ปรากฏการณ์ “หมวกเมฆสีรุ้ง” ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.

ข่าวทั่วไป Tuesday June 8, 2010 13:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--สวทช. ในช่วงเย็นของวันที่ 2 มิถุนายน 2553 บนท้องฟ้าทางทิศตะวันตกในบริเวณกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ได้เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติอันแสนงดงาม คือ ภาพของมวลเมฆขนาดใหญ่ที่อยู่ภายใต้ริ้วแสงสีรุ้ง ซึ่งได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่พบเห็นเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย และผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ ได้อธิบายถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า เมฆก้อนใหญ่ที่เห็นได้แก่ เมฆฝนฟ้าคะนอง (thundercloud) หรือที่นักอุตุนิยมวิทยาเรียกว่า คิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus) ซึ่งตามปกติแล้วเมฆฝนฟ้าคะนองจะสูงในช่วง 7-10 กิโลเมตร แต่จากภาพและหลักฐานที่ปรากฏเชื่อว่าเมฆก้อนนี้น่าจะมีความสูงมากกว่า 10 กิโลเมตร (ข้อมูลวิชาการระบุว่า เมฆฝนฟ้าคะนองอาจมีขนาดสูงสุดได้ถึง 23 กิโลเมตร) ส่วนสิ่งที่ทำให้เมฆก้อนนี้มีความงดงามโดดเด่นเนื่องจากมีปรากฏการณ์อย่างน้อย 3 แบบหลักที่เกิดขึ้นในเวลาพร้อมๆ กัน ได้แก่ หมวกเมฆ (pileus) ปรากฏการณ์สีรุ้ง (irisation) และเงาเมฆ (cloud shadow) นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ย่อยอื่นๆ เช่น ขอบเงิน (silver lining) เป็นต้น “ปรากฏการณ์สีรุ้ง หรือ irisation (เรียกว่า iridescence ก็ได้) เกิดจากการที่แสงอาทิตย์สีขาวตกกระทบเม็ดน้ำขนาดต่างๆ ในเมฆจางๆ ซึ่งเป็นเมฆที่มีจำนวนหยดน้ำไม่หนาแน่นมากนัก เมื่อแสงตกกระทบหยดน้ำแต่ละหยด จะเกิดการหักเหเปลี่ยนทิศทางไปจากแนวเดิม แต่เนื่องจากแสงสีต่างๆ (ที่ประกอบขึ้นเป็นแสงสีขาว) หักเหได้ไม่เท่ากัน ผลก็คือ แสงสีขาวแตกออกเป็นสีรุ้ง และเนื่องจากในเมฆจางๆ ที่ว่านี้มีเม็ดน้ำขนาดต่างๆ กัน ทำให้สีรุ้งสีหนึ่ง (เช่น สีเขียว) ที่หักเหออกจากเม็ดน้ำขนาดหนึ่งๆ ซ้อนทับกับสีรุ้งอีกสีหนึ่ง (เช่น สีเหลือง) ที่มาจากเม็ดน้ำอีกขนาดหนึ่ง จึงทำให้มองเห็นสีรุ้งมีลักษณะเหลือบซ้อนทับกันอย่างสลับซับซ้อน บางทีก็คล้ายสีรุ้งบนผิวไข่มุก บางทีก็ซ้อนกันเป็นชั้นๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ