พบสารรบกวนฮอร์โมนในปลาจากแม่น้ำแยงซี

ข่าวทั่วไป Wednesday August 25, 2010 16:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลศึกษากรีนพีซจีนพบการปนเปื้อนสารเคมีในปลาที่จับจากบริเวณตลอดแม่น้ำแยงซี โดยหนึ่งในสารเคมีที่พบนั้นคือโนนิลฟีนอล สารรบกวนฮอร์โมนซึ่งได้มีการตรวจพบเช่นเดียวกันในแม่น้ำเจ้าพระยา กรีนพีซจีนได้นำตัวอย่างปลาแม่น้ำที่มีการนำมาบริโภคสองชนิดคือปลาดุกและปลาตะเพียนไปวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายสองกลุ่ม ตัวอย่างที่นำไปวิเคราะห์นั้นเป็นปลาที่อยู่ในแม่น้ำแยงซีในบริเวณสี่เมืองสำคัญที่ตั้งอยู่ในแม่น้ำตอนบนชงชิงจนมาถึงตองล่างใกล้อ่าวนานจิง ผลการวิเคราะห์พบว่าตัวอย่างเกือบทั้งหมดมีการปนเปื้อนสารในกลุ่มอัลคิลฟีนอล อาทิ ออคทิลฟีนอล (OP) และโนนิลฟีนอล (NP) ซึ่งใช้ในน้ำยาซักฟอกและอุตสาหกรรมฟอกย้อมและฟอกหนัง นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนสารกลุ่มเพอฟลูโอรีเนท (perfluorinated compounds) อาทิ เพอฟลูโอโรอ๊อกเทน ซัลเฟอเนท (PFOS) ซึ่งใช้เป็นสารเคลือบกันน้ำในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ สิ่งทอและฟอกย้อม เครื่องสำอาง และพลาสติก ในประเทศไทย ผลการศึกษาของกรีนพีซเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาพบการปนเปื้อนของสารโนนิลฟีนอลในน้ำทิ้งจากโรงงานฟอกย้อมและในตัวอย่างน้ำจากคลองสำโรง (2) ซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาของนักวิชาการเมื่อปี 2552 ที่ตรวจพบสาร PFOS ในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างและน้ำทิ้งจากนิคมอุตสาหกรรมสามแห่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง (3) “สารพิษเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน และรบกวนการทำงานของระบบประสาท สารในกลุ่มอัลคิลฟีนอลมีผลต่อการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงทางเพศของสิ่งมีชีวิตบางชนิด และโดยเฉพาะอวัยวะของปลาเพศผู้ ส่วนสารกลุ่มเพอฟลูโอรีเนทก็ส่งผลต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์และลดจำนวนของเชื้ออสุจิในมนุษย์” ยีซิว วู ผู้ประสารงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซจีน กล่าว แม่น้ำแยงซีหล่อเลี้ยงคนกว่า 400 ล้านคน ใน 186 เมือง และเป็นที่ตั้งของโรงงานเคมีในจีนกว่าครึ่งของจำนวนทั้งหมดของจีน รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย การปนเปื้อนของสารพิษในปลาธรรมชาติในแม่น้ำเป็นดัชนีชี้วัดของสถานการณ์มลพิษของแม่น้ำแยงซีทั้งสายได้อย่างชัดเจน “สำหรับประเทศไทย เราต้องนำกรณีศึกษานี้มาเป็นเครื่องเตือนและเสียงปลุกให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการควบคุมมลพิษรีบออกมาตรการเชิงรุกและกฏหมายเพื่อป้องกันการปล่อยสารพิษสู่แหล่งน้ำ หากเราไม่สามารถที่จะลดและยับยั้งการใช้และปล่อยสารพิษ ปลาในแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีแนวโน้มที่จะเกิดการปนเปื้อนได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะเกิดผลกระทบสูงโดยเฉพาะด้านสุขภาพของคนที่บริโภคสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษ” พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานด้านสารพิษ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานด้านสารพิษ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร 081-658-9432 วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร 089-487-0678 หมายเหตุ (1) รายงาน “การศึกษาการปนเปื้อนสารกลุ่มอัลคิลฟีนอล เพอฟลูโอรีเนท และโลหะหนัก ในปลาบริเวณตอนบน ตอนกลาง และตอนล่างของแม่น้ำแยงซี ประเทศจีน 2010” สามารถ download ได้ที่ http://www.greenpeace.org/international/en/publications/reports/Swimming-in-Chemicals (2) สามารถดาวน์โหลดรายงาน “การตรวจสอบสารเคมีอันตรายในน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมฟอกย้อมและการปนเปื้อนของสารเคมีในคลองบริเวณใกล้เคียงซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประเทศไทย พ.ศ. 2553” ได้ที่ www.greenpeace.or.th/water-sampling (3) อ้างอิงจากรายงาน “Contamination of perfluorinated compounds (PFCs) in Chao Phraya River and Bangpakong River, Thailand, 2009” Kunacheva, Boontanon, and et al. Water Science & Technology Journal.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ