MOVIE: ชั่วฟ้าดินสลาย

ข่าวบันเทิง Thursday August 19, 2010 15:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--สหมงคลฟิล์ม กำหนดฉาย 16 กันยายน 2553 แนวภาพยนตร์ พีเรียด-ดราม่า บริษัทผู้สร้าง-จัดจำหน่าย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ( www.sahamongkolfilm.com ) อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ควบคุมงานสร้าง ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล, เติมพันธ์ มัทวพันธุ์ กำกับภาพยนตร์ ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล บทภาพยนตร์ ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล (ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของ "เรียมเอง") กำกับภาพ ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ลำดับภาพ สุนิตย์ อัศวินิกุล, พรรนิภา กบิลลิกะวานิชย์ ออกแบบงานสร้าง สิรนัท รัชชุศานติ ออกแบบเครื่องแต่งกาย นพดล เดโช, ทศฤทธิ์ สามิภักดิ์, ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ควบคุมการแต่งหน้า-แต่งหน้าเอฟเฟ็คต์ มนตรี วัดละเอียด แต่งหน้า พิชานนทท์ รัตนกมลกานต์ ทำผม เอก รัตนเสถียร, นพรัตน์ สุริโย ดนตรีประกอบ จำรัส เศวตาภรณ์ เพลงประกอบ “เพลงชั่วฟ้าดินสลาย” ประพันธ์โดย ดร. แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ขับร้องโดย เจนนิเฟอร์ คิ้ม ตัวอย่างภาพยนตร์ http://www.youtube.com/watch?v=IF0cecVhKkw เว็บไซต์ภาพยนตร์ http://www.eternity-themovie.com ทีมนักแสดง อนันดา เอเวอริงแฮม, เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์, เพ็ญเพชร เพ็ญกุล, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์, ดารณีนุช โพธิปิติ วังวน...เสน่หาอาฆาต ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของกระแสการเมืองใหม่ซึ่งชาวสยามยังไม่คุ้นชินนัก เพียงหนึ่งปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 นั้น “ยุพดี” (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ม่ายสาวพราวเสน่ห์หัวสมัยใหม่จากพระนครได้สมรสกับ “พะโป้” (ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์) คหบดีม่ายชาวพม่าอายุคราวพ่อ เจ้าของกิจการป่าไม้อันมั่งคั่งแห่งกำแพงเพชร ทั้งคู่ได้เดินทางไปใช้ชีวิตฉันท์สามีภรรยาที่ปางไม้เขาท่ากระดาน ซึ่งยุพดีคิดว่าชีวิตของเธอได้ถูกเติมเต็มแล้วในทุกๆ ด้านจากพะโป้สามีที่เธอรัก แต่ ณ ที่นั้นเอง ท่ามกลางพลังอำนาจแห่งไพรพฤกษ์และขุนเขา เมื่อยุพดีได้มาพบเจอกับ “ส่างหม่อง” (อนันดา เอเวอริงแฮม) หนุ่มพม่าผู้หล่อเหลาปานเทพบุตรแต่แสนบริสุทธิ์ในกามโลกีย์ผู้เป็นหลานชายของพะโป้ ต่างก็เกิดความสิเน่หาต่อกัน ยิ่งทั้งคู่ได้ชิดใกล้กันมากเท่าไร ก็ยิ่งเกิดอาการหวั่นไหวและอยากอยู่ด้วยกันมากขึ้นเท่านั้นตามสัญชาตญาณหนุ่มสาวที่ถูกกิเลสตัณหาครอบงำ โดยหารู้ไม่ว่า นี่คือ “จุดเริ่มต้นแห่งโศกนาฏกรรมรัก” ในที่สุด ทั้งส่างหม่องและยุพดีก็มิอาจต้านทานความปรารถนาของตนและยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสตัณหาอย่างถึงที่สุด ทั้งคู่ก้าวล้ำเส้นของการเป็นหลานและอาสะใภ้โดยลอบเป็น “ชู้” กัน และแล้วเมื่อพะโป้ได้ล่วงรู้ความจริงอันน่าอัปยศเช่นนี้ เขาดูเหมือนจะสงบนิ่งอย่างผู้ผ่านประสบการณ์และเข้าใจโลกยิ่งนัก แต่จริงๆ แล้วในใจเขากลับร้อนรุ่มด้วยโทสะจริต ติดกับดักแห่งเสน่หาอาฆาตแบบถอนตัวไม่ขึ้น อย่างไม่คาดฝัน พะโป้ตัดสินให้ยุพดีเมียสุดที่รักได้อยู่กินกับส่างหม่องหลานรักอย่างเปิดเผย ภายใต้เงื่อนไขอันแสนเย็นยะเยือกด้วยการล่าม “โซ่ตรวน” คล้องแขนติดกัน เพื่อพันธนาการว่าทั้งคู่จะได้ครองรักกัน...ชั่วนิจนิรันดร์ ถึงเวลาแล้วที่พะโป้จะได้ทำในสิ่งที่เขาวางแผนไว้อย่างแยบคาย เพื่อสอนบทเรียนให้กับทั้งหลานและภรรยาอันเป็นที่รักให้รู้จักความหมายของ “ความรักชั่วนิรันดร์ การลงทัณฑ์ชั่วชีวิต” ใครเลยจะหยั่งรู้ว่า วิถีชีวิตของ 3 ชายหญิงที่ต้องโคจรมาทาบทับกันในวังวนแห่งกิเลสตัณหานี้ จะนำพามาซึ่งโศกนาฏกรรมรักอันยิ่งใหญ่ที่ต้องพิสูจน์ด้วยเลือดเนื้อ จิตวิญญาณ และกาลเวลาตราบ “ชั่วฟ้าดินสลาย” เสน่หา...คาแร็คเตอร์ ส่างหม่อง (อนันดา เอเวอริงแฮม) - หนุ่มชาวพม่า หลานชายของ “พะโป้” คหบดีใหญ่เจ้าของสัมปทานป่าไม้ผู้ทรงอิทธิพล ส่างหม่องกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่ยังเด็ก และได้รับการอุปถัมภ์เลี้ยงดูเป็นอย่างดีจากพะโป้ผู้เป็นอา ทำให้เขาเคารพรักและบูชาพะโป้ประดุจบิดาบังเกิดเกล้า แต่แล้วเมื่อชายหนุ่มต้องตกหลุมพรางแห่งกิเลสตัณหาที่มาในร่างของอาสะใภ้อย่าง “ยุพดี” กรอบแห่งประเพณีและศีลธรรมอันดีที่เคยเคร่งครัดก็มิอาจหยุดยั้งเขาไว้ได้ “ไอ้ความง่ายของบทไม่รู้มันมีหรือเปล่า แต่เรื่องยากน่ะมีเพียบเลย (หัวเราะ) ตัวละครของส่างหม่อง สำหรับผมมันอาจจะยากเป็นพิเศษหน่อย เพราะว่ามันจะเริ่มจากคนที่ใสเป็นผ้าขาวมาก และพอคาแร็คเตอร์มันดำเนินไป มันก็จะค่อยๆ มืดขึ้น เมื่อมันโดนดึงเข้าไปด้านมืด สิ่งที่มันยากก็คือพัฒนาการจากคนไร้เดียงสากลายเป็นคนที่เต็มไปด้วยกิเลส ความใคร่หรือตัณหาราคะ การพัฒนาคาแร็คเตอร์ตรงนี้ค่อนข้างยากหน่อย และนี่ยังไม่พูดถึงฉากดราม่าต่างๆ มีอะไรยากๆ เต็มไปหมดเลย คือทั้งส่างหม่องกับยุพดีอยากจะอยู่ใกล้ชิดกันมาก พะโป้ก็เลยทำให้สมหวังล่ามโซ่ให้อยู่ด้วยกันตลอดเลย ซึ่งผมรู้สึกว่า มนุษย์มันเกิดมาเพื่อให้อยู่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ การที่จะโดนผูกติดกับมนุษย์อีกคนหนึ่งมันผิดธรรมชาติมาก ทุกคนต้องการความเป็นอิสระ คือถ้าดูผิวเผิน มันก็ดูเป็นสิ่งโรแมนติก เรารักกัน จะได้อยู่เคียงข้างกันตลอดไป แต่บางทีเราไม่ได้คำนึงถึงเรื่องอื่นๆ มันมีความลำบากอยู่ตรงนั้น ในที่สุดการที่ถูกผูกติดกันอย่างนี้มันก็เป็นสูตรสำหรับหายนะอยู่แล้ว” นักแสดงหนุ่มมากความสามารถ “อนันดา เอเวอริงแฮม” มีผลงานการแสดงอันเป็นที่ยอมรับระดับแถวหน้าของวงการ หลังจากแจ้งเกิดจากภาพยนตร์เรื่องแรก “อันดากับฟ้าใส” ผลงานการกำกับของหม่อมน้อยเมื่อ 13 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดทั้งคู่กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในเรื่องนี้ ซึ่งอนันดาบอกว่าสุดเกร็งเหมือนต้องทำงานกับครูและพ่อของตัวเอง แต่ถึงที่สุดแล้ว เขาก็ทุ่มเททั้งตัวและหัวใจให้กับการแสดงเรื่องนี้อย่างสุดฝีมือ ผลงานภาพยนตร์ : อันดากับฟ้าใส (2540), 303 กลัว กล้า อาฆาต (2541), คนสั่งผี (2546), ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547), Twelve Twenty (หนังสั้น-2549), Me…Myself ขอให้รักจงเจริญ (2550), พลอย (2550), โรงงานอารมณ์ (Pleasure Factory - 2550), ดึกแล้วคุณขา (2550), เมมโมรี่...รักหลอน (2551), The Leap Years หยุดหัวใจไว้รอเธอ (February 29 - ฉายไทย 2551), สะบายดีหลวงพะบาง (2551), โลงต่อตาย (The Coffin - 2551), ปืนใหญ่จอมสลัด (2551), แฮปปี้เบิร์ธเดย์ (2551), สวัสดีบางกอก ตอน Bangkok Blues (หนังสั้น-2552), ชั่วฟ้าดินสลาย (2553), อินทรีแดง (2553), Hi-So (2554) ยุพดี (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) - สาวชาวพระนครผู้เลอโฉมผู้รักการอ่านหนังสือ รักดนตรี และศิลปะร่วมสมัยเป็นอย่างยิ่ง และจากอาชีพเลขาที่ทำให้เธอสมาคมกับชาวต่างชาติมากกว่าคนไทย ทำให้ความคิดความอ่านของเธอล้ำสมัยไปกว่าสตรีชาวสยามในยุคสมัยนั้น เธอรักเสรีภาพและความเป็นปัจเจกชนประดุจลมหายใจ ยุพดีกำพร้าทั้งบิดามารดา เธอต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวตั้งแต่วัยเยาว์ ทำให้ส่วนลึกในใจของเธอนั้นแสวงหาซึ่งความรัก และ “พะโป้” ก็ปรากฏกายให้เธอได้ยึดเหนี่ยวและน่าจะเติมเต็มความรักครั้งใหม่นี้ให้สมบูรณแบบได้ ถ้าหากว่า “ส่างหม่อง” ไม่แฝงร่างมาในเงาแห่งรักนั้นให้หัวใจของเธอหวั่นไหวเสียก่อน “ถือว่าเป็นตัวแทนผู้หญิงยุคใหม่ในสมัยนั้นเลยนะ คือยุพดีจะเป็นคนที่กล้าฉีกม่านประเพณีออก กล้าฉีกทุกอย่าง และก็ซื่อตรงกับความคิดความรู้สึกของตนเองมาก คือไม่ใช่ปากอย่างใจอย่าง ใจอยากทำอย่างนี้แต่ว่าประเพณีบ้านเมืองและสังคมกรอบมันเป็นแบบนี้ แต่เธอเป็นคนแบบไม่สนใจ ไม่แคร์ ก็คล้ายๆ พลอยตรงที่ว่ารักอิสระ เป็นคนที่รักอิสระมากๆ ไม่ชอบอยู่ในกรอบเหมือนกัน จริงๆ แล้ว ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ นี่ โดดเด่นมาตั้งแต่บทประพันธ์แล้ว เป็นบทประพันธ์ที่พูดได้ว่า พลอยไม่เคยอ่านบทประพันธ์ไหนที่แบบว่าทำให้เฌอมาลย์ร้องไห้ได้ทันควันมากมายขนาดนี้ เป็นบทประพันธ์ที่ดีมาก ตัวหนังก็ให้แง่คิดได้หลายมุมมอง แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ถ้าคนเราทำอะไรที่ตามความรู้สึกมากจนเกินไป ก็อาจจะนำผลเสียมาให้ตัวเองได้ และมันก็จะมีมุมมองความรักอันสวยงามที่สะท้อนออกมาในบทพูดของตัวแสดงแต่ละประโยค ซึ่งพลอยเอง พลอยอ่านแล้วก็เออ...จริง มุมมองความรักแบบนี้ จริงนะ ทำไมเราไม่คิดแบบนี้บ้าง” ด้วยความสามารถที่หลากหลาย “พลอย เฌอมาลย์” ผ่านงานในวงการบันเทิงมาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นละคร, ภาพยนตร์, ถ่ายแบบ, พิธีกร และดีเจ จนปัจจุบันชื่อชั้นของเธอก็สามารถขึ้นแท่น “นักแสดงหญิงแถวหน้า” ของไทยได้อย่างสมศักดิ์ศรี และโดยเฉพาะกับภาพยนตร์เรื่องนี้ การทุ่มเทพลังการแสดงอย่างสุดหัวใจของเธอที่จะต้องครองใจผู้ชมตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ย่อมให้ผลลัพธ์ที่สุดคุ้มค่าแก่การชมอย่างแน่นอน ผลงานภาพยนตร์: Goodbye Summer เอ้อเหอเทอมเดียว (2539), สตางค์ (2543), แมนเกินร้อย แอ้มเกินพิกัด (2546), เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล (2546), บุปผาราตรี (2546), The Park สวนสนุกผี (2546), บุปผาราตรี เฟส 2 (2548), รักแห่งสยาม (2550), สี่แพร่ง ตอน Last Fright (2551), บุปผาราตรี 3.1 (2552), บุปผาราตรี 3.2 (2552), ชั่วฟ้าดินสลาย (2553) พะโป้ (ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์) — มหาเศรษฐีหม้ายชาวพม่าผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้านายชั้นสูงในรัฐฉาน ทำให้เขาภาคภูมิและหยิ่งทะนงในเกียรติภูมิของตนจนเหนือสิ่งอื่นใด เขาเป็นคนสองบุคลิก ด้านหนึ่งเป็นผู้มีเมตตากรุณายึดมั่นในพระพุทธศาสนา ส่วนอีกด้านกลับเป็นเพลย์บอยอย่างหาตัวจับยาก และมีนางบำเรอหลายสิบนางอยู่ในอาณาจักรแห่งเขาท่ากระดานของเขา พะโป้ให้ความรักและเมตตาอย่างลึกซึ้งต่อ “ส่างหม่อง” หลานชายของเขา แต่เมื่อหม้ายสาวหัวสมัยใหม่อย่าง “ยุพดี” ผู้จุดประกายแห่งรักแท้แก่เขา และทำลายมันลงอย่างไม่ใยดีเดินเข้ามาในชีวิต โศกนาฏกรรมรักครั้งใหญ่จึงบังเกิดอย่างไม่คาดฝัน “คาแร็คเตอร์พะโป้แตกต่างไหม ในชีวิตจริงพี่ก็ไม่มีนางบริวาร อิทธิพลก็คงไม่มีด้วย ก็น่าจะแตกต่างมาก (หัวเราะ) แต่ว่าโอเค อารมณ์แกว่งก็ทุกคนคงเป็นอาร์ติส พูดถึงมีบ้าง มีโกรธ มีดีใจสุดขีด มีโกรธสุดขีด ไม่เถียง อาร์ติสทุกคนเป็นอย่างนี้ ก็คิดว่ามันก็ไม่เหมือนเลยทีเดียว แต่ว่าถามว่าเล่นตัวพะโป้ได้ไหม ได้เพราะว่าได้ศึกษามาก่อนว่าคาแร็คเตอร์เขาเป็นยังไง เพราะหม่อมได้บรีฟมาแล้วว่าโอเค เอาอารมณ์ดีของคนนี้มา เอาอารมณ์เจ้าชู้ของคนนี้มา แล้วเอามารวมกันเป็นพะโป้และลองเล่นดู ก็โอเคครับ ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่อง ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ ผมคิดว่าน่าจับตาดูมากครับ เพราะยุคนี้ก็มีแต่ถ้าไม่ใช่หนังผี ก็เป็นหนังคอเมดี้ เป็นหนังตลกหรือไม่ก็หนังวัยรุ่น นี่เป็นหนังราม่าค่อนข้างที่จะหนักเป็น Tragedy อย่างหนึ่ง ที่อยู่ในหนังเรื่องนี้ที่ยังไม่อยากเปิดเผยตอนนี้ แต่ว่ามันเป็นอะไรที่แปลกใหม่ รวมถึงทีมนักแสดงแต่ละคนก็เล่นกันอย่างเต็มที่ นักแสดงมีไม่กี่คน แต่ว่าแต่ละคนก็ได้บทดราม่าหนักๆ กันทั้งนั้น เนื้อหาก็สะท้อนความเป็นมนุษย์ที่มีทั้งรัก โลภ โกรธ หลง สะท้อนสังคมไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยมนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ที่ยังมีกิเลสตัณหากันอยู่ และนี่ก็เป็นการกลับมาอีกครั้งหนึ่งในการกำกับหนังของหม่อมน้อย เป็นแนวทางของหม่อมน้อยเองเลยซึ่งมันก็ไม่ได้ถูกสร้างมานานแล้วเหมือนกันครับ” เป็นอีกหนึ่งนักแสดงเจ้าบทบาทที่ดูมีพลังอำนาจแฝงอยู่ในตัวอย่างเงียบๆ นั่นทำให้ “ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์” ถูกเลือกให้มารับบทบาทที่อาจกล่าวได้ว่าโดดเด่นที่สุดในชีวิตการแสดงของเขานี้ และเขาเองก็ปล่อยพลังการแสดงสุดเชือดเฉือนบาดลึกทางอารมณ์ได้อย่างลงตัวทีเดียว ผลงานภาพยนตร์ (บางส่วน): ล่าข้ามโลก (2526), สงครามเพลง (2526), แตก 4 รัก โลภ โกรธ เลว (2542), After School วิ่งสู่ฝัน (2553), Who Are You? ใคร...ในห้อง (2553), ชั่วฟ้าดินสลาย (2553) นิพนธ์ (เพ็ญเพชร เพ็ญกุล) — นักเขียนหนุ่มวัย 35 ผู้มีหัวก้าวหน้าและอนาคตไกล เขาทำงานประจำที่หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” รายวันและรายสัปดาห์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์อันเป็นที่นิยมในพุทธศักราช 2486 บิดามารดาของเขามีอาชีพค้าไม้ ทำให้ครอบครัวของเขาได้ทำธุรกิจและสนิทสนมกับ “พะโป้” และในวันหนึ่ง เมื่อเขากลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่กำแพงเพชร และได้รับการเชิญชวนจากพะโป้ให้เข้าป่าล่าสัตว์ที่ค่ายพักเขาท่ากระดาน. นั่นทำให้นิพนธ์ได้รับรู้เรื่องราวอันน่าพิศวงในโศกนาฏกรรมรักของ “ส่างหม่อง” และ “ยุพดี” เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา “ความยาก-ง่ายของการแสดงเรื่องนี้มันอยู่ที่ความลึกของตัวละคร เราจะเล่นอย่างไรให้คนดูเขารู้สึกตามไปกับเรา เพราะว่าเราจะเป็นคนพาคนดูเข้าไปสู่บรรยากาศในเรื่องนี้นะครับ ก็พยายามคิดแล้วก็จินตนาการตามไปเรื่อยๆ คาแร็คเตอร์นิพนธ์นี้ที่เหมือนเลยคืออายุนะครับ อยู่ในช่วงวัยเดียวกัน แล้วก็ทางด้านความคิดก็มีอะไรคล้ายๆ กันนะครับ การคิดการจินตนาการตามเรื่องก็เลยไม่ค่อยยากเท่าไหร่ ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ปรับแต่งเอานิดหน่อย แต่ส่วนใหญ่หม่อมจะเลือกคนที่แบบคาแร็คเตอร์ที่มันใกล้เคียงกับตัวละครอยู่แล้วครับ ซึ่งตัวนิพนธ์เนี่ย หม่อมเขาอยากให้ตัวนี้เป็นตัวแทนของผู้เขียนเรื่อง ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ ด้วยครับ นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องสั้นที่ไม่สั้นทีเดียวนะครับ ก็พออ่านไป มันทำให้เห็นความต้องการของมนุษย์ลึกๆ นะครับ คือมันเป็นเรื่องกิเลสตัณหา แล้วก็บาปบุญที่แบบว่าบางทีเราก็เผลอ หรือว่ายั้งตัวไม่ทันนะครับ เป็นเรื่องสั้นที่ดีมากอีกเรื่องหนึ่งนะครับ ถ้ามีโอกาสคงต้องหาอ่านกัน พอถูกดัดแปลงมาเป็นหนังโดยฝีมือหม่อมน้อย ก็การันตีความน่าดูได้แล้วครับ” นักแสดงหนุ่มที่ห่างหายจอภาพยนตร์ไปพักใหญ่ๆ ล่าสุดก็ได้ฤกษ์ที่ “เพ็ญเพชร เพ็ญกุล” จะคืนจอแปลงโฉมเป็นหนุ่มนักเขียนผู้จะนำพาคนดูไปประสบพบเจอกับโศกนาฏกรรมรักอันยิ่งใหญ่ในเรื่องนี้อย่างน่าติดตามและเอาใจช่วยในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผลงานภาพยนตร์: เร็วกว่าใจ ไกลเกินฝัน (2536), วิ่งหน้าตั้งกำลัง 2 บนเส้นทางมหัศจรรย์ (2536), ถ้ารักแล้วจะแห้วไม่ว่ากัน (2536), สมองกลคนอัจฉริยะ (2536), เดอะโกร๋น ก๊วน กวน ผี (2547), ชั่วฟ้าดินสลาย (2553) ทิพย์ (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) - ชายชาวพระนครวัยกลางคน ผู้ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน เขาเป็นผู้จัดการปางไม้ของพะโป้ที่เขาท่ากระดาน ทิพย์เป็นคนเปิดเผยซื่อตรงและน่าเชื่อถือ ทำให้พะโป้ไว้วางใจเขายิ่งนัก เขายินดีที่จะมอบความช่วยเหลือทุกคนอย่างจริงใจในทุกสถานการณ์ และเขาคนนี้เองที่เป็นผู้กุมความลับและเปิดเผยเรื่องราวความรักของ “ส่างหม่อง” และ “ยุพดี” ที่มีกิเลสตัณหาเป็นที่ตั้งอันนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ให้นิพนธ์ได้รับรู้ “เรื่องนี้ผมรับบทเป็น ‘ทิพย์’ ครับ ทิพย์จะเป็นผู้ช่วยดูแลปางไม้ของพะโป้ จะเป็นคนที่จิตใจดี แล้วก็รู้เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ แต่ว่าต้องเก็บไว้ในใจ แต่ก็แสดงความรู้สึกออกไปด้วยการยิ้ม เพื่อจะเก็บเรื่องทั้งหมดไว้ เป็นคนที่เข้าใจชีวิตคนทุกๆ คนในเรื่องนะครับ ทั้งเรื่องของส่างหม่องที่เป็นชู้รักกับยุพดี เราก็รู้ เราเห็นการกระทำของเขาทุกอย่าง แต่ว่าไม่สามารถที่จะพูดออกมาได้ เพราะว่าไม่อยากให้พะโป้ซึ่งเป็นเจ้านายเราเนี่ยได้รับรู้ ก็เหมือนทำให้เรากดดัน อึดอัดอยู่เหมือนกันนะครับ เล่นกับหม่อมเป็นประจำอยู่แล้ว แทบจะทุกเรื่อง ก็เหมือนพี่เหมือนอาจารย์ คือเขาให้โอกาสเราน่ะครับ สไตล์การกำกับของหม่อมไม่ค่อยจะเหมือนผู้กำกับคนอื่น คือต้องซ้อมก่อน ต้องทำการบ้าน ถ้าทุกคนไม่ทำการบ้านจะทำงานไม่ได้เลยเรื่องนี้ แต่ก็สบายใจขึ้นเพราะเราได้ทำการบ้านมา มาถึงปุ๊บทำงานเนี่ย เรามีความมั่นใจมากขึ้น และโอกาสที่จะพลาดหรือหลุดมันก็มีน้อย หรือบางทีหลุดนิดๆ หน่อยๆ เนี่ย หม่อมก็จะคอยบิ๊วท์ให้ ว่าตรงนี้เป็นอย่างนี้นะ อย่างนี้นะ เราก็สบายใจทำงานกับเขา ไม่เหมือนทำงานที่อื่น ที่โยนให้ แล้วเอาไปเล่นเองนะ บางทีก็ตีความมันผิดบ้างถูกบ้าง คือหม่อมจะเป็นคนละเอียดมากในการกำกับ” เป็นอีกหนึ่งนักแสดงเจ้าบทบาทที่ห่างหายจากจอภาพยนตร์ไปเป็นเวลานาน กลับมาครั้งนี้ “ศักราช ฤกษ์ธำรงค์” ก็ได้รับบทสำคัญมากบทหนึ่งของเรื่องที่ต้องอาศัยฝีมือทางการแสดงให้ผู้ชมเชื่อถือในคำบอกเล่าของเขาถึงโศกนาฏกรรมรักอันยิ่งใหญ่นี้ ซึ่งเขาก็สามารถถ่ายทอดความเป็นตัวละครนี้ออกมาได้อย่างสมจริงและน่าติดตามไปตลอดทั้งเรื่อง ผลงานภาพยนตร์: พี่เลี้ยง (2531), ทองประกายแสด (2531), ขุมทรัพย์เมืองลับแล (2533), หล่อ ซ่า เซอร์กับเธอผู้หวานใจ (2536), ฉีกป่าล่าคน (2538), เชอรี่แอน (2544), ชั่วฟ้าดินสลาย (2553) มะขิ่น (ดารณีนุช โพธิปิติ) — อดีตนางบำเรอเอกของพะโป้ที่ถูกปลดระวางไปเป็นแม่บ้านในอาณาจักรปางไม้เขาท่ากระดาน เธอรักและซื่อสัตย์ต่อพะโป้อย่างสุดจิตสุดใจ แม้จะถูกทิ้งขว้างอย่างไม่ใยดีก็ตาม นั่นทำให้มะขิ่นรู้สึกอิจฉาที่ “ยุพดี” เข้ามาเป็นนายหญิงคนใหม่ และได้ครองทั้งตัวและหัวใจของพะโป้ไปเสียทั้งหมด เมื่อเธอได้รับรู้ถึงความรักที่มิอาจหักห้ามเสน่หาของ “ส่างหม่อง” และ “ยุพดี” แม้จะไม่เห็นด้วย แต่มะขิ่นก็พยายามช่วยให้ทั้งคู่หลุดจากความทรมานของพันธนาการแห่งรักนั้น “มะขิ่นเนี่ยเปรียบไปก็เป็นเหมือนแบล็คอัพ เป็นคนที่ดูแลอาณาจักรของพะโป้ แล้วก็เคยเป็นภรรยา ซึ่งพะโป้เนี่ยก็เก็บกวาดผู้หญิงทั้งหมดในอาณาจักรเป็นภรรยา พี่ก็ได้เป็นหนึ่งในนั้น แต่เป็นรุ่นเก่า แล้วพอเขาเบื่อแล้วเนี่ย เขาก็จะหมุนเวียนภรรยาส่งไปให้ลูกน้องต่างๆ แต่สำหรับพี่เนี่ยก็ได้อยู่ประจำตำแหน่งดูแลภาพรวม เป็นเหมือนแม่บ้านใหญ่ที่คอยดูแลที่นี่ แต่ลึกๆ แล้วมะขิ่นเนี่ยไม่ได้อยู่ด้วยหน้าที่ แต่อยู่เพราะว่าหลงรักพะโป้ คือจริงๆ แล้วถึงแม้ว่าเขาจะมีผู้หญิงอื่นๆ เยอะแยะ เราก็ไม่ได้หึงหวงเพราะเรารู้สึกเสมอว่าเราสำคัญ จนกระทั่งนางเอกยุพดีมาถึงที่นี่ เราไม่เคยเห็นพะโป้แต่งงานอีกเลยหลังจากที่ภรรยาเขาเสียชีวิต จนกระทั่งเห็นเขามาแต่งงานกับยุพดีซึ่งทั้งสวยทั้งสาว เป็นผู้หญิงที่มาจากในเมือง อีกโลกหนึ่งที่เราไม่รู้จัก เราก็ไม่รู้ว่าผู้หญิงคนนี้เป็นยังไง ดีหรือเปล่า ไว้ใจได้ไหม ที่สำคัญเลย ก็คือมาแย่งความสำคัญของเราไปเพราะเขาจะเป็นคนที่มาดูแลพะโป้ ถามว่าเหมือนพี่ไหม มันก็มีส่วนเหมือนอยู่ พี่ว่าในตัวคนๆ หนึ่งมันจะมีหลายๆ มุม เพราะฉะนั้นความเป็นสากลของความเป็นมนุษย์มันจะคล้ายๆ กัน ความเป็นผู้หญิง เป็นเพศหญิง ความเป็นแม่บ้าน ความเป็นอะไรต่างๆ เพียงแต่เราจะหยิบมาใช้ในมุมที่แตกต่าง ถ้าเกิดเราเป็นแม่บ้านที่เรามีครอบครัวมีลูกก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่นี่มันก็จะเป็นความรักที่เรามีต่อเขา ดูแลเขาเหมือนกับเขาเป็นทั้งสามี เป็นลูก เป็นสามีที่เราไม่ได้ครอบครอง เป็นลูกของเรา เป็นอะไรของเรา ความรู้สึกมันก็จะคล้ายๆ กัน มันก็เลยรู้สึกว่าเวลาเรามองเห็นเขาหรือเวลาที่เราดูแล หรือเราเห็นฉากเห็นอะไร เราก็จะรู้สึกว่ามันเป็นที่ๆ เราจะต้องสละชีวิตให้ เราต้องดูแล มันก็คงคล้ายๆ กับเวลาที่เราอยู่บ้าน เราต้องดูแลครอบครัวของเรา” “งดความฮา ดราม่าใส่เต็ม” เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่นักแสดงหญิง “ดารณีนุช โพธิปิติ” ต้องแสดงฝีมือออกมาในอีกหนึ่งคาแร็คเตอร์สำคัญของเรื่องที่จะมาสร้างสีสันสั่นสะเทือนทางอารมณ์ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาผู้ชม ซึ่งเธอไม่ทำให้ผิดหวังอย่างแน่นอน ผลงานภาพยนตร์: มอ ๘ (2549), ลิขิตรัก ขัดใจแม่ (2550), สายลับจับบ้านเล็ก (2550), ชั่วฟ้าดินสลาย (2553) ย้อนรอยผู้กำกับชั้นครู “ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” หรือ “หม่อมน้อย” ของคนในวงการบันเทิง เป็นผู้กำกับภาพยนตร์, ละครโทรทัศน์ และละครเวทีที่มีผลงานโดดเด่น, แปลกใหม่ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย ทั้งยังเป็นผู้เขียนบทและอาจารย์สอนวิชา Directing และ Acting ระดับสากลที่ได้รับความไว้วางใจในฝีมืออย่างถึงที่สุด ผลงานการกำกับหลากหลายแขนงที่สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ประจักษ์ฝีมือในสไตล์หม่อมน้อย - เพลิงพิศวาส - ผลงานกำกับเรื่องแรกในชีวิตของหม่อมน้อย ที่สร้างชื่อกระฉ่อนวงการด้วยหนังอิโรติกอย่างมีระดับ และแจ้งเกิดนักแสดงหญิงตัวแม่ของวงการนามว่า “สินจัย หงษ์ไทย” ในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน - ช่างมันฉันไม่แคร์ - ได้รางวัลยอดเยี่ยมประจำปี 2530 และฉายใน London Films Festival ในปีเดียวกัน - นางนวล - ได้รับรางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยมแห่งเอเชียในปี 2531 ใน Asian Films Festival ที่ประเทศไต้หวัน อีกทั้งยังเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องเดียวที่ได้รับการเสนอชื่อรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย - ฉันผู้ชายนะยะ - ออกฉายใน Gay Film Festival ที่ ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ปี 2532 - แฮมเลท (Hamlet) - ละครเวทีของวิลเลี่ยม เชคสเปียร์ ได้รับการดัดแปลงให้เป็นละครเพลงแบบ Musical Drama เป็นครั้งแรกในโลกเมื่อปี 2538 นับเป็นละครเวทีที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในรอบ 10 ปี ได้รับการต้อนรับจากผู้ชมชาวไทยและต่างประเทศอย่างล้นหลาม - ซอยปรารถนา 2500 - ละครโทรทัศน์ยาว 18 ตอน ดัดแปลงจากบทละครโทรทัศน์เรื่อง Street Car Named Desire ของ Tennessee และได้รับรางวัลดารานำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม, ดาราสมทบชายยอดเยี่ยม และละครพีเรียดยอดเยี่ยมประจำปี 2542 - ลูกทาส — จากนวนิยายอมตะของ “รพีพร” ได้รับรางวัลละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยมประจำปี 2547 และผลงานโทรทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทศวรรษ - สี่แผ่นดิน - จากสุดยอดวรรณกรรมแห่งสยามประเทศโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผลงานกำกับภาพยนตร์ - เพลิงพิศวาส (2527) ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาดาราประกอบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย หงษ์ไทย) - ช่างมันฉันไม่แคร์ (Dame it! Who care - 2529) — ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม / ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม / ได้รับการคัดเลือกไปฉายโชว์ในงาน London Films Festival และ Berlin Films Festival - ฉันผู้ชายนะยะ (Boy in the Band - 2530) — ได้ฉายใน Gay Film Festival ที่ Los Angeles สหรัฐอเมริกา ปี 2532 - นางนวล (The Seagull - 2530) - ได้รับรางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยมแห่งเอเชียในปี 2531 ใน Asian Films Festival ที่ Taiwan และยังเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับการเสนอชื่อรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย - เผื่อใจไว้ให้กันสักหน่อย (2532) - ความรักไม่มีชื่อ (2533) - มหัศจรรย์แห่งรัก (2538) — ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาดารานำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย หงษ์ไทย), ดาราประกอบฝ่ายชายยอดเยี่ยม (วิลลี่ แมคอินทอช), ดาราประกอบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (วราพรรณ หงุ่ยตระกูล), กำกับฝ่ายศิลป์ยอดเยี่ยม, ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม - อันดากับฟ้าใส (2540) — ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาดาราประกอบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย หงษ์ไทย), ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ผลงานกำกับละครโทรทัศน์ ช่างมันฉันไม่แคร์ (ช่อง 5), แผ่นดินของเรา (ช่อง 5), ซอยปรารถนา 2500 (พ.ศ. 2539, ช่อง 7), เริงมายา (พ.ศ. 2540, ช่อง 7), ปีกทอง (พ.ศ. 2542, ช่อง 7), ลูกทาส (พ.ศ. 2543, ช่อง 5), คนเริงเมือง (พ.ศ. 2544, ช่อง 5), มหัศจรรย์แห่งรัก (พ.ศ. 2545, ช่อง 7), ทะเลฤาอิ่ม (พ.ศ. 2546, ช่อง ITV), สี่แผ่นดิน (พ.ศ. 2546-2547, ช่อง 9), ในฝัน (พ.ศ. 2547-2548, ช่อง 9) ผลงานกำกับละครเวที - ALL MY SON ของ ARTHER MILLER (แสดงที่หอประชุม A.U.A พ.ศ. 2517) - บัลเลต์พระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” (แสดงที่โรงละครแห่งชาติ พ.ศ. 2518) - THE LOWER DEPTH ของ MAXIM GORGY (แสดงที่โรงละครคณะอักษรศาตร์ จุฬาฯ และโรงละครแห่งชาติ พ.ศ. 2517 และ 2518) - IMPROMPTU (แสดงที่สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน พ.ศ. 2520) - LES MALENTANDU ของ ELBERT CARMU (แสดงที่หอประชุมคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2524) - เทพธิดาบาร์ 21 (แสดงที่โรงละครมณเทียรทอง พ.ศ. 2529) - ONE FLEW OVER THE CUCKOO’S NEST (แสดงที่โรงละครมณเทียรทอง พ.ศ. 2530) - ผู้แพ้ผู้ชนะ (แสดงที่โรงละครมณเทียรทอง พ.ศ. 2532) - พรายน้ำ (แสดงที่โรงละครมณเทียรทอง พ.ศ. 2533) - ราโชมอน (แสดงที่โรงละครมณเทียรทอง พ.ศ. 2534) - ปรัชญาชีวิต (แสดงที่ตึกร้าง บ.แปลนอคิวเท็ก, เชียงใหม่ สปอร์ตคลับ, ม.ขอนแก่น พ.ศ. 2531-2533) - พระผู้เป็นดวงใจ ของโรงเรียนสวนจิตรลดา (แสดงที่หอประชุมศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2529) - แฮมเล็ต เดอะ มิวสิเคิล (แสดงที่หอประชุมศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2538) ประวัติผู้ประพันธ์ “ครูมาลัย ชูพินิจ” “มาลัย ชูพินิจ” (2449-2506) ได้รับการยกย่องและเคารพนับถือในฐานะปรมาจารย์ทางการประพันธ์ ด้วยอัจฉริยภาพยากจะหาผู้ใดทัดเทียม ท่านประพันธ์ได้ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย, เรื่องสั้น, บทความ, สารคดี ตลอดจนคอลัมน์เกี่ยวกับหนังสือ, โทรทัศน์ และการกีฬา (โดยเฉพาะกีฬามวย) ครูมาลัยเริ่มเขียนเรื่องสั้นครั้งแรกราวปี พ.ศ. 2468 ผลงานที่สร้างชื่อเสียงเรื่องแรกคือ “เรื่องธาตุรัก” พิมพ์ลงใน สุภาพบุรุษรายปักษ์ ประมาณกันว่าผลงานของครูมาลัย มีประมาณถึง 3,000 เรื่อง โดยมีผลงานเขียนเรื่องสั้นประมาณ 250 เรื่อง นวนิยายและข้อเขียนอื่นๆ พิมพ์เป็นเล่มประมาณ 50 เรื่อง โดยใช้นามปากกาต่างๆ กัน ที่รู้จักกันดีคือ ม.ชูพินิจ, เรียมเอง, แม่อนงค์, น้อย อินทนนท์, อินทนนท์ น้อย, นายฉันทนา, ลดารักษ์, สมิงกะหร่อง ฯลฯ ผลงานที่มีชื่อเสียงคือ ชั่วฟ้าดินสลาย, ทุ่งมหาราช, แผ่นดินของเรา, เมืองนิมิตร, ล่องไพร ฯลฯ ไม่เพียงแต่เป็นที่รู้จักนับถือด้านงานประพันธ์ และงานหนังสือพิมพ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเท่านั้น ครูมาลัยยังได้อุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมและเพื่อนมนุษย์อีกด้วย จนได้รับแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก และได้รับพระราชทานปริญญาบัตร วารสารศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2505 “มาลัย ชูพินิจ” ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2506 ด้วยโรคมะเร็งในปอดเมื่ออายุ 57 ปี ขอดเกร็ด “ชั่วฟ้าดินสลาย” 1) “ภาพยนตร์เรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” ดัดแปลงจากนวนิยายสุดอมตะชื่อเดียวกันของ “เรียมเอง” หรือ “มาลัย ชูพินิจ” บรมครูแห่งวงการวรรณกรรมสมัยใหม่ของไทย 2) เป็นบทประพันธ์ประเภท Realistic เรื่องแรกของ มาลัย ชูพินิจ อันเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์วรรณกรรม ชิ้นต่อๆ มาของท่าน อาทิเช่น แผ่นดินของเรา, ทุ่งมหาราช และ เมืองนิมิต เป็นต้น 3) ได้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือ “นิกร” ฉบับวันอาทิตย์เมื่อ พ.ศ. 2486 ในลักษณะเรื่องสั้น และต่อมาจึงได้รับการแก้ไขและขยายเป็นนวนิยายขนาดเล็ก และตีพิมพ์โดยสำนักงาน “พิทยาคม” เมื่อพ.ศ. 2494 และเคยสร้างเป็นละครเวทีโดย “คณะศิวารมย์” 4) สู่การเขียนบทและกำกับสุดละเมียดโดย “หม่อมน้อย — ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล” ซึ่งห่างหายจากวงการไปนานถึง 13 ปี หลังจาก “อันดากับฟ้าใส” (2540) ผลงานกำกับเรื่องท้ายสุดที่แจ้งเกิดพระเอกหนุ่มสุดฮ็อตแถวหน้าของวงการในทุกวันนี้อย่าง “อนันดา เอเวอริงแฮม” 5) ครั้งนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งที่ 4 โดย 3 ครั้งที่ผ่านมามีรายละเอียด ดังนี้ - ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2496, สี, 16 ม.ม.) กำกับโดย หม่อมหลวงต้อย ชุมสาย นำแสดงโดย ไสลทิพย์ ตาปนานนท์ (ยุพดี), ชลิต สุขเสวี (ส่างหม่อง), สำราญ เหมือนประสิทธิเวช (พะโป้) และ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ (ทิพย์) แต่ภาพยนตร์เวอร์ชั่นแรกนี้ไม่ได้ออกฉาย เนื่องจากฟิล์มภาพยนตร์เสียหายทั้งหมดจากขั้นตอนการล้างฟิล์ม - ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2498, 35 ม.ม.) สร้างโดย หนุมานภาพยนตร์ อำนวยการสร้างโดย รัตน์ เปสตันดี กำกับโดย ครูมารุต (ทวี ณ บางช้าง) นําแสดงโดย เอม สุขเกษม (นายห้างพะโป้), งามตา ศุภพงษ์ (ยุพดี), ชนะ ศรีอุบล (ส่างหม่อง) และ ประจวบ ฤกษ์ยามดี (ทิพย์) เวอร์ชั่นนี้โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดของผู้ชม - ครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2523) สร้างโดย พี.ดี. โปรดักชั่น กํากับโดย ชาลี อินทรวิจิตร นําแสดงโดย สมจินต์ ธรรมทัต (พะโป้), วิฑูรย์ กรุณา (ส่างหม่อง) และ ธิติมา สังขพิทักษ์ (ยุพดี) 6) ในพิธีมอบ “รางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2500” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับ 3 รางวัลสำเภาทอง ในสาขา “บทประพันธ์ยอดเยี่ยม, บันทึกเสียงยอดเยี่ยม, ถ่ายภาพยอดเยี่ยมประเภทฟิล์ม 35 ม.ม.” 7) หม่อมน้อยเคยร่วมงานกับ “เสี่ยเจียง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ” และ “สหมงคลฟิล์ม” เพียงครั้งเดียว เมื่อครั้งเปิดซิงเก้าอี้ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยจากเรื่อง “เพลิงพิศวาส” (2527) ซึ่งส่งให้นักแสดงตัวแม่อย่าง “สินจัย เปล่งพานิช” ยืนหยัดอยู่ในวงการแสดงมาจนทุกวันนี้ ก่อนที่หม่อมน้อยจะกลับมาร่วมงานกับเสี่ยเจียงอีกครั้งในรอบ 26 ปี กับ “ชั่วฟ้าดินสลาย” ผลงานกำกับสุดละเมียดเรื่องที่ 9 นี้เอง 8) ผลงานกำกับภาพยนตร์ทุกเรื่องของหม่อมน้อยล้วนแล้วแต่เป็นภาพยนตร์คุณภาพ, สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการ รวมถึงกวาดรางวัลมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เพลิงพิศวาส (2527), ช่างมันฉันไม่แคร์ (2529), ฉันผู้ชายนะยะ (2530), นางนวล (2530), เผื่อใจไว้ให้กันสักหน่อย (2532), ความรักไม่มีชื่อ (2533), มหัศจรรย์แห่งรัก (2538) และ อันดากับฟ้าใส (2540) 9) หม่อมน้อยเคยดัดแปลงและกำกับบทประพันธ์ของ “มาลัย ชูพินิจ” มาแล้วจากเรื่อง “แผ่นดินของเรา” ในรูปแบบละครโทรทัศน์ เมื่อปี พ.ศ. 2539 10) เวอร์ชั่นใหม่ครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2553 นี้ สร้างสีสันด้วยทีมนักแสดงระดับคุณภาพแถวหน้าของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น อนันดา เอเวอริงแฮม (ส่างหม่อง), เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ (ยุพดี), ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์ (พะโป้), เพ็ญเพชร เพ็ญกุล (นิพนธ์), ศักราช ฤกษ์ธำรง (ทิพย์) และ ดารณีนุช โพธิปิติ (มะขิ่น) 11) สร้างฉากอย่างยิ่งใหญ่ในหลากหลายโลเกชั่น Unseen ของจังหวัดเชียงราย ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนบนจอภาพยนตร์ ทั้ง วนอุทยานแห่งชาติน้ำตกขุนแจ อ.เวียงป่าเป้า, วนอุทยานแห่งชาติลำน้ำกก (น้ำตกขุนกรณ์), ยอดเขาบ้านเย้าเล่าสิบ อ.แม่ฟ้าหลวง รวมถึง บ้านม่อนฝ้าย จังหวัดเชียงใหม่ 12) นอกเหนือจากการกำกับและการแสดงแล้ว “ชั่วฟ้าดินสลาย” เวอร์ชั่นใหม่นี้ยังโดดเด่นด้วยการออกแบบงานสร้างในรูปแบบศิลปกรรมล้านนาโบราณ, เครื่องแต่งกายตามขนบล้านนาสุดประณีต รวมถึงพิธีกรรมยุคโบราณที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันงดงามอีกด้วย 13) “เพลงชั่วฟ้าดินสลาย” ประพันธ์คำร้องโดย “ครูมารุต” ผู้กำกับภาพยนตร์เมื่อปี พ.ศ. 2498 ทำนองโดย “อาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์” ขับร้องโดย “พูลศรี เจริญพงษ์” ได้รับรางวัลแผ่นเสียงเงินพระราชทาน โดยภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2553 นี้ จะได้นักร้องหญิงคุณภาพแห่งวงการดนตรีสากลยุคปัจจุบันอย่าง “เจนนิเฟอร์ คิ้ม” มาปล่อยพลังเสียงขับขานซ่านซึ้งและแสนไพเราะตรึงใจ 14) สร้างสรรค์ดนตรีประกอบ (Score) โดยนักประพันธ์ดนตรีมือรางวัล “จำรัส เศวตาภรณ์” ที่เคยได้รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยมแห่งเอเชียจากภาพยนตร์ของหม่อมน้อยเรื่อง “นางนวล” (2530) 15) ใบปิดภาพยนตร์เวอร์ชั่นล่าสุดนี้ ได้ช่างภาพมืออาชีพและนักแสดงนำของเรื่องอย่าง “ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์” มาลั่นชัตเตอร์ถ่ายภาพให้อย่างสวยงาม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ