ราชบุรีโฮลดิ้ง รณรงค์ปลูกต้นสัก ลดโลกร้อนถวายพ่อ มุ่งลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 32,870 ตัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 2, 2010 15:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (“ราชบุรีโฮลดิ้ง”) จัดกิจกรรม “ปลูกต้นสัก ๙,๗๘๔ ต้น” ตามโครงการ “ปลูกต้นสัก ๙๙,๗๘๔ ต้น เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เพื่อรณรงค์สร้างจิตสำนึกการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนมาร่วมกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการสร้างป่าสัก คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ธรรมชาติ โดยมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และ นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานร่วมในพิธี ณ ป่าชุมชนบ้านหนองพลอง ตำบลขามเฒ่า อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่ากิจกรรมปลูกต้นสัก ๙,๗๘๔ ต้น ในวันนี้นับเป็นกิจกรรมที่ 2 ของโครงการ “ปลูกต้นสัก ๙๙,๗๘๔ ต้น เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ภายหลังจากที่ได้มีพิธีเปิดโครงการที่จังหวัดราชบุรีใน วันปลูกต้นไม้แห่งชาติเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมรำลึกใน พระมหากรุณาธิคุณ และแสดงความจงรักภักดีแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการสร้างป่าสักให้เป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของโลกให้ลดลง เนื่องจากต้นสักมีศักยภาพในการเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศไว้ในรูปเนื้อไม้ เพื่อลดภาวะก๊าซเรือนกระจกได้ดีกว่าพันธุ์ไม้ชนิดอื่น โดยประเมินว่า ต้นสักจำนวน 99,784 ต้น จะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 32,870 ตัน เมื่อต้นสักเติบโตเต็มที่ และผลิตก๊าซออกซิเจนเพิ่มขึ้นได้ 24,000 ตัน นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าไม้ของประเทศด้วย โครงการ “ปลูกต้นสัก ๙๙,๗๘๔ ต้น เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เป็นหนึ่งในกิจกรรม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้หัวข้อ “ลดโลกร้อนถวายพ่อ” เนื่องในโอกาสทรงครบรอบปีที่ ๖๐ แห่งการบรมราชาภิเษกและเฉลิมพระชนมพรรษาของกระทรวงพลังงาน โดยต้นสักจำนวน 99,784 ต้น จะนำไปปลูกในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยบริษัทและกรมป่าไม้ จะเป็นผู้คัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการปลูกให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2553 และจะดำเนินการติดตามและดูแลบำรุงรักษาเป็นระยะเวลา 6 ปีนับจากนี้ “ปีนี้เป็นปีที่ 10 ของการก่อตั้งบริษัท เพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์ด้านความรับผิดชอบสังคมของบริษัทในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำที่มุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ในการดำเนินโครงการนี้ บริษัทจึงคาดหวังว่า จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน นอกเหนือจากการดำเนินมาตรการจัดการพลังงานเพื่อลดโลกร้อนตามนโยบายของบริษัท เช่น การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า และการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนให้เพิ่มมากขึ้น” นายนพพล กล่าวในตอนท้าย สำหรับ ป่าชุมชนบ้านหนองพลอง ตำบลขามเฒ่า อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เป็นป่าชุมชนที่ขึ้นทะเบียนอยู่กับสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ ตั้งแต่ปี 2546 มีพื้นที่ทั้งหมด 119 ไร่ โดยสภาพป่าเดิมได้ถูกรุกแผ้วถางจากราษฎรในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อนำที่ดินไปทำการเกษตรกรรม ปัจจุบันชุมชนในหมู่บ้าน หนองพลองร่วมใจกันอนุรักษ์และรักษาสภาพป่าให้คงกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ และมีการเพิ่มพื้นที่ป่า ด้วยการปลูกไม้สัก และในรูปแบบของป่าพื้นบ้านอาหารชุมชนในพื้นที่บางส่วน ซึ่งราษฎรในหมู่บ้านที่อยู่รอบพื้นที่ป่าชุมชนหนองพลองสามารถใช้ประโยชน์จากป่าเพื่อเป็นแหล่งอาหาร ไม้ใช้สอย และเป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจและนันทนาการ ทั้งนี้ ป่าชุมชนบ้านหนองพลองยังได้รับรางวัลชมเชย "คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน" จากการเข้าร่วมประกวดในโครงการกล้ายิ้ม "คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน" ประจำปี 2552 อีกด้วย ข้อมูลทั่วไปต้นสัก ต้นสัก มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Teak และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tectona grandis มีถิ่นกำเนิดอยู่ในตอนใต้ของประเทศอินเดีย พม่า ไทย อินโดนีเซีย และหมู่เกาะอินเดียตะวันออก เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ผลัดใบในฤดูร้อน ขึ้นเป็นหมู่ในป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ บางส่วนในภาคกลางและภาคตะวันตก มีอยู่บ้างทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้นสัก แบ่งออกได้เป็น 5 ชนิดตามสีของเนื้อไม้ การตกแต่ง ความแข็ง ความเหนียวของเนื้อไม้ คือ 1. สักทอง เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลทอง เสี้ยนต้องตกแต่งง่าย 2. สักหิน เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลหรือสีจาง ตกแต่งง่าย 3. สักหยวก เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลอ่อน 4. สักไข่ เนื้อไม้สีน้ำเข้มปนเหลือง มีใบบนยากแก่การตกแต่ง 5. สักขี้ควาย เนื้อไม้สีเขียวน้ำตาล น้ำตาลดำดูเป็นสีเลอะๆ ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2503 พื้นที่ป่าไม้ของประเทศมีถึง ร้อยละ 50 ของพื้นที่รวมของทั้งประเทศ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ป่าไม้ และการขาดการจัดการที่ยั่งยืน ทำให้พื้นที่ป่าไม้ของประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามเนื่องจากความต้องการใช้ไม้ในประเทศ กอปรกับความตระหนักถึงคุณค่าของป่าไม้ ทำให้โครงการปลูกสร้างสวนป่าไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ เอกชน แม้กระทั่งชุมชนต่างๆ ให้ความสนใจที่จะทำการปลูกสร้างสวนป่า ไม้ที่นิยมทำการปลูกสร้างสวนป่า ได้แก่ ไม้สัก ไม้ยูคาลิปตัส ไม้สน ไม้โกงกาง และไม้โตเร็วชนิดอื่นๆ ป่าไม้มีบทบาทในวงจรคาร์บอน (Carbon cycle) ทั้งเป็นแหล่งกำเนิดคาร์บอนไดออกไซด์ และดูดซับเข้าไปเก็บไว้ในรูปมวลชีวภาพ CO2 จะถูกปลดปล่อยออกมาจากพื้นที่ป่าไม้เมื่อบริเวณดังกล่าวถูกเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินไปเป็นประเภทอื่น เช่น การเกษตรกรรม พื้นที่อยู่อาศัย เป็นต้น ความสามารถในการดูดซับ CO2 จึงขึ้นอยู่กับอัตราการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ความหนาแน่นของป่าไม้ ชนิดไม้ เป็นต้น โครงการ “ปลูกต้นสัก ๙๙,๗๘๔ ต้น เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” มุ่งเน้นการปลูกเพิ่มจำนวนต้นสักในประเทศให้มากขึ้นเนื่องจากต้นสักมีศักยภาพในการเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศไว้ในรูปเนื้อไม้ (carbon sink) เพื่อลดภาวะก๊าซเรือนกระจกได้ดีกว่าพันธุ์ไม้ชนิดอื่น โดยนักวิชาการประเมินว่า ต้นสัก 1 ต้นจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 0.329 ตันใน15 ปี โดยโครงการนี้มีเป้าหมายจะปลูกต้นสักจำนวน 99,784 ต้น ซึ่งเป็นตัวเลขมงคลที่เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึง ความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย คำนวณตามปริมาตรเนื้อไม้สักเมื่อเริ่มปลูกและโตเต็มที่ใช้เวลาประมาณ 15 ปี จะได้เนื้อไม้สัก 0.28 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นน้ำหนัก 182 กิโลกรัม/ต้น จากข้อมูลการวิจัยพบว่า เนื้อไม้ 1 ตัน จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ 1.81ตัน และปล่อยก๊าซอ๊อกซิเจน (O2) ได้ 1.32 ตัน ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนลงได้ 18,160 ตัน เมื่อต้นสักโตเต็มที่ เมื่อปลูกครบจำนวน ๙๙,๗๘๔ ต้น จะได้น้ำหนักรวม 18,160.688 ตัน สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศลดลงได้ 32,870 ตัน และผลิตก๊าซออกซิเจนเพิ่มขึ้นได้ 24,000 ตัน ข้อมูลทั่วไปบริษัท บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2543 โดยในปี 2553 นับเป็นปีที่ 10 ของการก่อตั้งบริษัท บริษัทดำเนินธุรกิจด้านการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจพลังงานทดแทน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ปัจจุบันบริษัทมีโครงการ ที่ดำเนินการแล้วจำนวน 4 โครงการ มีผลิตติดตั้งรวมประมาณ 4,347 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าราชบุรี กำลังผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้น (99.99%) 3,645 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ กำลังผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้น (50%) 350 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ กำลังผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้น (25%) 350 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้ง 3 โครงการตั้งอยู่ในจังหวัดราชบุรี และโรงไฟฟ้าประดู่เฒ่า กำลังผลิตติดตั้ง 1.75 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม โดยร่วมกับกรมป่าไม้ จัดทำโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน เป็นระยะเวลา 5 ปี (2551-2555) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนทั่วประเทศมีระบบการจัดการป่าชุมชนที่เข้มแข็ง มีการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างพอเพียงและสมดุล พร้อมทั้งสร้างจิตสำนึก การอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ของทุกภาคส่วนทั้งในระดับชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ratch.co.th สื่อมวลชนสัมพันธ์ :บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) วิวรรณ พยัฆวิเชียร และ คณุตม์ บุญหนูกลับ โทร. 0 2794 9941 อีเมล์ : wiwanp@ratch.co.th บริษัท อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ จำกัด (บริษัทประชาสัมพันธ์) โทร 0 2252 9871 อีเมล์ : hongsinunt.s@abm.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ