เอสบีซีเผยเศรษฐีฮ่องกงรวยที่สุดในเอเชีย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 30, 2010 14:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ค.--ธนาคารเอชเอสบีซี เอสบีซีเผยเศรษฐีฮ่องกงรวยที่สุดในเอเชีย ***เกือบครึ่งรวยขึ้นในต้นปี 2010*** ***ผู้มีฐานะมั่งคั่งใน Greater China นำโดยฮ่องกง เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของเอเชีย*** สินทรัพย์กว่า 1/3 ของชาวฮ่องกงลงทุนในหุ้น อีก ? ลงทุนในสกุลเงินหยวน*** ธนาคารเอชเอสบีซี เผยผลสำรวจประชากรที่มีฐานะมั่งคั่งในเอเชีย พบว่าเศรษฐีฮ่องกงรวยที่สุดด้วยมูลค่าสินทรัพย์สภาพคล่อง (liquid assets) สูงสุด โดยร้อยละ 30 สามารถรักษาสินทรัพย์ไว้ได้เท่าเดิม ส่วนอีกร้อยละ 48 มีสินทรัพย์สุทธิ (net worth) เพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2010 เมื่อเทียบกับ 6 เดือนที่ผ่านมา ผลสำรวจยังพบว่าเศรษฐีนักลงทุนชาวเอเชีย ซึ่งมีอายุน้อยที่สุดในบรรดาเศรษฐีทั่วโลก เน้นลงทุนในตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดของโลกซึ่งภาวะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว และลงทุนอย่างระมัดระวังในตลาดแถบตะวันตกที่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะในยุโรป เศรษฐีในฮ่องกงมีสินทรัพย์สภาพคล่องเฉลี่ยรายละ 301,289 เหรียญสหรัฐ สูงกว่าเศรษฐีในสิงคโปร์และไต้หวันเกือบเท่าตัว โดยเศรษฐีในสิงคโปร์และไต้หวันมีสินทรัพย์สภาพคล่องเฉลี่ยรายละ 183,145 เหรียญสหรัฐ และ 155,162 เหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ผลสำรวจยังระบุว่า ชาวจีนแผ่นดินใหญ่กลายเป็นเศรษฐีใหม่ของเอเชียที่มีสินทรัพย์สภาพคล่องเฉลี่ยสูงสุดรายละ 126,537 เหรียญสหรัฐ ตามด้วยอินเดีย 87,769 เหรียญสหรัฐ อินโดนีเซีย 61,697 เหรียญสหรัฐ และมาเลเซีย 56,891 เหรียญสหรัฐ แผนภูมิแสดงสัดส่วนเงินลงทุนและเงินฝาก (%) LCY deposits = เงินฝากสกุลเงินท้องถิ่น Securities = ลงทุนในหุ้น FCY deposits = เงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ Unit Trusts = หน่วยลงทุนในกองทุนรวม Other Investments = การลงทุนอื่นๆ มร. บรูโน ลี ผู้อำนวยการบริหาร แผนกบริหารความมั่งคั่ง ฝ่ายบุคคลธนกิจ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวว่า “ในช่วงต้นปี ผู้มีฐานะมั่งคั่งในฮ่องกงส่วนใหญ่มีกำไรจากการฟื้นตัวของตลาดหุ้น และเริ่มมั่นใจที่จะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เพื่อเติบโตพอร์ตลงทุนอย่างสมดุล รวมทั้งโอกาสการลงทุนในตลาดที่เศรษฐกิจเติบโตเร็ว” ผลการสำรวจทั่วเอเชียพบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ในรูปเงินฝาก โดยผู้มีฐานะมั่งคั่งในอินโดนีเซียถือครองเงินสดสูงสุดถึงร้อยละ 95 ฮ่องกง (ร้อยละ 44) ไต้หวัน (ร้อยละ 42) จีนแผ่นดินใหญ่ (ร้อยละ 41) และอินเดีย (ร้อยละ 40) เศรษฐีเหล่านี้ลงทุนในตลาดหุ้น กองทุนรวม และอื่นๆ อย่างน้อยร้อยละ 40 ของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ถือครองอยู่ ธนาคารเอชเอสบีซี สำรวจผู้มีฐานะมั่งคั่งในเอเชีย เป็นครั้งที่ 3 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2553 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 2,072 คน อายุระหว่าง 18-65 ปี ใน 7 ประเทศ เป็นผู้มีฐานะมั่งคั่งที่อยู่ในกลุ่ม 10 เปอร์เซ็นไทล์แรกของประชากรที่มีสินทรัพย์สภาพคล่องหรือมูลค่าการจำนองสูงสุด โดยการสำรวจครั้งก่อนจัดทำในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2552 การเติบโตของสินทรัพย์สุทธิ (Net worth growth) ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 69 (เทียบกับร้อยละ 70 จากการสำรวจครั้งที่แล้ว) ของผู้มีฐานะมั่งคั่งในจีนแผ่นดินใหญ่ มีสินทรัพย์สุทธิเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ 6 เดือนที่แล้ว จำนวนผู้มีฐานะมั่งคั่งทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 88 (เทียบกับร้อยละ 85 จากการสำรวจครั้งก่อน) เมื่อรวมผู้ที่มีสินทรัพย์สุทธิเท่าเดิม ทั้งนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามในเอเชียจำนวนมากขึ้นที่เปิดเผยว่า สินทรัพย์สุทธิของตนมีปริมาณเพิ่มขึ้นหรือเท่าเดิมในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา คือ สิงคโปร์ร้อยละ 91 (เทียบกับร้อยละ 73 จากการสำรวจรอบที่แล้ว) มาเลเซีย (ร้อยละ 91 เทียบกับ ร้อยละ 87) อินเดีย (ร้อยละ 89 เทียบกับ ร้อยละ 82) ยกเว้น ในอินโดนีเซีย และไต้หวันเท่านั้นที่ผู้มีสินทรัพย์สุทธิเพิ่มขึ้นมีจำนวนลดลง อินโดนีเซีย (ร้อยละ 80 ลดลงจาก ร้อยละ 91) ไต้หวัน (ร้อยละ 67 ลดลงจากร้อยละ 75) กลุ่มเศรษฐีอายุน้อยในเอเชีย เศรษฐีชาวจีนแผ่นดินใหญ่เป็นกลุ่มคนรวยที่มีอายุน้อยที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีอายุเฉลี่ย 36 ปี ตามมาด้วยเศรษฐีอินเดีย อายุเฉลี่ย 38 ปี และอินโดนีเซีย อายุเฉลี่ย 39 ปี ส่วนเศรษฐีฮ่องกงเป็นกลุ่มที่มีอายุมากที่สุดโดยเฉลี่ย 48 ปี โดย 4 ใน 10 คน (หรือร้อยละ 39) เป็นสามีภรรยาที่มีรายได้ทั้งคู่และไม่มีลูก อย่างน้อยร้อยละ 10 ของผู้ตอบแบบสอบถามในทุกประเทศที่ทำการสำรวจยังเป็นโสด ยกเว้น ในไต้หวัน มร. ลี กล่าวว่า “ชาวเอเชียที่อายุน้อยและทำงานแบบไม่ประจำที่ มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นกลุ่มผู้มั่งคั่งในยุคนี้ และเมื่ออายุมากขึ้น ความต้องการด้านการบริหารความมั่งคั่งก็เปลี่ยนไป เราพบว่า การลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดหุ้นภายในประเทศ เป็นสาเหตุสำคัญที่เพิ่มความมั่งคั่งแก่ผู้คนในหลายประเทศของภูมิภาคนี้ เศรษฐีใหม่ของเอเชียโดยเฉพาะในจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นนักลงทุนที่รอบรู้มากขึ้น เนื่องจากมองหาการลงทุนที่หลากหลาย รวมทั้งโอกาสลงทุนในต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง” การลงทุนในปัจจุบัน ผู้มีฐานะมั่งคั่งใน Greater China อย่างน้อย 7 ใน 10 คนลงทุนในหุ้น นำโดยเศรษฐีฮ่องกง (ร้อยละ 87) จีนแผ่นดินใหญ่ (ร้อยละ 71) และไต้หวัน (ร้อยละ 70) ถ้าพิจารณาในด้านปริมาณการลงทุนในตลาดหุ้น เศรษฐีฮ่องกงลงทุนในตลาดหุ้นสูงสุดในภูมิภาคนี้ คิดเป็นร้อยละ 34 ของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ถืออยู่ ตามมาด้วยจีนแผ่นดินใหญ่ (ร้อยละ 29) และไต้หวัน (ร้อยละ 26) อย่างไรก็ตาม เศรษฐีในไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ กลับเป็นนักลงทุนตลาดหุ้นรายใหญ่ที่สุด โดยมีมูลค่าการซื้อขายหุ้นเฉลี่ย 547,739 เหรียญสหรัฐ และ 371,885 เหรียญสหรัฐ ตามลำดับในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ฮ่องกงตามมาในอันดับสาม ด้วยมูลค่าซื้อขายหุ้นเฉลี่ย 220,795 เหรียญสหรัฐ ผลสำรวจยังพบว่า เศรษฐีในจีนแผ่นดินใหญ่เป็นกลุ่มที่มีพอร์ตลงทุนที่หลากหลายที่สุดกลุ่มหนึ่งในภูมิภาค โดยสินทรัพย์สภาพคล่องราว 1 ใน 10 ถูกนำไปลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ร้อยละ 55 ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าตนลงทุนในกองทุนรวม ในภาพรวม เศรษฐีในจีนแผ่นดินใหญ่ลงทุนในกองทุนรวมมากที่สุด มีมูลค่ามากกว่า 30,141 เหรียญสหรัฐ ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา การลงทุนในอนาคต คนรวยในเอเชียยังคงให้ความสนใจลงทุนในตลาดหุ้น นำโดยเศรษฐีอินเดีย (ร้อยละ 44) ตามมาด้วยฮ่องกง (ร้อยละ 42) จีนแผ่นดินใหญ่ (ร้อยละ 18) ส่วนเศรษฐีใน Greater China นำโดยฮ่องกง (ร้อยละ 20) จีนแผ่นดินใหญ่ (ร้อยละ 16) และไต้หวัน (ร้อยละ 12) มีแผนกระจายการลงทุน รวมถึงการลงทุนในสกุลเงินหยวนในอีก 3 เดือนข้างหน้า และปัจจุบันพบว่า ราวร้อยละ 23 ของเศรษฐีในฮ่องกงลงทุนในสกุลเงินหยวน ส่วนผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ พบว่า ได้รับความสนใจจากเศรษฐีใน Greater China มากกว่า นำโดยฮ่องกง (ร้อยละ 32) จีนแผ่นดินใหญ่ (ร้อยละ 21) และไต้หวัน (ร้อยละ 12) ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 13 ในฮ่องกง และร้อยละ 14 ในจีนแผ่นดินใหญ่ สนใจลงทุนในพันธบัตรเป็นครั้งแรก ขณะที่ร้อยละ 14 ของเศรษฐีในจีนแผ่นดินใหญ่ และร้อยละ 10 ในไต้หวันมีแผนเปิดบัญชีในต่างประเทศเพื่อลงทุนในหุ้นและกองทุนรวม มร. ลี กล่าวว่า “ผลการสำรวจในภาพรวมสะท้อนว่า ผู้มีฐานะมั่งคั่งในเอเชียยังไม่ได้กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ครบทุกประเภท การลงทุนกระจุกตัวมากในหุ้น เมื่อเทียบกับกองทุนรวมที่บริหารโดยมืออาชีพ ซึ่งอาจเนื่องมาจากผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนที่มีให้เลือกไม่มากนัก และการเข้าถึงตลาดในแต่ละประเทศที่ยังจำกัด แต่พบว่าเศรษฐีใหม่ในเอเชียเป็นนักลงทุนที่มีวุฒิภาวะมากขึ้น เพราะระมัดระวังการลงทุนในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนอย่างรวดเร็วเพื่อรับมือกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป และยังเป็นนักลงทุนที่กระตือรือร้นแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่ง เช่น การลงทุนในสกุลเงินหยวน ตลาดเกิดใหม่ และการลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น การมีส่วนร่วมมากขึ้นในตลาดสินทรัพย์เพื่อการลงทุน ยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติการเงินในยุโรปที่จะมีต่อฐานะความมั่งคั่งของเศรษฐีในเอเชียอีกด้วย” ดัชนีวัดระดับความเสี่ยงของผู้มีฐานะมั่งคั่งในเอเชียของเอชเอสบีซี (HSBC Affluent Asian Risk Index) ผลสำรวจได้คำนวณดัชนีความเสี่ยง เพื่อวัดความคิดและพฤติกรรมของผู้มีฐานะมั่งคั่งในเอเชียที่มีต่อความปลอดภัยในการลงทุน (security) และการเติบโตของสินทรัพย์ (growth) โดยพิจารณาจากคุณสมบัติหลายประการ ซึ่งค่าดัชนีเริ่มตั้งแต่ 0-200 โดยที่ 0 หมายถึง ความปลอดภัยในการลงทุน และ 200 หมายถึง การเติบโตของสินทรัพย์ ตลาดในเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มค่อนไปทางค่าเฉลี่ย 100 โดยเศรษฐีรุ่นใหม่ในเอเชียมีทัศนคติแบบกลาง ๆ ต่อความเสี่ยง เมื่อเทียบกับ 6 เดือนก่อนหน้า คือ อินโดนีเซีย (ค่าดัชนีอยู่ที่ 100) อินเดีย (100) จีนแผ่นดินใหญ่ (99) ส่วนตลาดที่เจริญกว่าอย่างไต้หวัน ค่าดัชนีอยู่ที่ 89 มาเลเซีย (89) สิงคโปร์ (82) และฮ่องกง (82) สะท้อนว่า นักลงทุนหันไปใช้กลยุทธ์เน้นความปลอดภัยในการลงทุนมากขึ้น ค่าดัชนีของฮ่องกง และสิงคโปร์ มีผลมาจากการที่นักลงทุนรอบคอบในการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ไม่มั่นใจหรือไม่คุ้นเคย ผู้มีฐานะมั่งคั่งในจีนแผ่นดินใหญ่ 6 ใน 10 คน (หรือร้อยละ 66) อินเดีย (ร้อยละ 64) และฮ่องกง (ร้อยละ 62) ยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง ขณะที่ในสิงคโปร์ (ร้อยละ 47 เทียบกับร้อยละ 18 ในการสำรวจคราวก่อน) และ ไต้หวัน (ร้อยละ 36 เทียบกับ ร้อยละ 18) หันมาสนใจการลงทุนแบบคุ้มครองเงินต้นมากขึ้น เมื่อเทียบกับ 6 เดือนก่อน ส่วนผู้มีฐานะมั่งคั่งในตลาดเกิดใหม่อย่างอินโดนีเซีย (ร้อยละ 25) และมาเลเซีย (ร้อยละ 23) มีแนวโน้มยอมรับการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากกว่านักลงทุนชาติอื่นในภูมิภาคเดียวกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ