ปภ.คาดการณ์สิงหาคม 53 มีฝนตกเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ตอนบนและภาคใต้ เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน และดินโคลนถล่ม

ข่าวทั่วไป Monday August 16, 2010 11:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คาดการณ์แนวโน้มการเกิดสาธารณภัยในเดือนสิงหาคม 2553 พื้นที่อนบนของประเทศและภาคใต้จะมีฝนตกชุกและฝนตกหนักมากในหลายพื้นที่ รวมถึงอาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และด้านตะวันออกของภาคเหนือตอนบน ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย อีกทั้งผลกระทบจากปรากฎการณ์ลานีญาทำให้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์ภัยแล้งคลื่คลายลงในเกือบทุกพื้นที่ นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยคาดการณ์แนวโน้มการเกิดสาธารณภัยของประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2553 จากข้อมูลลักษณะอากาศของหน่วยงานต่างๆ พบว่าอาจมีพายุหมุนเขตร้อนพัดปกคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนบริเวณจังหวัดนครพนม สกลนคร หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย และด้านตะวันออกของภาคเหนือตอนบนบริเวณจังหวัดน่าน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง และแพร่ส่งผลให้พื้นที่ตอนบนของประเทศมีฝนตกชุก และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มขึ้นในพื้นที่เสี่ยงภัย อีกทั้งผลกระทบจากปรากฎการณ์ลานีญา ทำให้ช่วงเดือนสิงหาคมมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย ส่งผลให้สถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายลงในเกือบทุกพื้นที่ นายอนุชา กล่าวเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งที่ลาดเชิงเขา ที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ และทางน้ำไหลผ่านในพื้นที่ตอนบนของประเทศ และภาคใต้เตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะในช่วงที่พายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวผ่านจะมีฝนตกหนักและเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง อาจทำให้เกิดอุทกภัย และดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศแจ้งเตือนอย่างใกล้ชิด หากมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานในพื้นที่และสังเกตพบสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ ให้รีบอพยพและขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง โดยอพยพไปตามเส้นทางที่ปลอดภัยโดยเร็วที่สุดเพราะอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากหรือดินโคลนถล่มขึ้นได้ ส่วนเกษตรกรควรจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำและวางแผนการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในการเพาะปลูกตลอดปี สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย ดินโคลนถล่ม และภาวะฝนทิ้งช่วง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2243-2200 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ปภ.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ