กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--ไคโรเมด สหคลินิก
สาวๆ หลายคนที่กำลังจะมีเจ้าตัวน้อย อาจมีเรื่องที่กังวลใจเกี่ยวกับลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ จนละเลยการดูแลตัวเองในเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะช่วงหลังคลอดที่อาจมีปัญหาปวดหลังตามมา หลายคนอาจมองว่าเป็นอาการเล็กน้อย แต่หากปล่อยปละละเลยอาจเป็นสัญญาณเตือนสู่การเกิดภาวะโครงสร้างผิดปกติ จนอาจนำสู่อาการที่รุนแรงมากขึ้น อาทิ ข้อกระดูกเสื่อม หมอนรองกระดูกมีปัญหา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือถึงขั้นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้
เพื่อให้คุณแม่ที่เพิ่งคลอดเจ้าตัวน้อยหรือผู้ที่กำลังวางแผนจะตั้งครรภ์ได้เข้าใจภาวะการรับน้ำหนักของโครงสร้างร่างกาย และรับมือกับอาการปวดหลังหลังจากที่ต้องแบกรับน้ำหนักลูกน้อยมาตลอด 9 เดือน ไคโรเมด สหคลินิก คลินิกชั้นนำที่เชี่ยวชาญด้านศาสตร์การจัดกระดูกแบบผสมผสานกับเวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่นำหลักการ “แอคทีฟ เธอราปี” เพื่อแก้ไขที่ต้นเหตุแห่งการปวดหลังอย่างแท้จริง โดย ดร.มนต์ทณัฐ โรจนาศรีรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ไคโรเมด สหคลินิก มีคำแนะนำดีๆมาฝากกัน
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างร่างกายและอาการปวดหลังคลอดนั้น ดร.มนต์ทณัฐ โรจนาศรีรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ไคโรเมด สหคลินิก กล่าวว่า “การเปลี่ยนของโครงสร้างร่างกายคุณแม่ เริ่มตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งร่างกายจะต้องแบกรับน้ำหนักมากขึ้นจากน้ำหนักของเด็กที่เพิ่มขึ้นตามอายุครรภ์ รวมทั้งผลจากการบำรุงครรภ์ทำให้โดยเฉลี่ยร่างกายต้องรับน้ำหนักมากถึง 25 — 30 กิโลกรัม ทั้งที่จริงแล้วน้ำหนักที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ควรมีน้ำหนักขึ้นจากเดิมเพียง 9 — 13 กิโลกรัม ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่แพทย์ให้การแนะนำ
เมื่อน้ำหนักของเด็กมากขึ้นจะถ่วงท้องด้านหน้าเพิ่มขึ้น โครงสร้างร่างกายของเราจะปรับสภาพ โดยการหมุนของแกนกระดูกอุ้งเชิงกรานไปด้านหน้า และเกิดการแอ่นตัวมาด้านหลังของหลังตอนบน เกิดเป็นลักษณะของการแอ่นของหลังตอนล่าง เมื่อแนวโครงสร้างมีการเปลี่ยนแปลง ภาวะการทำงานของกล้ามเนื้อที่พยุงหลังย่อมมีผลกระทบ ทำให้เกิดสภาพไม่สมดุลของกล้ามเนื้อเกิดขึ้น โดยเกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ในบางส่วนที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น สภาพที่เกิดขึ้นนี้ถ้าถูกปล่อยทิ้งไว้ อาจเป็นต้นเหตุ ให้โครงสร้างหลังเสียความมั่นคงและนำมาสู่ภาวะของอาการปวดได้ หากขาดการฟื้นฟูโครงสร้างกระดูกอย่างถูกวิธี อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง เรียกว่า อาการปวดหลังคุณแม่หลังคลอด (Postpartum Pain)
ดร.มนต์ทณัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า “คุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูโครงสร้างร่างกายตั้งแต่ ในระยะ 1 - 2 เดือนหลังคลอด และไม่ควรทิ้งช่วงนานเกิน 3 เดือน เนื่องจากอาการอาจสะสมจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง และเพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการออกกำลังตามคำแนะนำของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อและบริเวณข้อต่างๆ ของร่างกาย ตลอดจนดูและใส่ใจกับอิริยาบถต่างๆในชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันปัญหาด้านโครงสร้าง”
นอกจากนี้ ดร.มนต์ทณัฐ ยังฝากคำแนะนำในการดูแลตัวเองของคุณแม่หลังคลอดว่า “โดยปกติแล้วหลังคลอดร่างกายจะปรับสู่สภาพปกติได้ใน 1 - 2 เดือน สิ่งที่สำคัญคือ การดูแลโครงสร้างร่างกายของตนเองให้ดีก่อนตั้งครรภ์ เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมโดยเฉพาะสภาพกระดูกและกล้ามเนื้อ เพราะต้องแบกรับน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นตลอดระยะเวลา 9 เดือน ทั้งนี้ กล้ามเนื้อที่ควรใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ กล้ามเนื้อหน้าท้อง หลัง สะโพก เพราะเป็นกล้ามเนื้อมัดหลักในการคุมให้กระดูกอยู่ในแนวปกติ ถ้าคุณแม่ดูแลสภาวะกระดูกและกล้ามเนื้อให้แข็งแรงได้แล้วนั้น จะทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างมากในช่วงตั้งครรภ์”
สำหรับผู้ที่คลอดโดยการผ่าตัดร่างกายจะฟื้นตัวค่อนข้างช้า ร่างกายต้องพักอย่างน้อย 1 — 2 เดือน แต่หากคุณแม่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติสามารถออกกำลังกายเบาๆ เพื่อปรับสมดุลให้ร่างกาย ได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 - 2 หลังคลอด โดยเฉพาะการบริหารบริเวณหน้าท้อง สะโพก ต้นขา ให้กระชับไม่หย่อนคล้อย ในกรณีที่คุณแม่คลอดโดยการผ่าตัดต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ต้องรอให้ร่างกายฟื้นตัว 1 - 2 เดือน จึงเริ่มออกกำลังกายเบาๆได้ ซึ่งการออกกำลังกายของคุณแม่ถ้าทำอย่างถูกวิธีและเหมาะสมจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ , เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อ เพื่อป้องกันภาวะปวดข้อ หรือการบาดเจ็บของข้อต่างๆ เนื่องจากการยืดตัวของเส้นเอ็นรอบๆ ข้อ ได้ดีอีกด้วย
ดร.มนต์ทณัฐ ยังแนะนำท่าทางในการออกกำลังกายที่ถูกต้องเพื่อป้องกันและแก้ไขท่าทางที่ผิดปกติซึ่งอาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังตั้งครรภ์ ดังนี้
- การกระดกกระดูกเชิงกรานในท่ายืน เพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้อง และลดการแอ่นของหลังส่วนล่าง ด้วยการยืนหลังพิงฝาผนัง ส้นเท้าชิดผนัง พยายามกดหลังให้ส่วนเว้าของหลัง ชิดกับผนังให้มากที่สุด และกระดกเชิงกรานมาด้านหน้าเล็กน้อยพร้อมกับเกร็งหน้าท้องและคลาย ทำสลับกัน 10 - 15 ครั้ง
- เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ด้วยการนั่งเก้าอี้ หลังเหยียดตรง มือซ้ายจับเข่าขวา พยายามบิดตัวไปทางขวาช้า ๆ สลับกัน มือขวาจับเข่าซ้าย บิดตัวไปทางซ้ายช้าๆ
ในการอุ้มเจ้าตัวน้อยก็สำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงที่คุณแม่กล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรง จึงควรอยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง โดยอุ้มให้ใกล้ตัวมากที่สุด หากเมื่อย หรือเกิดอาการล้าให้สลับแขนในการอุ้มเพื่อลดปัญหาอาการปวด
ดร.มนต์ทณัฐ ยังฝากถึงคุณแม่หลังคลอดว่า "คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่าเมื่อคลอดบุตรเสร็จต้องไปรีดน้ำหนัก จริงๆ แล้วไม่จำเป็น เพราะภายใน 3 เดือนแรกของการหลังคลอด น้ำหนักจะลดมากกว่า 90% อยู่แล้ว หากคุณแม่เร่งรีบลดน้ำหนักทันทีสารอาหารที่ลูกจะได้รับจากน้ำนมแม่ก็จะลดน้อยลงไปด้วย ทางที่ดีควรใส่ใจกับการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ครบคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณแม่และลูกน้อย"
สำหรับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดเจ้าตัวน้อยหรือผู้ที่กำลังวางแผนจะตั้งครรภ์ ต้องเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างของร่างกายให้ดี ใส่ใจทั้งเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อวางรากฐานที่ดีต่อการตั้งครรภ์คุณภาพในอนาคต และหากต้องการคำแนะนำด้านการดูแลโครงสร้างร่างกาย การออกกำลังกายอย่างถูกวิธี พร้อมคำแนะนำด้านโภชนาการที่ถูกต้อง ไคโรเมด สหคลินิก เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการดูแลสุขภาพจากภายในสู่ภายนอกอันจะนำไปสู่สุขภาพที่ดีอย่างแท้จริง ปรึกษาปัญหาสุขภาพ โทร 0 2713 6745 — 6 หรือคลิก www.chiromedbangkok.com
สนับสนุนข้อมูลโดย : ไคโรเมด สหคลินิก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โทร 0 2682 9880