ผลวิจัยการศึกษา “10 — 20 ปี” ข้างหน้า ชี้อุดมศึกษาต้องเปลี่ยนอยู่ในกำกับรัฐ

ข่าวทั่วไป Tuesday June 29, 2010 15:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--สภาการศึกษา รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า จากรายงานการวิจัยเรื่อง ภาพการศึกษาไทยในอนาคต 10-20 ปี พบว่า สภาพปัจจุบันและแนวโน้มของบริบทโลกที่ส่งผลต่อการศึกษาในอนาคต10-20 ปีข้างหน้า มีดังนี้ 1.ด้านสังคมโลกที่เป็นสังคมของการแข่งขัน สังคมสิทธิมนุษยชนและสังคมพอเพียง ซึ่งสังคมไทยต้องหันมาให้ความสำคัญเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจังเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางชีวิตและสังคม 2.เศรษฐกิจในอนาคตจะเป็นเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงและมีความระมัดระวังมากขึ้น 3.สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ 4.ทิศทางของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทศวรรษใหม่จะเชื่อมโยงกันมากขึ้น แต่ละสาขาจะแตกแขนงในเชิงลึกมากขึ้นเพื่อสร้างความรู้ใหม่ 5.การเมืองการปกครองประเทศต่างๆจะปกป้องผลประโยชน์ประเทศของตนมากขึ้น เพิ่มความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน การปกครองที่คำนึงถึงการกระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย 6.โครงสร้างประชากรวัยเรียนจะลดลงถึงร้อยละ 25 ในอีก 15 ปีข้างหน้า และมีแนวโน้มผู้สูงอายุมากขึ้น รศ.ธงทองกล่าวว่า การศึกษาในอนาคตของไทยมีโอกาสดีหลายอย่าง จากหลายปัจจัย อาทิ กระแสการให้ความสำคัญต่อการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เศรษฐกิจในเอเชียมีความมั่นคง ส่งผลให้ไทยตื่นตัวและปรับตัวรองรับการพัฒนาและสร้างความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นช่องทางการเรียนรู้มากขึ้น นอกจากนี้การที่ประชากรวัยเรียนลดลง ทำให้รัฐมีโอกาสเพิ่มงบประมาณเพื่อการศึกษาได้มากขึ้น “เพื่อให้การศึกษาไทยเป็นการเตรียมการพัฒนาคนไทยสำหรับสังคมโลกในอีก 10-20 ปีข้างหน้า และเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จึงควรจะต้องเร่งดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ 1.ระยะเร่งด่วน ต้องเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา 2.ระยะกลาง ต้องเร่งรัดการปฏิรูปการศึกษา 3.ระยะยาว ต้องปรับระบบการบริหารและการจัดการศึกษา จากการศึกษาที่เป็นหน้าที่ของรัฐแต่เพียงผู้เดียว โดยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องกระจายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน เอกชนและสถาบันทางสังคมเป็นผู้จัด ในส่วนอุดมศึกษา ต้องเปลี่ยนเป็นสถานศึกษาในกำกับรัฐ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพความเข้มแข็งและลดภาระงบประมาณของรัฐ” รศ.ธงทองกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ