iTAP หนุน มวล.ถ่ายทอดเทคโนโลยี “เครื่องอบแห้งด้วยคลื่นไมโครเวฟ” เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday June 9, 2010 15:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--iTAP iTAP หนุน มวล.ถ่ายทอดเทคโนโลยี “เครื่องอบแห้งด้วยคลื่นไมโครเวฟ” เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไทย โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้จัดพิธีการลงนามในสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) กับ บจก.ซายน์โนเทค โดยเทคโนโลยีที่ถ่ายทอด ได้แก่ “เครื่องอบแห้งด้วยคลื่นไมโครเวฟ เครื่องอบแห้งรังนกนางแอ่นด้วยคลื่นไมโครเวฟที่ความดันต่ำ” ซึ่งเป็นผลงานการประดิษฐ์คิดค้นโดยคณะนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการพลาสมาประยุกต์เพื่อการกสิกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ และ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำทีมโดย ผศ.ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มวล. และผู้เชี่ยวชาญในโครงการ iTAP รศ.ดร.ไทย ทิพย์สุวรรณกุล อธิบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ในการลงนามครั้งนี้ มหาวิทยาลัยมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่สามารถต่อยอดและผลักดันให้มีการนำงานวิจัยออกสู่ภาคเอกชนไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จริงเป็นครั้งแรก และถือเป็นจุดที่หลายๆ มหาวิทยาลัยต้องการไปให้ถึง “ ปัจจุบันมองว่าการทำวิจัยจะยังไม่สมบูรณ์แบบแม้ผลงานจะถูกตีพิมพ์เผยแพร่ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรให้ผลงานวิจัยนั้นนำไปสู่การสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติได้ แม้ที่ผ่านมา มวล.จะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของภาคเอกชนมากนัก และผลงานวิจัยอาจยังไม่ตรงกับความต้องการ แต่ภายหลังจากที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สวทช.ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน และมีอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มารองรับ จึงเกิดการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับเอกชนมากขึ้น สามารถสร้างความเข้าใจ และสร้างงานให้เกิดขึ้นตามลำดับ ดังเช่นที่ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเอกชนในครั้งนี้ ถือเป็นภาพที่ดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับผู้ประกอบการ และเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากเอกชนในพื้นที่ต่อไป มหาวิทยาลัยพร้อมให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่เพื่อการพัฒนาธุรกิจของประเทศให้มีคุณภาพดีขึ้น เช่นกรณีการพัฒนาเตาอบยางรมควันแบบประหยัดพลังงานที่ได้พัฒนาให้กับกลุ่มสหกรณ์สวนยางในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก ล่าสุดมีสมาชิก สกย.สนใจสมัครเข้ามาร่วมโครงการแล้วกว่า 12 แห่ง ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช 4 แห่ง ชุมพร 2 แห่ง พัทลุง 3 แห่ง และสุราษฎร์ธานี 3 แห่ง ” ผศ.ดร.หมุดตอเล็บ หนิสบ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและหัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า แม้เทคโนโลยีอบแห้งด้วยคลื่นไมโครเวฟจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ทั่วโลกยังมีใช้กันน้อยมาก เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนและมีราคาแพง (ไม่ต่ำกว่า10ล้านบาท/เครื่อง) ส่วนใหญ่มีใช้กันอยู่ในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีทุนสูงในบางประเทศแถบยุโรป เช่น อิตาลี นอร์เวย์ สวีเดน และญี่ปุ่น นิยมใช้สำหรับการอบผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เช่น การอบยางล้อรถยนต์ , การอบท่อนซุงขนาดใหญ่ หรือ การอบยางพาราที่ต้องการเทคโนโลยีคลื่นไมโครเวฟที่มีประสิทธิภาพสูง “ ส่วนสาเหตุที่ยังไม่แพร่หลายในไทย เพราะนอกจากต้องนำเข้าในราคาแพงแล้ว ยังขาดความรู้ความชำนาญในการใช้งาน ปัญหาด้านบุคลากร และการซ่อมแซมรักษา ดังนั้น จึงมีแนวคิดในการสร้างองค์ความรู้ หรือ know how ขึ้นในประเทศ ทั้งเทคโนโลยีและบุคลากร ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือกันของหลายฝ่ายทั้งนักฟิสิกส์ , วิศวกร ไฟฟ้า-เครื่องกล และช่างฝีมือ ” เทคโนโลยีเครื่องอบแห้งด้วยคลื่นไมโครเวฟชิ้นนี้ จึงเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาของคณะนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการพลาสมาประยุกต์เพื่อการกสิกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มวล. ซึ่งใช้เวลาในการศึกษาวิจัยและพัฒนามานานกว่า 5 — 6 ปี ทำให้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับคลื่นไมโครเวฟ จนสามารถออกแบบ สร้างระบบกำเนิดและควบคุมคลื่นไมโครเวฟที่มีราคาถูก ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และมีศักยภาพในการนำเทคโนโลยีไมโครเวฟไปใช้ในการอบแห้งที่มีคุณภาพสูง อีกทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หัวหน้าทีมวิจัย อธิบายว่า คลื่นไมโครเวฟ เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่อยู่ระหว่างคลื่นวิทยุและคลื่นอินฟราเรด คลื่นไมโครเวฟเป็นคลื่นที่มีความยาวและความถี่ที่เหมาะสม เป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในการให้ความร้อนกับวัสดุ เนื่องจากคลื่นไมโครเวฟสามารถเคลื่อนที่ผ่านอากาศโดยไม่มีการสูญเสียพลังงาน ทำให้ตู้อบและอากาศไม่ร้อน คลื่นไมโครเวฟจะสามารถทะลุเข้าไปเนื้อวัสดุแล้วทำให้เกิดความร้อนพร้อมๆ กันทั้งภายในและที่ผิวของวัสดุ ทำให้เกิดความร้อนขึ้นอย่างสม่ำเสมอ “เทคโนโลยีไมโครเวฟ” จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะนำไปให้ความร้อนกับอาหารหรือวัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อการทำให้สุกหรือการทำให้แห้ง เช่น การนึ่ง หรือ การอบแห้ง ปลา พืช ผัก โดยเฉพาะสมุนไพรไทยและพริก หรือแม้แต่การอบแห้งรังนกแอ่น เป็นต้น โดยในการอบแห้งด้วยคลื่นไมโครเวฟนั้น สามารถรักษาคุณลักษณะและคุณค่าทางโภชนาการต่างๆ เช่น สี กลิ่น สารอาหาร วิตามิน และโปรตีน ได้มากกว่าการอบแห้งด้วยลมร้อน หรืออินฟราเรด ซึ่งผลจากการวิจัยพบว่า การอบพืชผักด้วยคลื่นไมโครเวฟทำลายวิตามินซีไปเพียง 20% เทียบกับการตากแดดที่ทำให้สูญเสียวิตามินซีไปถึง 50% เทคโนโลยีนี้จึงน่าจะเป็นทางเลือกแทนการอบแห้งด้วยการตากแดด และการใช้ลมร้อน ที่ใช้อุณหภูมิค่อนข้างสูงและใช้เวลานาน ที่สำคัญยังช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 3 เท่า ลดการสูญเสีย ลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และยังได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่นกรณีการนำไปใช้อบแห้งรังนกนางแอ่นของบจก.ซายน์โนเทค นอกจากนี้ ยังสามารถใช้กับการอบแห้งผลิตภัณฑ์ได้แทบทุกชนิด โดยระบบการควบคุมและรูปแบบของเครื่องจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ผศ.ดร.หมุดตอเล็บ ยังได้กล่าวให้ความมั่นใจว่า การใช้คลื่นไมโครเวฟในการให้ความร้อนเทียบได้กับนิวเคลียร์ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจมากว่า 20 - 30 ปีโดยไม่มีปัญหา ไมโครเวฟก็เช่นกัน แต่การนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และปลอดภัยนั้น อยู่ที่การคำนวณด้าน “ฟิสิกส์” เป็นหลัก สามารถตรวจวัดค่าของคลื่นได้ และการใช้เครื่องมือที่ถูกต้องในการตรวจสอบ สำหรับความรู้เกี่ยวกับด้านฟิสิกส์ของคลื่นไมโครเวฟในปัจจุบันของไทย หัวหน้าทีมวิจัย ยืนยันว่า สามารถที่จะป้องกันอันตรายจากคลื่นไมโครเวฟได้ “ ถ้าเรารู้จักมัน เราก็จะควบคุมมันได้ ” ซึ่งยอมรับว่ากว่าจะถึงวันนี้ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้มายาวนานกว่าจะพัฒนาออกมาเป็นเครื่องต้นแบบได้ อย่างไรก็ดี ทางคณะวิจัยฯ จะยังคงต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีการอบแห้งด้วยคลื่นไมโครเวฟในระดับที่สูงขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงในระดับสากลต่อไป ล่าสุด อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมมือกับเครือปูนซีเมนต์ไทยในการพัฒนาระบบการอบแห้งถ่านหินเพื่อให้ถ่านหินมีปริมาณความร้อนเพิ่มขึ้น แก้ปัญหาการนำเข้าเทคโนโลยีที่มีราคาแพงถึง 30 ล้านบาทขณะที่ต้นทุนไม่ถึง 500,000 บาทด้วยคุณสมบัติที่เหมือนกันและใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ในประเทศ ลดปัญหาเงินไหลออกนอกประเทศ เทคโนโลยีเครื่องอบแห้งรังนกนางแอ่นด้วยคลื่นไมโครเวฟดังกล่าว เป็นสิทธิบัตรของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยต่อยอดจากการที่ผู้เชี่ยวชาญได้เข้าไปให้การช่วยเหลือในการพัฒนาเทคโนโลยีอบแห้งด้วยคลื่นไมโครเวฟสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารต้นแบบให้กับหจก.ประดู่เอ็นจิเนียริ่ง ภายใต้การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีจากโครงการ iTAP เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ