรษที่ 19 ของฉากจากเมื่อหลายร้อยปีก่อนหน้านั้น สเกลภาพวาดตะวันออกเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเรา ทั้งรูปทรงเสื้อผ้า ผ้าคลุมที่พลิ้วไหว และจำนวนคนที่ถูกบีบให้อยู่ในพื้นที่เล็กๆ น่ะค่ะ” สำหรับ “Prince of Persia: The Sands of Time” โรสได้ตัดเย็บเสื้อผ้ากว่า 7,000 ชุด ซึ่งแทบทั้งหมดถูกตัดเย็บขึ้นมาใหม่ ผู้ที่คอยช่วยเหลืองานโรสคือผู้ช่วยออกแบบเครื่องแต่งกาย ทิโมธี จอห์น นอร์สเตอร์, มาร์กี้ ฟอร์จูนและมาเรีย ทอร์ฟู รวมไปถึงซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายเครื่องแต่งกาย เคน เคราช์, ผู้ช่วยออกแบบเครื่องแต่งกาย ลูซี บาวริงและผู้ดูแลเรื่องเสื้อผ้า มาร์ค โฮล์มส์ นอกจากนี้ โรสยังได้อาศัยผู้ดูแลเรื่องเสื้อผ้า ผู้ดูแลเสื้อผ้าในกองถ่าย ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายเวิร์คช็อป ช่างย้อม ช่างเหล็ก ช่างทำรองเท้าและช่างฝีมือจากทั่วโลกอีกด้วย หน้าที่อีกอย่างหนึ่งของโรส ซึ่งคนภายนอกอาจคาดไม่ถึง คือแผนกทำลาย “มีไม่กี่คนหรอกค่ะในหนังที่ฉันทำงานด้วยที่จะเข้าฉากด้วยชุดใหม่” โรสอธิบาย “เรามักจะต้องทำลายมันก่อน ฉันอยากให้เสื้อผ้าดูสมจริง แม้แต่ในหนังแฟนตาซีแบบนี้ แผนกทำลายของเราจะมีเครื่องมือที่เหมือนกับเครื่องผสมปูน พอมีการตัดเย็บเครื่องแต่งกายจากหนังขึ้นมาใหม่ เราก็จะใส่มันเข้าไปในเครื่องผสมปูนพร้อมกับหินสองสามก้อนเป็นเวลาสองสามชั่วโมง แล้วพอออกมา พวกมันก็จะดูเก่า แล้วเรายังใช้เครื่องขูดเนยแข็งมาทำให้เสื้อผ้ายับเยินด้วยค่ะ เชื่อมั้ยล่ะคะ” ในการหาวัตถุดิบสำหรับเครื่องแต่งกายนับพันๆ ชุด โรสได้เดินทางไปทั่วโลก และเธอก็ได้ค้นพบวัตถุดิบจากดินแดนห่างไกลถึงตุรกี ไทย อัฟกานิสถาน จีน มาเลเซีย สหราชอาณาจักร ปารีส โรมและแน่นอน โมร็อกโก วัตถุดิบเหล่านี้จะถูกใช้ในลักษณะที่น่าประหลาดใจ ยกตัวอย่างเช่น ในการสร้างผ้าคลุมที่ซอมซ่อแต่สีสันสดใสของชีคอามาร์ โรสก็ได้เย็บผ้าปูเตียงอินเดียสามผืนเข้าด้วยกัน “แล้วเราก็ขูดมันเข้ากับเครื่องขูดเนยแข็งจนกระทั่งเราได้ลุคที่ยับเยิน ที่เผยให้เห็นถึงเนื้อผ้า สีสันและแบบดีไซน์ที่แตกต่างกันออกไปค่ะ” โรสบอก “นอกจากนั้น เขายังมีเครื่องประดับศีรษะด้วย และรองเท้าเขาก็ทำจากพรมเก่าๆ ด้วยล่ะค่ะ” วิชวล เอฟเฟ็กต์ปิดท้ายให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สมบูรณ์ ทีมผู้สร้างอาศัยมือโปรเพื่อฉากย้อนกลับและเพิ่มขยาย “ในตอนที่คุณคิดว่าคุณได้เห็นทุกอย่างแล้ว” ผู้อำนวยการสร้างเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์กล่าว “เราก็ได้พัฒนาวิชวล เอฟเฟ็กต์และทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หวังว่าสิ่งที่คุณจะได้เห็นใน ‘Prince of Persia: The Sands of Time’ จะเป็นสิ่งที่สดใหม่ น่าสนใจและแปลกใหม่นะครับ” ทอม วู้ดและทีมงานผู้อำนวยการสร้าง ผู้จัดการ ผู้ประสานงาน ผู้จัดการข้อมูลและช่างเทคนิคของเขาถูกเรียกตัวให้มาสร้างช็อตวิชวล เอฟเฟ็กต์เกือบ 1,200 ช็อตของเรื่อง บางช็อตก็ยาวและมีองค์ประกอบเยอะ เช่นฉากการย้อนเวลา ฉากพายุทรายในซีเควนซ์ไคลแมกซ์ที่นาฬิกาทรายแห่งปวงเทพ และงูพิษร้ายกาจของผู้นำแฮสซานซิน และบางฉากก็เป็นการปรับแก้ไขขอบเฟรมเล็กๆ น้อยๆ วู้ดได้ใช้เทคโนโลยีและเทคนิคสมัยใหม่ทุกอย่าง และเอฟเฟ็กต์ที่สำคัญที่สุดสำหรับวู้ดคือการย้อนเวลากลับ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการกดลงที่อัญมณีตรงด้ามกริช และปล่อยทรายแห่งกาลเวลาออกมา “เราตัดสินใจทันทีว่าเราจะย้อนเรื่องไปข้างหลังไม่ได้” วู้ดอธิบาย “เราไม่อยากให้มันเหมือนกับการย้อนกลับของวิดีโอ เราจะต้องใช้วิธีการแปลกใหม่ที่มีภาพน่าสนใจ และสิ่งที่เราตั้งใจใช้คือเอฟเฟ็กต์ตัดต่อที่ทุกอย่างจะถูกกระชับเข้าด้วยกันทั้งในเรื่องของเวลาและสถานที่” “สิ่งที่เราทำสำหรับฉากย้อนเวลาถูกออกแบบโดยบริษัทวิชวล เอฟเฟ็กต์ ดับเบิล เนกาตีฟครับ” วู้ดเล่าต่อ “พวกเขาเรียกมันว่า ‘อีเวนต์ แคปเจอร์’ เราจะสร้างภาพซีเควนซ์นั้นขึ้นมาก่อนด้วย ‘อนิเมติกส์’ ซึ่งจะเหมือนกับสตอรีบอร์ดที่เคลื่อนไหวได้ จากนั้น เราค่อยมาสู่ฉากถ่ายทำหลัก ถ่ายทำแอ็กชันแบบไปข้างหน้า ตามด้วยการทำงานเอฟเฟ็กต์อีกสี่วัน ที่เราจะวางกล้องในตำแหน่งที่เราอยากจะถ่ายทำช็อตนั้นๆ” “เราใช้กล้อง Arriflex 435 เก้าตัวถ่ายทำด้วยเลนส์เหมือนๆ กัน ด้วยความเร็ว 48 เฟรมต่อวินาที ด้วยมุมกล้อง 45 องศา ซึ่งกลายเป็นความท้าทายเมื่อต้องให้แสงฉากใหม่น่ะครับ” วู้ดกล่าวต่อ “เราทำแบบนั้นเพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราได้ทีมงานจากดับเบิล เนกาตีฟ ผู้จะจัดวางตำแหน่งของกล้องในแต่ละครั้ง ตำแหน่งพวกนั้นต้องเป๊ะๆ ครับ และเราก็ต้องใช้เวลาสองชั่วโมงในการเซ็ทกล้องแต่ละครั้ง” “เราต้องให้นักแสดงหลักของเราแสดง 20 นาที ไปพักสองชั่วโมง แล้วกลับมาแสดงต่ออีก 20 นาที และจำให้ได้ว่าพวกเขายืนตรงไหน มันเป็นความท้าทายครับ ที่เราต้องพยายามทำให้มันสดใหม่สำหรับแต่ละครั้งที่เราเห็นมัน” การถ่ายทำหฤโหดของซีเควนซ์ย้อนเวลาท้าทายความสามารถในการจดจำและสมาธิของนักแสดงอย่างเห็นได้ชัด “ฉันไม่เคยแสดงซีเควนซ์วิชวล เอฟเฟ็กต์มาก่อน และมันก็เป็นกระบวนการที่ยาวนานจริงๆ ค่ะ” เจ็มมา อาร์เทอร์ทันกล่าวยอมรับ “แต่พอคุณได้เห็นมัน คุณจะเห็นว่ามันดูน่าอัศจรรย์ใจและช่วยเพิ่มมิติให้กับหนังเรื่องนี้จริงๆ ค่ะ” ประวัตินักแสดง เจค จิลเลนฮาล (แดสตัน) นักแสดงผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ด ได้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองในฐานะหนึ่งในนักแสดงที่มาแรงที่สุดในรุ่นของเขา การแสดงที่โดดเด่นและหลากหลายของเขาเป็นที่สนใจของทั้งนักวิจารณ์และผู้ชมไม่ต่างกัน จิลเลนฮาลได้รับรางวัลบาฟตาสาขานักแสดงสมทบยอดเยี่ยมในปี 2006 และได้รับรางวัลสมาพันธ์นักวิจารณ์ และเขายังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์และสมาพันธ์นักแสดงจากการแสดงอันโดดเด่นของเขาในบทแจ็ค ทวิสต์ในภาพยนตร์โดยอัง ลีเรื่อง “Brokeback Mountain” เมื่อเร็วๆ นี้ จิลเลนฮาลเพิ่งจะเสร็จสิ้นจากการถ่ายทำภาพยนตร์โดยดันแคน โจนส์เรื่อง “Source Code” ที่ร่วมแสดงโดยมิเชลล์ โมนาแกนและภาพยนตร์โดยเอ็ด ซวิคเรื่อง “Love and Other Drugs” ที่แสดงประกบแอนน์ ฮาธาเวย์ และจะจัดจำหน่ายโดยทเวนตี้ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ปี 2010 ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่ ภาพยนตร์โดยจิม เชอริแดนเรื่อง “Brothers” ที่เขาแสดงประกบนาตาลี พอร์ตแมนและโทบี แม็กไกวร์, ภาพยนตร์โดยกาวิน ฮู้ดเรื่อง “Rendition” ที่แสดงประกบเมอริล สตรีพ, อลัน อาร์กิน, รีส วิธเธอร์สปูนและปีเตอร์ ซาร์สการ์ด, ภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องของเดวิด ฟินเชอร์เรื่อง “Zodiac” ที่เขาแสดงประกบโรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์และมาร์ค รัฟฟาโล, ภาพยนตร์โดยแซม เมนเดสเรื่อง “Jarhead” ที่เขาแสดงประกบเจมี ฟ็อกซ์และปีเตอร์ ซาร์สการ์ด, ภาพยนตร์โดยจอห์น แมดเดนเรื่อง “Proof” ที่เขาแสดงประกบแอนโธนี ฮ็อปกินส์และกวินเนธ พัลโทรว์, ภาพยนตร์โดยมิเกล อาร์เททาเรื่อง “The Good Girl” ที่เขาแสดงประกบเจนนิเฟอร์ อานิสตันและจอห์น ซี. ไรลี, ภาพยนตร์โดยแบรด ซิลเบอร์ลิงเรื่อง “Moonlight Mile” ที่เขาแสดงประกบดัสติน ฮอฟแมนและซูซาน ซาแรนดอน, ภาพยนตร์โดยนิโคล โฮโลฟเซเนอร์เรื่อง “Lovely and Amazing” ที่เขาแสดงประกบแคทเธอรีน คีนเนอร์, ภาพยนตร์คัลท์ฮิตโดยริชาร์ด เคลลีเรื่อง “Donnie Drako” และภาพยนตร์โดยโจ จอห์นสตันเรื่อง “October Sky” ที่เขาแสดงประกบคริส คูเปอร์และลอรา เดิร์น ด้านละครเวที จิลเลนฮาลได้แสดงในละครโดยเคนเนธ โลเนอร์แกนเรื่อง “This Is Our Youth” ประกบแอนนา พาควินและเฮย์เดน คริสเตนเซน ละครเรื่องนี้เปิดแสดงที่เวสต์เอนด์ของลอนดอนนานแปดสัปดาห์และทำให้จิลเลนฮาลได้รับรางวัลอีฟนิง สแตนดาร์ด เธียเตอร์ อวอร์ดสาขานักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยม หลังจากที่ได้รับรางวัลออสการ์ สองรางวัลลูกโลกทองคำและสองรางวัลบาฟตา จากการรับบทผู้นำทางสังคมของชาวอินเดีย มหาตะมะ คานธี เซอร์เบน คิงส์ลีย์ (นีแซม) ก็ยังคงใส่ใจในรายละเอียดของบทบาทแต่ละบทของเขาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ในปี 1984 คิงส์ลีย์ได้รับรางวัลพัดมา ศรี โดยอินทิรา คานธีและรัฐบาลอินเดีย หลังจากนั้น เขาก็ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์อีกสามครั้งจาก “Bugsy” (1991), “Sexy Beast” (2000) และ “House of Sand and Fog” (2003) บทบาทที่เขาได้รับหลากหลายพอๆ กับความสามารถของเขา ตั้งแต่บทรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้มั่นคง ใน “Dave” ไปจนถึงบทฟากินจอมเจ้าเล่ห์ใน “Oliver Twist” นับตั้งแต่ได้รับการประดับยศอัศวินโดยสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่สอง ในงานนิวเยียร์ อีฟ ออเนอร์ส ลิสต์ ปี 2001 คิงส์ลีย์ก็ได้รับรางวัลต่างๆ มากมายในฐานะดาราระดับโลกอย่างแท้จริง ปัจจุบัน คิงส์ลีย์ได้ร่วมแสดงกับลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ, มาร์ค รัฟฟาโลและมิเชล วิลเลียมส์ในดรามายุค 50s โดยมาร์ติน สกอร์เซซีเรื่อง “Shutter Island” และผลงานเรื่องถัดไปของเขาได้แก่ “Teen Patti” ทริลเลอร์เฉียบคมและสะเทือนขวัญที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นในอินเดียและอังกฤษ และเล่าถึงความโลภ ความหลอกลวงและจินตนาการ ที่เขาแสดงประกบอมิตาบ บาห์จัน เมื่อเร็วๆ นี้ เขาได้แสดงประกบเพเนโลเป ครูซในภาพยนตร์เซ็กส์เรื่อง “Elegy” ที่กำกับโดยอิซาเบล โคเซ็ท โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสมาพันธ์นักวิจารณ์ลอนดอนสาขานักแสดงอังกฤษยอดเยี่ยมแห่งปี เขาได้นำแสดงในภาพยนตร์สองเรื่องที่เข้าฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ปี 2008 ซึ่งช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับผลงานของเขา นั่นคือภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออเดียนซ์ อวอร์ดและได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแกรนด์ จูรี ไพรซ์เรื่อง “The Wackness” ซึ่งเขารับบทจิตแพทย์ขี้ยาประกบจอช เพ็ค, ฟามเก้ เจนเซน, โอลิเวีย เธิร์ลบี้และแมรี-เคท โอลเซน และทริลเลอร์อาชญากรรมเรื่อง “Transsiberian” ในบทนักเดินทางลึกลับประกบวู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน นอกจากนี้ เขายังได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง “50 Dead Men” ทริลเลอร์ที่มีฉากของเรื่องเป็นไอร์แลนด์ในยุค 80s และคอเมดีอาชญากรรมเบาสมองเรื่อง “War, Inc.” กับจอห์น คูแซ็กอีกด้วย คิงส์ลีย์ ที่คร่ำหวอดในวงการละครเวทีอังกฤษ ได้เริ่มต้นอาชีพนักแสดงของเขาหลังจากที่เขาได้รับการตอบรับจากคณะรอยัล เชคสเปียร์ คัมปะนี ในปี 1967 เขาได้รับบทบาทในละครเวทีหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น “A Midsummer Night’s Dream,” “The Tempest,” “Julius Caesar” (ในบทบรูตัส) และบทนำใน “Othello” และ “Hamlet” บทบาทล่าสุดที่เขาได้รับได้แก่บทบาทในละครเรื่อง “The Country Wife,” “The Cherry Orchard,” “A Betrothal” และ “Waiting for Godot” คิงส์ลีย์เริ่มต้นงานภาพยนตร์ในปี 1972 ด้วยทริลเลอร์เรื่อง “Fear Is the Key” แต่บทสำคัญบทแรกของเขาเข้ามาในสิบปีให้หลังในอีพิคเรื่อง “Gandhi” ที่กำกับโดยริชาร์ด แอทเทนโบโรห์ หลังจากการแสดงที่ทำให้เขาได้รับรางวัลออสการ์ในเรื่องนั้นแล้ว เขาก็มีผลงานภาพยนตร์เรื่อง “Betrayal,” “Turtle Diary,” “Harem,” “Pascali’s Island,” “Without a Clue” (ในบทดร.วัตสัน ประกบไมเคิล เคนที่รับบทเชอร์ล็อค โฮล์มส์) และ “The Children” ประกบคิม โนวัค ระหว่างทศวรรษที่ 90s คิงส์ลีย์ได้สร้างชื่อให้กับตัวเองด้วยบทบาทหลากหลายเช่นบทเมเยอร์ แลนสกี้ใน “Bugsy,” “Sneakers,” “Searching for Bobby Fischer” และ “Dave” ในปี 1994 เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบาฟตา อวอร์ดจากการแสดงอันน่าประทับใจของเขาในบทอิทซ์แซ็ค สเติร์นในภาพยนตร์ที่ได้รับเจ็ดรางวัลออสการ์ของสตีเวน สปีลเบิร์กเรื่อง “Schindler’s List” ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เบน คิงส์ลีย์ก็ยังคงเป็นนักแสดงที่มีพรสวรรค์เปี่ยมล้นอย่างไม่เปลี่ยนแปลง หลังจากที่เขาเริ่มต้นด้วยภาพยนตร์อย่าง “Rules of Engagement,” “What Planet Are You From?” และการแสดงในบทอันธพาลเหี้ยมที่ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์ใน “Sexy Beast” เขาได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์ครั้งล่าสุดในปี 2004 จากการรับบทผู้อพยพชาวอิหร่านผู้หยิ่งทะนงในภาพยนตร์เรื่อง “House of Sand and Fog” ผลงานภาพยนตร์ของเขาในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ได้แก่ ภาพยนตร์โดยโรมัน โปแลนสกี้เรื่อง “Oliver Twist,” ดรามาอาชญากรรมเรื่อง “Lucky Number Slevin,”ภาพยนตร์โดยจอห์น ดัห์ลเรื่อง “You Kill Me” และตำนานเกี่ยวกับอาณาจักรโรมันเรื่อง “The Last Legion” นักแสดงสาวดาวรุ่ง เจ็มมา อาร์เทอร์ทัน (ทามินา) ได้เปิดตัวในโลกภาพยนตร์ด้วยผลงานเรื่อง “St. Trinian’s” ที่กำกับโดยโอลิเวอร์ ปาร์คเกอร์และบาร์นาบี ธอมป์สัน โดยอาร์เทอร์ทันรับบทเคลลี หัวหน้านักเรียน ในเวอร์ชันปัจจุบันของภาพยนตร์คลาสสิกยุค 50s ในปี 2008 อาร์เทอร์ทันได้รับบทเอเยนต์ ฟิลด์สในภาพยนตร์เรื่อง “Quantum of Solace” ที่นำแสดงโดยแดเนียล เคร็กในการรับบทสายลับ 007 เป็นครั้งที่สอง และรับบทนำในซีรีส์บีบีซีที่ดัดแปลงจากนิยายโดยโธมัส ฮาร์ดีเรื่อง “Tess of the D’Urbervilles” อาร์เทอร์ทันได้รับบทสมทบในภาพยนตร์โดยกาย ริทชีเรื่อง “RocknRolla” และได้ร่วมแสดงใน “Pirate Radio” (หรือ“The Boat that Rocked”) ที่กำกับโดยริชาร์ด เคอร์ติส ผลงานภาพยนตร์ที่อาร์เทอร์ทันนำแสดงได้แก่ “The Disappearance of Alice Creed,” “Clash of the Titans” และ “Tamara Drewe” ผลงานจอแก้วของเธอได้แก่ซีรีส์โดยสตีฟน โพเลียคอฟเรื่อง “Capturing Mary” (บีบีซี) และ “Lost in Austen” (ไอทีวี) ส่วนผลงานละครเวทีของเธอได้แก่ “Love’s Labour’s Lost” ที่กำกับโดยโดมินิค ดรอมกูลที่โรงละครเชคสเปียร์ โกลบ เธียเตอร์ อาร์เทอร์ทันสำเร็จการศึกษาจากรอยัล อคาเดมี ออฟ ดรามาติค อาร์ตส์ (อาร์เอดีเอ) ในซัมเมอร์ปี 2007 อัลเฟร็ด โมลินา (ชีคอามาร์) เป็นนักแสดงชาวอังกฤษผู้ประสบความสำเร็จ ผู้ซึ่งการแสดงหลากหลายที่น่ายกย่องของเขาได้นำไปสู่ผลงานที่ประสบความสำเร็จทั้งในแวดวงภาพยนตร์ โทรทัศน์และละครเวที เมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว เขาได้แสดงในภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องเรื่อง “An Education” และได้ถ่ายทำซีรีส์คอเมดีให้กับบีบีซี ที่เขาแสดงประกบดอว์น เฟรนช์ ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2009 ที่ผ่านมา โมลินาได้แสดงละครโปรดักชันของดอนมาร์ แวร์เฮาส์ที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงเรื่อง “Red” ในอังกฤษ และต่อมาละครเรื่องนี้ก็ได้เปิดแสดงที่บรอดเวย์ในเดือนเมษายน ปี 2010 เขาได้ร่วมแสดงกับนิโคลัส เคจในภาพยนตร์เรื่อง “The Sorcerer’s Apprentice” ที่จะลงโรงในซัมเมอร์นี้ ในปี 2002 โมลินาได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมและได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบาฟตา, รางวัลสมาพันธ์นักแสดง, รางวัลบรอดคาสต์ ฟิล์ม คริติกส์และรางวัลสมาพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชิคาโก สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากบทดิเอโก ริเวรา ศิลปินคลั่งเซ็กส์ชาวเม็กซิกันใน “Frida”ดรามาสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของฟรีดา คาห์โลที่นำแสดงโดยซัลมา ฮาเย็ค ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ ผลงานภาพยนตร์ล่าสุดของเขาได้แก่ “Pink Panther 2” ที่เขาแสดงประกบสตีฟ มาร์ติน, “The Little Traitor” ที่ดัดแปลงจากนิยายโดยเอมอส ออซ, “Panther in the Basement” ที่กำกับโดยลินน์ รอธ และอำนวยการสร้างโดยมาริลิน ฮอลและ “The Tempest” ที่ทำให้เขาได้ร่วมงานกับผู้กำกับจูลีย์ เทย์เมอร์อีกครั้งหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากละครเชคสเปียร์ ที่พรอสเพโรถูกเปลี่ยนเพศให้กลายเป็นหญิงในชื่อพรอสเพรา หลังจากที่ได้เข้าศึกษาที่กิลด์ฮอล สคูล ออฟ มิวสิค แอนด์ ดรามาในลอนดอนแล้ว เขาก็ได้เป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะละครรอยัล เชคสเปียร์ คัมปะนี ที่โด่งดังของอังกฤษอย่างรวดเร็ว โดยเขาได้แสดงทั้งในละครคลาสสิกอย่าง “Troilus and Cressida” และละครออริจินอลใหม่ๆ อย่าง “Frozen Assets” และ “Dingo” ในปี 1979 เขาได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม (และได้รับรางวัลเพลย์ แอนด์ เพลเยอร์ส อวอร์ดสาขานักแสดงดาวรุ่งยอดเยี่ยม) ในบทเดอะ มานิแอ็คในละครเรื่อง "Accidental Death of an Anarchist" ที่จัดแสดงที่โรงละครฮาล์ฟ มูน เธียเตอร์ในกรุงลอนดอน สองปีให้หลัง โมลินาได้เปิดตัวในภาพยนตร์อเมริกันเรื่องแรกด้วย “Raiders of the Lost Ark” และผลงานของเขาในดรามาปี 1987 ของสตีเฟน เฟรียส์เรื่อง “Prick Up Your Ears” ก็ทำให้เขาได้รับเสียงชื่นชมจากการแสดงในบทเคนเนธ ฮัลลิเวล ผู้เปี่ยมด้วยแรงอาฆาต คนรักเกย์ของนักเขียนบทละครโจ ออร์ตัน การงานของโมลินายังคงรุ่งโรจน์ในหนึ่งทศวรรษให้หลัง ด้วยบทบาทที่หลากหลายเช่นสามีชนชั้นสูง ผู้ไร้สุขในภาพยนตร์โดยไมค์ นีเวลล์เรื่อง “Enchanted April,” ช่างทาสีผู้มีความสุข ทิโทเรลลีในภาพยนตร์ปี 1993 ของเดวิด โจนส์ที่ดัดแปลงจากนิยายโดยคาฟกาเรื่อง “The Trial” และบทสามีจอมเจ้าเล่ห์ชาวเปอร์เซียใน “Not Without My Daughter” เขาได้ร่วมงานกับผู้กำกับดอนเนอร์อีกครั้งในเวสเทิร์นขำขันเรื่อง “Maverick” และรับบทเล็กๆ แต่สำคัญเป็นพ่อค้ายาสุดเพี้ยนในภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์ของพอล โธมัส แอนเดอร์สันเรื่อง “Boogie Nights” (1997) โมลินาได้ร่วมงานกับแอนเดอร์สันอีกครั้งในดรามาอีพิครวมดาราเรื่อง “Magnolia” (1999) และเขาก็ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสมาพันธ์นักแสดงจากทั้งสองเรื่องในฐานะส่วนหนึ่งของทีมนักแสดง เขายังคงแสดงให้เห็นถึงความสามารถของเขาในการรับบทเป็นตัวละครหลากหลายเชื้อชาติ โดยเขาได้รับบทผู้อพยพชาวคิวบาในภาพยนตร์โดยมิรา แนร์เรื่อง “The Perez Family” (1995) และทนายความชาวกรีก/อเมริกันในดรามาโดยบาร์เบ็ต ชโรเดอร์เรื่อง “Before and After” (1996) ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาของเขาได้แก่ทริลเลอร์ไซไฟโดยโรเจอร์ โดนัลด์สันเรื่อง “Species,” ทริลเลอร์ขบขันโดยจอน เอมีเอลเรื่อง “The Man Who Knew Too Little,” ภาพยนตร์โดยเบอร์นาร์ด โรสเรื่อง “Anna Karenina,” ภาพยนตร์โดยวู้ดดี้ อัลเลนเรื่อง “Celebrity” และภาพยนตร์โดยสแตนลีย์ ตุชชีเรื่อง “The Imposters” ในช่วงทศวรรษนี้ โมลินาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสมาพันธ์นักแสดงครั้งที่สามในสาขาทีมนักแสดงยอดเยี่ยมจากโรแมนติกคอเมดีขำขันที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ของแลสซี ฮอลสตรอมเรื่อง “Chocolat” และได้กลับมาร่วมงานกับฮอลสตรอมอีกครั้งเมื่อเขาได้แสดงประกบริชาร์ด เกียร์เรื่อง “The Hoax” เขาสร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้ชมจากการรับบทตัวร้ายดร.ออตโต้ อ็อคตาเวียส หรือดร.อ็อคโตปุส ในซีเควลบล็อกบัสเตอร์โดยแซม ไรมีเรื่อง “Spider-Man 2” โมลินาได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์อีกหลายเรื่องเช่น “Identity,” ภาพยนตร์โดยจิม จาร์มัสช์เรื่อง “Coffee and Cigarettes,” ภาพยนตร์โดยรอน โฮเวิร์ดที่ดัดแปลงจากหนึ่งในหนังสือที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาลเรื่อง “The Da Vinci Code,” ภาพยนตร์โดยอิซาเบล โคเซ็ทเรื่อง “My Life Without Me,” ดรามาชีวประวัติโดยอีริค ทิลเรื่อง “Luther,” ทริลเลอร์ระทึกขวัญสองภาษาเรื่อง “Cronicas,” ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากบทละครเชคสเปียร์โดยเคนเนธ บรานาห์เรื่อง “As You Like It,” ภาพยนตร์โดยฟรังซัวส์ จิราร์ดเรื่อง “Silk” และภาพยนตร์โดยจอห์น เออร์วินเรื่อง “The Moon an the Stars” ด้านจอแก้ว โมลินาได้นำแสดงในซิทคอมสองเรื่องของซีบีเอส เขารับบทนักเขียนตกอับ ที่ลูกสาวกำลังตามหาตัวเขาใน “Bram and Alice” (2002) และบทจิมมี สไตล์สใน “Ladies’ Man” ซึ่งเขารับหน้าที่หนึ่งในผู้อำนวยการสร้างด้วย ผลงานจอแก้วเรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่มินิซีรีส์ชื่อดังปี 1983 เรื่อง “Reilly: Ace of Spies,” “Miami Vice,” ภาพยนตร์ที่แพร่ภาพทางบีบีซีเรื่อง “Revolutionary Witness,” ซีรีส์ทางกรานาดา ทีวีเรื่อง “El C.I.D.,” มินิซีรีส์ทางบีบีซีเรื่อง “Ashenden” (ที่สร้างขึ้นจากเบสต์เซลเลอร์โดยปีเตอร์ เมย์เลสเรื่อง “A Year in Provence”), ซีรีส์ทางฮอลมาร์ค แชนแนลเรื่อง “Joan of Arc” (เป็นผู้บรรยาย) และบทดารารับเชิญในซีรีส์ “Law & Order: Special Victims Unit” และ “Monk” ถึงแม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จจากงานภาพยนตร์และโทรทัศน์ โมลินาก็ไม่เคยห่างหายไปจากเวที เขาหวนคืนสู่รอยัล เชคสเปียร์ คัมปะนี เพื่อรับบทเพทรูชิโอในละครเรื่อง “Taming of the Shrew” (1985) ที่ทำให้เขาได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม และเขาก็ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลโอลิเวียร์ จากผลงานของเขาในละครโปรดักชันอังกฤษโดยเดวิด มาเม็ตเรื่อง “Speed the Plow” การแสดงละครเวทีบรอดเวย์ของเขาในบทอีวาน ชายอารมณ์ดีในละครโดยยัสมินา เรซาเรื่อง “Art” (1998 ที่นำแสดงโดยอลัน อัลดาและวิคเตอร์ การ์เบอร์) ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลโทนีครั้งแรกในจำนวนสองครั้ง (สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในละครดรามา) เขาได้เปิดตัวบนเวทีบรอดเวย์ในบทแฟรงค์ สวีนนีย์ ชาวไอริชจอมจ้อในละครโดยไบรอัน ฟรีลเรื่อง “Molly Sweeney” (1995-96) และล่าสุด เขาก็ประสบความสำเร็จในบทเทฟเยในละครปี 2004 เรื่อง “Fiddler on the Roof” ที่ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลโทนีเป็นครั้งที่สอง (สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในมิวสิคัล) และเขาก็เพิ่งเสร็จสิ้นจากการแสดงละครเรื่อง “The Cherry Orchard” (2006) ประกบแอนเน็ตต์ เบนนิง ที่จัดแสดงขึ้นที่มาร์ค เทเปอร์ ฟอรัม สตีฟ ทูซอน (เซโซ) ประสบความสำเร็จทั้งด้านจอแก้วและจอเงิน ด้านจอแก้ว ในอังกฤษและอเมริกา เขาเป็นขาประจำในซีรีส์โดยเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์เรื่อง “CSI: Miami,” “Silent Witness” , “The Bill,” “Broken News,” “My Dad’s the Prime Minister,” “Family Affairs,” “Doctors” and “The Knock.” He’s made guest appearances in “The Memoirs of Sherlock Holmes,” “Backup,” “Dangerfield,” “Casualty,” “Murder in Mind,” “Murphy’s Law,” “Holby City,” “New Tricks” และ “Spooks” ผลงานภาพยนตร์ของทูซอนได้แก่ “I.D.,” “Judge Dredd,” “Dog Eat Dog,” “The Order,” “Shooting Dogs,” “Roadblock,” “The Mutant Chronicles” และ “Broken Lines” ส่วนผลงานละครเวทีของเขารวมถึงละครโดยควอม เคว-อาร์มาห์เรื่อง “Fix Up” ที่โรงละครเนชันแนล เธียเตอร์ในกรุงลอนดอน โทบี้ เค็บเบลล์ (การ์ซีฟ) หนึ่งในนักแสดงดาวรุ่งที่มาแรงที่สุดในอังกฤษ ได้แสดงประกบนิโคลัส เคจและอัลเฟร็ด โมลินา ในภาพยนตร์เรื่อง “The Sorcerer’s Apprentice” ที่จะลงโรงในซัมเมอร์นี้ ในช่วงปลายปีนี้ เค็บเบลล์จะได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์โดยผู้กำกับโรเบิร์ต เรดฟอร์ดเรื่อง “The Conspirators” ที่สร้างขึ้นจากเหตุการณ์การลอบสังหารประธานาธิบดีลินคอล์น โดยเขาจะได้รับบทสำคัญ จอห์น วิลค์ บูธ ประกบเจมส์ แม็คเอวอยและโรบิน ไรท์ เค็บเบลล์เกิดในพอนเทแฟรคท์, นอร์ธ ยอร์คเชียร์ และเติบโตในนิวอาร์ค, นอตติ้งแฮมเชียร์ เขาเริ่มสนใจในการแสดงตั้งแต่สมัยเรียนประถม โดยเขาได้รับการสนับสนุนจากครูสอนการละคร ที่ได้เตือนเขาว่าการยึดอาชีพนักแสดงเป็นเรื่องยากลำบาก หลังจากที่เข้าศึกษาที่เซ็นทรัล เทเลวิชัน เวิร์คช็อปในนอตติ้งแฮมเชียร์ ทักษะของเค็บเบลล์ก็เป็นที่สนใจของเชน มีโดว์ส ผู้ซึ่งการบันทึกเรื่องราวของชนชั้นแรงงานอังกฤษในมิดแลนด์ของเขาเป็นที่ชื่นชอบของแฟนๆ มีโดว์สได้เลือกเค็บเบลล์ให้แสดงประกบแพ็ดดี้ คอนซิไดน์และแกรี สเตรทช์ใน “Dead Man’s Shoes” ในบทน้องชายปัญญาอ่อนของคอนซิไดน์ บทนี้ทำให้เขาได้รับความชื่นชมจากนักวิจารณ์และผู้ชม รวมถึงได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบริติช อินดีเพนเดนท์ ฟิล์ม อวอร์ด (บีไอเอฟเอ) สาขานักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยม หลังจากที่แกรี สเตรทช์ได้แนะนำเค็บเบลล์ให้รู้จักกับเอเยนต์คัดเลือกนักแสดง ลูซินดา ซิสัน เขาก็ได้พบกับผู้กำกับโอลิเวอร์ สโตน ผู้เลือกให้เขารับบทเล็กๆ ที่สำคัญอย่าง พอแซเนียส มือสังหารกษัตริย์ฟิลิปแห่งมาซีดอน ในอีพิคเรื่อง “Alexander” ที่นำแสดงโดยโคลิน ฟาร์เรล, แองเจลินา โจลี, วัล คิลเมอร์, แอนโธนี ฮ็อปกินส์และจาเร็ด เลโตการแสดงเรื่องนี้นำไปสู่การแสดงละครเวสต์เอนด์โดยอาร์.ซี. เชอร์ริฟฟ์เรื่อง “Journey’s End” ที่กำกับโดยเดวิด กรินด์ลีย์ เค็บเบลล์ได้ขยับขยายไปสู่งานโทรทัศน์ด้วยการทำงานพากย์เสียงให้กับเดอะ ดิสนีย์ แชนแนลในอังกฤษ ด้วยการทำหน้าที่ผู้แนะนำรายการก่อนที่จะถูกเลือกให้ร่วมแสดงในละครโดยผู้กำกับไมเคิล แอทเทนโบโรห์เรื่อง “Enemies” ที่โรงละครอัลเมดา เธียเตอร์ในอิสลิงตัน หลังจากนั้น เขาก็กลับมาแสดงภาพยนตร์ในผลงานที่ได้รับการยกย่องของผู้กำกับแอนตัน คอร์บินเรื่อง “Control” ซึ่งบอกเล่าชีวประวัติของเอียน เคอร์ติสแห่งวงจอย ดิวิชัน ในบทร็อบ เกรททอน บทบาทนี้ทำให้เค็บเบลล์ได้รับรางวัลบริติช อินดีเพนเดนท์ ฟิล์ม อวอร์ด (บีไอเอฟเอ) สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม และรางวัลเทรลเบลเซอร์ อวอร์ดจากเทศกาลภาพยนตร์เอดินเบิร์กห์ และเขายังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลอนดอน คริติกส์ ชอยส์ อวอร์ดสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมอีกด้วย เค็บเบลล์เป็นตัวเลือกแรกของผู้กำกับกาย ริทชีให้รับบทจอห์นนี ควิด หนุ่มขี้ยา ในภาพยนตร์เรื่อง “RocknRolla” ซึ่งบทบาทของเขาในภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ร่วมแสดงโดยเจอราร์ด บัตเลอร์, แธนดี้ นิวตัน, ทอม วิลคินสัน, อิดริส เอลบาและเจ็มมา อาร์เทอร์ทัน ก็ทำให้เขาได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากทั้งนักวิจารณ์และผู้ชม เมื่อเร็วๆ นี้ เค็บเบลล์ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบาฟตา สาขานักแสดงดาวรุ่งยอดเยี่ยมในปี 2009 เขาใช้ชีวิตอยู่ในย่านเวสต์เอนด์ในกรุงลอนดอน ริชาร์ด คอยล์ (ทุส) เป็นนักแสดงที่ประสบความสำเร็จ เขาอาจเป็นที่รู้จักดีที่สุดจากบทเจฟ เมอร์ด็อคในซีรีส์โทรทัศน์เรื่อง “Coupling” คอยล์เกิดและเติบโตในเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ เขาเริ่มต้นอาชีพนักแสดงเมื่อเขาเริ่มสนใจในการละครระหว่างที่เขาศึกษาเรื่องการเมืองที่มหาวิทยาลัยยอร์ก นอกเหนือจากซีรีส์ “Coupling” แล้ว คอยล์ยังได้แสดงบทนำใน “Strange” และ “The Whistleblowers” ผลงานภาพยนตร์จอแก้วของเขาได้แก่ “The Life and Crimes of William Palmer,” “Lorna Doone,” “Sword of Honour,” “Othello,” “Gunpowder, Treason & Plot,” “Ultra,” “The Best Man” และ “Cracker” รวมไปถึงมินิซีรีส์เรื่อง “Up Rising” และ “Wives and Daughters” ผลงานภาพยนตร์ของคอยล์ได้แก่ภาพยนตร์โดยไมค์ ลีห์เรื่อง “Topsy-Turvy,” “The Libertine” และภาพยนตร์โดยริดลีย์ สก็อตเรื่อง “A Good Year” โรนัลด์ พิคอัพ (กษัตริย์ชารามาน) เกิดในเมืองเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เขาเข้าศึกษาที่คิงส์ สคูลและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัยลีดส์ เขาได้ฝึกฝนด้านการแสดงที่รอยัล อคาเดมี ออฟ ดรามาติก อาร์ตส์ระหว่างปี 1962-64 และเข้าร่วมคณะเลสเตอร์ รีเพอร์ทอรี คัมปะนีในการแสดงละครเวทีสองเรื่องคือ “Virtue in Danger” และ “All in Good Time” หลังจากนั้นสามเดือน เขาก็ได้เข้าร่วมกับคณะรอยัล คอร์ท เธียเตอร์ และรับบทอ็อคตาเวียสในละครเรื่อง “Julius Caesar” และในปี 1965 เขาก็ได้รับคำเชิญจากวิลเลียม แกสคิล ให้รับบทนำในละครเรื่อง “Shelley” ในระหว่างที่เขาแสดงร่วมกับรอยัล คอร์ท เขายังได้เล่นละครเรื่อง “Juno and the Paycock” ที่จัดแสดงที่โรงละครเนชันแนล เธียเตอร์อีกด้วย ในปี 1967 พิคอัพได้แสดงในเวอร์ชันโทรทัศน์ของเรื่อง “Much Ado About Nothing” และ “Romeo and Juliet” หลังจากนั้น เขาก็ได้รับบทแอเรียลในเวอร์ชันโทรทัศน์ของเรื่อง “The Tempest” และบทบาทหลวงมาร์ตินใน “Saint Joan” ระหว่างปี 1967-68 เขาได้แสดงละครของโรงละครเนชันแนล เธียเตอร์เรื่อง “As You Like It” ละครชายล้วนในบทโรซาลินด์และในละครโดยปีเตอร์ บรูคส์เรื่อง “Oedipus” ที่ร่วมแสดงกับเซอร์จอห์น กีลกูดและไอรีน เวิร์ธ ในช่วงปลายซีซันนั้น เขาได้เล่นละครโดยจอห์น เลนนอนเรื่อง “In His Own Write” ในบทนำ ผลงานมากมายของพิคอัพที่โรงละครเนชันแนล เธียเตอร์ ภายใต้เซอร์ลอว์เรนซ์ โอลิเวียร์ได้แก่บทกิลเดนสเติร์นในเรื่อง “Rosencrantz and Guildenstern Are Dead,” บทเซนต์จัสต์ใน “Danton’s Death” และบทเอ็ดมุนด์ใน “Long Day’s Journey into Night” ในปี 1972 เขาได้รับบทนำในละครเรื่อง “Richard II” และบทโจเซฟ เซอร์เฟซในละครเรื่อง “School for Scandal” ผลงานละครเรื่องอื่นๆ ของพิคอัพได้แก่ “The Norman Conquests” ที่โรงละครโกลบ เธียเตอร์, “Madras House” ที่โรงละครเนชันแนล เธียเตอร์, “Hobson’s Choice” และ “Little Eyolf” ที่โรงละครลิริค เธียเตอร์ แฮมเมอร์สมิธ, “The Cherry Orchard” ที่โรงละครอัลด์วิค เธียเตอร์, “Amy’s View,” “Peer Gynt,” “The Party” และ “Romeo and Juliet” ที่โรงละครรอยัล เนชันแนล เธียเตอร์, “Proof” ที่โรงละครดอนมาร์ แวร์เฮาส์, “Look Back in Anger” ที่โรงละครเธียเตอร์ รอยัลในเมืองบาธและละครโดยปีเตอร์ ฮอลเรื่อง “Uncle Vanya” และ “Waiting for Godot” ที่โรงละครเฮย์มาร์เก็ต ส่วนด้านจอเงิน พิคอัพได้แสดงในภาพยนตร์เรื่อง “Joseph Andrews,” “Zulu,” “Nijinsky,” “Never Say Never Again,” “Eleni,” “The Mission,” “A Dry White Season,” “Bethune: The Making of a Hero,” “Lolita,” “Tulse Luper Suitcase,” “Greyfriar’s Bobby” และ ฯลฯ เขามีบทบาทที่หลากหลายในแวดวงจอแก้ว ซึ่งรวมถึงการรับบทนำ แรนดอล์ฟ เชอร์ชิลประกบลี เรมิคในซีรีส์โทรทัศน์โดยเธมส์ ทีวีเรื่อง “Jennie,” “Wagner,” “Giuseppe Verdi,” “Pope John Paul II,” “Einstein,” “Chekhov in Yalta,” “The Hound of the Baskervilles,” “The Nightmare Years,” “Dr. Jekyll and Mr. Hyde,” “Silent Witness,” “Ivanhoe,” “The Bill,” “Hornblower: The Duchess and the Devil,” “Dalziel and Pascoe,” “Holby City” และ ฯลฯ เขาเป็นผู้พากย์เสียงแอสลานในซีรีส์บีบีซีเรื่อง “Chronicles of Narnia: Voyage of the Dawn Treader” และ “Chronicles of Narnia: The Silver Chair.” รีซ ริทชี (บิส) เป็นนักแสดงรุ่นเยาว์ชาวอังกฤษ ผู้สร้างชื่อเสียงจากภาพยนตร์โดยปีเตอร์ แจ็คสันเรื่อง “The Lovely Bones,” ภาพยนตร์โดยโรแลนด์ เอ็มเมอริคเรื่อง “10,000 B.C.” และภาพยนตร์โดยเดนิส ทาโนวิคเรื่อง “Triage” ด้านจอแก้ว เขาได้นำแสดงใน “Atlantis” และได้ร่วมแสดงในซีรีส์ “Pete Versus Life”, “Saddam’s Tribe” และ “Silent Witness” ส่วนด้านละครเวที เขาได้แสดงประกบจูดี้ เดนช์ ในบทพัค ในละครโดยปีเตอร์ ฮอลเรื่อง “A Midsummer Night’s Dream” และในละครโดยเอโธล ฟูการ์ดเรื่อง “Victory” ที่จัดแสดงที่โรงละครเธียเตอร์ รอยัล บาธ ริทชีเริ่มต้นงานแสดงของเขาที่โรงละครเนชันแนล ยูธ เธียเตอร์ ออฟ เกรท บริเทน กิสลี ออร์น การ์ดดาร์สสัน (โซล์ม ผู้นำแฮสซานซิน) เป็นนักแสดง ผู้กำกับ มือเขียนบทและผู้อำนวยการสร้างหัวคิดใหม่ ผู้ประสบความสำเร็จทั้งด้านละครเวทีและจอเงินในไอซ์แลนด์ ประเทศบ้านเกิด, อังกฤษและทั่วโลก การ์ดดาร์สสัน เกิดในไอซ์แลนด์ แต่เติบโตที่นอร์เวย์ ที่ซึ่งเขาเริ่มต้นอาชีพนักแสดงของเขา เขาได้เข้าศึกษาที่ไอซ์แลนดิค อคาเดมี ออฟ อาร์ตส์ในปี 1997 และสำเร็จการศึกษาในปี 2001 ในปีสุดท้ายของการศึกษาที่นั่น เขาได้ร่วมก่อตั้ง เวสเทอร์พอร์ต โรงละครเล็กๆ ในร้านเครื่องไฟฟ้าร้างย่านดาวน์ทาวน์เรย์คจาวิค ตั้งแต่นั้นมา ภายใต้การบริหารงานของการ์ดดาร์สสัน เวสเทอร์พอร์ตก็ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในคณะละครที่ดีที่สุดในยุโรป ละครของการ์ดดาร์สสันถูกนำไปจัดแสดงทั่วโลก ได้รับรางวัลและการเสนอชื่อชิงรางวัลหลายครั้ง ซึ่งหลายเรื่องถ้าไม่นำแสดงโดยก็จะกำกับโดยการ์ดดาร์สสัน หรือทั้งสองอย่าง ส่วนหนึ่งของผลงานที่ว่านั้นคือละครที่ได้รับแรงบันดาลใจจากละครสัตว์เรื่อง “Romeo and Juliet,” “Brim” ซึ่งถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ที่นำแสดงโดยการ์ดดาร์ดสัน (2010), ละครโดยจอร์จ บุชเนอร์เรื่อง “Woyzeck” ที่ได้นิค เคฟและวอร์เรน เอลลิส มาแต่งดนตรีประกอบและเนื้อเพลงให้ และล่าสุดก็ได้แสดงที่บรูคลิน อคาเดมี ออฟ มิวสิคในกรุงนิวยอร์กในเดือนตุลาคม ปี 2008 และผลงานที่ได้ร่วมงานกับเคฟและเอลลิสที่เขาสร้างขึ้นจากละครโดยฟรานซ์ คาฟกาเรื่อง “Metamorphosis” ซึ่งจะจัดแสดงที่บรูคลิน อคาเดมี ออฟ มิวสิค ในกรุงนิวยอร์ก ในเดือนธันวาคม ปี 2010 โดยมีการ์ดดาร์ดสันรับบทเกรเกอร์ แซมซา ผลงานของเขายังรวมถึงมิวสิคัลอบอุ่นหัวใจเรื่อง “Love” และเวอร์ชันละครเวทีของภาพยนตร์โดยลูคัส มู้ดดี้สันเรื่อง “Together” ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2008 โดยมีนักแสดงชาวเม็กซิกัน เกล การ์เซีย เบอร์นัลรับบทนำ ละครเรื่องล่าสุดของเขา “Faust” ที่มีเคฟและเอลลิสแต่งดนตรีให้ จะจัดแสดงที่โรงละครยัง วิคในกรุงลอนดอนในเดือนตุลาคม ปี 2010 การ์ดดาร์ดสันมักได้แสดงภายใต้การกำกับของเอ็มมา ไรซ์แห่งโรงละครนีไฮ เธียเตอร์ ที่ซึ่งเขาได้แสดงละครเรื่อง “A Matter of Life and Death” ที่โรงละครเนชันแนล เธียเตอร์ในกรุงลอนดอน และเขาก็ได้รับบทในละครเรื่อง “Angela Carter’s Nights at the Circus” ที่โรงละครลิริค แฮมเมอร์สมิธ ในเดือนธันวาคม ปี 2008 การ์ดดาร์ดสันได้แสดงบทนำในละครเรื่อง “Don John” ซึ่งเป็นการอัพเดทเรื่องราวคลาสสิกให้กลายเป็นอังกฤษในยุค 70s ละครเรื่องนี้ถูกจัดแสดงที่สแตรทฟอร์ด อัพพอน เอวอน ซึ่งเป็นที่ตั้งของคณะรอยัล เชคสเปียร์ คัมปะนี และที่แบทเทอร์ซี อาร์ตส์ เซ็นเตอร์ในกรุงลอนดอน การ์ดดาร์ดสันได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง “Country Wedding,” “Beowulf and Grendel” และภาพยนตร์โดยเวสเทอร์พอร์ต ฟิล์มส์เรื่อง “Born” (Children) และ “Foreldrar” (Parents) ผลงานล่าสุดของเขาในฐานะนักแสดงคือภาพยนตร์เรื่อง “Kings Road” ที่กำกับโดยวัลดิส ออสคาร์สดอทเทียร์ และร่วมแสดงโดยนักแสดงชาวเยอรมัน แดเนียล บรูเอห์ล การ์ดดาร์ดสันฝึกฝนเพื่อเป็นนักยิมนาสติกมา 15 ปี และเขาก็ได้แข่งขันในนามทีมชาติไอซ์แลนด์จนกระทั่งอายุได้ 22 ปี เมื่อเขาได้เข้าศึกษาที่ไอซ์แลนดิค อคาเดมี ออฟ อาร์ตส์ นานสี่ปี ประวัติทีมผู้สร้าง ผลงานหลากหลายของไมค์ นีเวลล์ (ผู้กำกับ) มีทั้งในลอนดอนและฮอลลีวูด และมีทั้งภาพยนตร์และซีรีส์โทรทัศน์ นีเวลล์สำเร็จการศึกษาจากเคมบริดจ์ เขาเริ่มต้นงานกำกับเมื่ออายุได้ 22 ปี ด้วยการทำงานในละครสำหรับโทรทัศน์ ทั้งสำหรับบีบีซีและบริษัทไอทีวีส่วนใหญ่ ภาพยนตร์ที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์เรื่อง “The Man in the Iron Mask” (1977) ของเขา ซึ่งท้ายที่สุดก็กลายเป็นภาพยนตร์ กลายเป็นตัวผลักดันให้เขาประสบความสำเร็จระดับโลก ภาพยนตร์ที่เป็นการเปิดตัวในแวดวงจอเงินอย่างเป็นทางการของเขา “The Awakening” (1980) ที่นำแสดงโดยชาร์ลตัน เฮสตัน เริ่มสร้างชื่อเสียงให้กับนีเวลล์ในฐานะผู้ที่สามารถดึงสิ่งที่ดีที่สุดออกจากตัวนักแสดงของเขาได้ เขาได้ทำงานภาพยนตร์หลากหลายแนวเช่น “Dance with a Stranger” (1984) และ “Enchanted April” (1991) ในปี 1994 เขาได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง “Four Weddings and a Funeral” โรแมนติกคอเมดีทำลายสถิติที่นำแสดงโดยฮิวจ์ แกรนท์และแอนดี้ แม็คดูเวล หลังจากกลับอเมริกา นีเวลล์ก็ได้สร้างภาพยนตร์ทริลเลอร์มาเฟียเรื่อง “Donnie Brasco” (1997) ซึ่งนำเสนอการแสดงยอดเยี่ยมจากจอห์นนี เดปป์และอัล ปาชิโน ตามมาด้วยภาพยนตร์เรื่อง “Pushing Tin” (1999) ที่นำแสดงโดยเคท บลังเชตต์, จอห์น คูแซ็ก, บิลลี บ็อบ ธอร์นตันและแองเจลินา โจลีและ “Mona Lisa Smile” ที่นำแสดงโดยจูเลีย โรเบิร์ตส์, เคิร์สเตน ดันส์, จูเลีย สไตล์สและแม็กกี้ จิลเลนฮาล นีเวลล์รับหน้าที่ผู้ควบคุมงานสร้างในภาพยนตร์หลายเรื่อง รวมถึง “Traffic” (2000) และ “High Fidelity” (2000) ในฐานะผู้กำกับ “Harry Potter and the Goblet of Fire” (2005) นีเวลล์กลายเป็นผู้กำกับชาวอังกฤษคนแรกที่ได้กำกับแฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงเรื่องนี้ ผลงานล่าสุดของนีเวลล์ได้แก่ภาพยนตร์โคลัมเบียเรื่อง “Love in the Time of Cholera” ที่ดัดแปลงจากนิยายคลาสสิกโดยกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ และนำแสดงโดยฮูลิโอ บาร์เดม เรื่องราวยอดเยี่ยม ที่ได้รับการบอกเล่าอย่างเยี่ยมยอด ทั้งสำหรับผู้ชมในโรงภาพยนตร์ที่มืดมิดหรือในห้องนั่งเล่นที่บ้าน มันอาจจะนำแสดงโดยดาราหนังชั้นยอดหรือดาราพรสวรรค์หน้าใหม่ มันอาจเป็นการผจญภัยสุดระทึก คอเมดีตลกโปกฮา โศกนาฏกรรมสะเทือนใจ ประวัติศาสตร์อีพิค ความรักหวานชื่นหรือดรามาสะเทือนอารมณ์ มันอาจเกิดขึ้นในอดีตอันไกลโพ้นหรือที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ อาจเป็นอนาคตที่อยู่ในจินตนาการหรือปัจจุบันที่คุ้นเคย ไม่ว่าองค์ประกอบของเรื่องจะเป็นยังไง แต่ถ้ามันเริ่มต้นด้วยสายฟ้าฟาด มันก็คือเรื่องราวที่บอกเล่าโดยเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ (ผู้อำนวยการสร้าง) และพวกมันก็จะเป็นเรื่องราวยอดเยี่ยม ที่ได้รับการบอกเล่าอย่างเยี่ยมยอด เรื่องของตัวเลข ทั้งรายได้และรางวัลที่ได้รับ ล้วนแล้วแต่เป็นสถิติที่มักจะได้รับการบันทึกไว้เสมอ ภาพยนตร์ของบรั๊คไฮเมอร์ทำรายได้ทั่วโลกไปกว่า 15 พันล้านเหรียญจากบ็อกซ์ออฟฟิศและยอดขายวิดีโอและแผ่นเสียง ในปี 2005-6 เขาสร้างสถิติด้วยการส่งซีรีส์แพร่ภาพตามสถานีโทรทัศน์ถึงสิบเรื่อง ซึ่งเป็นสถิติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์จอแก้วเกือบ 60 ปี ผลงานภาพยนตร์และซีรีส์โทรทัศน์ของเขา (ซึ่ง 16 เรื่องในจำนวนนั้นทำรายได้เกินกว่า 100 ล้านเหรียญในบ็อกซ์ออฟฟิศอเมริกา) ได้รับการเสนอชื่อชิงอคาเดมี อวอร์ด 41 ครั้ง ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดหกครั้ง ได้รับการเสนอชื่อชิงแกรมมี อวอร์ดแปดครั้ง ได้รับรางวัลแกรมมี อวอร์ดห้าครั้ง ได้รับการเสนอชื่อชิงลูกโลกทองคำ 23 ครั้ง ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำสี่ครั้ง ได้รับการเสนอชื่อชิงเอ็มมี อวอร์ด 88 ครั้ง ได้รับรางวัลเอ็มมี อวอร์ด 18 ครั้ง ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลพีเพิล ชอยส์ อวอร์ด 23 ครั้ง ได้รับรางวัลพีเพิล ชอยส์ อวอร์ด 15 ครั้ง ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบาฟตา 12 ครั้ง ได้รับรางวัลบาฟตาสองครั้ง ได้รับรางวัลเอ็มทีวี อวอร์ดมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งรวมถึงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งทศวรรษจาก “Beverly Hills Cop” และทีน ชอยส์ อวอร์ด 20 ครั้งด้วย หากแต่ตัวเลขเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพียงเพราะความสามารถอันยอดเยี่ยมของบรั๊คไฮเมอร์ในการค้นพบเรื่องราวเหล่านี้และถ่ายทอดมันลงบนแผ่นฟิล์มได้ วอชิงตัน โพสต์ พูดถึงเขาว่าเป็น “ชายผู้บ้าบิ่น” เขาอาจจะเกิดมาแบบนั้นก็จริงแต่จริงๆ แล้ว พรสวรรค์ตามธรรมชาติของเขาน่าจะได้รับการขัดเกลาจนคมกริบในช่วงเริ่มแรกของการทำงานของเขา ภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ของเขาคือเรื่องราว 60 วินาทีที่เขาบอกเล่าในฐานะผู้อำนวยการสร้างโฆษณาเจ้าของรางวัลในดีทรอยต์บ้านเกิด หนึ่งในภาพยนตร์ขนาดสั้นเหล่านั้น ซึ่งเป็นการล้อเลียนภาพยนตร์เรื่อง “Bonnie and Clyde” ซึ่งสร้างขึ้นสำหรับพอนทิแอค ได้รับการยกย่องใน ไทม์ แม็กกาซีน และทำให้ผู้อำนวยการสร้างวัย 23 ปีคนนี้ได้รับความสนใจจากบริษัทโฆษณา บีบีดี แอนด์ โอ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งนำเขาไปสู่นิวยอร์ก สี่ปีจากการทำงานในเมดิสัน อะเวนิว ทำให้เขามีประสบการณ์และความมั่นใจมากพอที่จะก้าวสู่ฮอลลีวูดและด้วยวัยที่ไม่ถึง 30 ดี เขาก็ได้กุมบังเหียนภาพยนตร์ที่น่าจดจำอย่าง “Farewell, My Lovely,” “American Gigolo” และ “Flashdance” ในปี 1983 ซึ่งเปลี่ยนแปลงชีวิตของบรั๊คไฮเมอร์ด้วยการทำรายได้กว่า 92 ล้านเหรียญในอเมริกาและเป็นการชักนำเขาให้ได้ทำงานคู่กับดอน ซิมป์สัน ผู้จะเป็นคู่หูอำนวยการสร้างของเขาตลอด 13 ปีถัดไป ซิมป์สันและบรั๊คไฮเมอร์ร่วมกันอำนวยการสร้างภาพยนตร์ฮิตเรื่องแล้วเรื่องเล่า ซึ่งได้แก่ “Top Gun,” “Days of Thunder,” “Beverly Hills Cop,” “Bad Boys,” “Dangerous Minds” และ “Crimson Tide” ความสำเร็จด้านรายได้ของพวกเขาได้รับการยอมรับทั้งในปี 1985 และ 1988 โดยสมาคมเจ้าของโรงภาพยนตร์แห่งชาติ (นาโต้) ได้มอบรางวัลผู้อำนวยการสร้างแห่งปีให้กับบรั๊คไฮเมอร์ และในปี 1988 สมาพันธ์นักประชาสัมพันธ์แห่งอเมริกาก็ได้มอบรางวัลคนวงการภาพยนตร์ดีเด่นแห่งปีให้แก่เขาและซิมป์สัน ในปี 1996 บรั๊คไฮเมอร์ได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “The Rock” ซึ่งเป็นการทวงตำแหน่งดารานักบู๊ของฌอน คอนเนอรีกลับคืนมาและผลักดันให้นิโคลัส เคจกลายเป็นดารานักบู๊คนใหม่ “The Rock” ซึ่งได้รับการขนานนามให้เป็นภาพยนตร์ยอดนิยมแห่งปีโดยนาโต้ กวาดรายได้ไปกว่า 350 ล้านเหรียญทั่วโลกและเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่บรั๊คไฮเมอร์อำนวยการสร้างร่วมกับซิมป์สัน ผู้ที่เสียชีวิตลงระหว่างการถ่ายทำ เมื่อต้องทำงานคนเดียว บรั๊คไฮเมอร์ก็เริ่มต้นปี 1997 ด้วย “Con Air” ซึ่งทำรายได้ไปกว่า 230 ล้านเหรียญ ได้รับรางวัลแกรมมี และได้รับการเสนอชื่อชิงสองรางวัลออสการ์ และทำให้บรั๊คไฮเมอร์ได้รับรางวัลความสำเร็จในบ็อกซ์ออฟฟิศต่างชาติของโชเวสต์สำหรับรายได้ภาพยนตร์ในต่างประเทศซึ่งไม่มีใครเทียบ จากนั้น เขาก็มีผลงานเป็นภาพยนตร์ฮิตของทัชสโตน พิคเจอร์สเรื่อง “Armageddon” ที่นำแสดงโดยบรูซ วิลลิส, บิลลี บ็อบ ธอร์นตัน, เบน แอฟเฟล็ค, ลีฟ ไทเลอร์และสตีฟ บุสเชมี ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่กำกับโดยไมเคิล เบย์ กลายเป็นภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของปี 1998 โดยทำรายได้เกือบ 560 ล้านเหรียญทั่วโลกและเป็นการแนะนำ “I Don’t Want to Miss a Thing” ซิงเกิลฮิตอันดับหนึ่งตัวแรกของ แอโรสมิธ วงร็อคในตำนาน พอถึงช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษ บรั๊คไฮเมอร์ก็ได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Enemy of the State” ที่นำแสดงโดยวิล สมิธและจีน แฮ็คแมนและ “Gone in 60 Seconds” ที่นำแสดงโดยเคจ, แองเจลินา โจลีและโรเบิร์ต ดูวัลล์ ซึ่งทั้งสองเรื่องทำรายได้ไปกว่า 225 ล้านเหรียญทั่วโลก เรื่อง “Coyote Ugly” ก็มีอัลบัมซาวน์ดแทร็คที่ทำยอดขายถึงระดับสามแผ่นทองคำขาว ส่วน “Remember the Titans” ที่นำแสดงโดยเดนเซล วอชิงตัน ก็ได้รับรางวัลเอ็นเอเอซีพี อิเมจ อวอร์ด เพื่อนๆ ของเขาในสมาพันธ์ผู้อำนวยการสร้างแห่งอเมริกายอมรับความสามารถของเขาด้วยการมอบรางวัลเดวิด โอ. เซลซ์นิค อวอร์ดสาขาเกียรติคุณแห่งชีวิตในภาพยนตร์ เขาเริ่มต้นศตวรรษที่ 21 ด้วยภาพยนตร์เรื่อง “Pearl Harbor” ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงสามรางวัลออสการ์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่นำแสดงโดยแอฟเฟล็ค, จอช ฮาร์ทเน็ทและเคท เบ็คคินเซลและกำกับโดยเบย์ ได้รับการยกย่องจากบรรดาทหารที่ผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่สอง และนักวิชาการว่าเป็นการสร้างภาพเหตุการณ์ที่ทำให้สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามได้อย่างยอดเยี่ยม นอกเหนือไปจากการได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลมากมายและการได้รับออสการ์สาขาการลำดับเสียงยอดเยี่ยมแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังทำเงินไปได้กว่า 450 ล้านเหรียญในบ็อกซ์ออฟฟิศทั่วโลกและทำยอดขายดีวีดีและวิดีโอไปกว่า 250 ล้านเหรียญทั่วโลก “Black Hawk Down” เรื่องราวของสงครามโมกาดิชูเมื่อปี 1993 นำแสดงโดยฮาร์ทเน็ท, เอริค บานาและยวน แม็คเกรเกอร์และกำกับโดยริดลีย์ สก็อต ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนิยายเบสต์เซลเลอร์ของมาร์ค โบว์เดนได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลมากมาย และได้รับสองรางวัลออสการ์ รวมทั้งคำวิจารณ์ชื่นชมอย่างล้นหลาม บรั๊คไฮเมอร์ได้ชิมลางงานคอเมดีในปี 2003 ด้วยภาพยนตร์ตลกโปกฮา “Kangaroo Jack” ภาพยนตร์สำหรับครอบครัที่ได้รับรางวัลเอ็มทีวี อวอร์ดสาขาการแสดงเสมือนยอดเยี่ยมสำหรับจิงโจ้ในเรื่อง และในช่วงปลายปี 2003 บรั๊คไฮเมอร์ก็ได้เปิดตัว “Pirates of the Caribbean: The Curse of the Black Pearl” ภาพยนตร์คอเมดี/ผจญภัย/โรแมนซ์เรื่องนี้ที่นำแสดงโดยจอห์นนี เดปป์, ออร์ลันโด บลูม, จอฟฟรีย์ รัชและเคียรา ไนต์ลีย์และกำกับโดยกอร์ เวอร์บินสกี ทำรายได้มากกว่า 630 ล้านเหรียญทั่วโลก ได้รับการเสนอชื่อชิงห้ารางวัลอคาเดมี อวอร์ดและมีการสร้างซีเควลตามมาอีกสองภาคคือ “Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest” และ “Pirates of the Caribbean: At World’s End” ซึ่งประสบความสำเร็จยิ่งกว่าภาคแรกเสียอีก นับตั้งแต่ “Pirates of the Caribbean: The Curse of the Black Pearl” ภาพยนตร์ที่มีจุดเริ่มต้นด้วยสายฟ้าฟาดก็ได้แก่ “Bad Boys II,” “Veronica Guerin” ที่นำแสดงโดยนักแสดงสาวสวยเคท บลังเช็ตต์ในบทนักข่าวไอริชที่ถูกแก๊งอาชญากรรมดับลินสังหาร และ “King Arthur” ที่มีไคลฟ์ โอเวน นำแสดงในการนำตำนานกษัตริย์อาร์เธอร์มาเล่าใหม่ ในปี 2004 “National Treasure” ที่ได้เคจและฌอน บีนนำแสดงในการผจญภัยสุดมันส์เกี่ยวกับการไขปริศนาเกี่ยวกับสมบัติที่ถูกซ่อนอยู่ เปิดตัวภายใต้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและทำรายได้ไปกว่า 335 ล้านเหรียญทั่วโลก “Glory Road” เรื่องราวของดอน แฮสกินส์ โค้ชเท็กซัส เวสเทิร์น ผู้นำทีมนักกีฬามหาวิทยาลัยผิวสีไปสู่การแข่งขันชิงแชมป์เอ็นซีเอเอในปี 1966 เปิดตัวในช่วงต้นปี 2006 และนำแสดงโดยจอช ลูคัส, ดีเร็ค ลุค, อัล เชียร์เรอร์, เมห์แคด บรูคส์และเอมิลี เดสชาแนล ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลอีเอสพีวาย อวอร์ดสาขาภาพยนตร์กีฬายอดเยี่ยมประจำปี 2006 ส่วนมือเขียนบทของเรื่องก็ได้รับรางวัลฮิวแมนิทัส ไพรส์จากผลงานที่ “ล้วงลึกถึงความซับซ้อนของประสบการณ์มนุษย์และเผยให้เห็นถึงคุณค่าแง่บวกของชีวิตอย่างตรงไปตรงมา” ซัมเมอร์ปี 2006 เป็นช่วงเวลาลงโรงของ “Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest” ที่ไม่เพียงแต่เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดของบรั๊คไฮเมอร์ แต่ยังเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้เปิดตัวสูงสุดในตอนนั้น ด้วยรายได้ 132 ล้านเหรียญในช่วงเวลาสามวันแรก ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ทำรายได้เกินกว่าที่ถูกคาดหมายเอาไว้ กวาดเงินไป 55.5 ล้านเหรียญในวันแรกที่เปิดตัว และทำไปได้อีก 44.7 ล้านเหรียญในวันที่สอง “Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest” กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่กวาดรายได้ถึงระดับร้อยล้านเหรียญภายในสองวัน รายได้ทั่วโลก 1.07 พันล้านเหรียญทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลเป็นอันดับสาม และยังคงเป็นเพียงหนึ่งในภาพยนตร์ห้าเรื่องที่แตะถึงระดับพันล้านเหรียญ บรั๊คไฮเมอร์กลับมาร่วมงานกับผู้กำกับโทนี่ สก็อตต์อีกครั้งเป็นครั้งที่หก ด้วยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “D?j? Vu” ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่เอทีเอฟ ผู้ตกหลุมรักหญิงสาวแปลกหน้า ขณะที่เขาต้องเร่งรุดกับเวลาเพื่อตามล่าตัวฆาตกรของเธอ ภาพยนตร์เรื่องนี้นำแสดงโดยเดนเซล วอชิงตัน, จิม คาวีเซล, พอลลา แพตตันและวัล คิลเมอร์ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2007 “Pirates of the Caribbean: At World’s End” ภาคสามของไตรภาคบล็อกบัสเตอร์ ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลกพร้อมกัน “At World’s End” ที่ทำลายสถิติรายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้ต่างประเทศถึงเส้นห้าร้อยล้านเหรียญได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ พอถึงช่วงต้นเดือนมิถุนายน ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำรายได้ในประเทศเกินกว่า 300 ล้านเหรียญและกวาดเงินในต่างประเทศไปได้ 625 ล้านเหรียญ รวมรายได้ทั้งหมด 960 ล้านเหรียญ ซึ่งทำให้ “At World’s End” กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดทั่วโลกประจำปีนั้น และกลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลอันดับหก รวมแล้ว ไตรภาค “Pirates of the Caribbean” กวาดรายได้ไปเกือบ 2.7 พันล้านเหรียญทั่วโลก ทำให้มันกลายเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมทั่วโลกอย่างแท้จริง “National Treasure: Book of Secrets” ซีเควลภาพยนตร์ฮิตของบรั๊คไฮเมอร์เมื่อปี 2004 ที่เข้าฉายในวันที่ 21 ธันวาคม ปี 2007 และนำแสดงโดยนิโคลัส เคจและกำกับโดยจอน เทอร์เทลท็อบอีกครั้ง เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ด้วยรายได้ในสุดสัปดาห์แรก 45 ล้านเหรียญ ซึ่งมากกว่าภาคแรกเกือบ 10 ล้านเหรียญ “National Treasure: Book of Secrets” ยังครองอันดับหนึ่งในบ็อกซ์ออฟฟิศอเมริกาติดต่อกันนานสามสัปดาห์และทำรายได้แซง 173 ล้านเหรียญของภาคแรกด้วยเวลาเพียง 18 วันเท่านั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้ในประเทศเกินระดับ 200 ล้านเหรียญภายในเวลาเพียงแค่เดือนกว่าหลังจากที่มันลงโรง และประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในตลาดต่างประเทศ ทำให้รายได้รวมของภาพยนตร์เรื่องนี้สูงถึง 440 ล้านเหรียญ นอกจากเคจจะได้กลับมาร่วมแสดงกับทีมดาราจาก “National Treasure” อย่างจอน วอยท์, ไดแอน ครูเกอร์และจัสติน บาร์ธาแล้ว ในภาคนี้ เขายังได้ร่วมแสดงกับนักแสดงหญิงเจ้าของรางวัลอคาเดมี อวอร์ด เฮเลน เมอร์เรนและผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงสี่รางวัลออสการ์ เอ็ด แฮร์ริสอีกด้วย ผลงานหลังจากนั้นของเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ฟิล์มส์ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2009 คือ “Confessions of a Shopaholic” โรแมนติกคอเมดีซึ่งสร้างขึ้นจากนิยายขายดีโดยโซฟี คินเซลลา และนำแสดงโดยอิสลา ฟิชเชอร์ และกำกับโดยพี.เจ. โฮแกน (“My Best Friend’s Wedding”) ผลงานล่าสุดของเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ ฟิล์มส์คือภาพยนตร์ฮิตทั่วโลก “G-Force” ภาพยนตร์ผจญภัย 3D เทคนิคแปลกใหม่ ที่ผสมผสานไลฟ์แอ็กชันและภาพ CG เข้าด้วยกันภายใต้การกำกับของเจ้าพ่อวิชวล เอฟเฟ็กต์ เจ้าของรางวัลอคาเดมี อวอร์ด ฮอยท์ ยีทแมน ภาพยนตร์เรื่องนี้พากย์เสียงโดยนิโคลัส เคจ, เพเนโลเป ครูซ, เทรซี มอร์แกน, แซม ร็อคเวลล์, จอน แฟฟโรและสตีฟ บุสเชมี และร่วมแสดงโดยบิล ไนฮีย์, แซค กาลิฟินาคิสและวิลล์ อาร์เน็ตต์ นิตยสารเอนเตอร์เทนเมนต์ วีคลี ได้เขียนเอาไว้หลังจากการลงโรงของ “G-Force” ในเดือนกรกฎาคม ปี 2009 ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นอันดับหนึ่งในบ็อกซ์ออฟฟิศ ด้วยการเบียดแซงรายได้สัปดาห์ที่สองของ “Harry Potter and the Half-Blood Prince” ว่า “ลืมโวลเดอมอร์ตไปได้เลย ศัตรูตัวฉกาจของแฮร์รี่ พอตเตอร์ในบ็อกซ์ออฟฟิศคือทีมหนูตะเภาสุดฉลาดพวกนี้ต่างหากล่ะ การผจญภัยเรท PG ของพวกมันได้เขี่ยพ่อมดน้อยกระเด็นจากอันดับหนึ่ง...” ส่วนภาพยนตร์ที่จะลงโรงในเดือนกรกฎาคม ปี 2010 คือ “The Sorcerer’s Apprentice” ที่นำแสดงโดยนิโคลัส เคจ, เจย์ บารูเชล, อัลเฟร็ด โมลินา, เทเรซา ปาล์มเมอร์และโมนิกา เบลลุชชี กำกับโดยจอน เทอร์เทลท็อบ (“National Treasure,” “National Treasure: Book of Secrets”) ปรมาจารย์แห่งการเหล่าเรื่องจะร่ายเวทมนตร์เดิมสำเร็จอีกครั้งใน 47 นาทีสำหรับผู้ชมที่นั่งชมอยู่ในห้องนั่งเล่นที่บ้านรึเปล่านะ คำตอบก็คือแน่นอน เมื่อเร็วๆ นี้ ไทม์ แม็กกาซีน ได้ลงข้อความที่ว่า “ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์…กำลังจะกลายเป็นผู้อำนวยการสร้างที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์โทรทัศน์” และในช่วงกลางปี 2008 เจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ เทเลวิชัน ก็ได้เฉลิมฉลองเอพิโซดที่ 1,000 ของเครือข่าย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากเหลือเกิน ในทุกสัปดาห์มีผู้ชมจำนวนสูงถึง 240 ล้านคนในอเมริกาและทั่วโลกที่เฝ้าดูรายการโทรทัศน์จากเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ เทเลวิชัน บรั๊คไฮเมอร์ได้นำพลังสายฟ้าฟาดของเขามาสู่จอแก้วในปี 2000 ด้วยซีรีส์ “C.S.I.” ที่นำแสดงโดยวิลเลียม ปีเตอร์เซนและมาร์ก เฮลเกนเบอร์เกอร์ ซีรีส์นี้กลายเป็นซีรีส์หมายเลขหนึ่งไปอย่างรวดเร็ว ด้วยสถิติผู้ชมเฉลี่ย 25 ล้านคนต่อสัปดาห์และพร้อมกับสปินออฟอีกสองซีรีส์ ซึ่งได้แก่ “C.S.I.: Miami. ซึ่งเป็นซีรีส์โทรทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดระดับโลกในปี 2005 และเป็นซีรีส์ไพรม์ไทม์อันดับหนึ่งประจำซัมเมอร์ปี 2006 และ “C.S.I.: NY” ที่ช่วยทำให้ซีบีเอสที่กำลังย่ำแย่กลับคืนสู่อันดับบนของเครือข่ายโทรทัศน์ได้อีกครั้ง บรั๊คไฮเมอร์ เทเลวิชันได้ขยายขอบเขตงานสร้างของพวกเขาด้วยการบอกเล่าเรื่องราวตื่นเต้นให้กับผู้ชมจำนวนมากด้วยซีรีส์ “Without a Trace,” “Cold Case,” “Amazing Race” ที่ได้รับเจ็ดรางวัลเอ็มมีติดต่อกัน ทางซีบีเอ ในซีซันฤดูใบไม้ร่วงปี 2009 ซีรีส์ของบรั๊คไฮเมอร์ที่ฉายทางเจบีทีวีได้แก่ series “C.S.I.: Crime Scene Investigation,” “CSI: Miami,” “CSI: NY,” “Cold Case” และ “The Amazing Race” รวมสามซีรีส์ใหม่ ซึ่งรวมถึง “Dark Blue” ทางทีเอ็นที (เป็นซีรีส์แรกของเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ เทเลวิชันทางช่องนี้) และ “Miami Medical” ซึ่งแพร่ภาพครั้งแรกทางซีบีเอสในเดือนเมษายน ปี 2010 ซึ่งนำเสนอดรามากระตุ้นอารมณ์เชิงสืบสวน อันเป็นเอกลักษณ์ของบรั๊คไฮเมอร์อย่างต่อเนื่อง ในปี 2004 บรั๊คไฮเมอร์ติดอันดับ “Time100” ซึ่งเป็นลิสต์รายชื่อผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดของโลก และในปีเดียวกันนี้เอง เขายังได้รับเลือกให้ติดอันดับหนึ่งในฉบับผู้ทรงอำนาจของนิตยสารเอนเตอร์เทนเมนต์ วีคลีย์ ในปีถัดมา เขาเป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลซีล แพทริออท อวอร์ด จากการที่หน่วยซีลได้ตระหนักถึงการนำเสนอภาพของกองทัพสหรัฐฯ ในภาพยนตร์และซีรีส์โทรทัศน์ของเขาเสมอมา ในปี 2006 บรั๊คไฮเมอร์ได้รับปริญญากิติมศักดิ์สาขานิเทศศิลป์จากมหาวิทยาลัยอาริโซนา ซึ่งเป็นสถานศึกษาเก่าของเขา “บรั๊คไฮเมอร์เป็นบุคคลที่โดดเด่นของวงการนี้ตรงที่วิสัยทัศน์ที่สร้างสรรค์ของเขาได้แพร่ขยายไปทั้งในแวดวงจอแก้วและจอเงิน เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มอบปริญญานี้ให้แก่เขาเพื่อเป็นการยกย่องผลงานของเขา” มอริส เซวิญญี คณบดีคณะนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยอาริโซนา กล่าว นิตยสารวาไรตีได้เลือกบรั๊คไฮเมอร์ให้เป็นบุคคลดีเด่นแห่งวงการบันเทิงประจำปี 2006 รางวัลนี้ ซึ่งถูกตัดสินโดยบรรณาธิการและนักข่าวชั้นนำของวาไรตี จะถูกมอบให้แก่บุคคลที่มีอิทธิพลด้านการเงิน หรือทำให้เกิดสิ่งแปลกใหม่ขึ้นในอุตสาหกรรมบันเทิง บรั๊คไฮเมอร์ได้รับรางวัลซาลุท ทู เอ็กซ์เซลเลนซ์ อวอร์ดจากพิพิธภัณฑ์โทรทัศน์และวิทยุในปี 2006 สำหรับคุณูปการที่เขากระทำให้กับสื่อโทรทัศน์ และในปี 2007 สมาพันธ์ผู้อำนวยการสร้างแห่งอเมริกาก็ได้มอบรางวัลนอร์มัน เลียร์ อาชีฟเมนต์ อวอร์ดในสาขาโทรทัศน์ให้กับผลงานยอดเยี่ยมของเขาในจอแก้ว หนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิส ไทม์ได้จัดให้บรั๊คไฮเมอร์ติดอันดับแปดในฉบับ ผู้มีอิทธิพลประจำปี 2006 ซึ่งนำเสนอบุคคล 100 คนที่มีอิทธิพลสูงสุดในแถบเซาเธิร์น แคลิฟอร์เนีย นิตยสารพรีเมียร์จัดให้บรั๊คไฮเมอร์ติดอันดับสิบในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลประจำปี 2006 ในขณะที่นิตยสารฟอร์บส์จัดให้เขาติดอันดับ 42 ในรายชื่อ 100 บุคคลดังประจำปี 2006 บรั๊คไฮเมอร์ติดอันดับ 24 ใน นิว เอสตาบลิชเมนต์ปี 2008 ของนิตยสารวานิตี แฟร์ ซึ่งเป็นลิสต์รายชื่อผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกประจำปี โดยขยับขึ้นจากอันดับที่ 26 ในปี 2007 และเขาก็ติดโผ 50 บุคคลที่ฉลาดที่สุดในฮอลลีวูด อันดับที่ 14 ของนิตยสารเอนเตอร์เทนเมนต์ วีคลีย์ ฉบับเดือนธันวาคม ปี 2007 นี่เป็นเดือนที่สายฟ้าฟาดลงมาหลายครั้ง และในทิศทางใหม่เสียด้วย โดยมันรวมถึงการประกาศครั้งใหญ่ที่ว่าบรั๊คไฮเมอร์ได้ร่วมมือกับเอ็มทีวีเพื่อพัฒนาวิดีโอเกมส์ พวกเขาได้ร่วมกันตั้งสตูดิโอเกมขึ้นในซานตา มอนิกา เพื่อสร้างและพัฒนาเกมต่างๆ ก่อนที่จะบรั๊คไฮเมอร์จะส่งบล็อกบัสเตอร์เรื่อง “National Treasure: Book of Secrets” ลงโรง ในวันสุดท้ายของปี 2007 เซ็คชัน “Most Wanted” ในหน้าศิลปะและสันทนาการของเดอะ นิวยอร์ก ไทม์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าบรั๊คไฮเมอร์มีทั้งภาพยนตร์อันดับหนึ่ง (“Book of Secrets”) และซีรีส์เรตติ้งอันดับหนึ่ง (“CSI: Miami”) ในอเมริกา ในปี 2010 โชเวสต์ได้มอบรางวัลเกียรติคุณแห่งชีวิตให้กับบรั๊คไฮเมอร์ โดยนี่เป็นครั้งที่ห้าแล้วที่เขาได้รับรางวัลจากโชเวสต์หลังจากที่เขาได้รับรางวัลผู้อำนวยการสร้างแห่งปีในปี 1985, 1988 และ 1999 รวมถึงรางวัลความสำเร็จด้านรายได้ในปี 1998 นอกจากนี้ ในปี 2010 บรั๊คไฮเมอร์ได้ดำเนินตามรอยเท้าของบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงเกือบ 200 คนที่ได้ประทับรอยมือและเท้าบนคอนกรีตหน้าโรงภาพยนตร์กรูแมน ไชนีส เธียเตอร์ในวันที่ 17 พฤษภาคม ซึ่งเป็นคืนฉายรอบปฐมทัศน์ภาพยนตร์เรื่อง “Prince of Persia: The Sands of Time” ในฮอลลีวูด สถาบันภาพยนตร์อเมริกันได้ยกย่องบรั๊คไฮเมอร์ด้วย “A Cinematic Celebration of Jerry Bruckheimer” ซึ่งนำเสนอผลงานบล็อกบัสเตอร์ของเขาหลายเรื่องพร้อมทั้งคำเกริ่นนำโดยนักแสดงหรือผู้กำกับ ที่ช่วยทำให้ภาพยนตร์เหล่านี้น่าจดจำ ในอัตชีวประวัติปี 2008 ของเธอในชื่อ “In the Frame” ท่านผู้หญิงเฮเลน เมอร์เรนได้เล่าถึงบรั๊คไฮเมอร์ ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “National Treasure: Book of Secrets” ว่า “อ่อนโยน ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี กล้าหาญ เขาพิสูจน์ให้เห็นถึงความจริงของคำพูดที่ว่า ‘คนกล้าเท่านั้นที่ชนะ’” เจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ประสบความสำเร็จจากงานหลากหลายแนวและหลากหลายรูปแบบเพราะเขาเป็นนักเล่าเรื่องคนเก่ง ที่กล้าเสี่ยง...และชนะแทบทุกครั้ง คอยมองหาสัญลักษณ์สายฟ้าฟาดไว้ให้ดี เรื่องราวที่ยอดเยี่ยมที่สุดจะตามมาในไม่ช้า ไมค์ สเตนสัน (ผู้ควบคุมงานสร้าง) ดำรงตำแหน่งประธานเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ ฟิล์มส์ ซึ่งเขาทำหน้าที่ควบคุมการพัฒนาและผลิตภาพยนตร์ทุกแง่มุม ก่อนหน้าที่จะทำงานในบริษัทแห่งนี้ เขาเป็นผู้บริหารที่ดูแลการผลิตที่ดิสนีย์ และเป็นผู้รับผิดชอบดูแลภาพยนตร์หลายเรื่องของบรั๊คไฮเมอร์ได้แก่ “Armageddon,” “The Rock,” “Crimson Tide” และ “Dangerous Minds” ล่าสุด สเตนสันรับหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างใน “Bad Company” และ “Gone in 60 Seconds” และรับหน้าที่ผู้ควบคุมงานสร้างใน “Glory Road,” “National Treasure,” “King Arthur,” “Pirates of the Caribbean: The Curse of the Black Pearl,” “Bad Boys 2,” “Veronica Guerin,” “Kangaroo Jack,” “Black Hawk Down,” “Pearl Harbor,” “Coyote Ugly” “Remember the Titans,” “Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest,” “D?j? Vu,” “Pirates of the Caribbean: At World’s End,” “National Treasure: Book of Secrets,” “Confessions of a Shopaholic,” “G-Force” และ “The Sorcerer’s Apprentice” หลังจากนี้ สเตนสันจะรับหน้าที่ผู้ควบคุมงานสร้าง “Pirates of the Caribbean: On Stranger Tides” ภาคใหม่ของแฟรนไชส์บล็อกบัสเตอร์เรื่องนี้ สเตนสันเกิดและเติบโตในบอสตัน เขาสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์และปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หลังจากงานหลังจบปริญญาตรี เขาก็ได้เริ่มต้นทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายงานสร้างในนิวยอร์ก และทำงานเกี่ยวกับภาพยนตร์อินดีและรายการโทรทัศน์สองปีในตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับและผู้จัดการฝ่ายงานสร้างก่อนที่จะกลับบอสตันเพื่อศึกษาต่อปริญญาโท หลังจากเรียนจบบริหารธุรกิจแล้ว สเตนสันก็ย้ายไปลอสแองเจลิส ที่ซึ่งเขาเริ่มต้นการทำงานในวอลท์ ดิสนีย์ สตูดิโอส์ในโปรเจ็กต์พิเศษเป็นเวลาสองปีก่อนที่เขาจะก้าวไปเป็นผู้บริหารฝ่ายครีเอทีฟในแผนกงานสร้างที่ฮอลลีวูด พิคเจอร์ส เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นรองประธานและรองประธานบริหารในช่วงเวลาการทำงานแปดปี โดยเขาได้ทำการดูแลขั้นตอนพัฒนาและงานสร้างภาพยนตร์ของฮอลลีวูด พิคเจอร์สและทัชสโตน พิคเจอร์ส นอกเหนือจากภาพยนตร์หลายเรื่องของบรั๊คไฮเมอร์แล้ว สเตนสันยังได้พัฒนาและดูแลภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องเช่น “Rush Hour,” “Instinct,” “Six Days, Seven Nights” และ “Mr. Holland’s Opus” ขณะทำงานที่ดิสนีย์ ผู้สร้างมากมายพยายามจะชักชวนสเตนสันให้ไปทำงานกับตน แต่จนกระทั่งปี 1998 เขาจึงตัดสินใจออกจากบริษัท ด้วยตำแหน่งประธานบริษัทเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ ฟิล์มส์ สเตนสันได้เป็นผู้ดูแลแผนการของบรั๊คไฮเมอร์ในการขยายตารางการถ่ายทำภาพยนตร์ของบริษัทออกไป แชด โอมาน (ผู้ควบคุมงานสร้าง) ดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายงานสร้างของบริษัทเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ ฟิล์มส์ ที่ซึ่งเขาทำหน้าที่ดูแลขั้นตอนการพัฒนาและงานสร้างทุกแง่มุมของภาพยนตร์ โอมานได้ร่วมกับบรั๊คไฮเมอร์อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Remember the Titans” ซึ่งนำแสดงโดยเดนเซล วอชิงตันให้กับวอลท์ ดิสนีย์ พิคเจอร์และ “Coyote Ugly” ที่นำแสดงโดยไปเปอร์ เพอราโบและจอห์น กู๊ดแมนให้กับทัชสโตน พิคเจอร์ส ผลงานควบคุมงานสร้างภาพยนตร์ของเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ ฟิล์มส์ของเขาเรื่องล่าสุดได้แก่ “The Sorcerer’s Apprentice,” “G-Force,” “Confessions of a Shopaholic” และ “National Treasure: Book of Secrets” นอกจากนั้น เขายังได้ควบคุมงานสร้างภาพยนตร์ที่ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมเรื่อง “Veronica Guerin” ที่นำแสดงโดยเคท บลังเช็ตต์และบล็อกบัสเตอร์สุดฮิตเรื่อง “Pirates of the Caribbean: At World’s End” ที่กำกับโดยกอร์ เวอร์บินสกี้และนำแสดงโดยจอห์นนี เดปป์, “Bad Boys II” ที่นำแสดงโดยวิลล์ สมิธและมาร์ติน ลอว์เรนซ์, “Black Hawk Down” ที่กำกับโดยริดลีย์ สก็อตและนำแสดงโดยจอช ฮาร์ทเน็ท, “Pearl Harbor” ที่นำแสดงโดยเบน แอฟเฟล็ค, เคท เบคคินเซลและจอช ฮาร์ทเน็ท, “Gone in 60 Seconds” ที่นำแสดงโดยนิโคลัส เคจ, แองเจลินา โจลีและโรเบิร์ต ดูวัลล์, “Enemy of the State” ที่นำแสดงโดยวิล สมิธและยีน แฮ็คแมน, “Armageddon” ที่นำแสดงโดยบรูซ วิลลิสและเบน แอฟเฟล็ค, “Con Air” ที่นำแสดงโดยนิโคลัส เคจและจอห์น มัลโควิช, “Glory Road,” “D?j? Vu” ที่นำแสดงโดยเดนเซล วอชิงตัน, “National Treasure: Book of Secrets” ที่นำแสดงโดยนิโคลัส เคจอีกครั้งหนึ่ง และ “Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest” และ “Pirates of the Caribbean: At World’s End” ที่นำแสดงโดยจอห์นนี่ เดปป์, เจฟฟรีย์ รัช, ออร์ลันโด้ บลูมและเคียรา ไนท์ลีย์ หลังจากนี้ เขาจะได้ควบคุมงานสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Pirates of the Caribbean: On Stranger Tides” ซึ่งเป็นภาคที่สี่ของแฟรนไชส์นี้ นอกเหนือไปจากการทำงานในโปรเจ็กต์ภาพยนตร์หลายเรื่องของบรั๊คไฮเมอร์ โอมานยังได้ควบคุมงานสร้างซีรีส์โทรทัศน์หลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงดรามาทางเอบีซีเรื่อง “Dangerous Minds” ที่นำแสดงโดยแอนนี พอตส์และดรามาทางเอบีซีเรื่อง “Swing Vote” ที่เขียนบทโดยรอน แบสและนำแสดงโดยแอนดี้ การ์เซีย ก่อนหน้าที่จะร่วมงานกับซิมป์สันและบรั๊คไฮเมอร์ในปี 1995 โอมานเป็นพนักงานรุ่นก่อตั้งของบริษัทโมชัน พิคเจอร์ คอร์ปอเรชัน ออฟ อเมริกา หลังจากทำงานได้หกปี เขาก็ได้ออกจากบริษัทผลิตภาพยนตร์อิสระขณะดำรงตำแหน่งรองประธานอาวุโสฝ่ายงานสร้าง โอมานรับหน้าที่ผู้ช่วยอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Dumb and Dumber” ที่นำแสดงโดยจิม แคร์รีย์ ได้ควบคุมงานสร้างภาพยนตร์ของทัชสโตน พิคเจอร์สเรื่อง “The War at Home” ที่นำแสดงโดยเอมิลิโอ เอสเทเบส, เคธี เบทส์และมาร์ติน ชีน และได้ร่วมอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “The Desperate Trail” กับแซม เอลเลียตและ “The Sketch Artist” ที่นำแสดงโดยดรูว์ แบร์รีมอร์และฌอน ยัง โอมานอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Hands That See” ที่ร่วมแสดงโดยคอร์ทนีย์ ค็อกซ์และ “Love, Cheat and Steal” ที่ร่วมแสดงโดยจอห์น ลิธโกว์และเอริค โรเบิร์ต โอมานสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซาเธิร์น เมธอดดิสท์ในสาขาการเงิน เขาเข้าศึกษาเกี่ยวกับการเขียนบทที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ลอสแองเจลิสและมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ที่ซึ่งเขาได้เข้าร่วมหลักสูตรการสร้างภาพยนตร์ เขาเกิดและเติบโตในวิชิตา ฟอลส์, เท็กซัส จอห์น ออกัสต์ (ผู้ควบคุมงานสร้าง) เป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “The Nines” (ซึ่งเขาเป็นผู้กำกับด้วย), “Corpse Bride,” “Charlie and the Chocolate Factory,” “Big Fish,” “Charlie’s Angels” และ “Charlie’s Angels: Full Throttle,” “Titan A.E.” และ “Go” ด้านจอแก้ว เขาเป็นผู้ควบคุมงานสร้างซีรีส์ “D.C.” และ “Alaska” นักเขียน มือเขียนบทและผู้ออกแบบวิดีโอเกม จอร์แดน เมชเนอร์ (ผู้ควบคุมงานสร้าง/เรื่องราวภาพยนตร์โดย) เป็นที่รู้จักดีที่สุดจากการเป็นผู้สร้างแฟรนไชส์ “Prince of Persia” ที่มียอดขาย 14 ล้านก็อปปี้จนถึงปัจจุบัน และกำลังจะถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ที่มีกำหนดลงโรงในปี 2010 นิยายภาพเรื่องแรกของเมชเนอร์ที่มีชื่อว่า “Solomon’s Thieves” (ตีพิมพ์โดยเฟิร์สท์ เซคคันด์ บุ๊คส์ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2010) เป็นแอ็กชันผจญภัยบู๊ล้างผลาญเกี่ยวกับอัศวินเทมพลาร์ในประวัติศาสตร์ ที่วาดภาพประกอบโดยเลอูเยน แฟม และ อเล็กซ์ พูวิลแลนด์ นอกจากนี้ เมชเนอร์ยังได้แต่งนิยายภาพ “Prince of Persia” เล่มใหม่ขึ้นในชื่อ “Prince of Persia: Before the Sandstorm” ดิสนีย์ บุ๊ค กรุ๊ป เป็นผู้ตีพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ในเดือนเมษายน ปี 2010 เพื่อให้สอดคล้องกับกำหนดลงโรงของภาพยนตร์ ก่อนหน้านี้ เมชเนอร์เคยร่วมงานกับเฟิร์สท์ เซคคันด์, แฟม และพูวิลแลนด์ในนิยายภาพปี 2008 เรื่อง “Prince of Persia” ที่เขียนขึ้นโดยเอ.บี. ซีนา เมชเนอร์เริ่มต้นงานผู้สร้างวิดีโอเกมของเขาในยุค 80s ด้วยเกม “Karateka” และ “Prince of Persia” ซึ่งเป็นสองเกมแรกๆ ที่ได้ผสมผสานแอ็กชันอาร์เคดเข้ากับอนิเมชันสมจริงและการบอกเล่าเรื่องราวแบบภาพยนตร์ ทั้งสองเกมกลายเป็นเกมเบสต์เซลเลอร์อันดับหนึ่ง และได้รับการยกย่องให้เป็นเกมคลาสสิกไปเรียบร้อยแล้ว เกม “Prince of Persia” ซึ่งถูกสร้างและออกแบบโปรแกรมโดยเมชเนอร์ บนเครื่อง Apple II และจัดจำหน่ายโดยโบรเดอร์บันด์ ซอฟท์แวร์ ได้ถูกดัดแปลงสำหรับแพลทฟอร์มคอนโซลและคอมพิวเตอร์เกือบทุกแบบ และเป็นอิทธิพลสำคัญต่อพัฒนาการของเกมแนวแอ็กชันผจญภัย เมชเนอร์ได้ออกแบบและกำกับซีเควลที่ประสบความสำเร็จอย่างเกม “Prince of Persia 2: The Shadow and the Flame” หลังจากนั้น เมชเนอร์ก็ได้ก่อตั้งบริษัทพัฒนาเกมอิสระ สโมคกิ้ง คาร์ โปรดักชันส์ ที่ซึ่งเขาได้นำทีมงาน 30 ชีวิตในการสร้างเกมผจญภัยชื่อดังปี 1997 “The Last Express” ซึ่งยังคงถูกมองว่าเป็นหนึ่งในเกมที่มีการเล่าเรื่องราวแบบอินเตอร์แอ็กทีฟที่ท้าทายและประสบความสำเร็จเชิงศิลป์สูงสุดเท่าที่เคยมีความพยายามสร้างขึ้นมา ในปี 2001 เมชเนอร์ได้นำ “Prince of Persia” เกมตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้วของเขา มาปัดฝุ่นใหม่เพื่อคอเกมรุ่นใหม่ ด้วยเมชเนอร์ในตำแหน่งดีไซเนอร์เกม, มือเขียนบทและที่ปรึกษาด้านครีเอทีฟ เกม “Prince of Persia: The Sands of Time” กลายเป็นหนึ่งในเกมที่ฮิตที่สุดของปี 2003 มันได้รับการเสนอชื่อชิง 12 รางวัลอินเตอร์แอ็คทีฟ อชีฟเมนต์ อวอร์ด (ดีไอซีอี) และคว้ามาได้แปดรางวัล ทำให้ “Prince of Persia” เป็นหนึ่งในแฟรนไชส์เกมที่ประสบความสำเร็จและมีอายุยืนยาวที่สุดตลอดกาล ในปี 2004 เมชเนอร์ได้นำเสนอเกม “Prince of Persia” ให้กับผู้อำนวยการสร้างเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ ผู้ท้าทายให้เขาดัดแปลงเกมของตัวเองให้กลายเป็นภาพยนตร์ นับตั้งแต่นั้นมา มีการวางจำหน่ายซีเควล “Prince of Persia” อีกสามภาค ทำให้ยอดขายทั้งหมดของเกมนี้อยู่ที่กว่า 14 ล้านก็อปปี้ และภาคต่อไปของแฟรนไชส์นี้คือ “Prince of Persia: The Forgotten Sands” (พฤษภาคม ปี 2010) เมชเนอร์ได้เขียนบทและกำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Chavez Ravine: A Los Angeles Story” ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลไอดีเอ อวอร์ดปี 2003 ในสาขาภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยม ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ด และได้แพร่ภาพออกอากาศทางช่องพีบีเอส อินดีเพนเดนท์ เลนส์ในปี 2005 โปรเจ็กต์หลังจากนี้ของเมชเนอร์ได้แก่การดัดแปลงบทภาพยนตร์จากซีรีส์หนังสือการ์ตูนของไมเคิล เทิร์นเนอร์เรื่อง “Fathom” ให้กับฟ็อกซ์ สตูดิโอส์และนักแสดงสาวเมแกน ฟ็อกซ์ รวมถึงงานเขียนนิยายภาพเรื่องใหม่ให้กับเฟิร์สท์ เซคคันด์ เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเยล “Prince of Persia: The Sands of Time” เป็นงานครั้งที่สองที่แพทริค แม็คคอร์มิค (ผู้ควบคุมงานสร้าง) ได้ร่วมงานกับผู้กำกับไมค์ นีเวลล์ในฐานะผู้ควบคุมงานสร้าง โดยทั้งคู่เคยร่วมงานกันมาแล้วใน “Donnie Brasco” ที่นำแสดงโดยอัล ปาชิโนและจอห์นนี เดปป์ ล่าสุด แม็คคอร์มิคทำหน้าที่ผู้ควบคุมงานสร้างให้กับผู้กำกับทิม เบอร์ตันในภาพยนตร์เรื่อง “Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street” ที่นำแสดงโดยจอห์นนี เดปป์, เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์, อลัน ริคแมน, ทิโมธี สปอลและซาชา บารอน โคเฮน ก่อนหน้านั้น แม็คคอร์มิครับหน้าที่ผู้ควบคุมงานสร้างให้กับภาพยนตร์โดยทิม เบอร์ตันเรื่อง “Charlie and the Chocolate Factory” ที่นำแสดงโดยจอห์นนี เดปป์ แม็คคอร์มิคได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์โดยโซนี/ยูนิเวอร์แซลเรื่อง “Peter Pan” ที่กำกับโดยพี.เจ. โฮแกนและนำแสดงโดยเจสัน ไอแซ็กส์, เจเรมี ซัมป์เตอร์, ราเชล เฮิร์ด-วู้ดและลินน์ เร้ดเกรฟ ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ในฐานะผู้ควบคุมงานสร้างของเขาได้แก่ภาพยนตร์สามเรื่องที่กำกับโดยแบร์รี เลวินสัน คือ “Bandits” ภาพยนตร์ตลกที่นำแสดงโดยบรูซ วิลลิส, บิลลี บ็อบ ธอร์นตันและเคท บลังเชตต์, “An Everlasting Piece” คอเมดีที่มีเรื่องราวเกิดในเบลฟาสต์ยุค 80s ที่นำแสดงโดยแบร์รี แม็คเอวอย, ไบรอัน เอฟ. โอ’ ไบรน์, แอนนา ฟรีเอลและบิลลี คอนนอลลีและ “Liberty Heights” ตอนที่สี่ในซีรีส์บัลติมอร์ของผู้กำกับเลวินสัน ที่นำแสดงโดยเอเดรียน โบรดี, เบเบ นิวเวิร์ธและโจ แมนเทนา นอกจากนี้ แม็คคอร์มิคยังดำรงตำแหน่งผู้ควบคุมงานสร้างเรื่อง “Stepmom” ที่กำกับโดยคริส โคลัมบัส และนำแสดงโดยจูเลีย โรเบิร์ตส์, ซูซาน ซาแรนดอนและเอ็ด แฮร์ริส, “The Juror” ที่นำแสดงโดยเดมี มัวร์, อเล็ค บัลด์วินและเจมส์ แกนดอลฟินิ และ “Boys on the Side” ที่นำแสดงโดยดรูว์ แบร์รีมอร์, วู้ปปี้ โกลด์เบิร์ก, แมรี-หลุยส์ ปาร์คเกอร์และแมทธิว แม็คคอนนาเฮย์อีกด้วย ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง ผลงานภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ของแม็คคอร์มิคได้แก่ “Angie” ที่นำแสดงโดยจีนา เดวิสและเจมส์ แกนดอลฟินิและ “A Shock to the System” ที่นำแสดงโดยไมเคิล เคน อีริค แม็คลีออด (ผู้ควบคุมงานสร้าง) มีประสบการณ์ที่กว้างขวางในการเป็นผู้อำนวยการสร้าง ผู้ควบคุมงานสร้างและผู้จัดการกองถ่าย เขารับหน้าที่ผู้ควบคุมงานสร้างให้กับภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ของเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์เรื่อง “Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest” และ “Pirates of the Caribbean: At World’s End” ตามมาด้วยงานอำนวยการสร้างภาพยนตร์คอเมดีประจำซัมเมอร์ปี 2008 เรื่อง “Tropic Thunder” หลังจากการทำงานใน “Prince of Persia” แล้ว แม็คลีออดก็จะทำงานในภาพยนตร์โดยโทนี สก็อตเรื่อง “Unstoppable” ที่นำแสดงโดยเดนเซล วอชิงตัน ก่อนหน้านี้ แม็คลีออดได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ฮิตเรื่อง “Mr. and Mrs. Smith” และได้ควบคุมงานสร้างภาพยนตร์เรื่อง “The Dukes of Hazzard,” “The Cat in the Hat,” “Showtime,” “Bubble Boy” และ “Austin Powers: International Man of Mystery” นอกจากนี้ เขายังได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Austin Powers in Goldmember,” “The Cell” และ “Austin Powers: The Spy Who Shagged Me” อีกด้วย ในตอนที่เขาเพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ แม็คลีออดได้ร่วมอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Feeling Minnesota” และ “Now and Then,” ได้ดูแลการเงินให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Corrina, Corrina” และ “Even Cowgirls Get the Blues” และเป็นผู้ช่วยอำนวยการสร้างให้กับ “Live Wire” นอกจากนี้ เขายังรับหน้าที่ผู้จัดการกองถ่ายในภาพยนตร์หลายเรื่องข้างต้น รวมถึงภาพยนตร์โดยเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์เรื่อง “Enemy of the State,” “Wag the Dog,” “Wide Sargasso Sea” และ “The Rapture” แม็คลีออดเริ่มต้นทำงานในแวดวงภาพยนตร์ด้วยการทำหน้าที่ผู้ประสานงานกองถ่ายในภาพยนตร์เรื่อง “Cry-Baby,” “Drugstore Cowboy” และ “8 Seconds” แพท แซนด์สตัน (ผู้ช่วยอำนวยการสร้าง) เป็นผู้ช่วยอำนวยการสร้างให้กับเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ ฟิล์มส์มามากกว่าหนึ่งทศวรรษ เขาทำการดูแลงานโพสต์ โปรดักชันทั้งหมดและได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้กำกับระดับแนวหน้าของวงการเช่นไมเคิล เบย์, ริดลีย์ สก็อต, กอร์ เวอร์บินสกี, โทนี สก็อต, โจเอล ชูมัคเกอร์และจอน เทอร์เทลท็อบ นับตั้งแต่ที่เขาเริ่มทำงานกับเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ ฟิล์มส์ แผนกของแซนด์สตันได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ทั้งหมด 14 ครั้ง ในบรรดาการได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเหล่านั้น “Black Hawk Down” ได้รับรางวัลสาขาลำดับภาพยอดเยี่ยมและซาวน์ยอดเยี่ยม, “Pearl Harbor” ได้รับรางวัลลำดับเสียงยอดเยี่ยมและ “Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest” ได้รับรางวัลวิชวล เอฟเฟ็กต์ยอดเยี่ยม ผลงานของแซนด์สตันสำหรับเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ ฟิล์มส์ได้แก่ “National Treasure” และ “National Treasure: Book of Secrets,” ไตรภาค “Pirates of the Caribbean,” “D?j? Vu,” “Glory Road,” “King Arthur,” “Black Hawk Down,” “Pearl Harbor,” “Bad Boys II,” “Gone in 60 Seconds,” “Armageddon,” “Confessions of a Shopaholic,” “G-Force,” “The Sorcerer’s Apprentice” และ “Pirates of the Caribbean: On Stranger Tides” เขาเริ่มทำงานที่พาราเมาท์ พิคเจอร์สในตำแหน่งผู้บริหารงานสร้าง แซนด์สตันได้ค้นพบว่าความถนัดของเขาอยู่ในสายงานโพสต์ โปรดักชันในตอนที่เขาเริ่มทำงานให้กับวอลท์ ดิสนีย์ สตูดิโอส์ ที่ซึ่งเขาได้เลื่อนขั้นอย่างรวดเร็วไปสู่ตำแหน่งรองประธานฝ่ายโพสต์ โปรดักชันและวิชวล เอฟเฟ็กต์ ในช่วงโพสต์ โปรดักชันในภาพยนตร์กว่า 35 เรื่อง, ภาพยนตร์ขนาดสั้นสำหรับอีพีซีโอที เซ็นเตอร์ 3 เรื่องและภาพยนตร์วอลท์ ดิสนีย์ ทัวร์สี่เรื่อง ส่วนหนึ่งของผลงานของแซนด์สตันระหว่างอยู่ที่ดิสนีย์ได้แก่ “James and the Giant Peach,” “Operation Dumbo Drop,” “Honey, I Shrunk the Kids,” “Mr. Destiny,” “Miami Rhapsody” และ “Beaches” โบแอซ ยากิน (บทภาพยนตร์โดย) มือเขียนบทและผู้กำกับ ที่มีพรสวรรค์ในการถ่ายทอดประเด็นขัดแย้งในลักษณะที่เป็นส่วนตัวและมีความเป็นมนุษย์ เกิดในนิวยอร์ก ซิตี้ พ่อแม่ของเขาเป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ทั้งคู่ โดยพวกเขาได้พบกันในปารีสระหว่างที่ศึกษาเรื่องการเล่นละครใบ้กับมาร์เซล มาร์โซ และหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับไฮสคูล ยากินก็เลือกที่จะศึกษาด้านการสร้างภาพยนตร์ที่นิวยอร์ก ซิตี้ คอลเลจ ไม่นานนัก เขาก็ย้ายไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และขายบทภาพยนตร์เรื่องแรกได้เมื่ออายุได้ 19 ปี ยากินทำงานในแวดวงภาพยนตร์ ด้วยการช่วยพัฒนาโปรเจ็กต์ต่างๆ ให้กับบริษัทหลายแห่ง และได้เห็นบทภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาโลดแล่นบนจอเงินเมื่อ “The Punisher” ที่นำแสดงโดยดอล์ฟ ลุงด์เกรน ลงโรง หนึ่งปีให้หลัง บทภาพยนตร์เรื่องถัดไปของยากิน “The Rookie” ที่นำแสดงโดยคลินท์ อีสต์วู้ดและชาร์ลีย์ ชีน ก็ลงโรง ด้วยความต้องการถ่ายทอดเนื้อหาที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น ยากินได้กำกับภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากบทภาพยนตร์ของตัวเองเรื่อง “Fresh” ที่นำแสดงโดยนักแสดงมากความสามารถอย่างซามวล แอล. แจ็คสันและจิอันคาร์โล เอสโพซิโต ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเสียงวิจารณ์ยกย่องอย่างล้นหลาม และทำให้เขาได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ปี 1994 รวมถึงรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์โตเกียวและเทศกาลภาพยนตร์อื่นๆ ทั่วยุโรป ยากินได้หันกลับไปมองวัยเด็กของเขาเพื่อนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับโปรเจ็กต์ถัดไปของเขา ประสบการณ์กับชุมชมแชสซิดิคของเขาได้กลายเป็นผลงานการกำกับเรื่องถัดไปของเขาในชื่อ “A Price Above Rubies” ซึ่งจัดจำหน่ายโดยมิราแมกซ์ ฟิล์มส์ ผลงานสตูดิโอเรื่องแรกของยากินคือ “Remember the Titans” ที่นำแสดงโดยเดนเซล วอชิงตัน ให้กับผู้อำนวยการสร้างเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จด้านรายได้อย่างสูง และเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม หลังจากนั้น เขาก็หันไปชิมลางคอเมดีด้วยเรื่อง “Uptown Girls” ที่นำแสดงโดยบริตนีย์ เมอร์ฟีย์และดาโกตา แฟนนิง ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง ยากินได้ก่อตั้งบริษัท “รอว์ เนิร์ฟ” ขึ้นมาร่วมกับหุ้นส่วนอีไล รอธและสก็อต สปีเกล โดยพวกเขาได้ร่วมกันสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Hostel” ขึ้นมา ล่าสุด ยากินได้เขียนบท อำนวยการสร้างและกำกับภาพยนตร์เรื่อง “Death in Love” ภาพยนตร์อื้อฉาวที่เปิดตัวในงานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ปี 2009 ดั๊ก มิโร และ คาร์โล เบอร์นาร์ด (บทภาพยนตร์โดย) ได้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์ให้กับภาพยนตร์สองเรื่องที่เป็นที่รอคอยสูงสุดประจำซัมเมอร์นี้ของผู้อำนวยการสร้างเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ ซึ่งก็คือ “Prince of Persia: The Sands of Time” ที่สร้างขึ้นจากซีรีส์วิดีโอเกม กำกับโดยไมค์ นีเวลล์และนำแสดงโดยเจค จิลเลนฮาลและ “The Sorcerer’s Apprentice” แอ็กชันผจญภัยที่นำแสดงโดยนิโคลัส เคจและกำกับโดยจอน เทอร์เทลท็อบ ผลงานของมิโรและเบอร์นาร์ดยังรวมถึง “The Uninvited” ให้กับดรีมเวิร์คส์และผู้อำนวยการสร้างวอลเตอร์ ปาร์คส์และลอรี แม็คโดนัลด์และ “The Great Raid” ให้กับมิราแมกซ์ ปัจจุบัน พวกเขากำลังอยู่ระหว่างการเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “National Treasure 3” ให้กับบรั๊คไฮเมอร์และเทอร์เทลท็อบ มิโรและเบอร์นาร์ดเริ่มมีชื่อเสียงจากผลงานเรื่อง “Motor City” ซึ่งดัดแปลงจากนิยายเรื่อง “Edsel” (โลรอง เอสเทลแมน) ภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์ที่มีเรื่องราวเกิดในดีทรอยท์ยุค 50s ทั้งคู่ยังได้ดัดแปลงนิยายของดีน คิงเรื่อง “Skeletons of the Zahara: A True Story of Survival” ซึ่งบันทึกเรื่องราวหายนะของเรือสินค้าคอนเน็กติคัทและการผจญภัยของลูกเรือในทะเลทรายซาฮาราในปี 1815 หลังจากที่ได้อ่านบทภาพยนตร์ดัดแปลงของพวกเขาแล้ว สตีเวน สปีลเบิร์กและแคธลีน เคนเนดีก็ได้เลือกทั้งคู่ให้เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “Tintin” มิโรและเบอร์นาร์ดเติบโตมาด้วยกันในย่านชานเมืองของดีทรอยท์ และรู้จักกันมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ มิโรสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากยูเอสซี ฟิล์ม สคูลและระดับปริญญาตรีจากสแตนฟอร์ด ส่วนเบอร์นาร์ดสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยามิชิแกน ทั้งคู่เป็นแฟนทีมไลออนส์ และเชื่อมั่นว่าทีมกำลังมุ่งหน้าไปยังทิศทางที่ถูกต้อง จอห์น ซีล (ผู้กำกับภาพ) ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ด, รางวัลสมาคมผู้กำกับภาพอเมริกัน (เอเอสซี), รางวัลสถาบันศิลปะภาพยนตร์และโทรทัศน์อังกฤษ (บาฟตา) และรางวัลอื่นๆ จากผลงานของเขาในภาพยนตร์โดยแอนโธนี มิงเกลลาผู้ล่วงลับเรื่อง “The English Patient” นอกจากนี้ ซีลยังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์จากเรื่อง “Witness,” “Rain Man” และ “Cold Mountain” เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบาฟตาจากเรื่อง “Witness,” “Gorillas in the Mist,” “The Talented Mr. Ripley” และ “Cold Mountain” และได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอเอสซีจาก “Rain Man,” “The Perfect Storm” และ “Cold Mountain” นอกจากนี้ ซีลยังได้รับรางวัลนักวิจารณ์อีกหลายรางวัลจากผลงานที่พิเศษสุดของเขาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซีลเริ่มต้นทำงานเป็นผู้ควบคุมกล้องในออสเตรเลีย ประเทศบ้านเกิดในภาพยนตร์โดยปีเตอร์ เวียร์เรื่อง “Picnic at Hanging Rock,” “The Last Wave” และ “Gallipoli” ก่อนที่จะกลายมาเป็นผู้กำกับภาพยูนิทที่สองในภาพยนตร์โดยเวียร์เรื่อง “The Year of Living Dangerously” ซีลได้ทำหน้าที่ผู้กำกับภาพในภาพยนตร์ออสเตรเลียทุนปานกลางหลายเรื่องมาแล้วก่อนที่เขาจะไปทำงานให้กับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงมากขึ้นอย่าง “Careful, He Might Hear You” ในปี 1985 การทำงานร่วมกับปีเตอร์ เวียร์หลายปีของซีลเริ่มส่งผลเมื่อเขาได้รับเลือกให้เป็นผู้กำกับภาพของภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องเรื่อง “Witness” นับตั้งแต่นั้นมา นอกเหนือจากภาพยนตร์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เขายังได้ทำงานในภาพยนตร์อีกหลายเรื่องเช่น “Children of a Lesser God,” Weir’s “The Mosquito Coast” and “Dead Poets Society,” “Lorenzo’s Oil,” “The Firm,” “The Paper,” “The American President,” “Ghosts of Mississippi,” “City of Angels,” “Harry Potter and the Sorcerer’s Stone” และ “Spanglish” วูล์ฟ โครเกอร์ (ผู้ออกแบบงานสร้าง) ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเป็นอย่างดี หลังจากที่ทำหน้าที่ผู้กำกับศิลป์ในภาพยนตร์หลายเรื่อง รวมถึงภาพยนตร์โดยโรเบิร์ต อัลท์แมนเรื่อง “Quintet” โครเกอร์ก็ถูกทาบทามให้ออกแบบฉากสุดเพี้ยนให้กับเวอร์ชันภาพยนตร์เรื่อง “Popeye” ของอัลท์แมน ผลงานหลังจากนั้นของโครเกอร์มีหลากหลาย ซึ่งรวมถึงโปรเจ็กต์อย่าง “First Blood,” ภาพยนตร์โดยอัลท์แมนเรื่อง “Streamers,” “The Bay Boy,” ภาพยนตร์โดยริชาร์ด ดอนเนอร์ “Ladyhawke,” ภาพยนตร์โดยไมเคิล ซิมิโนเรื่อง “Year of the Dragon,” “The Sicilian,” “Let It Ride,” ภาพยนตร์โดยไบรอัน เดอ พัลมาเรื่อง “Casualties of War,” “We’re No Angels,” ภาพยนตร์โดยไมเคิล แมนน์เรื่อง “The Last of the Mohicans,” ภาพยนตร์ดิสนีย์เรื่อง “The Three Musketeers,” “The Edge,” ภาพยนตร์โดยฌอน-ฌาคส์ แอนน็อดเรื่อง “Enemy at the Gates,” “Reign of Fire,” “Equilibrium,” “Beyond Borders,” “Racing Stripes,” “Eragon” และภาพยนตร์โดยไมค์ นีเวลล์เรื่อง “Love in the Time of Cholera” เพ็นนี โรส (ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย) ได้ออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับไตรภาคโดยเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์และกอร์ เวอร์บินสกีเรื่อง “Pirates of the Caribbean” และภาพยนตร์เรื่อง “King Arthur” ผลงานเรื่อง “Pirates of the Caribbean: The Curse of the Black Pearl” และอีกสองภาคทำให้โรสได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสมาพันธ์ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย และเธอยังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสถาบันศิลปะภาพยนตร์และโทรทัศน์อังกฤษ (บาฟตา) สำหรับ “The Curse of the Black Pearl” และ “Dead Man’s Chest” อีกด้วย ก่อนหน้านี้ โรสเคยได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบาฟตาสำหรับผลงานของเธอในภาพยนตร์โดยอลัน ปาร์คเกอร์ ที่สร้างขึ้นจากมิวสิคัลโดยแอนดรูว์ ลอยด์ เว็บเบอร์และทิม ไรซ์เรื่อง “Evita” ที่นำแสดงโดยมาดอนนาและโจนาธาน ไพรซ์ โรสได้ร่วมงาน่กับปาร์คเกอร์หลายครั้งและได้ออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับภาพยนตร์สามเรื่องของเขา คือ “The Road to Wellville,” “Pink Floyd: The Wall” และ “The Commitments” ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของโรสได้แก่ “The Sleeping Dictionary,” ภาพยนตร์โดยนีล จอร์แดนเรื่อง “The Good Thief,” “Just Visiting,” “Entrapment” และรีเมกสุดฮิตภาพยนตร์ดิสนีย์เรื่อง “The Parent Trap” ที่กำกับโดยแนนซี ไมเยอร์สและภาพยนตร์โดยกอร์ เวอร์บินสกีเรื่อง “The Weather Man” ในช่วงเริ่มแรกของการทำงาน เธอได้ออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับภาพยนตร์โดยไบรอัน เดอ พัลมาเรื่อง “Mission: Impossible” และได้ร่วมงานกับผู้กำกับเจ้าของรางวัลอคาเดมี อวอร์ด ลอร์ด ริชาร์ด แอทเทนโบโรห์เรื่อง “Shadowlands” และ “In Love and War” ผลงานของเธอยังรวมถึงภาพยนตร์โดยคริสโตเฟอร์ แฮมป์ตันเรื่อง “Carrington,” ภาพยนตร์โดยวินเซนต์ วอร์ดเรื่อง “Map of the Human Heart,” ภาพยนตร์โดยบิล ฟอร์ซิธเรื่อง “Local Hero,” ภาพยนตร์โดยแพท โอ’ คอนเนอร์เรื่อง “Cal,” ภาพยนตร์โดยมาเร็ค คานีฟสกาเรื่อง “Another Country” และภาพยนตร์โดยฌอน-ฌาคส์ แอนน็อดเรื่อง “Quest for Fire” โรสได้ออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับภาพยนตร์คอเมดีโดยวอลท์ ดิสนีย์ พิคเจอร์สเรื่อง “Wild Hogs” ที่นำแสดงโดยทิม อัลเลน, มาร์ติน ลอว์เรนซ์และจอห์น ทราโวลตา, “St. Trinian’s” ที่นำแสดงโดยเจ็มมา อาร์เทอร์ทันและ “Made of Honor” โรสได้ขัดเกลาฝีมือตัวเองจากโรงละครเวสต์เอนด์และเริ่มต้นทำงานที่นั่น และในแวดวงจอแก้ว ด้วยการออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับโฆษณา ที่ซึ่งเธอได้พบกับผู้กำกับชั้นนำเช่น อลัน ปาร์คเกอร์, เอเดรียน ลิน, ริดลีย์ และโทนี สก็อตและฮิวจ์ ฮัดสัน เป็นครั้งแรก เธอเกิดและเติบโตในอังกฤษ และเชี่ยวชาญภาษาฝรั่งเศสและอิตาเลียน จอร์จ อากีลาร์ (ผู้ประสานงานคิวบู๊) หลังจากที่ทำงานเป็นสตันท์แมนหลายปี เขาก็กลายเป็นหนึ่งในผู้ประสานงานคิวบู๊ที่โด่งดังที่สุดในแวดวงภาพยนตร์ ส่วนหนึ่งของผลงานภาพยนตร์มากมายของเขาได้แก่ ภาพยนตร์โดยไมค์ นีเวลล์เรื่อง “Donnie Brasco,” ภาพยนตร์โดยมาร์ติน สกอร์เซซีเรื่อง “The Departed,” “Gangs of New York” และ “Bringing Out the Dead,” ภาพยนตร์โดยริดลีย์ สก็อตเรื่อง “American Gangster,” “Enchanted,” “Before the Devil Knows You’re Dead,” “The Good Shepherd,” “The Pink Panther,” “Ladder 49,” “Elf,” “Die Another Day” (ร่วมประสานงานคิวบู๊) และ ฯลฯ ด้านจอแก้ว อากีลาร์ทำหน้าที่ผู้ประสานงานคิวบู๊ในหลายๆ เอพิโซดของซีรีส์ “Oz” และ “Homicide: Life on the Street” รวมถึง “Homicide: The Movie” และ “Wanted Dead or Alive” ไมเคิล คาห์น (มือลำดับภาพ) เป็นศิลปินในตำนาน ผู้ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดจากผลงานของเขาในภาพยนตร์โดยสตีเวน สปีลเบิร์กเรื่อง “Raiders of the Lost Ark,” “Schindler’s List” และ “Saving Private Ryan” และได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลจาก “Close Encounters of the Third Kind,” “Fatal Attraction,” “Empire of the Sun” และ “Munich” คาห์นได้ร่วมงานกับสปีลเบิร์กในภาพยนตร์ที่เขากำกับและอำนวยการสร้าง ได้แก่ “Poltergeist,” “The Goonies,” “Indiana Jones and the Temple of Doom,” “Jurassic Park,” “Twister,” “Amistad,” “Minority Report,” “Catch Me If You Can,” “War of the Worlds” และ “Indiana Jones and the Crystal Skull” รางวัลที่คาห์นได้รับได้แก่รางวัลสถาบันศิลปะภาพยนตร์และโทรทัศน์อังกฤษ (บาฟตา) สำหรับ “Fatal Attraction” และ “Schindler’s List” และได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลจาก “Close Encounters of the Third Kind,” “Raiders of the Lost Ark,” “Indiana Jones and the Temple of Doom” และ “Saving Private Ryan” และรางวัลเอซีอี (สมาคมมือลำดับภาพอเมริกัน) สำหรับ “Eleanor and Franklin” (ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลเอ็มมีด้วยเช่นกัน), “Raiders of the Lost Ark,” “Schindler’s List” และ “Saving Private Ryan” และได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลนี้อีกสี่ครั้ง ทอม วู้ด (ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์) รับหน้าที่ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์ให้กับภาพยนตร์โดยแดนนี บอยล์เรื่อง “Sunshine” และ “Sylvia” และซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์ให้กับเอ็มพีซีในภาพยนตร์โดยริดลีย์ สก็อตเรื่อง “Kingdom of Heaven” และ “Close Your Eyes” ก่อนหน้านี้ วู้ดเคยทำงานในตำแหน่งซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายซีเควนซ์, ผู้วางตำแหน่งภาพหรือซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายดิจิตอล เอฟเฟ็กต์ในภาพยนตร์เรื่อง “Event Horizon,” “Lost in Space,” “The World Is Not Enough,” “Snatch,” “Enemy at the Gates,” “Lara Croft: Tomb Raider,” “Harry Potter and the Sorcerer’s Stone” และ “Ali G Indahouse” เทรเวอร์ วู้ด (สเปเชียล เอฟเฟ็กต์) ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดและรางวัลสถาบันศิลปะภาพยนตร์และโทรทัศน์อังกฤษ (บาฟตา) จากผลงานของเขาในภาพยนตร์เรื่อง “The Golden Compass” ผลงานของเขาในฐานะซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์และผู้ประสานงานฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์ครอบคลุมภาพยนตร์หลากหลายแนว ซึ่งรวมถึง “The Last Legion,” “Syriana,” “Alexander,” “Sky Captain and the World of Tomorrow,” “Cold Mountain,” “Spy Game,” “Gladiator” (มัลตาเท่านั้น) และ “Event Horizon” วู้ดเป็นซูเปอร์ไวเซอร์เวิร์คช็อปสเปเชียล เอฟเฟ็กต์ในภาพยนตร์เรื่อง “Entrapment,” “Saving Private Ryan,” “The Fifth Element” และ “Stargate” ในช่วงแรกที่เขาทำงานใหม่ๆ วู้ดรับหน้าที่หลายอย่างในแผนกสเปเชียล เอฟเฟ็กต์ในภาพยนตร์เรื่อง “Dune,” “King David,” “Young Sherlock Holmes,” “Casualties of War,” “Henry V,” “Memphis Belle,” “1492: Conquest of Paradise,” “Mission: Impossible” และ “Dragonheart” แฮร์รี่ เกร็กสัน-วิลเลียมส์ (คอมโพสเซอร์) เป็นหนึ่งในคอมโพสเซอร์ที่เป็นที่ต้องการตัวสูงสุดในฮอลลีวูด หลังจากที่เขาได้ทำงานในโปรเจ็กต์ฟอร์มยักษ์มาหลายเรื่อง ทั้งที่เป็นอนิเมชันและไลฟ์แอ็กชัน ตลอดหลายปีที่ผ่านมานนี้ เกร็กสัน-วิลเลียมส์ได้แต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ฟอร์มยักษ์ใหญ่หลายเรื่อง รวมถึง “Shrek the Third,” “The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe” (ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำและแกรมมี), “Shrek” (ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบาฟตา), “Shrek 2” และ “Chicken Run” ล่าสุด เขาได้แต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์เรื่อง “X-Men Origins: Wolverine” ที่กำกับโดยกาวิน ฮู้ดและ “The Taking of Pelham 1 2 3” ที่กำกับโดยโทนี สก็อต เกร็กสัน-วิลเลียมส์เคยร่วมงานกับผู้กำกับโทนี สก็อตในภาพยนตร์หลายเรื่องเช่น “Man on Fire,” “Domino,” “Spy Game” และ “D?j? Vu” สำหรับผู้กำกับโจเอล ชูมัคเกอร์ เขาได้แต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง“Phone Booth,” “Veronica Guerin,” “The Number 23” และ “Twelve” ที่จะลงโรงในเร็วๆ นี้ ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่ include “Gone Baby Gone” ซึ่งเป็นผลงานการกำกับเรื่องแรกของเบน แอฟเฟล็ค, “The Chronicles of Narnia: Prince Caspian,” “Seraphim Falls,” “Kingdom of Heaven” (ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลคลาสสิคัล บริท อวอร์ดและได้รับรางวัลโกลเดน แซทเทิลไลท์ อวอร์ด), “Bridget Jones: The Edge of Reason,” “Enemy of the State,” “The Replacement Killers,” “Smilla’s Sense of Snow” และ “Antz” เกร็กสัน-วิลเลียมส์เกิดในครอบครัวนักดนตรีในประเทศอังกฤษ เขาได้รับทุนการศึกษาจากโรงเรียนดนตรีเซนต์จอห์น คอลเลจในเคมบริดจ์ตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ พออายุได้ 13 ปี เสียงร้องของเขาก็ได้รับการบันทึกลงแผ่นเสียงมากมาย ซึ่งก็ส่งผลให้เขาได้เข้าศึกษาที่กิลด์ฮอล สคูล ออฟ มิวสิค แอนด์ ดรามาในลอนดอน เขาเริ่มต้นทำงานภาพยนตร์ ด้วยการเป็นผู้ประพันธ์และผู้เรียบเรียงเสียงประสานให้กับคอมโพสเซอร์สแตนลีย์ ไมเยอร์สและได้แต่งดนตรีของตัวเองเป็นครั้งแรกให้กับผู้กำกับนิโคลัส โร้ก ชาวอังกฤษ หลังจากนั้น ความตั้งใจของเกร็กสัน-วิลเลียมส์ที่จะเข้าสู่แวดวงการแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ฮอลลีวูดก็ได้รับการส่งเสริมจากการร่วมมือและมิตรภาพที่เขามีกับฮันส์ ซิมเมอร์ คอมโพสเซอร์เจ้าของรางวัลออสการ์ และมันก็ทำให้เกร็กสัน-วิลเลียมส์ได้แต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์มากมายเช่น “The Rock,” “Broken Arrow,” “The Fan,” “Muppet Treasure Island,” “Armageddon,” “As Good as It Gets” และ “The Prince of Egypt” เกร็กสัน-วิลเลียมส์ได้รับหน้าที่วาทยกรคอนเสิร์ตดนตรีของเขาใน “The Chronicles of Narnia: The Lion, The Witch and The Wardrobe” ในกรุงมาดริด ปี 2006 และในเดนเวอร์ปี 2007

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ