กรีนพีซมอบตะกอนดินปนเปื้อนสารพิษจากคลองสำโรงให้แก่กรมควบคุมมลพิษ

ข่าวทั่วไป Tuesday August 17, 2010 16:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--กรีนพีซ หน่วยศึกษาและเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำของกรีนพีซมอบตะกอนดินปนเปื้อนสารพิษที่เก็บจากคลองสำโรงให้แก่กรมควบคุมมลพิษ เพื่อเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนถึงปัญหาและความล้มเหลวของกรมควบคุมมลพิษในการปกป้องแหล่งน้ำของประเทศ โดยเรียกร้องให้เร่งนำระบบรายงานข้อมูลการปลดปล่อยมลพิษมาใช้ รวมถึงตั้งเป้าหมาย “มลพิษเหลือศูนย์” เพื่อลดการปล่อยสารเคมีในน้ำทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง (1) นักกิจกรรมกรีนพีซสวมชุดป้องกันสารพิษมอบตะกอนดินปนเปื้อนสารพิษที่บรรจุในถัง ซึ่งติดป้าย “สารพิษ อันตราย” พร้อมถือป้ายที่มีข้อความว่า “กรม (ไม่) ควบคุมมลพิษ” หน้าสำนักงานกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยศึกษาและเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำของกรีนพีซได้เก็บตะกอนดินดังกล่าวมาจากคลองสำโรง จังหวัดสมุทรปราการเมื่อสัปดาห์ก่อน กิจกรรมรณรงค์ในวันนี้มีขึ้นหลังการเปิดเผยรายงานการตรวจสอบสารพิษอันตรายในคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งพบโลหะหนัก สารรบกวนฮอร์โมน รวมถึงสารก่อมะเร็ง ทั้งหมดนี้ล้วนสูงกว่าค่ามาตรฐานความปลอดภัยของประเทศไทย (2) “กรีนพีซได้นำตะกอนดินมาถึงหน้าสำนักงานกรมควบคุมมลพิษ การสะสมปนเปื้อนของสารพิษในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนใจและเป็นเรื่องน่าอับอายของกรมควบคุมมลพิษที่ปล่อยให้แม่น้ำเจ้าพระยาต้องปนเปื้อนสารพิษจากมาตรการและการปฏิบัติงานที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ” นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว ปัญหามลพิษทางน้ำในหลายพื้นที่ของประเทศมีความเชื่อมโยงกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่ยังขาดมาตรการควบคุมมลพิษที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 5,620 แห่งที่ปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำส่งผลให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม การลงพื้นที่สำรวจอย่างไม่เป็นทางการโดยหน่วยศึกษาและเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำในบริเวณกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการเมื่อต้นปีที่ผ่านมาพบว่าประชาชนส่วนไม่มีความเชื่อมั่นภาครัฐในการแก้ปัญหามลพิษและปัญหามลพิษทางน้ำจะรุนแรงมากขึ้น เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กรีนพีซเปิดเผยผลการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำและตัวอย่างดินจากคลองสำโรงว่าปนเปื้อนสารโนนิลฟีนอล (nonyl phenols) สาร 2-เนฟทาลีนาทมีน (2-naphthalenamine) และสารไตร-ไอโซ-บิวทิลฟอสเฟต (tri-iso-butyl phosphate; TiBP) ซึ่งส่วนหนึ่งมีแหล่งกำเนิดจากอุตสาหกรรมย้อมผ้า (3) การศึกษายังได้เปิดเผยถึงการปนเปื้อนสารโลหะหนักในปริมาณสูง ได้แก่ ทองแดง ตะกั่ว แมงกานีส นิกเกิลและสังกะสี ทั้งหมดนี้เกินค่ามาตรฐานแห่งน้ำผิวดินในประเทศไทยถึง 3-8 เท่า ตัวอย่างดินในคลองสำโรงมีการปนเปื้อนโครเมียม ทองแดง นิกเกิล ตะกั่ว และสังกะสีในระดับสูง โดยสังกะสีมีค่าสูงกว่าค่าความเข้มข้นพื้นฐานของตะกอนดินมากถึง 30 เท่า “กรีนพีซได้ส่งจดหมายและรายงานฉบับนี้ให้แก่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ คุณสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องต่อการไขป้องกันปัญหา แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับใดๆ เลยจากท่านอธิบดีฯ ซึ่งแสดงถึงการเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษได้ล้มเหลวที่จะปกป้องทรัพยากรแหล่งน้ำที่สำคัญของประเทศ กรีนพีซจึงขอเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษได้แก้ตัวโดยเป็นผู้นำในนำมาตรการเชิงรุกมาใช้เพื่อมุ่งสู่การลดใช้สารพิษในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทาง” นายพลายกล่าวสรุป หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรม นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เชิญกรีนพีซเข้าร่วมประชุม และรับข้อเสนอของกรีนพีซในการนำระบบการรายการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม หรือทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTRs) มาใช้และพิจารณานำมาบรรจุในแผนจัดการมลพิษปี 2555-2559 กรีนพีซเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษลงมือดำเนินการดังนี้ - นำระบบการเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษมาใช้ เช่น ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTRs) - รวบรวมจัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายที่ควรเลิกใช้ - ตั้งเป้าหมาย “มลพิษเหลือศูนย์”และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อ ลด จำกัดการใช้ และเลิกใช้สารเคมีอันตรายในกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนกรีนพีซทำงานรณรงค์ด้วยหลักการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสันติภาพ หมายเหตุ (1.) ระบบการเปิดเผยข้อมูลมลพิษ อาทิ “ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers- PRTRs)” เป็นเครื่องมือทางนโยบายหรือระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมโดยใช้หลักการความโปร่งใสด้านการรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนเป็นตัวผลักดันให้เกิดการพัฒนาการลดมลพิษ โดยแต่ละโรงงานต้องรายงานข้อมูลการใช้และการปล่อยสารเคมีอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมเพื่อการกำจัดทำลาย ทิศทางข้อมูลดังกล่าวจะเป็นตัวชี้ว่าแต่ละโรงงานหรือภาคอุตสาหกรรมมีความคืบหน้าในการลดมลพิษได้เท่าไร สามารถชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนา และยังรวมการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือประชาชนหรือชุมชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อเรียนรู้ถึงมลพิษที่อยู่ในบริเวณที่อยู่อาศัย ตระหนักในการเฝ้าระวังและป้องกันอันตราย ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนต้องได้รับ รายละเอียดเพิ่มเติม http://www.greenpeace.org/seasia/th/water-patrol/reports/pollutant-release-and-transfer-register “มลพิษเหลือศูนย์ (Zero Discharges)” หมายถึงการยุติการปลดปล่อยมลพิษที่เป็นสารเคมีอันตรายภายใต้กรอบระยะที่กำหนด โดยมีการตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนตามช่วงเวลาต่างๆ ที่สามารถชี้ให้เห็นถึงความคืบหน้าในการลดการปล่อย การบรรลุเป้าหมายสามารถทำได้โดยการนำวิธีการลดมลพิษต่างๆ มาประยุกต์ใช้ อาทิ การออกแบบผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด การปรับปรุงกระบวนการผลิต การนำมาใช้ใหม่ และการทดแทนสารเคมีอันตรายด้วยสารเคมีที่ปลอดภัยกว่า ซึ่งสารเคมีอันตรายส่วนใหญ่จะไม่สามารถทำลายให้หมดไปหรือกำจัดได้ทั้งหมดแม้มีการบำบัด ดังนั้นการลดมลพิษจึงต้องใช้หลักป้องกันไว้ก่อน ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายระยะแรกอาจเริ่มจากการจัดทำบัญชีสารเคมีอันตรายที่สำคัญต่อการควบคุม ที่มีการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อ ลด จำกัดการใช้ และเลิกใช้สารเคมีอันตรายดังกล่าว (2) สามารถดาวโหลดรายงาน “การตรวจสอบสารเคมีอันตรายในน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมฟอกย้อมและการปนเปื้อนของสารเคมีในคลองบริเวณใกล้เคียงซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประเทศไทย พ.ศ. 2553” ได้ที่ www.greenpeace.or.th/water-sampling (3) รายละเอียดเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายที่พบ และเอกสารอ้างอิงสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในรายงาน (2) โนนิลฟีนอล (nonyl phenols; NP): มีความคงทนและสามารถสะสมในสิ่งแวดล้อม รวมถึงในเนื้อเยื่อของปลา สิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำ และปริมาณมากเพิ่มขึ้นในแต่ละลำดับในห่วงโซ่อาหาร หนึ่งในอันตรายที่พบเห็นได้ อาทิ ผลกระทบเกี่ยวกับผลของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านเพศ การสร้างอสุจิ และความเสียหายต่อดีเอ็นเอของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ โนนิลฟีนอลถูกจัดให้เป็นสารเคมีที่มีอันตรายในลำดับต้นๆ โดยสหภาพยุโรปภายใต้กรอบการจัดการแหล่งน้ำ นอกจากนี้ Directive 2003/53/EC ยังกำหนดว่าผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนของโนนิลฟีนอลมากกว่า 0.1% จะไม่สามารถวางขายในตลาดในทวีปยุโรปได้ 2-เนฟทาลีนาทมีน (2-naphthalenamine; 2NA) ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ สารเคมีชนิดนี้ไม่ว่าจะอยู่ในรูปสารบริสุทธ์หรือเจือปนอยู่กับสารอื่นก็สามารถทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะในคนที่สัมผัสกับสารชนิดนี้ ทั้งนี้ 2NA อาจได้มาจากการสลายตัวของสีเอโซ (azo dye) บางชนิด ในทวีปยุโรปได้มีการห้ามใช้สีเอโซซึ่งสามารถสลายให้สารก่อมะเร็ง (สารอะโรมาติกเอมีน) ในสิ่งทอหรือเครื่องหนัง และมีการรณรงค์หยุดการใช้สิ่งทอที่ใช้สีเอโซซึ่งอาจเป็นตัวการที่ปล่อยสาร 2NA ในปริมาณที่เทียบเท่ากับที่ถูกห้าม ไตร-ไอโซ-บิวทิลฟอสเฟต (tri-iso-butyl phosphate; TiBP) มีความเป็นพิษต่อสัตว์น้ำ และหนู (จากการทดลอง) ถูกจัดให้เป็นสารระคายเคืองต่อผิวหนังมนุษย์ ทั้งนี้ ข้อมูลความเป็นพิษของ TiBP ในมนุษย์ยังมีอยู่จำกัด ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร. 0 2357 1921 ต่อ 135, 08 1658 9432 วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร. 0 2357 1921 ต่อ115, 08 9487 0678 http://waterpatrol.greenpeace.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ