ม.อ. สร้างเครือข่ายอนุรักษ์หญ้าทะเลโลก หวังสร้างจิตสำนึกดูแลรักษาระบบนิเวศทางทะเลยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Tuesday July 20, 2010 17:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ม.อ. ตั้งคณะกรรมการศึกษาหญ้าทะเล ประสาน SeagrassNet สร้างเครือข่ายอนุรักษ์หญ้าทะเลโลก กระตุ้นจิตสำนึกช่วยดูแลหญ้าทะเล ชี้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง ล่าสุดได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงานการประชุมเรื่องหญ้าทะเลโลกปี 2010 และการประชุมเชิงปฎิบัติการนานาชาติเรื่องหญ้าทะเล ครั้งที่ 9 ช่วงปลายปีนี้ พร้อมดึงนักวิชาการวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีผลทรัพยากรหญ้าทะเล หวังช่วยอนุรักษ์ให้ยั่งยืน ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัญชนา ประเทพ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ผู้ทำการศึกษาวิจัยในเรื่องของสาหร่ายทะเลที่มีในประเทศไทย เปิดเผยว่า ม.อ.ได้ร่วมกับ SeagrassNet เครือข่ายในการติดตามการเปลี่ยนแปลงหญ้าทะเลทั่วโลก จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของหญ้าทะเลในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำปรึกษาในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับหญ้าทะเล เนื่องจากเห็นถึงความสำคัญของหญ้าทะเล ที่เป็นผู้ผลิตออกซิเจนให้กับระบบนิเวศวิทยา ช่วยในการหมุนเวียนอาหาร เป็นที่อยู่อาศัยและวางไข่ของสัตว์น้ำ และทำหน้าที่ในการดักจับตะกอนป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง “ม.อ.ได้เริ่มสำรวจหญ้าทะเลอย่างจริงจังมาตั้งแต่หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ เพื่อเข้าไปดูผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าไปมีส่วนร่วมศึกษาหญ้าทะเล และเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ในด้านการวิจัย จึงได้ร่วมกับ SeagrassNet จัดตั้งคณะเพื่อติดตามการศึกษาของหญ้าทะเล โดยได้รับมอบหมายให้ดูแลหญ้าทะเลในพื้นที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นพี่เลี้ยงให้กับประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัญชนา กล่าว ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ศึกษาวิจัยหญ้าทะเลเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า หญ้าทะเลในไทยมีด้วยกัน 12 ชนิด โดยจำนวนหญ้าทะเลทั้งชายฝั่งด้านอ่าวไทยและชายฝั่งอันดามัน มีปริมาณหญ้าทะเลขึ้นหนาแน่นใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม ปัญหาการทับถมของตะกอน และการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญที่ส่งผลกระทบหญ้าทะเล รวมถึงปัญหาคนในพื้นที่รุกล้ำทำประมง เก็บสัตว์ทะเลบางชนิด เช่น ปลิงทะเล หอยชักตีน ปูม้า ซึ่งอาศัยอยู่ในระบบนิเวศหญ้าทะเล มีปริมาณมากเกินไป จนทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยจึงเร่งสร้างเครือข่ายของผู้ที่ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับหญ้าทะเลในระดับโลก เพื่อประสานข้อมูลวิจัยและเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของหญ้าทะเลในพื้นที่อื่นๆ ด้วย ทางมหาวิทยาลัย จึงได้เตรียมจัดงานการประชุมหญ้าทะเลโลกปี 2010 ในระหว่างวันที่ 21-25 พฤศจิกายน 2553 ที่จังหวัดภูเก็ต และการประชุมเชิงปฎิบัติการนานาชาติเรื่องหญ้าทะเล ครั้งที่9 ในวันที่ 27-30 พฤศจิกายน 2553 ที่จังหวัดตรัง เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านหญ้าทะเล และเน้นความสำคัญของทรัพยากรหญ้าทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงต้องการปลูกจิตสำนึกคนไทยและคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์หญ้าทะเลมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการสร้างนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับทรัพยากรหญ้าทะเลและนิเวศวิทยาทางทะเล สำหรับหัวข้อในการประชุมสัมมนาจะครอบคลุมเรื่องการวิจัยและการจัดการที่เกี่ยวกับหญ้าทะเลในทุกๆด้าน สถานการณ์ปัจจุบันของหญ้าทะเลและปัญหา อันได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศต่อทรัพยากรหญ้าทะเล และการอนุรักษ์หญ้าทะเล และเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญ นักศึกษา ผู้ที่สนใจในระบบของหญ้าทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งผู้สนใจทั่วไปและนักอนุรักษ์ธรรมชาติจากมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย หน่วยงานของรัฐและกลุ่ม NGO ต่างๆ เข้าร่วมการสัมมนาด้วย เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดยบริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ (ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป) โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 118

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ