กรมป้องกันฯ รายงานฝนทิ้งช่วงในภาคอีสาน

ข่าวทั่วไป Monday August 6, 2007 11:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ประสบภัย 2 จังหวัด ได้แก่จังหวัดร้อยเอ็ดและกาฬสินธุ์ พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 20,00 ไร่ เบื้องต้นได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ และจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและลำน้ำสายหลักต่างๆ และเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วน พร้อมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมาได้เกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยตั้งวันที่ 1 - 27 กรกฎาคม 2550 มีพื้นที่ประสบภาวะฝนทิ้งช่วงแล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ดในพื้นที่ 14 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมยวดี เกษตรวิสัย อาจสามารถ ธวัชบุรี โพธิ์ เสลภูมิ ศรีสมเด็จ เมืองสรวง หนองพอก โพนทอง จตุรพักตรพิมาน พนมไพร จังหาร โพนทราย และกึ่งอำเภอทุ่งเขาหลวง และจังหวัดกาฬสินธุ์ในพื้นที่ 5 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอศรีสมเด็จ ห้วยเม็ก หนองกรุงศรี คำม่วง กมลาไสย และกิ่งอำเภอนาคู ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 134,022 คน 31,459 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 200,00 ไร่ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งลดลง มูลค่าความเสียหายประมาณ 26,220,000 บาท ทั้งนี้ได้ประกาศให้ทั้ง 2 จังหวัดเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว และจะได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ(งบ 50 ล้านบาท)เพื่อเป็นค่าใช่จ่ายในการสูบน้ำและเปิดช่องทางนำน้ำเข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ในพื้นที่จังหวัดเลย หนองคาย นครพนมและมุกดาหาร เริ่มมีสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ โดยเบื้องต้นได้แจ้งไปยังจังหวัดและกำชับเจ้าหน้าที่ให้เตรียมรับกับสถานการณ์แล้ว สำหรับการให้ความช่วยเหลือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน สำนักงาน กปร. กรมอุตุนิยมวิทยา กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร
เพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งบูรณาการเครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งได้ติดตามสนับสนุนเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ จำนวน 15 เครื่อง และจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนเพิ่มเติม 5 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด นครราชสีมา และอุบลราชธานี โดยมีอากาศยานประจำการ รวม 12 เครื่อง โดยเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2550เป็นต้นไป เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและลำน้ำสายหลักต่าง สุดท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใดประสบความเดือดร้อนจากสาธารณภัยติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานขอให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ