นักวิจัยนาโนเทค รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ปี 2553

ข่าวทั่วไป Monday August 9, 2010 15:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย นักวิจัยหญิงคนแรกของนาโนเทค ผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ปี 2553 จากผลงานการประยุกต์ใช้องค์ความรู้พื้นฐานด้านเคมีฟิสิกส์กับนาโนเทคโนโลยีในการสร้างผลงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในอุตสาหกรรม ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย หัวหน้าห้องปฏิบัติการระบบนำส่ง ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)เปิดเผยภายหลังได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2553 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ว่า รางวัลดังกล่าวถือว่าเป็นกำลังใจในการทำงานวิจัยในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้น และกำลังใจให้กลุ่มวิจัย หลังจากมีคนเห็นคุณค่างานที่ลงมือทำ โดยตัวเธอเองเป็นนักวิจัยคนแรกของศูนย์นาโนเทคที่ได้รับรางวัลนี้ ดร.อุรชา ในวัย 33 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง ในสาขาเภสัชกรรมเทคโนโลยี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปริญญาเอก Pharmaceutical Science จาก School of Pharmacy University of Nottingham ประเทศอังกฤษ ตลอดจนได้รับทุนวิจัยหลังปริญญาเอกเพื่อศึกษาด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ จนกระทั่งประสบความเร็จได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จากผลงานการศึกษาอนุภาคนาโนเพื่อพัฒนาระบบนำส่งยา จากงานวิจัยชิ้นแรกที่เริ่มต้นจากการทดลองนำอนุภาคนาโนจากไทเทเนียมไดออกไซด์มาประยุกต์ใช้กำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังและสิ่งทอ ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวนำไปสู่ทุนสนับสนุนการวิจัยในเรื่องอื่นๆ ตามมา อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบของเครื่องสำอาง และยา ตลอดจนการพัฒนาอนุภาคนาโนบรรจุน้ำมันตระไคร้หอม และน้ำมันแมงลักคาในรูปแบบผลิตภัณฑ์กันยุงชนิดใหม่ ทำให้ปัจจุบัน ดร.อุรชา เป็นเจ้าของผลงานวิจัยตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ จำนวนกว่า 40 เรื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างยื่นจดสิทธิบัตรในประเทศ 7 เรื่อง ในอเมริกา 1 เรื่อง และอนุสิทธิบัตรในประเทศอีก 7 เรื่อง "หัวข้องานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยพื้นฐานเพื่อศึกษาเคมีฟิสิกส์ หรือฟิสิกส์ทางกายภาพ เพื่อแก้ปัญหาของยาและสารสมุนไพรที่มีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำให้สามารถใช้ได้กับระบบนำส่งยาในระดับนาโน โดยศึกษาหาความสัมพันธ์ว่าคุณสมบัติของสารเป็นอย่างไร การจัดเรียงตัวเป็นอนุภาคปลดปล่อยเร็วหรือช้า ขนาดและสัณฐานภายนอกมีความแตกต่างและสัมพันธ์กันหรือไม่อย่างไร" เธอกล่าว ทั้งนี้องค์ความรู้ดังกล่าวสามารถนำไปพัฒนาระบบนำส่งยาในทางการแพทย์ อาหารและการเกษตร โดยเมื่อเกิดความเข้าใจก็จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดขึ้นจริงได้ ดังเช่นงานวิจัยที่เกิดประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม “ผลงานวิจัยหลายชิ้นได้ถ่ายทอดออกไปให้กับบริษัทเอกชน เช่น บริษัท น้ำปลาไทย จำกัด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ด้วยนาโนเทคโนโลยี ผลิตเป็นน้ำปลาผงวางจำหน่ายในท้องตลาด นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พัฒนาเวชสำอางจากสมุนไพรไทยเพิ่มเติมด้วย” เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่กล่าว อย่างไรก็ตามในอนาคต ดร.อุรชา มีความตั้งใจที่จะทำงานวิจัยต่อเนื่องโดยร่วมกับนักวิจัยที่ศึกษานาโนเทคโนโลยีทั้งในสถาบันวิจัยและในสถาบันการศึกษา ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาเคมี รวมถึงนักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ที่ได้ทำงานวิจัยร่วมกัน เช่น การวิจัยเอนไซม์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เป็นต้น ทั้งนี้ ดร.อุรชา ในฐานะผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ พร้อมด้วยนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น 2 ท่าน และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2553 อีก 5 ท่าน จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 1 แสนบาท พร้อมโล่พระราชทานจาก จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในงานมหกรรวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ วันที่ 9 สิงหาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 564 7100 ต่อ 6606 งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ