ละครวิชาแนะแนว นวัตกรรมการเรียนรู้...เพื่อให้เด็กค้นพบตัวเอง

ข่าวทั่วไป Monday August 16, 2010 16:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ละครกับวิชาแนะแนวเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร? ละคร...ช่วยให้เด็กค้นพบศักยภาพของตัวเองได้จริงหรือ! คำตอบอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า...ที่นำ “นวัตกรรมการเรียนรู้ในสถานศึกษา” ใหม่ๆ มาสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ด้วยการใช้ “ละคร” เป็นเครื่องมือให้เด็กๆ ได้รู้จักตัวตนของตนเองจนสามารถเลือกเส้นทางการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาและการดำเนินชีวิตได้อย่างถูกทิศถูกทาง และถูกใจ... อาจารย์รวมพล นิลโฉม อาจารย์แนะแนว โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า ให้สัมภาษณ์ว่า จุดมุ่งหมายของงานแนะแนวคือ ให้เด็กได้รู้จักและค้นพบตัวเอง มีความภาคภูมิใจ และเห็นคุณค่าในตัวเอง ผ่านเครื่องมือหลายแบบทั้งแบบสอบถาม การพูดคุย การเขียนบรรยาย หรือกระบวนการทางกิจกรรม เรียกว่าเป็นการพัฒนาโดยใช้หลักการจิตวิทยาหลายๆ แบบ แต่วันนี้โรงเรียนได้นำ “ละคร” มาเป็นเครื่องมือช่วยให้เด็กๆ ได้ค้นหาตัวตนของตนเอง เหตุผลที่โรงเรียนนำ “ละคร” มาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนวิชาแนะแนวเนื่องจากเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ดีจึงเข้าร่วมโครงการบูรณาการกระบวนการละคร กับจิตอาสาสำหรับเยาวชน กับเครือข่ายละครหน้ากากเปลือย ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน ทั้งนี้เพราะเด็กๆ ส่วนใหญ่นิยมดู “ละคร” กันอยู่แล้ว จึงคิดว่าการใช้ “ละคร” มาเป็นสื่อการสอนน่าจะดีและเหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก “ ละครเป็นเครื่องมือ เป็นสะพานเชื่อมให้เด็กๆ มองเห็นตัวเอง ทำให้ฝันของพวกเขาเป็นจริง และมีจุดมุ่งหมาย คนเราถ้ามีเป้าหมายเพิ่มขึ้นชีวิตก็มีความหมาย และเมื่อชีวิตวันนี้มีความหมาย สิ่งที่พวกเขาทำในแต่ละวันก็จะมีค่าและมีความหมายตามไปด้วย ที่สำคัญคือ” ละคร” เป็นศาสตร์ที่เด็กไม่เคยพบเห็นในโรงเรียน ก่อน แต่ก็เป็นศาสตร์ที่เรียนแล้วรู้สึกสนุกและมีความสุขจากการลงมือปฏิบัติจริง” อาจารย์รวมพล เล่าต่อว่า การใช้ “ละคร” เป็นเครื่องมือในการแสดงความสามารถนั้น พบว่าเด็กสามารถแสดงละครได้อย่างน่าสนใจ เมื่อเห็นแววจากจุดนี้จึงชักชวนกันทำละครขึ้นเพื่อให้คนในโรงเรียนได้ดู โดยตนจะทำหน้าที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งในการทำงานเด็กๆ ก็จะมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน บางคนเก่งเรื่องฉาก บางคนเก่งเรื่องการประสานงาน ก็เกิดการแบ่งหน้าที่กันทำงานอย่างชัดเจน ถือเป็นการสอนวิธีการทำงานให้เด็กไปในตัว ครูทำหน้าที่เพียงแค่คอยช่วยแก้ปัญหาให้กับเด็กๆ เท่านั้น เด็กวัยรุ่นเข้าถึงละครง่าย เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว เมื่อเห็นเด็กชอบละครจึงจัดตั้งเป็นชมรมขึ้นมา โดยครูทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาชมรม ซึ่งเป้าหมายของชมรมคือให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจและสร้างเป้าหมายในชีวิต เห็นคุณค่าในตัวเอง “เด็กวัยรุ่นถ้าเขาไม่มีจุดหมายเลยเขาก็ปล่อยชีวิตไปวันๆ หนึ่ง ตามเพื่อนบ้าง ตามกระแสสังคมบ้าง ถ้าโชคดีเจอเพื่อนที่เป็นกลุ่มดีก็ดีไป แต่ส่วนมากก็เป็นในทางลบในทางที่ทำอะไรง่ายๆ สบายๆ มันง่ายกว่า” การใช้กระบวนการ “ละคร” มาทำกิจกรรมกับเด็กๆ ผลที่เกิดชัดเจนที่สุดคือ เด็กๆ เริ่มหันมาเห็นตัวเอง เด็กบางคนเมื่อจบแล้วก็ไปประกอบอาชีพด้านนี้ก็มี หรือบางคนไปสอบเข้าเรียนต่อทางด้านนี้ก็มี ซึ่งก็ไม่ใช่กับเด็กทุกคน รู้จักเชื่อมโยงกับสังคมมากขึ้น และที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของสมาธิ เพราะปัจจุบันเด็กไม่ค่อยมีสมาธิ มองเห็นตัวเองมากกว่าเห็นคนอื่น เวลาอยู่ในห้องก็จะคุยกัน ไม่นึกถึงคนอื่น นึกถึงแต่ตัวเอง สมาธิสั้น แต่เมื่อเด็กได้มาอยู่ในกระบวนการละครฝึกให้เขามีสมาธิโดยที่เด็กไม่รู้ตัว เด็กจะเริ่มฟัง เริ่มรู้จักเวลา รู้จักรับผิดชอบมากขึ้น “สาระสำคัญของ “ละคร” คือเป็นการสะท้อนให้เห็นตัวของเขา เหมือนละครกับชีวิตจริงที่ไม่แตกต่างกัน ละครดึงเอาชีวิตจริงออกไปแล้วก็สะท้อนกลับมาให้เห็นว่าเขาเป็นอย่างไร ทำให้เขาเห็นตัวเองชัดขึ้น เห็นความสามารถของตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเอง และเมื่อเห็นคุณค่าของตัวเอง ก็เห็นคุณค่าของคนอื่นด้วย ซึ่งจะทำให้เขาอยู่ในสังคมได้ และชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น” นางสาวอัจฉรียา ปิยะสันติ “น้องพลอย” เป็นเด็กที่เรียนได้เกรด 4.00 มาตลอด อนาคตอยากเป็นหมอ แต่เมื่อได้เข้ามาอบรมกับพี่หน้ากากเปลือยแล้ว พลอยบอกว่าพลอยได้เรียนรู้จากละครมาก “คนเรามันทำอะไรได้หลายอย่าง ไม่จำเป็นต้องเรียนอย่างเดียว” นางสาวชุติกาญจน์ สวรรค์สกุลไทย “น้องจิน” ซึ่งแต่เดิมจินเด็กที่มีปัญหากับเพื่อนมาก และ มีความทุกข์มากอยากจะย้ายห้องเรียน โดยที่ไม่ได้มองว่าตัวเองมีข้อบกพร่องตรงไหน มองแต่เพียงคนรอบข้างและคิดเพียงว่าจะต้องย้ายห้องเรียน ฉันอยู่ห้องนี้ไม่ได้ ฉันไม่มีเพื่อน แต่เมื่อได้มาอยู่กลุ่มละครจินเริ่มมองที่ตัวเองและเริ่มปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนให้ได้ พยายามที่จะแก้ปัญหาของตัวเอง จินเริ่มรู้จักว่าชีวิตมันเป็นอย่างนี้ เมื่อจินเรียนรู้จากกระบวนการที่ได้อยู่กับละคร โดยละครที่จินแสดงสะท้อนความรู้สึกของพ่อแม่ ความรู้สึกของเพื่อน ทำให้จินมองเห็นและบอกว่า “หนูอยู่ห้องนี้ได้อย่างมีความสุขแล้วค่ะ” เป็นการแก้ปัญหาและปรับตัวที่เกิดขึ้นเองโดยปริยาย โดยที่ครูไม่ต้องไปย้ำอะไรมากมาย ตรงกันข้ามถ้าครูไปตอกย้ำ พูดนำมากเกินไป ความเปลี่ยนก็จะไม่ได้มาจากข้างในของเขาเอง นางสาวศิวพร ศรีวะรมย์ “น้องมีน” คือเด็กที่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก แต่เมื่อเข้ามาคลุกคลีกับ “ละคร” ที่ทุกคนต้องแสดงออก จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับมีนอย่างชัดเจน โดยกล้าลงรับเลือกตั้งเป็นประธานนักเรียน กลายเป็นขวัญใจที่ได้รับเลือกด้วยคะแนนถล่มทลาย นอกจากเป็นประธานนักเรียนแล้ว การมี portfolio ของละครแล้วและด้วยความที่ตัวเองเป็นคนชอบเขียน เมื่อไปขอทุนเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพคณะนิเทศศาสตร์ สาขาการโฆษณา จึงได้ทุนเรียนฟรี 4 ปีตลอดหลักสูตร และสุดท้ายนางสาวจุฬาลักษณ์ เทพอิสสระกุล “ส้ม” ที่พบว่ากระบวนการละครส่งผลให้ส้มสามารถเอาไปสอบคัดเลือกโดยตรงเพื่อเข้าเรียนสาขาศิลปะการละคร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรได้ วันนี้แม้ว่าในอนาคตยังไม่รู้ว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้น แต่สิ่งที่อาจารย์รวมพลสัมผัสได้ในวันนี้ คือ “ความสุข” สุขที่เห็นเด็กพัฒนาไปในทางที่ดี และสุขที่เห็นเด็กรักกัน... สอบถามข้อมูลและภาพประกอบเพิ่มเติมได้ที่ 0-2270-1350 - 4

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ