อียูประกาศใช้ตราสัญลักษณ์แบบใหม่ของผลิตภัณฑ์อินทรีย์

ข่าวทั่วไป Wednesday May 12, 2010 16:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--คต. นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2553 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศ Commission Regulation (EU) No 271/2010 of 24 March 2010 แก้ไข Regulation (EC) No 834/2007 และ Regulation (EC) No 889/2008 ว่าด้วยการควบคุมการผลิตและการติดฉลากผลิตภัณฑ์อินทรีย์ โดยมีการเปลี่ยนชื่อตราสัญลักษณ์จากเดิมคือ “Community organic production logo” เป็น “Organic production logo of the European Union” เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนชื่อจากประชาคมยุโรปเป็นสหภาพยุโรป รวมทั้งปรับรูปแบบตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ เพื่อสร้างความมั่นใจด้านคุณภาพและมาตรฐานให้กับผู้บริโภค และส่งเสริมการพัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์ในอียูด้วย ซึ่งระเบียบใหม่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 เป็นต้นไป โดยกำหนดเป็นระเบียบบังคับสำหรับสินค้าที่ผลิตในอียู แต่เป็นระเบียบสมัครใจสำหรับสินค้านำเข้า ทั้งนี้ บรรจุภัณฑ์และสินค้าที่ผลิตก่อนหน้านี้สามารถใช้ตราสัญลักษณ์เดิมต่อไปได้จนกว่าจะหมดสต็อก หรือถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 สำหรับผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่ประทับตราสัญลักษณ์แบบใหม่นี้ต้องได้มาตรฐานตามข้อกำหนดด้านการผลิตใน Regulation (EEC) No 2092/91, Regulation (EC) No 834/2007 รวมทั้งมาตรฐานการผลิต เช่น ต้องใช้วัตถุดิบอินทรีย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของส่วนประกอบทั้งหมดและแหล่งผลิตต้องผ่านการตรวจสอบรับรองจากหน่วยงาน ที่อียูยอมรับทุกปี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการสุ่มตรวจตัวอย่างสินค้า หากพบว่าไม่ได้มาตรฐานจะถูกเรียกคืนหนังสือรับรองผลิตภัณฑ์อินทรีย์และจะไม่อนุญาตให้ติดฉลากระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์อีกต่อไป รองอธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงหลายปีมานี้ ผู้บริโภคในอียูใส่ใจต่อสุขภาพกันมากขึ้นจึงมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตโดยกรรมวิธีที่ไม่ใช้สารเคมี จึงนับเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกผลิตภัณฑ์อินทรีย์ไปยังอียูจะได้พัฒนาคุณภาพ มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของตนให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของอียู ทั้งนี้ เพื่อขยายตลาดไปยังอียูให้มากขึ้น โดยผู้ที่สนใจสามารถค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://ec.europa.eu/agriculture/organic/consumer-confidence/logo-labelling_en

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ