สคร. เผย มิ.ย.53 รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้เข้าคลังสูงกว่าเป้า 3.5 พันล้านบาท พร้อมแจงผลการประเมินรัฐวิสาหกิจ ประจำปี 2552

ข่าวทั่วไป Friday July 9, 2010 16:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--สคร. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มั่นใจผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจปีนี้จะสามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐได้เกินเป้าหมายและจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นจากประสิทธิภาพในการบริหารการเบิกจ่ายงบลงทุนของแต่ละรัฐวิสาหกิจที่นำไปใช้ในการพัฒนาโครงการต่างๆ ตามที่ได้รับอนุมัติงบประมาณไว้ในปีนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจในฐานะโฆษก สคร. เปิดเผยว่าแนวโน้มของรายได้นำส่งแผ่นดินของรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 50 ในปีงบประมาณ 2553 (เดือนตุลาคม 2552 ถึงเดือนกันยายน 2553) ถือว่าเป็นที่น่าพอใจมาก โดยคาดว่าจะมีจำนวนทั้งสิ้น 86,812.74 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าประมาณการจำนวน 3,512.74 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.22 อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้นำส่งสะสมในขณะนี้ (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 ถึงเดือนมิถุนายน 2553) ต่ำกว่าประมาณการ 1,218.35 ล้านบาท กล่าวคือมียอดรวมอยู่ที่ 65,557.71 ล้านบาท เนื่องจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ไม่สามารถจัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2553 ได้ทันภายในเดือนมิถุนายน 2553 และได้ขอเลื่อนการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2552 จำนวนประมาณ 1,105.30 ล้านบาท และ 238.05 ล้านบาท ตามลำดับ แต่หากได้รวมเงินปันผลจากรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งนี้แล้วก็จะทำให้รายได้นำส่งสะสมล่าสุด สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ สำหรับรายได้นำส่งในเดือนมิถุนายน 2553 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,422.49 ล้านบาท โดยรัฐวิสาหกิจที่มียอดรายได้นำส่งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง นำส่ง 1,469.00 ล้านบาท สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นำส่ง 1,294.21 ล้านบาท เป็นรายได้จากการจำหน่ายสลาก 1,120 ล้านบาท และเป็นรายได้จากเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ไม่มีผู้มาขอรับรวมดอกเบี้ย 174.21 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นำส่ง 500 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย นำส่ง 70.43 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีรายได้ที่มาจากกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 50 จำนวนรวม 78.78 ล้านบาท ซึ่งมีบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นำส่งรายได้สูงที่สุดจำนวน 63.44 ล้านบาท ภาพรวมของผลงานการเร่งรัดและติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2553 ปรากฏว่า รัฐวิสาหกิจ 46 แห่งที่ได้รับกรอบการเบิกจ่ายงบลงทุนที่มีความพร้อมประจำปีงบประมาณ 2553 นั้น รัฐวิสาหกิจสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมประจำปี 2553 (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 ถึงเดือนพฤษภาคม 2553) ได้จำนวน 69,067.62 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.04 ของกรอบการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ได้รับอนุมัติในปี 2553 จำนวนทั้งสิ้น 274,151.11 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจที่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงปัจจุบัน (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 ถึงเดือนพฤษภาคม 2553) สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 15,286 ล้านบาท บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำนวน 7,200 ล้านบาท บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 6,113 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวน 5,111 ล้านบาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 4,726 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีรัฐวิสาหกิจบางแห่งยังไม่สามารถทำการเบิกจ่ายงบลงทุนตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ในเดือนนี้ แต่ทางสคร.ก็จะทำหน้าที่ติดตาม ผลักดันและสนับสนุนให้โครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ดำเนินตามเป้าหมายที่วางไว้ให้มากที่สุด นายกุลิศฯ ยังได้เปิดเผยเกี่ยวกับผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจจำนวน 55 แห่ง และอีก 1 บริษัท ในปี 2552 ว่า “คะแนนเฉลี่ยในปี 52 นี้ลดลงจากปี 51เล็กน้อย คือ จาก 3.6103 ลดลงเป็น 3.5925 เพราะรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในปี 2552 และรัฐวิสาหกิจบางแห่งก็ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ” รัฐวิสาหกิจที่มีคะแนนประเมินผลเฉลี่ยในแต่ละหัวข้อและภาพรวมสูงขึ้น ได้แก่รัฐวิสาหกิจในสาขาพลังงาน สาขาสถาบันการเงิน สาขาสาธารณูปการ และสาขาขนส่ง ซึ่งแสดงถึงผลการดำเนินงานและคุณภาพการบริหารจัดการองค์กรที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ หากพิจารณาคะแนนผลการประเมินในช่วง 2 ปีย้อนหลัง พบว่า รัฐวิสาหกิจที่มีผลการประเมินในภาพรวมดีขึ้นต่อเนื่อง มีจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ การประปานครหลวง บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และการเคหะแห่งชาติ ส่วนรัฐวิสาหกิจที่มีผลการประเมินในภาพรวมต่ำลงต่อเนื่อง มีจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) องค์การสุรา การท่าเรือแห่งประเทศไทย องค์การคลังสินค้า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการกีฬาแห่งประเทศไทย นายกุลิศฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่มีผลการประเมินในภาพรวมต่ำอย่างต่อเนื่องนั้น ทางสคร.ได้มีกลไกในการกระตุ้นรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นด้วยการเป็นพี่เลี้ยงเพื่อช่วยรัฐวิสาหกิจที่มีผลการประเมินผลต่ำอย่างต่อเนื่องในการจัดทำแผนฟื้นฟูเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นสามารถพลิกฟื้นและมีผลการดำเนินงานที่ดีตามลำดับ “คงต้องยอมรับว่าระบบการประเมินผลมีส่วนผลักดันให้รัฐวิสาหกิจมีความตื่นตัวที่จะพัฒนาองค์กรและทบทวนบทบาทของตนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่มีความเข้มแข็งและได้คะแนนประเมินผลอยู่ในระดับสูงนั้นก็จะก้าวไปอีกขั้นและมีความท้าทายมากขึ้น เมื่อเข้ามาสู่ระบบประเมินผลที่มีมาตรฐานระดับสากลที่เรียกว่าระบบประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise Performance Appraisal หรือ SEPA) ซึ่งเป็นที่ยอมรับใน 70 ประเทศทั่วโลก โดยขณะนี้มีรัฐวิสาหกิจ 7 แห่งที่เข้าสู่ระบบนี้ และสคร.ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐวิสาหกิจต่างๆ จะทยอยเข้าสู่ระบบนี้ครบทั้ง 58 แห่งในเร็ววันนี้ เพื่อยกระดับรัฐวิสาหกิจไทยให้ไปสู่สากล” นายกุลิศฯ กล่าวสรุป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อคุณวราภรณ์ อุดมไพศาล หมายเลขโทรศัพท์ 02-298 5800 ต่อ 6753

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ