เปิดโลกงานวิจัยทางทะเลแห่งชาติ การประชุมวิทยาศาสตร์ทางทะเล 2553

ข่าวทั่วไป Wednesday June 9, 2010 14:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ร่วมกับบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ตลอดจนหน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเล 2553 ในหัวข้อ “ความหลากหลายทางชีวภาพทะเลในประเทศไทย : อุปสรรคและโอกาส” ในระหว่างวันที่ 28 — 30 มิถุนายน 2553 ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ จังหวัดภูเก็ต โดย นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุม การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลงานวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล จำนวน 9 สาขา ดังนี้ สาขาปะการัง : ความหลากหลายทางชีวภาพของปะการังแข็งฝั่งทะเลอันดามัน,การศึกษาการลงเกาะของตัวอ่อนปะการังในระยะยาวบริเวณอ่าวลิงเกาะพีพีดอน, การคุกคามของโรคสีชมพูและจุดสีชมพูบนปะการังโขด (Porites lutea) เป็นต้น สาขาการจัดการ การอนุรักษ์ และการประเมินความเสี่ยง : เขตการบรรจบกันทางทะเลของชีวภูมิศาสตร์อันดามัน,การศึกษาวิธีที่เหมาะสมในการปล่อยปลาการ์ตูนคืนสู่ธรรมชาติ,ผลกระทบจากการท่องเที่ยวและมาตรการการจัดการแนวปะการังน้ำตื้น เกาะไข่นอก จังหวัดพังงา, การศึกษาจำแนกชนิดและปริมาณของขยะทะเลในแนวปะการัง,,ตัวชี้วัดความยั่งยืนสำหรับการจัดการประมงในทะเลสาบสงขลา, การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาการกัดเซาะและฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่งทะเลกรณีศึกษาบ้านโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น สาขาสัตว์หน้าดิน : สัตว์ทะเลหน้าดินในแหล่งหญ้าทะเลบริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ประชาคมสัตว์พื้นทะเลขนาดกลางในพื้นที่ป่าชายเลน ฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย, การฟื้นฟูหอยมือเสือ บริเวณจังหวัดชุมพร เป็นต้น สาขาแพลงก์ตอน สาหร่าย และแมงกระพรุน : การแพร่กระจายของแมงกะพรุนกล่อง บริเวณเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี, การเปรียบเทียบอัตราการนำเข้าระหว่างแอมโมเนีย-ไนโตรเจนและไนเตรต-ไนโตรเจนของสาหร่ายทะเล 2 ชนิด และอัตราส่วนของไนโตรเจนต่อฟอสฟอรัสที่แตกต่างกัน เป็นต้น สาขามลภาวะ : การกระจายตัวของคราบน้ำมัน และความเสี่ยงของพื้นที่ต่อการรั่วไหลของน้ำมันในน่านน้ำทะเลไทย, ปริมาณอินทรีย์สารในตะกอนดินชายฝั่งเกาะแสมสารและเกาะค้างคาว จังหวัดชลบุรี, การประเมินความเสี่ยงของสารอาหารในน้ำทะเลบริเวณนิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก, ศึกษาคุณภาพน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง เป็นต้น สาขาปลา ปู และหมึก : ความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรปลากะพงขาวในประเทศไทยโดยใช้เทคนิคพีซีอาร์-อาร์เอฟแอลพีของไมโตคอน เดรียลดีเอ็นเอ, ผลของระดับความเข้มข้นของออกซิเจนต่อภาวะติดเชื้อในปูแสมที่โตเต็มวัย ในป่าชายเลนอ่าวปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น สาขาเพาะเลี้ยงและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร : การเสริมวิตามินซีชนิด L-Ascorbic Acid ในระดับความเข้มข้นต่างๆ ที่มีผลต่ออัตราการเจริญเติบโตและอัตราการรอดตายของลูกปลาการ์ตูนส้มขาว, กรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงในทรอสโทไค-ตริดส์ที่คัดแยกได้จากป่าชายเลน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น สาขาสัตว์ถูกคุกคาม : การจำแนกกลุ่มประชากรโลมาอิรวดีในอ่าวไทยตอนบนโดยเปรียบเทียบตำหนิบนครีบหลัง, การจำแนกชนิดโลมาด้วยเทคนิค PCR-RFLP ของบริเวณดีลูปบนไมโตคอนเดรีย, การประเมินมูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ของสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์: กรณีศึกษาโลมาในประเทศไทย, ความแตกต่างของลักษณะทางเพศบนกระดูกเพววิก (Pelvic) ของพะยูน, หมู่เกาะสิมิลันแหล่งวางไข่เต่าตนุที่ใหญ่ที่สุดของไทยในทะเลอันดามัน, สถานภาพเต่าทะเลเกยตื้นบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก, การศึกษาติดตามการอพยพย้ายถิ่นของลูกเต่าตนุโดยใช้เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม เป็นต้น สาขาสมุทรศาสตร์กายภาพ รีโมทเซนซิ่ง และโครงการร่วมไทย-เยอรมัน : การพยากรณ์การเคลื่อนตัวของพายุหมุนเขตร้อนในทะเลจีนใต้ด้วยตัวแบบโครงข่ายประสาทเทียม,การพยากรณ์แนวโน้มของระดับน้ำในทะเลอันดามันด้วยตัวแบบถดถอยบนตัวเองเชิงอนุกรมเวลา, การประยุกต์ใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในการทำแผนที่ปะการัง, ภาพรวมชุดโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน เพื่อการศึกษาวิจัยทะเลอันดามัน: ธรณีศาสตร์ นิเวศวิทยา และวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติและการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน, การศึกษาผลกระทบจากสึนามิต่อระบบนิเวศป่าชายหาดและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่แนวชายฝั่งทะเล บริเวณจังหวัดพังงา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษจากนักวิจัยชาวไทยและชาวต่างชาติ อาทิ หัวข้อ “Thailand Marine Biodiversity Outlooks : Challenges and Opportunities” โดย ดร. สิริกุล บรรพพงศ์ สำนักงานแผนและนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , หัวข้อ“Ocean Observing System” และ “Thirty years of experiences in marine biodiversity studies in Thailand : Lessons learned” บรรยายโดย Professor Jorgen Hylleberg จาก Arrhus University, Denmark ตลอดจนการแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล รวมทั้งนิทรรศการของหน่วยงานราชการ และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ด้วย นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ ทช. กล่าวว่า ทะเลเป็นแหล่งกำเนิดของทรัพยากรเกือบทุกประเภท จึงนับได้ว่าทะเลเป็นแหล่งอาหารที่มีความมั่นคงสำคัญแห่งหนึ่งของโลก ทะเลยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมของโลก ดังนั้นการศึกษาเรื่องราวของทะเลจึงเป็นหนทางที่จะทำให้รู้จักทะเลมากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อมนุษย์ การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเล ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ศึกษาวิจัยในหลากหลายสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ได้นำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาแนวทางการศึกษาวิจัย ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันรวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ