กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน
คาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป แถลงผลกำไรช่วงหกเดือนแรกของปี 2553 มูลค่า 6,840 ล้านเหรียญฮ่องกง เทียบกับผลกำไรช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ซึ่งมีกำไร 812 ล้านเหรียญฮ่องกง โดยรายได้ในช่วง 6 เดือนแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.7 เป็น 41,337 ล้านเหรียญฮ่องกง ขณะที่กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น 8.4 เท่า ทำให้หุ้นของบริษัทมีมูลค่า 173.9 เซ็นต์ฮ่องกง
ทั้งนี้ คาเธ่ย์ แปซิฟิค ได้ให้คำมั่นที่จะลงทุนเพิ่มในส่วนของเครื่องบินลำใหม่และอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น คลังสินค้าแห่งใหม่ที่สนามบินนานาชาติฮ่องกง รวมไปถึงยกระดับบริการในชั้นโดยสารและในส่วนของบริการภาคพื้นดินนับจากขณะนี้ไปจนถึงปี 2556 นอกจากนี้ สายการบินยังได้ลงนามในจดหมายแสดงเจตจำนงกับบริษัท แอร์บัส เพื่อซื้อเครื่องบิน A350-900s จำนวน 30 ลำ และเจรจากับบริษัทโบอิ้งสำหรับสิทธิ์ในการซื้อเครื่องบิน 777-300ERs อีก 6 ลำ โดยเครื่องบินทั้งหมดมูลค่ารวมทั้งสิ้น 75 พันล้านเหรียญฮ่องกง และเครื่องบิน A350s จะถูกส่งมอบในช่วงระหว่างปี 2559 ถึง 2562 โดยบางส่วนจะถูกนำมาใช้แทนเครื่องบินรุ่นเก่าๆ ของสายการบิน ในขณะที่บางส่วนเป็นการซื้อเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
ในช่วงครึ่งปีแรก คาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป มีผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัดสำหรับธุรกิจหลัก หลังจากที่ต้องประสบกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจเมื่อปีที่แล้ว ธุรกิจของบริษัทเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 เรื่อยมาจนถึงปี 2553 และสูงขึ้นเรื่อยๆ รายได้ทั้งจากการขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสารของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค และดรากอนแอร์ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะไม่มั่นคงก็ตาม
เพื่อเป็นการขอบคุณพนักงานทุกคนที่มีส่วนผลักดันให้ผลการดำเนินธุรกิจดีขึ้นในครึ่งปีแรก สายการบินฯ จะแบ่งผลกำไรล่วงหน้าให้แก่ทีมพนักงานคาเธ่ย์ แปซิฟิค ทุกคนที่มีสิทธิ์ ในรูปของเงินตอบแทนเท่ากับ 14 วันของเงินเดือน
ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจการบินสำหรับผู้โดยสารของกลุ่มบริษัทฯ เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หลังจากที่ตกต่ำอย่างมากในปี 2552 ซึ่งรายได้ตกลงไปจนเกือบอยู่ในระดับเดียวกันกับช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจการเงิน สำหรับผู้โดยสารชั้นประหยัด ปริมาณผู้ใช้บริการโดยเฉลี่ย (Load Factor) มีจำนวนสูงพอๆ กับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ราคาต่อบัตรโดยสารเพิ่มขึ้น ส่วนผู้โดยสารชั้นธุรกิจนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความต้องการของนักธุรกิจในการเดินทางจากฮ่องกงเพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นแนวโน้มที่สวนทางกับจำนวนนักเดินทางที่มาจากเมืองหลักอื่นๆ ก็ตาม ในครึ่งแรกของปี 2553 สายการบินทั้งสองมีผู้โดยสารทั้งหมด 13 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 จากปีที่ผ่านมา ปริมาณผู้ใช้บริการโดยเฉลี่ยสูงขึ้นร้อยละ 5.5 จำนวนที่นั่งสำหรับการให้บริการผู้โดยสารลดลงร้อยละ 0.1 รายได้จากธุรกิจสำหรับผู้โดยสารในช่วงครึ่งปีแรกมีมูลค่า 27,411 ล้านเหรียญฮ่องกง เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 เมื่อเทียบจากครึ่งปีแรกของปี 2552 และมีราคาต่อบัตรโดยสารเพิ่มขึ้นตอบแทนสูงขึ้นร้อยละ 17.5 เป็น 58.4 เซ็นต์ฮ่องกง
ในด้านของธุรกิจขนส่งสินค้านั้น ผลประกอบการค่อนข้างดีในช่วงครึ่งปีแรก โดยมีความต้องการที่สูงมากในตลาดหลักทุกแห่ง โดยปริมาณการขนส่งทางอากาศของสายการบินเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2552 ซึ่งเป็นการสร้างสถิติใหม่ได้ที่ร้อยละ 78.0 และในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สายการบินได้นำเครื่องบินที่จอดว่างจำนวน 5 ลำ กลับมาเปิดให้บริการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น ในครึ่งปีแรกจำนวนสินค้าที่ใช้บริการจากสายการบินทั้งสองเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 อยู่ที่ 872,000 ตัน โดยเป็นรายได้จากการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 63.1 อยู่ที่ 11,844 ล้านเหรียญฮ่องกง ในขณะที่ราคา ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.1 เป็น 2.26 เหรียญฮ่องกง
เชื้อเพลิง ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากที่สุดสำหรับธุรกิจการบินนั้น ราคากลับมาสูงขึ้น อีกครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 โดยสูงขึ้นร้อยละ 51.1 เมื่อเทียบกับช่วงระยะเดียวกันของปี 2552 การบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากและเป็นเป้าหมายหลักขององค์กร
หลังจากเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนอย่างมากในปี 2552 ผลการดำเนินธุรกิจของคาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ในปี 2553 ทางสายการบินสามารถเพิ่มจำนวนที่นั่งผู้โดยสารและให้บริการกลับมาดังเดิม ทั้งนี้ทางคาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป สามารถสร้างบัญชีงบดุลให้กลับคืนดังเดิม และเพิ่มความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินได้สำเร็จ จนทำให้บริษัทฯ สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อทำให้ฮ่องกงกลายเป็นศูนย์กลางการบินระดับโลก
นอกจากนี้ กลยุทธ์ในการร่วมมือกับสายการบิน แอร์ ไชน่า ได้เพิ่มความแข็งแกร่งและเป็นการพัฒนาความร่วมมือครั้งสำคัญ ด้วยการประกาศการร่วมทุนสำหรับคลังสินค้าแห่งใหม่ที่เซี่ยงไฮ้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งทั้งสองสายการบินจะใช้เครื่องบินขนส่งของแอร์ ไชน่า คาร์โก้ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของสายการบินแอร์ ไชน่า โดยที่คาเธ่ย์ แปซิฟิค จะถือทุนและดอกเบี้ยในสัดส่วนร้อยละ 49 ตามหลักของการร่วมทุน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนตุลาคมนี้ ในขณะเดียวกัน คาเธ่ย์ แปซิฟิค ยังคงยืนยันต่อคำมั่นที่มีให้กับศูนย์กลางการบินฮ่องกง โดยได้กลับมาเริ่มให้บริการคาร์โก้เทอร์มินัลเช่นเดิมที่สนามบินนานาชาติฮ่องกงในเดือนมีนาคม โดยเทอร์มินัลมูลค่า 5.5 พันล้านเหรียญฮ่องกงแห่งนี้ได้รับการออกแบบให้มีความทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับฮ่องกง ในฐานะศูนย์กลางการให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ
นายคริสโตเฟอร์ แพรทท์ ประธานของคาเธ่ย์ แปซิฟิค กล่าวว่า “หากแนวโน้มผลการดำเนินธุรกิจเป็นเช่นนี้ต่อไป ผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 จะดีขึ้นอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการบินสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้ผลประกอบการของเราสามารถเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้อย่างรวดเร็ว โดยอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือภาวะเศรษฐกิจที่กลับไปตกต่ำเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2551 และปี 2552
“เรายังคงมั่นใจต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตของคาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป และฮ่องกง เนื่องจากธุรกิจของเราเป็นธุรกิจที่ดำเนินอยู่บนความท้าทายและคาดเดาได้ยาก ดังนั้น เราจำเป็นต้องตื่นตัวต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเรื่องของความผันผวนทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น หรือแม้แต่ภูเขาไฟระเบิด ที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเรา อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายสิ่งที่ทำให้เรามั่นใจในการดำเนินธุรกิจ เช่น พนักงานที่มีความสามารถและมุ่งมั่น เครือข่ายทั่วโลกที่เยี่ยมยอด การบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ การให้บริการสายการบินที่มีคุณภาพ ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับ แอร์ ไชน่า และจุดยืนของเราที่มีต่อฮ่องกง หนึ่งในเมืองสำคัญทางธุรกิจที่ยอดเยี่ยมระดับโลกและศูนย์กลางการบินนานาชาติระดับพรีเมี่ยม จากจุดแข็งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ผมเชื่อมั่นอย่างมากต่อความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของคาเธ่ย์ แปซิฟิค”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สายวรุณ ถิรนันท์รุ่งเรือง บริษัท ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย
โทร: 0-2627-3501 ต่อ 213