อำพลฟูดส์รีไซเคิลขยะกล่องยูเอชทีกว่า 13.6 ตัน สร้างอาคารเรียนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลังแรกของไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday June 9, 2010 15:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--อำพลฟูดส์ บริษัทอำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกะทิชาวเกาะ โดยนายเกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ พร้อมด้วยพนักงานและสื่อมวลชน เดินทางไปมอบอาคารเรียนที่ได้ชื่อว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมล้อมมากที่สุดในประเทศไทย ที่โรงเรียนวัดบ้านสนวน ตำบลสนวน อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ โดยวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารเรียน เช่น ผนัง ฝ้าเพดาน รวมถึง โต๊ะเก้าอี้ 200 ชุด ทำจากแผ่นชิปบอร์ด ที่รีไซเคิลมาจากขยะกล่องยูเอชที ที่ประชาชนทั่วประเทศส่งคืนกลับมาภายใต้โครงการกล่องวิเศษ นายเกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด เปิดเผยว่า อาคารธนกฤตเจริญรัมย์ ถือเป็นอาคารเรียนหลังแรกของประเทศไทยที่สร้างจากขยะกล่องยูเอชที เป็นอาคารเรียน 1 ชั้น จำนวน 4 ห้อง ซึ่งทางบริษัทอำพลฟูดส์ ได้เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ ในการก่อสร้างขึ้น หลังจากได้รับทราบถึงความเดือดร้อนและความยากลำบากของนักเรียน และประสบกับปัญหาห้องเรียนไม่เพียงพอ กรรมการผู้จัดการระบุว่า อาคารเรียนหลังนี้สร้างขึ้นโดยใช้แผ่นชิบบอร์ดทั้งหมดประมาณ 2,000 แผ่น โดยส่วนที่ทำเป็นผนังห้องเรียนใช้แผ่นชิปบอร์ดหนา 15 มิลลิเมตร ประมาณ 1,500 แผ่น และในส่วนที่ทำเป็นฝ้าเพดานหนา 5 มิลลิเมตรอีก 400 แผ่น ซึ่งรวมแล้วใช้กล่องยูเอชทีทั้งหมดรีไซเคิลทำเป็นแผ่นชิปบอร์ดกว่า 13,600 กิโลกรัม หรือคิดเป็นกล่องยูเอชทีทั้งหมด 816,000 กล่อง ซึ่งการก่อสร้างอาคารเรียนนี้นับว่าช่วยลดผลกระทบทางอากาศจากการเผาไหม้ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 7,262,400 กรัม ด้านนายอรรถพล วรรณพงศ์สถิต ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านสนวน ระบุว่า โรงเรียนมีอาคาร 3 หลัง อายุ 30 กว่าปี มีห้องเรียนทั้งหมด 22 ห้อง ห้องเก็บวัสดุอุปกณ์ และด้านอื่น ๆ 5 ห้อง เหลือส่วนที่ใช้เป็นห้องเรียนเพียงแค่ 17 ห้อง ซึ่งโรงเรียนมีนักเรียนประมาณ 450 คน เฉลี่ย 20-30 คน โดยส่วนใหญ่ปัญหาที่พบก็คือเวลาฝนตกเด็กไม่มีที่เรียน อย่างห้องประชุมก็จัดกิจกรรมไม่ได้ วันสำคัญต่าง ๆ หรือวันอื่น ๆ ก็ใช้ไม่ได้ เพราะห้องประชุมเป็นโรงฝึกงานเก่าที่พยายามจะต่อเติมแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนทั้งหมด ทางโรงเรียนจึงอยากได้ห้องเรียนเพิ่มเพื่อขยายพื้นที่ในการเรียนรู้ให้กับเด็ก นายอรรถพล กล่าวว่าดีใจที่นักเรียนจะไม่ประสบกับปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาคารเรียนอีกต่อไป และถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆที่อาคารเรียนหลังใหม่นี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ทำมาจากวัสดุที่เรียกว่าแผ่นชิปบอร์ด เป็นวัสดุที่ทำมาจากการรีไซเคิลกล่องยูเอชที และเชื่อว่าอาคารเรียนหลังนี้จะช่วยสร้างความตื่นตัวทางด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่นักเรียน ครู และประชาชนได้เป็นอย่างดี “ตอนแรกนักเรียนและครูที่ได้เห็นอาคารเรียนก็รู้สึกแปลกๆ และไม่คุ้นกับวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง แต่พออาคารเรียนสร้างเสร็จสมบูรณ์ และรู้ว่าวัสดุส่วนใหญ่ เช่น ผนัง และฝ้าเพดาน รวมไปถึงโต๊ะเก้าอี้นักเรียนทำมาจากการรีไซเคิลกล่องยูเอชที ที่นำมาบด และอัดเป็นแผ่นชิปบอร์ด มีคุณสมบัติเหมือนไม้ แข็งแรง ทนทาน ก็รู้สึกชอบ โดยต่างพากันเรียกว่าเป็นอาคารที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน” ส่วนครูธนกฤต เจริญรัมย์ หรือครูหมี ครูสอนศิลปะที่ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเคยกล่าวในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ว่า อยากสร้างอาคารเรียนให้เด็กๆ อยากให้นักเรียนได้มีที่เรียน เพราะที่ผ่านมานักเรียนก็จะประสบกับปัญหาห้องเรียนไม่เพียงพอ นักเรียนหลายห้องไม่มีห้องเรีนประจำต้องใช้วิธีเดินเรียน ซึ่งพอเวลาฝนตกก็จะเปียกฝน จึงต้องไปอาศัยเรียนห้องวิชาการ หากอากาศหนาวก็จะหนาวมาก ร้อนก็ร้อนมาก ดังนั้นจึงคิดหาเงินทุนประมาณ 400,000 บาทในการสร้างอาคารเรียนจึงได้นำเหรียญและธนบัตรที่สะสมมาขายเพื่อนำเงินไปสร้างอาคาร แต่พอบริษัทอำพลฟูดส์รับปากจะสร้างอาคารเรียนให้ก็รู้สึกดีใจมากที่เด็กๆจะมีห้องเรียนและไม่ต้องประสบกับปัญหาเรื่องห้องเรียนไม่เพียงพออีกต่อไป บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศอันทันสมัย โดยได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ISO9001: 2000, มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ISO14001, มาตรฐานด้านความปลอดภัยและชีวอนามัย OHSAS / TIS 18001, SA 8000,HACCP และ GMP จากสถาบัน SGS และ BUREA VERITAS และคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย และปัจจุบันบริษัทได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการแสดงความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคม (Corporate Social Responsibility, Department of Industrial Works : CSR-DIW) เพื่อเป็นการปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับ ISO 26000 ที่ประกาศใช้ในปี 2553 ด้วย สำหรับเว็บไซต์เกี่ยวกับกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทผู้สนใจสามารถติดตามได้ที่ www.ampolfood.com/CSR

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ