ปตท. ยืนยันไม่เก็งกำไรน้ำมัน

ข่าวทั่วไป Tuesday December 6, 2005 16:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันในตลาดโลกในปี 2548 ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนประมาณ 44%
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ชี้แจงกรณีที่มีข่าวพาดพิงถึง ปตท. ในประเด็นที่ว่า “ในช่วง 10 เดือน (ธ.ค. 47-ก.ย. 48) ที่ผ่านมา มีการนำเข้าน้ำมัน และสต็อกน้ำมันผิดปกติ ส่อเค้ากักตุนเก็งกำไร” นั้น ปตท. ขอยืนยันว่า ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบของทุกโรงกลั่นเพื่อนำมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปของประเทศในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา อยู่ในภาวะปกติ โดยมีปริมาณการนำเข้าเฉลี่ยที่ระดับประมาณ 8.5 แสนบาร์เรล/วัน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณการนำเข้าเฉลี่ย 8.4 แสนบาร์เรล/วัน โดยมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นประมาณ 42% ตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น (ในปี 2547 น้ำมันดิบดูไบมีราคาเฉลี่ย 33 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา น้ำมันดิบดูไบมีราคาเฉลี่ย 48 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล)
นายประเสริฐฯ ชี้แจงรายละเอียดว่า ในการนำเข้าน้ำมันดิบของประเทศนั้น ปตท. ได้นำเข้าให้โรงกลั่นส่วนหนึ่ง ในขณะที่โรงกลั่นทุกโรงนำเข้าเองโดยตรงด้วย โดยน้ำมันดิบส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้ที่โรงกลั่น ซึ่ง ปตท. ขอยืนยันว่าไม่มีนโยบายกักตุนน้ำมันดิบเพื่อเก็งกำไร แต่ ปตท. จะจัดซื้อน้ำมันดิบตามความต้องการของโรงกลั่นเท่านั้น ซึ่งในการนำเข้าน้ำมันดิบของประเทศเป็นการนำเข้ามาเพื่อใช้กลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป และแต่ละโรงกลั่นจะเป็นผู้ตัดสินใจในการจัดหาน้ำมันดิบของตนเอง อนึ่ง ปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ 7 แห่ง มีกำลังการกลั่นรวม 1,012 ล้านบาร์เรล/วัน โดย ปตท. ถือหุ้นในโรงกลั่น 4 แห่ง (ไทยออยล์ บางจาก สตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง และโรงกลั่นน้ำมันระยอง) คิดเป็น 31% ของกำลังการกลั่นทั้งหมด สำหรับปี 2548 ปตท. มีการนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 3.5 แสนบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นประมาณ 44% เนื่องจากต้องนำเข้าเพิ่มให้กับโรงกลั่นน้ำมันระยองที่ ปตท. เข้าไปถือหุ้นทั้งหมด 100% ตั้งแต่ปลายปี 2547
สำหรับปริมาณการใช้น้ำมันสำเร็จรูปของประเทศอยู่ที่ระดับกว่า 7 แสนบาร์เรล/วัน หรือประมาณ 80% ของกำลังการกลั่นจึงมีผลิตภัณฑ์บางชนิดเหลือจากการขายในประเทศ และจากการใช้เป็นวัตถุดิบป้อนโรงงาน ปิโตรเคมีก็จะถูกส่งออก ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ไทยได้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปประมาณ 1.1 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาและถือเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งยังเป็นผลดีต่อประเทศ เพราะนอกจากจะเป็นการบริหารสินทรัพย์ของโรงกลั่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ยังสามารถเพิ่มมูลค่า และนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาอีกด้วย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ