กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกับโครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล

ข่าวทั่วไป Tuesday August 10, 2010 16:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง “ เต่าทะเล ” ทรัพยากรสำคัญที่จัดเป็นสัตว์ทะเลหายากของท้องทะเล ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามีการใช้ประโยชน์อย่างมาก นำมาสู่สถานการณ์วิกฤติของของเต่าทะเลที่มีจำนวนลดลงจนเกือบสูญพันธุ์ในปัจจุบัน ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เต่าทะเลถูกคุกคามด้วยการล่าจับเพื่อเอาเนื้อและไข่เต่ามาบริโภค กระดองเต่าทะเลซึ่งมีสีสันสวยงามถูกนำมาแปรรูปเป็นเครื่องประดับ เต่าทะเลจำนวนมากต้องตายหรือบาดเจ็บสาหัสจากการติดเครื่องมือประมง อีกทั้งเต่าทะเลยังเป็นสัตว์ที่เจริญเติบโตได้ช้า และมีโอกาสรอดตายหลังจากฟักออกจากไข่และปล่อยสู่ทะเลน้อยมาก ทำให้เต่าทะเลที่เป็นพ่อแม่พันธุ์ลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงยังส่งผลให้ประชากรเต่าทะเลมีความอ่อนแอลง ถึงแม้ว่าเต่าทะเลในประเทศไทยจะได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 โดยห้ามมิให้ล่าหรือครอบครองเต่าทะเลหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของเต่าทะเล แต่จำนวนเต่าทะเล ก็ยังมีแนวโน้มการลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะสภาพแวดล้อมและแหล่งที่อยู่อาศัยของเต่าทะเลยังไม่ได้รับการคุ้มครองด้วยนั่นเอง บ้านของเต่าทะเลไม่ใช่จำกัดอยู่เฉพาะในทะเลน่านน้ำของประเทศไทย หากแต่ครอบคลุมทั้งทะเลอาณาเขตของหลาย ๆ ประเทศ ดังนั้นการอยู่รอดของประชากรเต่าทะเลจึงต้องอาศัยความร่วมมือในการอนุรักษ์จากระดับท้องถิ่นในพื้นที่เล็ก ๆ ไปจนถึงความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยที่เต่าทะเลมีจำนวนลดลงอย่างมาก ทรงตระหนักว่าทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของไทยนับวันมีแต่จะลดน้อยลง จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการอนุรักษ์เต่าทะเล โดยได้พระราชทานเกาะมันใน จังหวัดระยอง ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้นถวายให้เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ จัดเป็นศูนย์กลางอนุรักษ์และเพาะขยายพันธุ์เต่าทะเล พระราชทานชื่อว่า โครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2522 ต่อมาเมื่อสิ้นสุดโครงการฯในปี พ.ศ.2528 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล สังกัดกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน โครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ได้เปลี่ยนมาอยู่ในการดูแลของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเป็นหน่วยงานหลักที่ทำการวิจัยศึกษาและขยายพันธุ์เต่าทะเลเพื่อปล่อยคืนแหล่งธรรมชาติ ตั้งอยู่ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ห่างจากกชายฝั่งอ่าวมะขามประมาณ 6 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 137 ไร่ มีสภาพภูมิประเทศเป็นชายฝั่งยาว 1,200 เมตร กว้าง 550 เมตร ประกอบด้วย หาดทรายและ โขดหินน้อยใหญ่จำนวนมาก เป็นแหล่งที่เต่าทะเลชอบขึ้นมาวางไข่ ทั้งเต่ากระ และเต่าตนุ เต่าทะเลที่มีพบอยู่ในท้องทะเลทั่วโลกมีอยู่ 7 ชนิด แต่ในท้องทะเลไทยพบอยู่ถึง 5 ชนิด คือ เต่าตนุ, เต่าหญ้า, เต่าหัวค้อน, เต่ามะเฟือง และเต่ากระ ศูนย์วิจัยแห่งนี้จะเพาะขยายพันธุ์เต่ากระเป็นหลัก ซึ่งในธรรมชาติเมื่อแม่เต่ามีความพร้อมและมีความสมบูรณ์ ในช่วงฤดูวางไข่แม่เต่าจะมีจำนวนไข่ในท้องนับพันฟอง โดยจะทยอยออกไข่ครั้งละประมาณ 100-200 ฟอง จากนั้นอีก 2 สัปดาห์ก็จะวางไข่อีกในบริเวณเดิม โดยจะวางไข่ในแต่ละปีประมาณ 4-5 ครั้ง จากการศึกษาและวิจัยพบว่าเต่าในแต่ละตัวที่วางไข่ไปแล้วจะเว้นการวางไข่ออกไปอีก 2-3 ปี เพื่อกลับไปสะสมอาหาร และหลังจากที่แม่เต่าวางไข่หมดแล้วจะออกไปหากินไกลมาก เช่นท้องทะเลของประเทศมาเลเซีย, สิงค์โปร์, บรูไน, ฟิลิปปินส์ ฯลฯ และจะกลับมาวางไข่ในไทยอีกเมื่อถึงเวลา โครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ที่เกาะมันในประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์เต่าทะเลได้เอง โดยวิธีการนำไข่เต่าจากธรรมชาติมาฟักแล้วไปเพาะเลี้ยงในบ่ออนุบาล เมื่อเติบโตพอจะดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง ก็จะปล่อยกลับลงสู่ทะเล เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตตามธรรมชาติต่อไป นอกจากนี้ทางศูนย์วิจัยฯ ยังมีการทำงานเชื่อมโยงกับกับเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งชาวประมง องค์กรเอกชน ผู้ประกอบการ และหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ซึ่งจะคอยแจ้งข่าว แจ้งเบาะแส เฝ้าระวังอันตรายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้นกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายากอย่างเต่าทะเล ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้จะช่วยได้มาก โดยทางศูนย์วิจัยฯ มีหน่วยช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากที่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตครบครัน รวมทั้ง สัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญ เช่นเดียวกับที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและ ป่าชายเลน สามารถกู้ชีวิตสัตว์ทะเลให้อยู่รอดปลอดภัยต่อไปได้ นอกจากกฎหมายต่าง ๆ ที่มุ่งอนุรักษ์เต่าทะเลแล้ว ยังมีมาตรการสำคัญ ๆ คือ อนุสัญญาไซเตส ห้ามสมาชิกนำเข้าและส่งออกเต่า, กระ, ซากเต่าหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของเต่า และเพื่อการค้า ซึ่งนับว่าเป็นความร่วมมือกันอนุรักษ์เต่าทะเลในระดับประเทศ และการรณรงค์ให้ใช้เครื่องมือแยกเต่าออกจากอวนลาก Turtle Excluder Device (TEDs) แล้ว ที่ผ่านมา กรมฯ ได้เสนอแผนแม่บทเต่าทะเลแห่งชาติ ซึ่งกรมฯ ร่วมกันร่างแผนดังกล่าวร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมประมง หน่วยงานเอกชน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประชุมหารือเพื่อหาข้อสรุป และก่อน หน้านี้ ยังได้เสนอให้มีการปิดแหล่งวางไข่เต่าทะเลทั่วประเทศ ได้รับความร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เป็นอย่างดี นอกจากนี้ กรมฯ ยังติดต่อประสานการทำงานร่วมกับต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ศูนย์พัฒนาการประมงตะวันออกเฉียงใต้(SEAFDEC) เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งการประสานความร่วมมือระหว่าง SEAFDEC กับ ทช.โดย ทช.มีบทบาทในแง่วิชาการ เป็นผู้ให้คำปรึกษาต่าง ๆ แก่ SEAFDEC เพื่อให้ความช่วยเหลือ และคำแนะนำเกี่ยวกับข้อมูลด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อาทิ ความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศทางทะเล แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นต้น ซึ่ง SEAFDEC จะใช้เป็นแนวทางในการวางแผน จัดการ การทำประมงสัตว์น้ำ ให้มีประสิทธิภาพและเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลควบคู่กัน นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่น ๆ เช่น Seastar Project เป็นต้น โครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลของศูนย์วิจัยฯ ได้รับการสนับสนุนทั้งจากรัฐบาล เอกชน และภาคประชาชน ให้ความร่วมมือและสนับสนุนในกิจกรรมต่าง ๆ เป็นอย่างดี ในปี 2553 นี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์วิจัยฯ ได้ร่วมกับศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 จังหวัดระยอง พร้อมด้วยชาวประมงในพื้นที่ หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ นักวิจัยผู้สนใจ ตัวแทนจากภาคเอกชน ผู้สนับสนุนโครงการฯ และประชาชนทั่วไป กว่า 200 คน จัดกิจกรรมปล่อยลูกเต่าทะเลเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2553 ในวันที่ 11 สิงหาคม 2553 ณ เกาะมันใน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง กิจกรรมในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามรอยเบื้องพระยุคลบาท โดยปล่อยลูกเต่าทะเลที่ได้เพาะเลี้ยงและอนุบาลในบ่อเลี้ยง อายุประมาณ 1 ปี กลับคืนสู่ธรรมชาติ จำนวน 79 ตัว ติดเครื่องหมายไมโครชิพก่อนนำไปปล่อยลงสู่ทะเล เพื่อศึกษาติดตามวงจรการใช้ชีวิตของเต่าทะเล เป็นการให้ความรู้ตลอดจนสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์เต่าทะเลให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีส่วนในการใช้ประโยชน์จากเต่าทะเล นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการและภาคเอกชน และเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ดูแล และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล กิจกรรมดังกล่าวนอกจะเป็นการปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์เต่าทะเลแล้ว ผู้ร่วมงานยังได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ที่มีการอพยพย้ายถิ่นกับนักวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องด้วย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์เต่าทะเล ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดความตื่นตัว เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายากอย่างเต่าทะเล ในหมู่ประชาชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี ส่งผลให้มีการอนุรักษ์ในวงกว้าง ช่วยเพิ่มจำนวนเต่าทะเล สัตว์ทะเลที่ทรงคุณค่าได้ดำรงอยู่คู่ท้องทะเลไทยไปอีกนานเท่านาน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มสื่อสารองค์กร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 120 หมู่ 3 ชั้น 5 อาคารรวมหน่วยราชการ (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0-2141-1299 โทรสาร 0-2143-9249

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ