ปัญญาสมาพันธ์ฯ สำรวจเยาวชนแฟนพันธุ์แท้ ‘พนันบอล’ พบเด็กไทยตั้งตารอเสี่ยงโชคบอลโลก ส่วนพรีเมียร์ลีกอังกฤษยังได้รับความนิยมสูงสุด

ข่าวทั่วไป Wednesday June 2, 2010 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--ไอเดียเวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย โดยความสนับสนุนของ บมจ. ซีพี ออลล์ ได้ทำการสำรวจผลกระทบจากการเล่นพนันฟุตบอลของเยาวชนต่อสังคมไทย โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงระดับอุดมศึกษาจำนวน 4,461 คน ใน 25 จังหวัดทั่วประเทศ ผลจากการสำรวจพบว่า เยาวชนที่เล่นพนันบอลเริ่มต้นจากการติดตามชมการแข่งขันประมาณ 2-3 วัน (ครั้ง) (ร้อยละ 27.77) และมีคนรู้จักเล่นพนันบอล โดยส่วนใหญ่คือเพื่อน (ร้อยละ 45.92) รองลงมาคือญาติพี่น้อง (ร้อยละ 14.43) และบิดา/มารดา (ร้อยละ 2.08) ตามลำดับ ชี้ให้เห็นว่าเพื่อนและบุคคลใกล้ตัวค่อนข้างมีอิทธิพลต่อการสื่อสารอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างด้านการพนันบอลต่อเยาวชน ส่วนปัจจัยหรือเหตุผลที่จูงใจให้เยาวชนไทยเล่นพนันบอลคือ อยากได้เงิน (ร้อยละ30.48) รองลงมาคือเพื่อความสนุก (ร้อยละ 29.79) และเล่นพนันตามเพื่อน (ร้อยละ 16.44) ตามลำดับ ดร.สรียา โด อมาเรา คณะทำงานปัญญาสมาพันธ์ฯ เผยถึงผลการสำรวจว่า “เมื่อเจาะกลุ่มเยาวชนพบว่า ส่วนใหญ่เริ่มเล่นตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ถึงร้อยละ 41.57 ดังนั้นหากต้องการป้องกันการพนันบอลอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ปกครองและอาจารย์ต้องวางแผนเพื่อป้องกันการเล่นพนันของเยาวชนตั้งแต่ในช่วงวัยนี้” นอกจากนี้ ยังพบว่าความถี่ในการเล่นพนันบอลอยู่ที่ 2 วัน (ครั้ง) ต่อสัปดาห์ (ร้อยละ 31.59) วงเงินเฉลี่ยครั้งละ 100-500 บาท (ร้อยละ 42.32) และรูปแบบในการเล่นพนันคือบอลชุด/เสต็ป/ยก (ร้อยละ 54.12) ส่วนใหญ่เล่นพนันกับโต๊ะบอลโดยตรง (ร้อยละ 52.07) และข้อมูลที่ใช้เล่นพนันบอลส่วนใหญ่ได้จากหนังสือพิมพ์ (ร้อยละ 26) รองลงมาคือคุยกับเพื่อน (ร้อยละ 23.25) และอินเตอร์เน็ต (ร้อยละ 21.49) ตามลำดับ เยาวชนที่ชอบเล่นพนันบอล ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[1] (ร้อยละ 30.87) โดยที่ครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,000-10,000 บาท และตัวเยาวชนส่วนใหญ่จะได้รับค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครอง 2,001-3,000 บาทต่อเดือน เงินที่ได้รับจากการเล่นพนันบอลจะไปใช้ในการกิน/เที่ยวกับเพื่อนฝูง (ร้อยละ 39.04) และเก็บไว้เป็นทุนเล่นต่อไป (ร้อยละ 18.79) มีเยาวชนเพียงร้อยละ 4.89 ที่ตอบว่าเล่นเพื่อนำเงินมาจ่ายค่าเทอม ร้อยละ 21.82 ของเยาวชนที่ตอบว่าเล่นพนันบอลเคยเป็นหนี้พนัน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาระดับอนุปริญญาตรี (ร้อยละ 43.33) และนักเรียนระดับ ปวช. (ร้อยละ 23.03) และเยาวชนที่เป็นหนี้พนันบอลส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาหรือสถานศึกษาอยู่ในภาคใต้ (ร้อยละ 33.33) ซึ่งร้อยละ 43.33 จะใช้หนี้พนันโดยยืมเงินจากเพื่อน และร้อยละ 22.05 ขอเงินจากผู้ปกครองเพิ่ม หรือขาย/จำนำของมีค่าเพื่อนำเงินไปใช้หนี้ (ร้อยละ 19.21) ตามลำดับ และวิธีการทวงหนี้พนันของโต๊ะบอลได้แก่การเจรจาเพื่อให้ชำระหนี้ (ร้อยละ 58.24) รองลงมาคือข่มขู่ (ร้อยละ 11.88) ด้านความคิดเห็นของเยาวชนต่อผลกระทบทางสังคมพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเล่นพนันบอล เพราะไม่ยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติ และการเล่นพนันบอลไม่ได้ทำให้ดูเป็นคนทันสมัย นอกจากนี้ยังเห็นว่าการทำให้เพื่อนยอมรับเข้ากลุ่มไม่จำเป็นต้องเล่นพนันบอล และเยาวชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการที่จะเปิดให้มีการเล่นพนันบอลอย่างถูกกฎหมาย ข้อค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเยาวชนไทย ส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเล่นพนันบอล อย่างไรก็ตาม ในข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีเยาวชนไทยบางส่วนที่ยังคงเล่นพนันบอล (ร้อยละ 57.1 ของเยาวชนที่เคยเล่นพนันบอล) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนระดับ ปวช. (ร้อยละ 64.5 ของเยาวชนกลุ่มนี้) และเยาวชนไทยส่วนนี้อาจจะเป็นทั้งผู้ที่มีทัศนคติที่ดีและไม่ดีต่อการเล่นพนันบอลก็ได้ ดังนั้นจึงสรุปในเบื้องต้นได้ว่าทัศนคติที่มีต่อการเล่นพนันบอลอาจไม่มีส่วนกำหนดพฤติกรรมการเล่นพนันบอลเสมอไป สำหรับผลกระทบต่อสังคม เยาวชนส่วนใหญ่เห็นว่าการพนันบอลทำให้เกิดหนี้นอกระบบมากที่สุด รองลงมาคือทำให้เกิดการลักขโมย/ปล้นจี้/ชิงทรัพย์ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการเรียนเพราะจะทำให้ผู้ติดพนันบอลมาเรียนสายหรือขาดเรียน หมายเหตุ n คือ จำนวนคนที่เคยเล่นพนันบอล จำนวน อย่างไรก็ตาม มีเยาวชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนหนึ่งเลิกเล่นพนันบอลแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากเห็นว่าผลตอบแทนที่ได้รับไม่คุ้มค่ากับที่เสียไป รองลงมาคือไม่มีเงิน เยาวชนส่วนใหญ่ที่ไม่เล่นพนันยังมีเหตุผลอื่นๆ อีก เช่น กลัวติดการพนัน กลัวพ่อแม่เสียใจ กลัวโดนจับเพราะทราบว่าผิดกฎหมาย เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่เล่นพนันบอลส่วนใหญ่จะให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายซึ่งแตกต่างกับเหตุผลของกลุ่มตัวอย่างที่ตัดสินใจเลิกเล่นพนันบอลที่ระบุว่าได้ไม่คุ้มเสีย ข้อค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่าการใช้มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวเพื่อทำให้กลุ่มเยาวชนเลิกเล่นพนันบอลนั้นอาจไม่เพียงพอหรืออาจไม่เหมาะสมเพราะพวกเขาอาจไม่เกรงกลัวกฎหมายหรืออาจหลีกเลี่ยงกฎหมายได้ในรูปแบบต่างๆ แต่ควรเป็นมาตรการที่แสดงให้เห็นว่าการพนันบอลเป็นกิจการที่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนได้ไม่คุ้มเสีย เช่น การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ถึงผลเสียของการเล่นพนันบอล เป็นต้น สำหรับรายการลีกหรือบอลแข่งขันชิงถ้วยที่เยาวชนนิยมเล่นพนันอันดับหนึ่งได้แก่พรีเมียร์ลีกของอังกฤษ (ร้อยละ 33.49) รองลงมาคือกัลโซ่ ซีรี อาของอิตาลี (ร้อยละ 16.13) และบุลเดสลีกาของเยอรมัน (ร้อยละ 15.24) และในช่วงฤดูการแข่งขันบอลโลกปีนี้ มีเยาวชนที่ตอบแบบสำรวจร้อยละ 17.66 ตอบว่าจะเล่นพนันบอลครั้งนี้ด้วย โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอนุปริญญาตรี (ร้อยละ 31.5) กลุ่ม ปวช. (ร้อยละ 23) และกลุ่มปริญญาตรี (ร้อยละ 21) ตามลำดับ สำหรับนักเรียนระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายที่มีความคิดจะเล่นพนันบอลในการแข่งขันครั้งนี้มีเพียงร้อยละ 8.4 และ 16.1 รองศาสตราจารย์ ดร. จีรเดช อู่สวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหารนโยบายปัญญาสมาพันธ์ฯ กล่าวว่า “ในฐานะที่ปัญญาสมาพันธ์ฯ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศาสตร์ทางด้านการสำรวจความเห็นสาธารณะสำหรับประเทศไทยในด้านต่างๆ เพื่อสร้างฐานข้อมูลทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนในการนำไปเป็นแนวทางในการวางแผนหรือกำหนดนโยบาย ได้เล็งเห็นถึงปัญหาสังคมของเยาวชนและวัยรุ่นไทยที่มีมาต่อเนื่องยาวนานในเรื่องของการพนันฟุตบอล ซึ่งปรากฏอยู่แทบจะทุกเทศกาล และระดับของปัญหาได้เพิ่มสูงขึ้นรวมทั้งมีการพัฒนารูปแบบของการเล่นพนันฟุตบอลที่ซับซ้อนมากขึ้นเป็นลำดับ และเนื่องในโอกาสที่จะมีการแข่งขันฟุตบอลโลกในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ปัญญาสมาพันธ์ฯ จึงได้ให้มีการจัดทำการสำรวจเกี่ยวกับผลกระทบจากการเล่นพนันฟุตบอลของเยาวชนต่อสังคมไทยชิ้นนี้ขึ้นมา เพื่อให้ตัวเยาวชนเอง รวมไปถึงครอบครัว สังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานด้านการศึกษา ด้านสังคม ได้รับทราบข้อมูลที่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้อย่างชัดเจน เพื่อทุกคนทุกฝ่ายจะได้ตระหนักและมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาใหญ่ของสังคมปัญหานี้ให้ลดลงจนกระทั่งหมดไปได้ สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรเยาวชนผู้นั้นจะเข้าใจและตระหนักถึงผลร้ายที่จะตามมาจากการเล่นพนันบอลดังกล่าว ดังนั้นทัศนคติของตัวเยาวชนเองคือสิ่งสำคัญที่สุด” เกี่ยวกับปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย (The Wisdom Society for Public Opinion Research of Thailand: WPORT) คือ กลุ่มนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาชั้นนำ 10 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม และสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ รวมตัวกันเพื่อศึกษาและสร้างสรรค์ผลงานวิจัยสาธารณะที่น่าเชื่อถือ โดยความสนับสนุนของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านอิ่มสะดวก เซเว่น อีเลฟเว่น สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.wport.org [1] สอดคล้องกับการศึกษาของปัญญาสมาพันธ์ในปี 2552 เรื่องพฤติกรรมการเสี่ยงโชคของคนไทย ที่พบว่าประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือชอบเสี่ยงโชคมากกว่าภาคอื่นๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ