ภาพบ่งชี้ระบบนิเวศดีขึ้น พบวาฬบรูด้าใกล้ฝั่งทะเลสมุทรสาคร

ข่าวทั่วไป Tuesday August 10, 2010 12:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผลพวงจากกระแสการอนุรักษ์ และการร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายภาคประชาชน ในการดูแล ฟื้นฟู และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ทำให้ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งมีความสมบูรณ์ขึ้น สิ่งที่เป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นได้ชัดที่สุดก็คือการพบสัตว์ทะเลหายากเข้ามาหากินในบริเวณในพื้นที่ชายฝั่งหลายแห่ง รวมทั้งการที่เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ที่ชายหาดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ด้วย รวมทั้งที่ชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาครก็เช่นกัน เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ขณะเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติงานเรือทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 219 ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่2 นำเรือออกตรวจปราบปราม ถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลทางทิศใต้ของ ต.บ้านบ่อ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งห่างจากระยะฝั่งเพียง2,000 เมตรก็ได้พบกับวาฬบรูด้าจำนวน 2 ตัว สันนิฐานว่าเป็นวาฬแม่ลูก ที่เข้ามาหาอาหารอยู่บริเวณอ่าวไทยตอนบนเป็นประจำ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยโดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน(จ.สมุทรสาคร) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ติดตามวาฬบรูด้ากลุ่มนี้มาประมาณ 2-3 ปี พบว่ามีจำนวนประมาณ 10 ตัว โดยอาศัยอยู่บริเวณอ่าวไทยตอนบนเป็นส่วนใหญ่ โดยจะหาอาหารบริเวณชายทะเลห่างจากฝั่งประมาณ 5 -10 กิโลเมตร ซึ่งช่วงนี้ถือว่าเป็นฤดูกาลที่วาฬบรูด้าเข้ามาหากินในฝั่งอ่าวไทยด้วย นายสถาพร บุตรดา ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า การที่เราได้พบวาฬบรูด้าหากินอยู่ใกล้ชายฝั่งเช่นนี้คงเป็นเพราะธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากธรรมชาติของวาฬบรูด้าที่มีนิสัยในการกินอาหารประเภทปลา กุ้ง เคย หรือสัตว์น้ำเล็กอื่นๆที่อยู่ร่วมกันเป็นฝูงใหญ่ โดยแต่ล่ะตัวจะกินอาหารประมาณ 300 กิโลกรัมต่อวัน ดังนั้นการพบเห็นวาฬบรูด้ามาอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลเช่นนี้อาจสรุปได้ว่าสิ่งแวดล้อมทางทะเลแถบนี้ได้มีสภาวะที่ดีขึ้นอย่างมาก เพราะสัตว์ทะเลหายากมักจะเป็นดัชนีชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ได้อย่างดี วาฬบรูด้า เป็นวาฬเพียงชนิดเดียวที่พบว่า อาศัยอยู่ประจำถิ่นในอ่าวไทยและมีขนาดเล็กกว่าที่พบจากแหล่งอื่นๆ ทั่วโลกทำให้วาฬบรูด้าเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติพยายามศึกษาและตั้งชื่อวาฬบรูด้า ในอ่าวไทยให้เป็นวาฬชนิดใหม่ของโลก ปัจจุบันพบซากโครงกระดูกและสถิติทั่วประเทศรวมกว่า 100 แห่ง แต่จะพบบ่อยที่ทะเลบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มสื่อสารองค์กร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 120 หมู่ 3 ชั้น 5 อาคารรวมหน่วยราชการ (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0-2141-1299 โทรสาร 0-2143-9249
แท็ก ระบบนิเวศ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ