สวทช. ความสำเร็จของศูนย์ไทยกริดแห่งชาติกับการประชุมกูรูกริดนานาชาติ "PRAGMA 12" ครั้งแรกของประเทศไทย

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday April 3, 2007 12:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--ศูนย์ไทยกริดแห่งชาติ
จากการที่ศูนย์ไทยกริดแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยการสนับสนุนจาก กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนา PRAGMA ครั้งที่ 12 หรือ Pacific Rim Applications and Grid Middleware Assembly ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 - 22 มีนาคม 2550 เวลา 09.00 — 18.00 น. ที่ผ่านมา ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โดยนายอาวุธ พลอยส่องแสง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ได้ให้เกียรติเป็นประธานการสัมมนาครั้งนี้ และได้กล่าวว่า “ศูนย์ไทยกริดแห่งชาติ โดยการบริหารงานของซิป้า มีความพร้อมในการสนับสนุนนักวิจัยไทยให้ใช้ประโยชน์จากการประมวลผลสมรรถนะสูง เพื่อส่งเสริมระดับการพัฒนานักวิจัย และงานวิจัยในทุกสาขาด้านวิทยาศาสตร์ และสารสนเทศ ประกอบด้วย การทำภาพยนตร์แอนิเมชั่น ที่ต้องอาศัยความละเอียด และระยะเวลาการประมวลผลที่เร็วขึ้น หรืองานวิจัยด้านยา ด้านเคมี ด้านการสื่อสาร และอุตสาหกรรม และภายใน 3 เดือนนี้ ศูนย์ไทยกริดแห่งชาติจะเป็นหน่วยงานกลางเชื่อมโยงระบบกริดภายในประเทศ โดยการวางเครือข่าย และอุปกรณ์ เพื่อให้บริการสมาชิกอย่างเต็มรูปแบบ” ผู้อำนวยการซิป้ากล่าว
สำหรับงานประชุมนานาชาติ PRAGMA ครั้งที่ 12 นี้ นับว่าเป็นครั้งแรกสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นโอกาสอันดีสำหรับประเทศไทยที่จะมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในด้าน Grid Computing จากนานาประเทศมารวมตัวกันโดยมีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัย สำหรับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิก โดย PRAGMA นั้นเป็นองค์กรที่มีสมาชิกอยู่กว่า 29 หน่วยงาน โดยเน้นการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกริดคอมพิวติ้ง และสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการคำนวณแบบกริดในภูมิภาค โดยอรรถประโยชน์ของการประยุกต์ใช้ Grid Computing มีมากมาย และเป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการ เทคโนโลยี และวิทยาการสาขาต่าง ได้แก่ Life Science ได้แก่ การออกแบบยารักษาโรค, Digital Media and Animation ได้แก่ การสร้างภาพ Animation ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และโฆษณา, Enterprise Computing, Computational Science and Engineering เช่น การใช้ CAE ในงานด้านวิศวกรรม และ Education เช่น E-Learning เป็นต้น นอกเหนือจากการรูปแบบการประชุมปกติของคณะทำงานภายใน PRAGMA และการบรรยายโดยนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของเมืองไทยแล้ว จุดสนใจหรือไฮไลท์จากการแสดงผลงานในครั้งนี้ มีการประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ใน งานวิจัยด้านยา เช่น ไข้หวัดนก, การพยากรณ์อากาศ, พยากรณ์ภัยพิบัติ เช่นแผ่นดินไหว, ไฟป่า(กรณีศึกษาจากทุ่งหญ้าสวานา) โดย กลุ่มนักวิจัยระดับชั้นนำของโลก เช่น จาก SDSC (San Diego Supercomputer Center), NCSA (National Center for Supercomputing Application) เป็นต้น
ซึ่งรายละเอียดของงานต่างๆ สามารถดูเพิ่มเติมได้จาก http://pragma12.thai-research.net/pragma12/index.php/Main_Page
** เราคาดหวังอะไรจากการประชุม PRAGMA ครั้งที่ 12 ในประเทศไทย **
การประชุมของ PRAGMA นั้นเป็นการประชุมประจำของ PRAGMA มีการสับเปลี่ยนหมุนวียนไปยังสถาบันสมาชิกต่างๆ ปีละ 2 ครั้ง โดยมีเหตุผลหลายประการ ประการแรก PRAGMA ต้องการเข้าถึงกลุ่มวิจัยทางด้านกริด ในประเทศเจ้าภาพ รวมทั้งจากประเทศใกล้เคียง ประการที่สอง เพื่อทำความเข้าใจกับสภาพแวดล้อมท้องถิ่นของการวิจัยกริดในแต่ละที่ ประการต่อมา เพื่อให้เห็นถึงความต้องการในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกริดในแต่ละที่ซึ่งย่อมแตกต่างไปตามแต่ละที่ ทั้งนี้เพื่อให้นำมาซึ่งโครงการความร่วมมือใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อโจทย์ท้องถิ่นและเป็นประโยชน์แก่สมาชิก ซึ่งสถาบันสมาชิกที่เป็นเจ้าภาพย่อมจะต้องคำนึงถึงเหตุผลดังกล่าวในการเสนอที่จะขอรับเป็นเจ้าภาพ เนคเทคนั้นเป็นสมาชิกก่อตั้งของ PRAGMA และมีผู้แทนอยู่ในกรรมการบริหารของ PRAGMA ส่วนศูนย์ไทยกริดแห่งชาติ และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิกของ PRAGMA ด้วยเช่นกัน ซึ่งต่างก็มีการดำเนินการวิจัยพัฒนาในเทคโนโลยี Grid Computing มาได้ระยะหนึ่ง โดยในครั้งนี้ทั้งเนคเทคและศูนย์ไทยกริดแห่งชาติ ต่างเห็นพ้องกันถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการประชุมนี้
สำหรับ การประชุม PRAGMA ครั้งที่ 12 ในประเทศไทยนี้เป็นครั้งแรก และ เป็นครั้งที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้เป็นโอกาสอันดีในการเปิดศักยภาพการวิจัยด้านกริดของไทย ให้กับนานาชาติได้เห็นจากโครงการกริดแห่งชาติ ที่ทางศูนย์ไทยกริดฯ กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งจัดว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานและก้าวสำคัญ ต่อการวิจัยพัฒนา Grid Computing ในประเทศไทยและต่อความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในและต่างประเทศ
สำหรับผลสรุปของการประชุม เราคาดหวังว่าจะสามารถมีความร่วมมือใหม่กับหน่วยงาน/สถาบันของไทย หรือภูมิภาคนี้ เพิ่มเติมขึ้น เพื่อจะสามารถประยุกต์ใช้ Grid technology ให้เป็นประโยชน์ได้ ที่ตอบสนองต่อโจทย์ที่มีความต้องการของไทย และ ภูมิภาค
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์ไทยกริดแห่งชาติ
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน),กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
โทรศัพท์/โทรสาร 0 2942 8555 ต่อ 1416 หรือ ติดต่อ คุณศกลวรรณ พาเรือง ผู้จัดการฝ่ายฯ (SIPA) โทรศัพท์
0 81 810 0294 www.thaigrid.or.th หรือ pr@thaigrid.or.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ