ปภ.เตือนระวังของแหลมคม ภัยใกล้ตัวที่มักเกิดขึ้นกับเด็ก

ข่าวทั่วไป Thursday July 8, 2010 10:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--ปภ. อุบัติภัยที่มักเกิดขึ้นกับเด็กบ่อยครั้ง ได้แก่ การถูกของมีคมและของแหลมทิ่มแทง ทำให้เด็ก ได้รับบาดเจ็บหรืออันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจผู้ปกครอง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงขอแนะวิธีป้องกันอันตรายจากของแหลมคม และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นกรณีได้รับบาดเจ็บจากของแหลมคม ดังนี้ อุปกรณ์เครื่องเขียน เช่น ปากกา ดินสอ วงเวียน มีดคัทเตอร์ ที่เย็บกระดาษ ซึ่งมีความแหลมคมควรสอนให้เด็กเรียนรู้ถึงอันตรายของอุปกรณ์ดังกล่าว และใช้อย่างถูกวิธี พร้อมจัดเก็บไว้ในกล่องที่มิดชิด ไม่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือนำมาหยอกล้อเล่นกัน เพราะหากพลาดพลั้งหกล้มทั้งที่กำลังถือของมีคมในมือ อาจทำให้เกิดอันตรายได้รั้วบ้าน ดูแลมิให้เด็กซุกชนปีนป่ายบริเวณรั้วบ้านหรือกำแพงที่มีเหล็กคม เพราะอาจพลัดตกจนถูกเหล็กแหลมทิ่มแทงได้รับบาดเจ็บพื้นบ้าน หมั่นเก็บกวาดเช็ดถูพื้นบ้าน มิให้มีเศษวัสดุที่มีลักษณะแหลมคมตกหล่นอยู่ตามพื้น เช่น เศษชิ้นส่วนของเล่นพลาสติก เข็มเย็บผ้า เข็มหมุด เป็นต้น หลังจากเก็บกวาดบ้านแล้ว ห้ามวางกองขยะไว้ตามพื้นให้เก็บไปทิ้งลงถังขยะให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันเด็กเดินเหยียบ หรือพลาดพลั้งหกล้มถูกของแหลมทิ่มแทงได้รับบาดเจ็บ หากพบเห็นเครื่องใช้อยู่ในสภาพแตกหักหรือของแหลมคมตกหล่นอยู่ตามพื้น ให้รีบจัดการแก้ไขหรือจัดเก็บให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยทันที เพื่อป้องกันอุบัติเหตุในลักษณะที่คาดไม่ถึง นอกจากนี้ เศษวัสดุอื่นๆรอบบ้าน เช่น เศษกิ่งไม้ สังกะสี ตะปู ฝาท่อระบายน้ำ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายกับเด็ก หากเด็กไปเหยียบหรือวิ่งชนกระแทกวัสดุดังกล่าวอย่างรุนแรง อาจได้รับบาดเจ็บได้อาหารประเภทไม้เสียบ เช่น ลูกชิ้นปิ้ง กล้วยปิ้ง ปลาหมึกย่าง บาร์บีคิว เป็นต้น ควรเอาอาหารออกจากไม้เสียบและวางเรียงใส่จานให้เรียบร้อย หรือหักปลายแหลมของไม้เสียบ เพราะอาจถูกทิ่มแทงได้ รวมถึงสอนมิให้เด็กวิ่งเล่นหรือหยอกล้อในขณะรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันอันตรายจากไม้เสียบอาหาร การปฐมเบื้องต้นเมื่อถูกของแหลมทิ่มแทง ห้ามดึงของแหลมหรือของมีคมออกเองโดยเด็ดขาด เพราะหากทะลุลงไปลึก จนถูกอวัยวะสำคัญหรือปลายของแหลมมีลักษณะงอ การดึงออก จะทำให้เส้นเลือด เส้นประสาทได้รับอันตราย กรณีบาดแผลเล็กน้อย ให้ล้างแผลด้วยสบู่และน้ำอุ่น ซับแผลให้แห้งและปิดด้วยพลาสเตอร์หรือผ้าพันแผล หากเป็นแผลขนาดใหญ่ ให้ห้ามเลือดโดยกดบริเวณบาดแผลและยกส่วนที่ถูกกดให้สูง ปิดแผลด้วยผ้าพันแผลที่สะอาดแล้วจึงรีบไปพบแพทย์ ท้ายนี้ หากพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลเอาใจใส่บุตรหลานอย่างใกล้ชิด รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมภายในบ้านและรอบบ้านให้ปลอดภัย จะช่วยลดอุบัติภัยจากของแหลมคมที่อาจทำอันตรายแก่เด็กได้ในระดับหนึ่ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2243-2200 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ปภ.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ