ชีวิตกับความหวังใหม่....ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน

ข่าวทั่วไป Tuesday July 3, 2007 17:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--สปส.
จากสถิติตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม 2550 พบว่ามีจำนวนลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน รวมจำนวนทั้งสิ้น 48,485 ราย โดยจำแนกตามความร้ายแรงคือ ตาย 212 ราย ทุพลภาพ 3ราย สูญเสียอวัยวะ 177 ราย หยุดงานเกิน 3 วัน 12,516 ราย และหยุดงานไม่เกิน 3 วัน 35,577 ราย ซึ่งในแต่ละปีมีจำนวนลูกจ้างที่ประสบอันตรายจากการทำงานจำนวนไม่น้อยที่ต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วนหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน เป็นเหตุให้ไม่สามารถปฎิบัติงานได้ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานสำนักงานประกันสังคม จึงเป็นหน่วยงานที่ดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานแบบครบวงจรแก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานจนร่ายกายต้องสูญเสียอวัยวะ เช่น นิ้ว มือ แขน ขา หรือเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตชนิดที่สามารถฟื้นฟูฯ ได้ นอกจากนี้ยังให้การฟื้นฟูฯ แก่ผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพโดยให้การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านทางการแพทย์และด้านอาชีพ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ สามารถดำรงชีวิตเป็นปกติและเป็นที่ยอมรับในสังคม
คุณกวี สุพัง ชายหนุ่มวัย 28 ปี อดีตพนักงานเฟอร์นิเจอร์มหาวิทยาลัยชื่อดัง เป็นหนึ่งในลูกจ้างที่ประสบอันตรายจากการทำงานจนต้องกลายเป็นผู้พิการ วันนี้โอกาสที่จะกลับมามีร่างกายสมบูรณ์ดังเดิมคงเป็นไปได้ยากแล้ว
ย้อนกลับไปเมื่อ 9 ปีก่อน คุณกวีได้รับอุบัติเหตุไฟฟ้าช๊อตไฟลุกไหม้ทั้งตัว ส่งผลให้แขนขาดทั้ง 2 ข้าง ขาซ้ายขาด 1ข้าง แต่ด้วยความอดทนอดกลั้นและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคทำให้คุณกวีผ่านพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตมาได้
ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ เพราะทุกวันนี้ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาคตะวันออก จังหวัดระยอง ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังใหม่ ที่ช่วยให้ได้ฝึก ได้เรียนรู้ในสิ่งที่จะต้องเผชิญเมื่อไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมที่สภาพร่างกายไม่เหมือนเดิม
มาจนถึงวันนี้คุณกวี เล่าถึงเรื่องราวในอดีตให้ฟังด้วยรอยยิ้มว่า “ตอนนั้นผมทำงานในตำแหน่งพนักงานเฟอร์นิเจอร์ ของมหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ซึ่งขณะกำลังตรวจตราอุปกรณ์อยู่กับเพื่อนอีก 1 คนอยู่นั้น เกิดไฟฟ้าลัดวงจรจึงรีบเข้าไปดูจึงทำให้เกิดไฟช๊อตและไฟลุกลามไหม้ทั่วตัว เป็นประสบการณ์อันน่าเศร้าที่สุดในชีวิต เมื่อตื่นมาแล้วพบว่าต้องสูญเสียแขนสองข้างและขาอีกหนึ่งข้าง ในขณะที่เพื่อนอีกคนต้องเสียชีวิต... ตอนนั้นบอกตามตรงว่า รู้สึกสิ้นหวังและหมดกำลังใจ ไม่มีเรี่ยวแรงที่อยากจะทำอะไรต่อไป อยากอยู่แต่บ้าน ผมอยู่บ้านพักฟื้นและหยุดงานมานานกว่า 9 ปี หลังจากนั้นจึงตัดสินใจเข้ามารับการฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาคตะวันออก ที่จังหวัดระยอง ”
“ ผมเพิ่งเข้ารับการฟื้นฟูฯ เมื่อช่วงต้นปี 2550 รวมแล้วตอนนี้ก็ประมาณ 6 เดือน ซึ่งคิดว่าตัวเองจะดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีคุณค่ามากที่สุด เพราะที่นี่เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้อาชีพ ได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ที่เป็นแบบเดียวกัน และคิดได้ว่ายังมีคนที่เหมือนและแย่กว่า ทำให้มีกำลังใจเพราะที่ผ่านมาคิดมาโดยตลอดว่าขาดโอกาสในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเรื่องงาน รายได้ แต่ก็ไม่เคยท้อแท้สิ้นหวัง เพราะผมได้กำลังใจจากเพื่อนๆ ที่ประสบปัญหาเดียวกัน ”
“ กิจกรรมต่างๆ ที่ศูนย์ฯ ให้ทำร่วมกับเพื่อนๆ ประกอบไปด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ การฝึกอาชีพ การฝึกให้ดำเนินชีวิตด้วยตนเอง เล่นกีฬาเปตองและเล่นดนตรี ตอนนี้ผมฝึกอาชีพด้านอิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้นอยู่ ถือว่าเป็นงานที่ชอบอย่างหนึ่ง พอจบหลักสูตรอาจจะเปิดร้านของตัวเองหรืออาจจะร่วมหุ้นกับเพื่อน ”
นอกเหนือจากการฟื้นฟูสมรรถภาพแล้ว ผู้ประกันตนยังจะได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิคุณากรในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน โดยให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น เงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน เดือนละ 900 บาท นอกจากนี้ ยังให้ค่าใช้จ่ายในการทำแขนหรือขาเทียม ค่ารักษาพยาบาลและค่าผ่าตัดแก้ไขความพิการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่นอกเหนือจากวงเงินค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานของลูกจ้างกองทุนเงินทดแทนรวมทั้งเบี้ยเลี้ยงระหว่างเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ว่า “ พิการเพียงร่างกาย แต่ไม่ไร้ความสามารถ ศูนย์ฟื้นฟูฯ สร้างโอกาส ช่วยชาติ ช่วยสังคม ”
คุณกวีได้ฝากให้กำลังใจแก่ผู้ที่เข้ารับการฟื้นฟูฯ หรือผู้ที่ประสบอันตรายถึงขั้นทุพพลภาพว่า “ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานจังหวัดระยองให้อะไรกับผมมากมาย ทั้งอาชีพและโอกาส และที่สำคัญที่สุดคือ กำลังใจจากเพื่อนๆ ณ ที่แห่งนี้มีมิตรภาพเกิดขึ้น ทุกคนต่างให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังนั้นอยากให้กำลังใจผู้ที่พิการว่าอย่าเพิ่งท้อถอย เพราะว่าชีวิตของคุณยังมีหวัง มีโอกาสที่จะสู้ และต้องฝ่าฟันอุปสรรคได้เหมือนคนปกติ อย่าไปคิดว่าความพิการเป็นปมด้อย หรือปมปัญหาที่หมดหนทางแก้ไข เพราะศูนย์ฟื้นฟูฯ...คือที่ที่สร้างชีวิตใหม่และความหวังใหม่ให้กับผู้ที่ขาดโอกาสให้เป็นที่ยอมรับและมีอาชีพให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมต่อไป ”
ด้าน นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ในปัจจุบันมีลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานรวมทั้งผู้ประกันตนทุพพลภาพ เป็นจำนวนมากที่ยังไม่ทราบว่าสำนักงานประกันสังคม มีศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานที่มุ่งให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ ด้านอาชีพควบคู่ไปกับการฟื้นฟูด้านจิตใจและสังคม รวมทั้งส่งเสริมการมีงานทำเพื่อให้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพสามารถกลับเข้าทำงานในสถานประกอบการเดิมหรือใหม่และสามารถประกอบอาชีพอิสระได้ โดยทางศูนย์ฟื้นฟูฯ ได้อำนวยความความสะดวกเรื่องของที่พักอาศัยและอาหารให้ฟรีตลอดระยะเวลาในการเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมถึงการรักษาพยาบาลหากเจ็บป่วยหรือไม่สบายขณะที่อยู่ศูนย์ฟื้นฟูฯ อีกทั้งยังมีกิจกรรมสันทนาการต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมและขยายโอกาสทางการศึกษา
ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 4 ปี ของการเปิดให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ลูกจ่างผู้ประกันตนของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนภาคตะวันออก ซึ่งผลการดำเนินงานในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา มีลูกจ้างเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมทั้งสิ้น 371 ราย โดยเมื่อสิ้นสุดการฟื้นฟูฯแล้ว ได้กลับเข้าไปทำงานกับนายจ้างเดิม ร้อยละ 65.9 นายจ้างใหม่ ร้อยละ 10.04 และกลับไปประกอบอาชีพอิสระ ร้อยละ 24.02
เลขาธิการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา ทางศูนย์ฟื้นฟูฯภาคตะวันออกจังหวัดระยอง ได้จัดพิธีมอบวุฒิบัตรฯ แก่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานที่จบหลักสูตรฝึกเตรียมเข้าทำงาน อาทิ งานช่างโลหะ งานสิ่งประดิษฐ์ งานตัดเย็บเบื้องต้น ฯลฯ จำนวน 31 คน และหลักสูตรการฝึกอาชีพ อาทิ งานคอมพิวเตอร์ งานเชื่อมโลหะ งานตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี ฯลฯ จำนวน 11 คน รวมทั้งสิ้น 42 ราย
สำหรับผู้ที่รับการฟื้นฟูฯ ต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป ไม่จำกัดความรู้ เป็นลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน รวมถึงผู้ประกันตนทุพพลภาพที่ไม่เนื่องจากการทำงาน ที่สามารถช่วยช่วยเหลือตัวเองได้ในกิจวัตรประจำวัน สภาพการสูญเสียที่เกิดขึ้นสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานให้ดีขึ้นได้ ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติด โรคเรื้อรัง โรคติดต่อที่เป็นอันตราย พิการทางสมอง หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
ลูกจ้างที่ประสบเหตุนั้น ควรที่จะได้รับการเยียวยาหรือฟื้นฟูสมรรถภาพฯทุกราย จากสถิติโดยรวมที่ผ่านมีจำนวนลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังมีลูกจ้าง/ผู้ประกันตนบางส่วนที่ได้รับการฟื้นฟูฯ และบางส่วนที่ต้องกลับภูมิลำเนาเดิมซึ่งไม่ได้เข้ารับการฟื้นฟูฯ ประกอบกับศูนย์ฟื้นฟูฯ จังหวัดปทุมธานีและจังหวัดระยอง สามารถรองรับผู้เข้าบริการได้ไม่เกินแห่งละ 200 เตียงต่อปี รวมถึงขั้นตอนการพิจารณาส่งตัวลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ต้องเป็นผู้ซึ่งได้รับการตรวจวินิจฉัยแล้วว่าประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานจริง หรือผู้ประกันตนเป็นผู้ซึ่งได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้รักษาแล้วลงความเห็นให้เป็นผู้ประกันตนทุพพลภาพและสามารถช่วยตัวเองได้ โดยเฉพาะเรื่องการเคลื่อนย้ายตัวเอง และการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของตนเอง ซึ่งต้องดูว่าเมื่อสิ้นสุดการรักษาทางการแพทย์แล้ว อวัยวะที่เหลืออยู่หรือสภาพความพิการที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร สามารถแก้ไขได้หรือไม่
จากปัญหาดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องขยายการให้บริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานให้คลอบคลุมทั่วทุกภาค โดยขยายการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูฯ ขึ้นอีก 2 แห่งคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น และภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งอนาคตจะดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูฯ ที่ภาคใต้ จังหวัดสงขลา
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน นอกจากจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์และการเรียนรู้ด้านอาชีพแล้ว ยังได้รับความอบอุ่น กำลังใจ การดูแลเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่และเพื่อนๆ ที่เข้ารับการฟื้นฟูฯ ซึ่งก็เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองที่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ บางคนไม่อยากออกจากบ้านแห่งนี้เลย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม สายด่วน 1506 www.sso.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ