“F0nt.com” ชุมชนออนไลน์ใจอาสา ปลุกคน“เยียวยา” สังคมไทยผ่านลายเส้น

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday June 9, 2010 11:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ชุมชนนักออกแบบฟอนต์ใจอาสา ปลุกระดมคนร่วมออกแบบสังคมด้วยลายเส้น หวังใช้งานศิลปะเยียวยาจิตคนไทยให้ผ่านพ้นวิกฤติความแตกแยก เตรียมนำเสนอผลงานโชว์หอศิลป์ หลังสิ้นเสียงปืน และควันไฟ ภาพความร่วมมือร่วมใจของคนไทยออกมาเยียวยาสังคมมีให้เห็นกันหลากหลายรูปแบบ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือ คิดกลวิธีช่วยกันเยียวยาสังคม ตามความถนัด หวังให้ผู้คนกลับมารักกัน และรักเมืองไทยดังเดิม หนึ่งในนั้นมีกลุ่มเยาวชนซึ่งเชี่ยวชาญด้านการออกแบบได้ลุกขึ้นมาอาสาช่วยเยียวยาสังคมเช่นกัน เยาวชนกลุ่มฟอนต์ ได้รวมตัวจัดตั้งเครือข่ายผ่านชุมชนคนออนไลน์ที่มีชื่อว่า www.F0nt.com ซึ่งเป็นเยาวชนกลุ่มตัวอย่างที่โครงการจัดการองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลสนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นแบบอย่างให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้ถึงวิธีการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เพราะเยาวชนกลุ่มนี้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนคนออนไลน์ผ่าน www.F0nt.com เพื่อจัดทำ โครงการออกแบบสังคม ขึ้นซึ่งพวกเขาเชื่อว่างานศิลปะจะช่วยให้สังคมไทยกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง “ผมคิดว่าสังคมไทยตอนนี้กำลังสับสน ไม่รู้จะไปในทิศทางไหนดี หลายคนคงคิดเหมือนผมคืออยากหาทางออกให้กับประเทศ แต่ไม่รู้ว่าจะช่วยเหลืออย่างไร เมื่อสงครามทางความคิดจบสิ้นลง ต่างคนต่างบอบช้ำ หลายคนต้องพยายามปลอบประโลมตนเองและปลอบประโลมคนรอบข้าง ผมและกลุ่มเพื่อนเยาวชนด้วยกันคิดว่าเราน่าจะช่วยฟื้นฟูสังคมไทยได้โดยใช้เครื่องมือที่เรามีอยู่ คือการออกแบบ และคิดว่าน่าจะชักชวนคนในเว็ปออกแบบโปสเตอร์รณรงค์ให้ความสงบกลับมาสู่สังคมไทย” นายปรัชญา สิงห์โต ผู้ก่อตั้ง www.F0nt.com เล่าถึงระยะแรกของการจัดทำโครงการ หลังผลักดันโครงการออกมาได้ไม่นาน มีผู้คนวนเวียนเข้ามาในเว็บไซต์ไม่ขาดสาย ผู้คนจำนวนไม่น้อยเห็นด้วยกับความคิดของเยาวชนกลุ่มนี้และส่งผลงานเข้าร่วมเป็นจำนวนมากโดยหวังว่าผลงานการออกแบบของพวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม นางสาววิภาพรรณ วงษ์สว่างนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่5โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในนักออกแบบวัยใสที่สนใจงานกราฟิกและร่วมส่งผลงานเข้าร่วมโครงการโดยหวังให้ความสันติกลับมาสู่สังคมไทยอีกครั้ง กับผลงาน Peace Needs Time. ภายใต้แนวคิด สันติภาพต้องการเวลา เธอกล่าวถึงแรงบันดาลใจในการผลิตผลงานว่า “ผลงานของหนูเกิดจากการชักชวนของเพื่อนๆ ในเว็บฟอนต์ ซึ่งปกติจะเป็นเว็บที่แลกเปลี่ยนฟอนต์กันใช้เท่านั้น แต่เมื่อได้พูดคุยกันเรื่อยๆ ก็เริ่มคุยกันหลายเรื่องมากขึ้นทั้งเรื่องกีฬา ท่องเที่ยว ศาสนา สังคม และการเมือง จนล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น จึงเป็นที่มาว่าเราน่าจะช่วยอะไรสังคมของเราได้บ้างมากกว่าการตั้งกระทู้ในเว็บ คือนำนามธรรมมาสร้างเป็นรูปธรรม โดยใช้กราฟิกเป็นตัวสื่อ ผลงานของหนูชิ้นแรกที่ทำออกมาคือ Peace needs time ที่มีแนวคิดหลักคือ สันติภาพต้องการเวลา เพราะสันติภาพมันไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากเรายังเร่งรัดและใช้ความรุนแรง มีเพียงเวลาเท่านั้นที่จะทำให้เกิดสันติภาพได้” ขณะนี้มีผลงานปรากฏในเว็ปฟอนต์มากกว่า 200 ชิ้น ซึ่งผลงานเหล่านี้จะถูกรวบรวมนำไปจัดนิทรรศการออกแบบสังคม ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ได้กำหนดวันเวลาแน่นอน แต่ผลงานทุกชิ้นที่นักออกแบบส่งเข้ามาได้ถูกอัพโหลดขึ้นไปแสดงบนช่องทางออนไลน์ ซึ่งเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้ที่ http://designthailand.exteen.com ส่วนใครอยากจะส่งผลงานเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูประเทศก็สามารถส่งตรงไปยัง www.f0nt.com ได้เลย “ตอนนี้มีผลงานมากกว่า 200 ชิ้นแล้ว และคิดว่าน่าจะมีคนส่งผลงานเข้ามาเรื่อยๆ หลายคนอยากเห็นสังคมดีขึ้น แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ผมคิดว่างานศิลปะ งานออกแบบกราฟิก จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทำให้ผู้คนได้แสดงความคิดของตนเอง อย่างน้อยก็ถือว่าได้เริ่มต้นทำโดย ไม่ปล่อยความคิดของตนเองให้ไร้ประโยชน์ และผลงานเหล่านี้จะถูกนำไปจัดแสดงให้อีกหลายคนได้ชม เผื่อว่าระหว่างการชมนิทรรศการของเรา อาจจะได้ แง่คิด มุมมอง และหาวิธีการช่วยเหลือสังคมของเราต่อไป” น้ำเพชร เชื้อชม หนุ่มนักออกแบบอิสระ ผู้ประสานงานโครงการเล่าถึงความคืบหน้าของโครงการ “เราไม่หวังไกลขนาดว่าการจัดแสดงผลงานของเราจะสามารถเปลี่ยนสังคมไทยให้ดีขึ้นได้ในวันนี้พรุ่งนี้ แต่เราหวังว่าผลงานดังกล่าวจะเป็นการจุดชนวนความคิด ให้เราทุกคนสามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคตรงนี้ไปได้ เรียกความมีน้ำใจ ความเห็นอกเห็นใจกันให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อสร้างความสงบกลับคืนมา” หนุ่มนักออกแบบกว่าทิ้งท้าย ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะเรียกร้องขอสิ่งที่สูญเสียไปให้กลับคืนมาคงมีเพียงการช่วยกัน เยียวยาเท่านั้นที่จะทดแทนความ สูญเสีย ครั้งนี้ได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ